เรียนวรรณคดีแบบมีมุมมอง กับเน็ตไอดอลสายเนิร์ด “วิว - Point of View”

เรียนวรรณคดีแบบมีมุมมอง กับเน็ตไอดอลสายเนิร์ด “วิว - Point of View”

เรียนวรรณคดีแบบมีมุมมอง กับเน็ตไอดอลสายเนิร์ด “วิว - Point of View”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จากปรากฏการณ์บุพเพสันนิวาสที่ปลุกกระแสให้คนไทยนำเอาวัฒนธรรมไทยและประวัติศาสตร์มาปัดฝุ่นและเรียนรู้ใหม่ อีกกระแสที่น่าสนใจและควรปลุกขึ้นมาเพื่อพัฒนาไปสู่การเรียนรู้แบบใหม่ได้ผลจริงก็คือวรรณคดีไทย และในยุคที่คนรุ่นใหม่มีไลฟ์สไตล์ที่ผูกติดอยู่กับโลกออนไลน์ ไม่ต้องพูดถึงเรื่องโบราณอย่างวรรณคดีหรอก แค่หนังสือเล่มทั่วไปก็หาวัยรุ่นอ่านได้น้อยเต็มที

แต่ดูเหมือนวงการวรรณคดีไทยก็ยังไม่สิ้นหวังไปเสียทีเดียว เพราะตอนนี้เรามีเน็ตไอดอลที่ไม่ได้ขายครีม หรือร้องเพลงคัฟเวอร์ แต่เป็นเน็ตไอดอลสายเนิร์ดที่พยายามทลายกำแพงอคติของคนรุ่นใหม่เกี่ยวกับวรรณคดีไทย ด้วยจุดประสงค์เพียงอย่างเดียวคือ อยากหาเพื่อนมาสนุกกับวรรณคดีด้วยกัน เธอคือ “วิว – ชนัญญา เตชจักรเสมา” YouTuber เจ้าของรายการ “Point of View” และผู้เขียนหนังสือ “วรรณคดีไทยไดเจสต์” ซึ่งเป็นหนังสือที่ย่อยวรรณคดีไทยให้เข้าใจง่ายและเข้าถึงคนรุ่นใหม่

วิว ชนัญญา เตชจักรเสมาPoint of Viewวิว ชนัญญา เตชจักรเสมา

วิวก้าวเข้าสู่เส้นทางของวรรณคดีไทยทันทีที่เธอเริ่มอ่านหนังสือออก โดยมีคุณแม่เป็นผู้สรรหาหนังสือนิทานซึ่งย่อมาจากวรรณคดีไทยยอดนิยม อย่างพระอภัยมณี นางสิบสอง หรือปลาบู่ทอง มาให้อ่าน จนกระทั่งวิชาแก่กล้า อ่านหนังสือคล่องขึ้น เธอจึงขยับไปอ่านวรรณคดีฉบับถอดคำประพันธ์เป็นร้อยแก้วเล่มแรกในชีวิต นั่นคือ “รามเกียรติ์” ซึ่งทำให้เธอรู้ว่านิทานสั้นๆ ที่อ่านมาทั้งหมดตอนเด็กๆ นั้น แท้จริงคือวรรณคดีเรื่องยาว จากนั้นจึงพัฒนามาอ่านฉบับร้อยกรอง เมื่อไม่สามารถหาวรรณคดีฉบับถอดคำประพันธ์ได้อีกต่อไป หลังจากนั้น วรรณคดีไทยก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตวิว ไม่ต่างจากหนังสือประเภทอื่น

“สมัยเด็กๆ ด้วยความที่อ่านเป็นของอ่านเล่น ไม่ได้แยกแยะเลยว่าอันนี้คือวรรณคดี อันนี้คือประวัติศาสตร์ อันนี้คือนิยาย รู้แค่ว่าอันนี้คืออะไรที่เป็นไทยๆ ดังนั้น อ่านรามเกียรติ์กับอ่านกรุงแตกของหลวงวิจิตรวาทการก็ไม่รู้สึกว่าต่างกัน แล้วช่วงนั้นละครพีเรียดก็เยอะ เราก็เห็นว่าดูเป็นไทยๆ สวยดี ลองไปหานิยายที่เขาห่มสไบแบบนี้มาอ่านดีกว่า ก็เลยอินมาเรื่อยๆ โดยที่เรายังไม่รู้ว่าวรรณคดีมันไม่เหมือนประวัติศาสตร์ แล้วนิยายอิงประวัติศาสตร์ก็ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ เราคิดว่ามันเป็นสิ่งเดียวกันหมด” วิวเล่าชีวิตสมัยเป็นนักอ่านรุ่นเยาว์ ที่ส่งผลให้เธอสนุกกับการเรียนวรรณคดีและประวัติศาสตร์มากกว่าเพื่อน และเพิ่งมารู้เอาภายหลังว่าในกลุ่มเพื่อนวัยเดียวกัน เธอเป็นเพียงคนเดียวที่ชื่นชอบการอ่านวรรณคดีไทย ในขณะที่คนรุ่นเดียวกันเห็นว่าวรรณคดีไทยเป็นของโบราณที่มีไว้บูชาบนหิ้ง ซึ่งวิวมองว่าสาเหตุหลักน่าจะอยู่ที่วิธีการนำเสนอในห้องเรียน ที่หลักสูตรการศึกษาเน้นเฉพาะบางตอนที่มีจุดเด่น ไม่ได้ให้เรียนทั้งเรื่อง

“ถ้าเปรียบกับนิยายต่างประเทศ ตอนนี้ที่เรากำลังทำกันอยู่คือหยิบหนังสือ Harry Potter ขึ้นมา ดึงบทตรงกลางมาบทเดียว แล้วก็บอกว่าอ่านแค่บทนี้แหละ ไม่ต้องอ่านบทอื่นหรอก ดังนั้น ต่อให้มันเป็นนิยายที่สนุกที่สุด เราก็จะไม่อิน เพราะมันขาดที่มาที่ไป พอเราอ่านวรรณคดีแค่ตอนเดียว เราก็รู้สึกว่า แล้วไงล่ะ เราไม่ได้รู้เรื่องมาก่อน เลยไม่ได้อยากตามอ่านไปด้วย” วิวกล่าว

การเดินทางบนเส้นทางสายวรรณคดีเข้มข้นยิ่งขึ้น เมื่อเธอเลือกเรียนในโครงการภาษาและวรรณคดีไทยของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเธอเลือกจะเขียนบล็อกสรุปเนื้อหาที่จะสอบทำให้มีเพื่อนๆ นอกเอกภาษาไทยมาอ่านก่อนสอบบ้าง จนกระทั่งช่วงปี 3 – ปี 4 ที่ไม่มีวิชาเรียนรวมให้ติวเพื่อนๆ นอกเอก อีกต่อไป วิวผู้เคยชินกับการทบทวนบทเรียนผ่านการติวให้เพื่อน จึงเริ่มติวหนังสือให้ตัวเอง โดยการทวีตเนื้อหาเกี่ยวกับวรรณคดีลงในทวิตเตอร์ ตั้งแต่วรรณคดีที่เป็นที่รู้จักกันทั่วไป ไปจนถึงวรรณคดีชื่อแปลกหูอย่าง “กนกนคร” ที่ทำให้แฟนคลับที่ติดตามทวีตของเธอเกิดความสนใจ และขอให้วิวเล่าเรื่องกนกนครให้ฟังทางทวิตเตอร์ และนั่นก็ทำให้วิวเกิดไอเดียเรื่องการเขียนหนังสือ

“ด้วยความที่ทวิตเตอร์ตอนนั้นมันได้แค่ 140 ตัวอักษร การเล่าก็ลำบากมาก เล่าไปแล้ว 3 วัน ก็จะมีคนมาขอเรื่องเดิม เพื่อนก็เริ่มยุให้อัดวิดีโอ แล้วพอดีตอนนั้นเราทำงานในวงการหนังสือมา ก็เป็นคนชอบอ่าน แล้วก็อยากมีหนังสือของตัวเองด้วย ก็เอาบล็อกไปเสนอสำนักพิมพ์หลายเจ้า เขาก็ตอบกลับมาว่าวรรณคดีไทยไม่มีใครสนใจหรอก วิวก็แบบ ‘เฮ้ย! แต่ว่าทวิตเตอร์มันมีคนตามเรานะ สมัยก่อนที่คนไทยยังไม่เล่นทวิตเตอร์ขนาดนี้ มีคนตามสักประมาณ 5,000 – 6,000 ก็เป็นเซเลบแล้วนะ ทำไมจะพิมพ์ไม่ได้ล่ะ’ ก็เลยสู้มาเรื่อยๆ ทำ YouTube ทำทวิตเตอร์ คิดแค่ทำอย่างไรก็ได้ให้คนรู้ว่ามีเราอยู่หนึ่งคนที่สนใจวรรณคดี รู้ว่าวรรณคดีสนุก และมาพิมพ์หนังสือกับเราเถอะ สุดท้ายก็ได้พิมพ์” วิวเล่าถึงประสบการณ์สุดมันกว่าจะกลายเป็นหนังสือชื่อ “วรรณคดีไทยไดเจสต์” ที่พิมพ์ครั้งที่ 3 แล้วในรอบ 1 ปี

อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป การเขียนหนังสือของวิวดูเหมือนจะไม่ใช่จุดหมายปลายทาง แต่จุดมุ่งหมายที่แท้จริงของเธอก็คือการหาเพื่อนมาร่วมสนุกกับวรรณคดีไปด้วยกัน

“ตอนแรกอยากออกหนังสือ แต่วันที่หนังสือมันเข้าโรงพิมพ์เป็นเล่มแล้ว แล้วไงต่อ ก็เลยเริ่มรู้สึกว่าจริงๆ เราไม่ได้อยากเป็นนักเขียนอย่างเดียวหรอก เราแค่อยากหาคนมาสนุกกับวรรณคดีเป็นเพื่อนเรา อยากให้ชาวโลกรู้ว่าวรรณคดีสนุกนะ ดังนั้นเราไม่จำเป็นต้องเป็นนักเขียนอย่างเดียวก็ได้นี่ เราเป็น YouTuber ก็ได้ หรือเป็นเพจในเฟซบุ๊กก็ได้ เราเป็นอะไรก็ได้ แค่จุดมุ่งหมายสุดท้ายคือทำให้คนรู้ว่าวรรณคดีสนุก เท่านั้นเลย เพราะฉะนั้น หนังสือ เฟซบุ๊ก หรือทวิตเตอร์ก็เป็นแค่สื่อ เป็นแค่แพลตฟอร์ม สุดท้ายทุกอย่างมันอยู่ในหัวเรา อยู่ในคำพูดที่เราจะนำเสนอออกมามากกว่า” วิวสรุป ก่อนจะพาเราเข้าไปสู่อีกก้าวหนึ่งของโลกวรรณคดีของเธอ นั่นคือรายการ “Point of View” ที่เธอรับหน้าที่ทั้งหาข้อมูล ครีเอทีฟ ช่างภาพ ตัดต่อ และออกแบบกราฟิกด้วยตัวเองทั้งหมด

“จุดมุ่งหมายของวิวคืออยากให้รู้ว่าเรื่องที่ฉันรู้มันสนุก ดังนั้นก็แค่เอาสิ่งที่มีอยู่แล้วในตัวหรือสิ่งที่ไปเจอมา นำเสนอไปเลย มันก็เลยค่อนข้างเป็นธรรมชาติมากๆ เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่เราเจอมาจริงๆ สนุกด้วยจริงๆ แล้วอยากเม้าท์ให้เพื่อนฟัง คือวิวคิดว่ากล้องหรือสิ่งที่อยู่หลังกล้องเป็นเพื่อนคนหนึ่ง วิวอยากแชร์อะไรก็แชร์เลย ดังนั้นไอเดียวิวก็ค่อนข้างเกิดขึ้นเร็วแล้วก็มาเรื่อยๆ ไม่หยุด คอนเซ็ปต์ตั้งต้นมันชัดมากว่านี่คือการคุยกับเพื่อน ไม่ใช่การสอนวรรณคดี ไม่ใช่การติว ไม่ใช่การบอกข้อสอบ ถ้าเราถอดคำว่าวรรณคดีออกไป นี่คือการเม้าท์ละครหลังข่าวให้ฟังชัดๆ เลย” วิวกล่าว

สำหรับเสียงตอบรับจากรายการนี้ก็เดาได้ไม่ยาก นั่นคือคอมเมนต์อย่าง “ทำไมครูไม่สอนแบบนี้ ถ้าครูสอนแบบนี้ตั้งแต่มัธยมหรือประถมนะ เรารักวรรณคดีไปแล้ว” ซึ่งวิวเชื่อว่านี่คือการทลายกำแพงในใจของผู้ชม และเชื้อเชิญให้ผู้ชมรุ่นใหม่เหล่านั้นก้าวข้ามกำแพงมาสู่โลกวรรณคดีของเธอ

“วิวจะดีใจมากเลยที่มีคนมาคอมเมนต์ว่าเพราะพี่ หนูเลยไปหาเล่มเต็มมาอ่าน แต่ก็ยังไม่ถือว่าประสบความสำเร็จร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะว่ายังมีคนจำนวนมากที่บอกว่าฟังพี่แล้วหนูไม่ต้องอ่านเลย เราก็ต้องบอกว่าไม่ได้นะ ต้องไปอ่านนะ ที่เอามาเล่ามันแค่น้ำจิ้ม ยังมีรายละเอียดอีกเยอะเลย วิวว่ามันก็ทำให้วงการวรรณคดีโตขึ้นแหละ สุดท้าย ถ้าเกิดเขาเริ่มสนใจ ต่อให้เขาไม่ได้สนใจในระดับเท่าเรา แต่หนังสือวรรณคดีก็จะมีคนพิมพ์มากขึ้น เมื่อก่อนต้นฉบับวรรณคดีหายากมาก ต้องไปที่กรมศิลปากร ในอนาคตอาจจะมีคนเอามาเล่นสนุกกับมันมากขึ้นก็ได้”

ข้อมูลที่นำเสนออย่างเรียบง่ายแต่เป็นมิตร ในเพจ Point of ViewPoint of Viewข้อมูลที่นำเสนออย่างเรียบง่ายแต่เป็นมิตร ในเพจ Point of View

จะเห็นว่าตอนนี้ วิวกำลังวิ่งเล่นอยู่ในโลกวรรณคดีไทย และยังพาคนรุ่นใหม่เข้ามาทำความรู้จักวรรณคดีไทยเพิ่มขึ้น หากจะบอกว่าเป็นเพราะความหลงใหลในวรรณคดีไทยก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่ง แต่อีกปัจจัยหนึ่งก็คือการเรียนในคณะอักษรศาสตร์ ที่เธอไม่คิดจะเลือกเรียนตั้งแต่แรก แต่ด้วยความที่สนใจประวัติศาสตร์และสังคมศาสตร์ จึงเลือกเรียนคณะนี้ ส่วนจะมีงานทำหรือไม่ เธอบอกตัวเองตอนนั้นว่า “เดี๋ยวค่อยว่ากัน”

“เคยมีคนพูดกันในคณะอักษรค่ะว่า ศาสตร์ที่เราเรียนกันเนี่ย ถ้าไม่นับพวกที่ไปเป็นล่ามหรือเรียนภาษา มันเป็นการเรียนแบบไม่ได้เรียนไปเป็นอาชีพ แต่เป็นการเรียน For the sake of knowledge คือเรียนเพื่อให้รู้ ก็ดีใจนะคะ ที่ 4 ปีนั้นไปเรียนที่อักษร มันก็ได้ตอบโจทย์ความสงสัยของเราโดยตรง เพราะก่อนที่จะไปเรียนอักษรเรายังไม่รู้เลยว่าเราจะไปหาวรรณคดีพวกนี้จากที่ไหน นอกจากหนังสือที่เรามีอยู่ เรารู้จักแค่รามเกียรติ์ พระอภัยมณี ขุนช้างขุนแผน จักรวาลวรรณคดีในหัวเรามีแค่นี้ คณะนี้อาจจะไม่ได้สอนวรรณคดีทุกเรื่องบนโลก แต่ให้เครื่องมือเรา ทำให้เราค้นหาข้อมูลเป็นว่าถ้าเราอยากรู้จักวรรณคดีทุกเรื่องของโลก เราต้องทำอย่างไร”

นอกจากนี้ ขณะที่เรียนชั้นมัธยมศึกษาและมหาวิทยาลัย วิวได้มีโอกาสเลือกเรียนตามสิ่งที่ตัวเองสนใจ และทำงานที่หลากหลาย จนสามารถสร้างคลังความรู้ เป็นที่เก็บอาวุธชั้นดีสำหรับการทลายกำแพงอคติที่มีต่อวรรณคดีไทย

“วิวตั้งใจเลือกเอกเดี่ยว คือเรียนเอกภาษาไทย ส่วนหน่วยกิตทั้งหมดของวิชาโท วิวเอาไปเลือกเรียนปนกันไปหมด ซึ่งในแง่ของการหางาน มันอาจจะยาก แต่ตอบสนองความอยากรู้ของตัวเองน่ะ สะใจ วิวเรียนตั้งแต่ประวัติศาสตร์ศิลปะ ภาษาญี่ปุ่น ภาษาจีน การโฆษณา ภาพยนตร์ ถือว่าเอามาใช้ในทุกวันนี้ได้เลยนะ ก็ไปเรียนแล้วเอามาประยุกต์รวมๆ กัน แล้วก็ทำงานเป็นพิสูจน์อักษรในสำนักพิมพ์เล็กๆ เขาประชุมกองเราก็นั่งอยู่ด้วย เราก็เห็นการทำงานของผู้ใหญ่ ว่าเขาทำแบบนี้ คิดแบบนี้ ก็เลยช่วยได้ค่อนข้างเยอะ”

ปัจจุบัน Point of View มีผู้ติดตามเกือบ 300,000 คน และมีผู้ชมต่อคลิปราว 50,000 – 60,000 คน ซึ่งไม่ถือว่าเยอะ หากเทียบกับรายการแนวไลฟ์สไตล์ทั่วไป แต่สำหรับเนื้อหาเกี่ยวกับวรรณคดีไทยที่คนส่วนใหญ่มองว่าไม่น่าสนใจ ตัวเลขนี้ก็เป็นความภาคภูมิใจของวิว

“ตอนเรียนอาจารย์ก็จะพูดว่า วัดบางแห่งมีสมุดข่อย มีใบลานสมัยอยุธยา แต่กลับเก็บใส่ตู้พระไตรปิฎก ทั้งๆ ที่มันคือหนังสือ รู้ตัวอีกทีคือมอดกินหมดแล้ว ไม่มีใครได้อ่าน ไม่มีใครรู้ว่าเขียนอะไรไว้ วรรณคดีก็เช่นกัน มันไม่ควรถูกเก็บไว้ในตู้หรือวางไว้บนหิ้ง ถูกลืม รู้ตัวอีกทีมันก็สลายไปแล้ว และทุกคนรู้แค่ว่ามันเป็นสิ่งที่ดี แต่ไม่รู้ว่ามันคืออะไร ดังนั้น ฟังก์ชั่นของวรรณคดีคือหนังสือ มันควรถูกนำมาอ่าน ถ่ายทอด ประยุกต์ใช้ เอามาเล่นเป็นการแสดง วรรณคดี 90 เปอร์เซ็นต์ ที่เรารู้จัก ถ้าไปดูดีๆ มันจะเขียนว่าบทละคร เช่น บทละครเรื่องรามเกียรติ์ บทละครเรื่องมัทนะพาธา บทละครเรื่องอิเหนา มันถูกสร้างมาเพื่อให้เอามาเล่น ไม่ใช่เอาไว้วางบนหิ้งสวยๆ ดังนั้น ถ้าไม่มีใครสักคนหยิบมันลงมาใช้ มันก็จะตายไป” วิวสรุป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook