ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ระหว่างตั้งครรภ์ อาการที่คุณแม่อย่านิ่งนอนใจเด็ดขาด

ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ระหว่างตั้งครรภ์ อาการที่คุณแม่อย่านิ่งนอนใจเด็ดขาด

ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ระหว่างตั้งครรภ์ อาการที่คุณแม่อย่านิ่งนอนใจเด็ดขาด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ระหว่างตั้งครรภ์ (Urinary Tract Infection) ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ในผู้หญิงตั้งครรภ์จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ในช่วงสัปดาห์ที่ 6-24 ของการตั้งครรภ์ คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องไปพบคุณหมอ เพราะโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ อาจส่งผลต่อการตั้งครรภ์ เช่น การคลอดก่อนกำหนด ลูกมีน้ำหนักตัวแรกเกิดน้อย หรืออาจร้ายแรงถึงขั้นติดเชื้อในกระแสเลือด

อาการบ่งชี้โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ

หากคุณแม่ตั้งครรภ์มีอาการเหล่านี้ อาจหมายถึงโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ

  • ปัสสาวะบ่อย
  • กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ เวลาปวดปัสสาวะ ต้องรีบปัสสาวะอย่างรวดเร็ว
  • มีปัญหากับการปัสสาวะ
  • รู้สึกแสบท้อง ปวดท้องน้อย หรือปวดหลังด้านล่าง
  • รู้สึกแสบ เวลาปัสสาวะ
  • ปัสสาวะสีขุ่น สีไม่ใส และมีกลิ่นแรง
  • มีเลือด หรือเมือก ในปัสสาวะ
  • เจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์
  • รู้สึกหนาว มีไข้ เหงื่อออก หรือมีอาการปัสสาวะรั่ว (ปัสสาวะไหลไม่หยุด)
  • ตื่นนอนเนื่องจากปวดปัสสาวะ
  • ปริมาณปัสสาวะเปลี่ยนไป เช่น ปัสสาวะมากขึ้นหรือน้อยลงกว่าเดิม
  • เจ็บบริเวณกระเพาะปัสสาวะ

หากอาการเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย แล้วเชื้อแพร่กระจายไปในไต อาจมีอาการปวดหลัง เป็นไข้ วิงเวียน และอาเจียน ร่วมด้วย ถ้าคุณแม่ตั้งครรภ์มีอาการเหล่านี้ ควรไปพบคุณหมอ

สาเหตุ และวิธีการรักษา โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ

  • สาเหตุ ฮอร์โมนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทางเดินปัสสาวะง่ายต่อการติดเชื้อ และเนื่องจากมดลูกอยู่บนกระเพาะปัสสาวะ เมื่อมดลูกขยายตัวจะทำให้เพิ่มแรงกดทับบริเวณทางเดินปัสสาวะ ซึ่งอาจทำให้ขัดขวางการขับถ่ายปัสสาวะจากกระเพาะปัสสาวะ เป็นเหตุให้เกิดการติดเชื้อได้ ซึ่งโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะส่วนใหญ่จะเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย
  • การวินิจฉัยโรค ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์จะได้รับการตรวจปัสสาวะ คุณหมอจะวิเคราะห์แบคทีเรีย เซลล์เม็ดเลือดแดง และเซลล์เม็ดเลือดขาว เพื่อตรวจสอบว่าการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ เกิดจากแบคทีเรียชนิดใด
  • การรักษาโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ เบื้องต้นคุณหมอจะให้กินยาเป็นเวลา 3-7 วัน หรือตามแต่แพทย์จะสั่ง อาการควรจะหายไปภายใน 3 วัน และถึงแม้ว่าอาการจะบรรเทาลงแล้ว คุณแม่ตั้งครรภ์ก็ควรรับประทานยาต่อไปจนครบตามที่หมอสั่ง

โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ จะส่งผลกระทบต่อทารกหรือไม่

หากโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะไม่ได้รับการรักษา อาจนำไปสู่การติดเชื้อในไต ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะคลอดก่อนกำหนดและทารกมีน้ำหนักตัวแรกเกิดน้อย แต่ถ้าคุณหมอรักษาอาการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะได้ทันท่วงที โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะก็จะไม่เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์

การป้องกันโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ

คุณแม่สามารถลดความเสี่ยงในการเป็นโรค ได้โดยการปฏิบัติดังต่อไปนี้

  • ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อวัน โดยคุณแม่ตั้งครรภ์ควรดื่มน้ำอย่างน้อย 2.4 ลิตรต่อวัน
  • หลีกเลี่ยงการกินอาหารแปรรูป น้ำผลไม้ คาเฟอีน แอลกอฮอล์ และน้ำตาล
  • กินวิตามินซีประมาณ 200-500 มิลลิกรัม เบต้า-แคโรทีน (Beta-carotene) 25,00-50,000 IU ต่อวัน และกินซิงก์ 30-50 มิลลิกรัมต่อวัน
  • ปัสสาวะก่อนและหลังมีเพศสัมพันธ์
  • หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ในช่วงเวลาของการรักษาโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
  • เวลาเช็ดทำความสะอาดอวัยวะเพศ ให้เช็ดจากด้านหน้าไปด้านหลัง
  • ปัสสาวะให้สุด เพื่อลดการมีเชื้อแบคทีเรียในท่อปัสสาวะ
  • ถ้าต้องใช้เจลหล่อลื่นเวลามีเพศสัมพันธ์ ให้ใช้เป็นสูตรน้ำ (water-based)
  • อย่าสวนล้างช่องคลอด และหลีกเลี่ยงการใช้สบู่ที่ออกฤทธิ์แรง แป้งฝุ่น หรือสเปรย์ดับกลิ่น ไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้กับอวัยวะเพศ
  • สวมเสื้อผ้าสบายๆ ไม่ควรสวมชุดชั้นใน หรือเสื้อผ้าที่รัดแน่นจนเกินไป อาจทำให้เกิดการอับชื้น จนเป็นสาเหตุของการติดเชื้อ
  • อย่าแช่ตัวในอ่างอาบน้ำนานเกิน 30 นาทีหรือมากกว่า 2 ครั้งต่อสัปดาห์

ระวัง! ยารักษาโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ

การรักษาโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะในขณะตั้งครรภ์เป็นสิ่งที่สำคัญ แต่มีรายงานจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (Center of Disease Control and Prevention: CDC) ของสหรัฐฯ เมื่อไม่นานมานี้ พบว่าผู้หญิงตั้งครรภ์บางกลุ่มยังคงได้รับยาปฏิชีวนะบางชนิด ที่อาจเชื่อมโยงกับภาวะพิการแต่กำเนิดของทารก ซึ่งได้แก่ยาไนโตรฟูแรนโทอิน (Nitrofurantoin) และไตรเมโทพริม+ซัลฟาเมทอกซาโซน (Trimethoprim-sulfamethoxazole) ทั้งสองชนิดเป็นยาที่ใช้ในการรักษาอาการติดเชื้อหลายชนิด รวมทั้งการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะด้วย

อย่างไรก็ตาม รายงานของ CDC ชี้ว่ายาเหล่านี้อาจทำให้เกิดภาวะพิการแต่กำเนิดของทารกได้ อย่างเช่น ภาวะที่ทารกเกิดมาโดยไร้สมอง (anencephaly) หัวใจพิการ หรือปากแหว่งเพดานโหว่ ฯลฯ แต่ในขณะเดียวกัน สมาคมสูตินรีแพทย์แห่งสหรัฐฯ (American College of Obstetricians and Gynecologists: ACOG) ก็ให้ความเห็นไว้ว่า ผลการศึกษาวิจัยในเรื่องนี้ยังมีความก้ำกึ่งในเรื่องผลกระทบของยาปฏิชีวนะเหล่านี้ในหญิงตั้งครรภ์ โดยเฉพาะเมื่อกินในสามเดือนแรก จากผลการวิจัยที่ยังไม่ชี้ชัดลงไปถึงอันตรายของการกินยาปฏิชีวนะเหล่านี้ในหญิงตั้งครรภ์

ทำให้สมาคมสูตินรีแพทย์สหรัฐฯ ให้คำแนะนำว่า โดยหลักๆ แล้ว ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ในช่วงสามเดือนแรกควรหลีกเลี่ยงการกินยาปฏิชีวนะชนิดนี้ ขณะที่เมื่อพ้นสามเดือนไปแล้ว ก็อาจจะสามารถใช้ยาเหล่านี้ได้ อย่างไรก็ตาม ควรตัดสินใจในการใช้ยาเหล่านี้อย่างระมัดระวังร่วมกับหมอ และสิ่งที่ควรทำมากที่สุดก็คือ การตรวจให้แน่ใจว่าหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะจริงๆ ก่อนที่จะตัดสินใจรักษา เพราะการปล่อยการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะทิ้งไว้โดยไม่ได้รักษา เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์มากกว่า ฉะนั้น สาวๆ ที่กำลังตั้งครรภ์ควรดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากโรคนี้ และควรปรึกษากับหมออย่างใกล้ชิดเมื่อมีอาการต้องสงสัยเกิดขึ้น เพื่อที่จะร่วมกันหาทางออกที่ดีที่สุดสำหรับคุณและลูกน้อยในครรภ์  

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค และการรักษาโรคแต่อย่างใด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook