รักมั่น... จะหมั้นหมาย

รักมั่น... จะหมั้นหมาย

รักมั่น... จะหมั้นหมาย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แม้การจัดพิธีแต่งงานในปัจจุบันจะรวมพิธีการต่างๆ มาประกอบพิธีในวันเดียวกันเพื่อความสะดวก แต่พิธีหมั้นยังคงเป็นพิธีที่เปี่ยมไปด้วยระเบียบแบบแผนอันเป็นเอกลักษณ์ มีขั้นตอนเฉพาะตัว มีระเบียบแบบแผนที่งดงามไม่แพ้พิธีแต่งงานเช่นเดียวกัน

"การหมั้น"

เปรียบเสมือนการตีตราจอง หรือการจับจองกันและกันเอาไว้ก่อนถือเป็นหลักประกันความรักของหนุ่มสาว ก่อนที่จะจูงมือเข้าสู่ประตูวิวาห์ถ้าจะมองถึงวัตถุประสงค์อีกด้านหนึ่ง การหมั้นก็คือการเปิดโอกาสให้หนุ่มสาวได้ศึกษาอุปนิสัยใจคอกันมากขึ้น รู้จักเรียนรู้กันและกัน โดยไม่ให้เป็นที่ติฉินนินทาของคนทั่วไป ถือเป็นผลดีต่อชีวิตคู่ในอนาคต เพราะเมื่อศึกษานิสัยใจคอกันมากขึ้นแล้ว จะทำให้การปรับตัวเข้าหากันเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น

 

 

ในสมัยก่อนการแต่งงานของลูกสาวถือเป็นงานออกหน้าออกตาใหญ่โต ฝ่ายหญิงจะเรียกร้องของหมั้น ที่มีราคาแพงอย่างทองคำ จึงทำให้เป็นคำพูดติดปากมาจนทุกวันนี้ว่า "สินสอดทองหมั้น" ซึ่งประเพณีโบราณถือเป็นของที่เจ้าสาวจะนำไปเป็นเครื่องแต่งตัว ในวันแต่งงานนั่นเอง ในธรรมเนียมการหมั้นจะมี "ขันหมากหมั้น" ซึ่งถือเป็นการวางมัดจำว่า ฝ่ายหญิงที่ถูกหมั้นหมายแล้วจะไปชอบพอกับใครไม่ได้อีก หรือผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงจะยกให้ใครอีกไม่ได้เด็ดขาด

ส่วนในพิธีหมั้น หรือการยกขันหมากหมั้น มักจะทำก่อนวันแต่ง แต่ในบางพื้นที่การยกขันหมากหมั้นจะทำในวันเดียวกับวันแต่งงานก่อนที่พระสงฆ์จะมาหรืออาจทำพิธีสวมแหวนต่อหน้าพระสงฆ์ แต่ในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯส่วนใหญ่จะไม่มีขันหมากหมั้น แต่จะมีขันหมากแต่งเลย เพราะนิยมหมั้นและแต่งในคราวเดียว จะสวมแหวนสวมเครื่องเพชรเครื่องทองหลังจากเปิดขันหมาก และโรยถั่วงาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หรือถ้าบางบ้านจะอยากให้มีการยกขันหมากหมั้นเกิดขึ้นก่อนวันแต่งจริงๆ ก็มักจะมีก่อนจะถึงวันแต่งงานสำหรับขั้นตอนการหมั้น จะเริ่มตั้งแต่ฝ่ายชายเป็นผู้ที่จัดขบวนขันหมาก

 

 

โดยมีเฒ่าแก่ของฝ่ายชาย นำหน้าตามด้วยขันหมาก 3 ขัน หรือ 2 ขัน ซึ่งถือว่าเป็นของสำคัญ ซึ่งตรงนี้ก็อาจจะมีของอย่างอื่นร่วมขบวนไปด้วยก็ได้ เช่น ขนม นม เนย และผลไม้ต่างๆ มีชายหนุ่มและผู้ติดตาม แต่ในสมัยโบราณไม่จำเป็นต้องให้ฝ่ายชายที่จะหมั้นไปด้วย เพราะเขาจะไม่มีการสามแหวนหมั้นกันเพียงแต่เอาของหมั้นไปขอหมั้นฝ่ายหญิงไว้เท่านั้น แต่ปัจจุบันมักนิยมใช้แหวนเพชรเป็นสัญลักษณ์แห่งสัญญา ฝ่ายชายจึงต้องเป็นผู้ไปสวมแหวนหมั้นให้ฝ่ายหญิงด้วยตัวเอง นอกจากจะแฝงไปด้วยความงดงามของวัฒนธรรมแล้วยังจะแฝงไว้ด้วยภาพของความโรแมนติกอีกด้วย

เมื่อขบวนไปถึงหน้าบ้านฝ่ายหญิงแล้ว ก็จะมีผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงมาต้อนรับเพื่อเชิญเข้าบ้าน โดยจัดเด็ก หรือผู้ถือขันมีพานรอง ใส่พลูจีบยาวต่อยอด และหมากทั้งลูก เจียนเปลือกซอยให้เป็นฝอยมาเชิญ เฒ่าแก่ฝ่ายชายจะต้องใส่ซองเงิน หรือของรางวัล ลงในขันเชิญคล้ายกับเป็นการเปิดทางอย่างการกั้นประตูเงินประตูทอง เมื่อผู้ใหญ่ฝ่ายชายมานั่งตรงที่ที่ฝ่ายหญิงจัดไว้เรียบร้อยแล้วก็จะรอฤกษ์จากนั้นเฒ่าแก่ฝ่ายชายจะออกนามฝ่ายหญิงที่ขอหมั้นแล้วเลื่อนขันหมากให้แก่ฝ่ายหญิง ผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงจะเปิดผ้าคลุมขัน ตรวจของหมั้นเมื่อเห็นว่าถูกต้องเรียบร้อยแล้ว จะมอบให้บิดามารดา หรือผู้ปกครองฝ่ายหญิง เพื่อนำไปถ่ายของออก ฝ่ายหญิงเขาก็จะใส่ของชำร่วย ให้แก่ผู้เชิญขันหมาก และของอื่นๆ สำหรับเฒ่าแก่ฝ่ายชาย โดยบิดามารดาหรือผู้ปกครองฝ่ายหญิง จะเป็นผู้แจกให้ด้วยตัวเอง

จากนั้นจึงเป็นอันเสร็จพิธีหมั้น หลังจากนี้จะมีการเลี้ยงกัน โดยฝ่ายหญิงจะเป็นผู้จัดเลี้ยงก็ได้ ถือว่าเป็นการฉลองการหมั้น หรือจะไม่มีเลี้ยงก็ได้ เสร็จพิธีแล้วฝ่ายชายก็จะลากลับ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็คือขั้นตอนของพิธีการหมั้นอันงดงามแบบไทย

ปัจจุบันพิธีหมั้นนิยมจัดควบคู่กับพิธีสู่ขอ จึงมักจะตัดขั้นตอนของขบวนขันหมากออกไป เหลือเพียงการนำสินสอดของหมั้นมาหมั้นฝ่ายหญิง และมีการเลี้ยงฉลองกันในหมู่ญาติ และอาจจัดก่อนหรือจัดในช่วงเช้าของวันแต่งงาน สำหรับคู่ที่ตัดสินใจหมั้นแล้วแต่งเลยการเตรียมงานจะทำควบคู่กันไปถือว่าเป็นวิธีที่สะดวกที่สุด แต่หากตัดสินใจหมั้นหมายกันไว้ก่อน ควรมีการเตรียมล่วงหน้า 2-3 เดือน เพื่องานที่สมบูรณ์แบบ

 


ถอนหมั้นต้องคืนของไหม

"การหมั้น" นั้น เป็นเรื่องของการประกันว่าฝ่ายชายและฝ่ายหญิงจะมีการแต่งงานเกิดขึ้นในอนาคต แต่ถ้าหมั้นหมายกันแล้ว ฝ่ายชายไม่แต่งงานตามสัญญา ขันหมากและของหมั้นจะตกเป็นของฝ่ายหญิง แต่ฝ่ายหญิงจะกลายเป็น "หม้ายขันหมาก" แต่ถ้าฝ่ายหญิง เป็นฝ่ายทำผิดสัญญาทำให้แต่งงานกับฝ่ายชายไม่ได้ ขันหมากหมั้นนั้น

เป็นอันต้องคืนกลับให้ฝ่ายชายทั้งหมดแหวนหมั้นมีตำนานตามตำนานและประวัติศาสตร์ที่มีมาช้านาน เชื่อกันว่าแหวนเปรียบเสมือนตัวแทนคำมั่นสัญญาความรัก และความมั่นคง เป็นเครื่องประดับติดตัวชิ้นเดียวที่มีคุณค่าผูกพันจิตใจกับหญิงสาว แต่ก่อนคู่ หนุ่มสาวจะใช้เถาวัลย์ตามธรรมชาตินำมาผู้ติดกับนิ้วเพื่อแสดงถึงความรัก จนกลายเป็นประเพณีของชาวโรมันและชาวอังกฤษที่จะนำโลหะที่มีค่าที่สุดของแต่ละยุคสมัยมาใช้สวมให้กับเจ้าสาว

สวมแหวนหมั้นนิ้วนางข้างซ้าย

ตามความเชื่อตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 เชื่อว่านิ้วนางข้างซ้ายนั้น เป็นตำแหน่งเดียวกับเส้นเลือดที่วิ่งตรงเข้าสู่หัวใจ การสวมแหวนที่นิ้วนางซ้ายจะดลให้อำนาจของความรักระหว่างคนทั้งคู่ผ่านสู่หัวใจของผู้สวมใส่ได้โดยตรง

ทำไมต้อง "เพชร"

คู่รักส่วนมากนิยมเลือกแหวนหมั้นหรือแหวนแต่งงานที่ทำจากเพชรเนื่องจากเพชรมีความหมายบ่งถึงความมั่นคง ความยั่งยืนในชีวิตรักซึ่งถือกำเนิดมาจากกษัตริย์ชาวเยอรมัน ใน ค.ศ. 1477 ที่ใช้แหวนเพชรเม็ดใหญ่เป็นของหมั้นแทนความรักของตน แหวนหมั้นเพชรจึงถือกำเนิดตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook