7 อาการ ปวดหลัง ที่มักเกิดกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

7 อาการ ปวดหลัง ที่มักเกิดกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

7 อาการ ปวดหลัง ที่มักเกิดกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อพูดถึงปัญหาเกี่ยวกับหลังแล้ว ผู้หญิงเป็นเพศที่มักต้องทนทุกข์ทรมานกับอาการปวดเช่นนี้ มากกว่าผู้ชาย เนื่องจากผู้หญิงกับผู้ชายมีโครงสร้างกระดูกเชิงกราน และฮอร์โมนที่ต่างกัน รวมถึงหน้าที่ในการให้กำเนิดบุตรของผู้หญิงอีกด้วย ต่อไปนี้ เป็น อาการ ปวดหลัง ที่พบได้ทั่วไป 7 ประเภทที่มักส่งผลต่อผู้หญิง

อาการปวดกระดูกก้นกบ

อาการปวดกระดูกก้นกบอาจเกิดขึ้นอย่างช้าๆ หรือจู่ๆ ก็เกิดขึ้นหลังจากมีแรงกระแทกในบริเวณดังกล่าว แม้แต่การสัมผัสเบาๆ ในบริเวณนั้น ก็สามารถทำให้คุณเจ็บปวดได้ จนอาจทำให้แม้แต่การนั่งก็กลายเป็นอิริยาบถที่เจ็บปวดได้ อาการปวดกระดูกก้นกบมักมีอาการรุนแรงขึ้น เมื่อมีอาการท้องผูก แต่ก็โชคดีที่อาการเจ็บปวด มักทุเลาลงภายหลังการขับถ่ายแต่ละครั้ง โดยส่วนใหญ่แล้ว อาการปวดกระดูกก้นกบมักเกิดจากการคลอดบุตร หรือการล้มก้นกระแทก

กระดูกสันหลังยุบ

ภาวะกระดูกพรุน (Osteoporosis) อาจทำให้กระดูกสันหลังของคุณแตก ส่งผลให้เกิดกระดูกสันหลังยุบได้ กระดูกยุบตัวมักพบได้มากที่สุดในบริเวณกระดูกสันหลังส่วนบน ในขณะที่คนจำนวนมากมีอาการปวดที่รุนแรง เมื่อมีอาการกระดูกสันหลังยุบ แต่บางคนอาจไม่รู้สึกอะไรเลย กระดูกสันหลังยุบอาจทำให้หลังค่อมหรือความสูงลดลงได้

กระดูกสันหลังเคลื่อนจากการเสื่อมสภาพ

กระดูกสันหลังเคลื่อนจากการเสื่อมสภาพ (Degenerative spondylolisthesis) เกิดขึ้นเมื่อกระดูกสันหลังชิ้นหนึ่ง ในบริเวณหลังส่วนล่าง เคลื่อนตัวไปข้างหน้าจนอยู่เหนือชิ้นส่วนที่อยู่ข้างใต้ ทำให้รากประสาทเกิดการระคายเคือง และเกิดอาการปวดบริเวณหลังส่วนล่างและขา อาการทั่วไปของกระดูกสันหลังเคลื่อน ได้แก่ อาการปวดขาหรืออ่อนเพลีย ที่เกิดขึ้นในระหว่างที่เดินหรือยืนเป็นเวลานาน อาการปวดอาจรุนแรงมากพอที่จะเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของคุณได้

โรคไฟโบรมัยอัลเจีย

โรคไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia) เป็นโรคเรื้อรังที่ทำให้เกิดอาการปวด ตึง และเมื่อยล้า ในบริเวณหลังส่วนบนและส่วนล่าง คอ และสะโพก และมีอาการอ่อนเพลียร่วมด้วย อาการปวดที่เกิดจากโรคไฟโบรมัยอัลเจียอาจเกิดขึ้นแบบเป็นๆ หายๆ อยู่เป็นประจำ อาการข้ออักเสบ อาการซึมเศร้า และลำไส้แปรปรวน มักเป็นอาการที่เกิดขึ้นร่วมกับโรคไฟโบรมัยอัลเจีย ผู้ป่วยโรคไฟโบรมัยอัลเจียประมาณร้อยละ 80 ถึง 90 เป็นผู้หญิงอายุระหว่าง 40 และ 75 ปี

กลุ่มอาการกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท

กลุ่มอาการกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท (Piriformis syndrome) เกิดขึ้นเมื่อกล้ามเนื้อพิริฟอร์มิส (ซึ่งมีหน้าที่ค้ำยันข้อต่อสะโพก และทำให้หมุนต้นขา) เกิดอาการกระตุก และดันตัวออกมายังหรือกระตุ้นเส้นประสาทไซอาติก ทำให้เกิดอาการปวดอย่างรุนแรง หรือเกิดอาการชาที่ขาและเท้าได้ อาการอื่นๆ ของกลุ่มอาการกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท ได้แก่ อาการปวดตื้อที่สะโพก อาการปวดเมื่อขึ้นบันไดหรือเนินเขา และอาการปวดที่ร่างกายข้างหนึ่งในขณะนั่ง

ข้อกระดูกสันหลังเสื่อม

ผู้ที่เป็นโรคข้อกระดูกสันหลังเสื่อม (spinal osteoarthritis) จะมีอาการเสื่อมของกระดูกอ่อน ที่มีลักษณะเป็นเส้นใยในบริเวณผิวข้อต่อที่เชื่อมกระดูกสันหลัง เมื่อกระดูกคุณสูญเสียหมอนรองกระดูกจากกระดูกอ่อน กระดูกจึงเสียดสีกัน ทำให้เกิดอาการปวดและอาการเมื่อยล้าได้ ข้อกระดูกสันหลังเสื่อมมักมีอาการรุนแรงขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป อาการในระยะเริ่มแรกมักเข้าใจผิดว่า เป็นอาการปวดกล้ามเนื้อ

กระดูกเชิงกรานเคลื่อนตัวผิดปกติ

ตามชื่อของอาการนี้นั่นก็คือ กระดูกเชิงกรานเคลื่อนตัวผิดปกติ (sacroiliac joint dysfunction) เป็นอาการที่เกิดขึ้นเมื่อมีความผิดปกติเกิดขึ้นกับกระดูกเชิงกราน ซึ่งเป็นส่วนที่รองรับน้ำหนักระหว่างร่างกายส่วนบนและเชิงกราน อาการดังกล่าวทำให้เกิดอาการปวดที่บริเวณหลังส่วนล่างและขา ที่มีอาการคล้ายกับอาการปวดที่เกิดจากอาการปวดหลังร้าวไปขา (sciatica) กระดูกเชิงกรานเคลื่อนตัวผิดปกติพบได้มากในผู้หญิงวัยรุ่นและวัยกลางคน

แนวทางสำหรับผู้หญิงในการรักษาอาการปวดหลัง

ผู้หญิงไม่เพียงแต่มีโอกาสที่จะมีอาการปวดหลังเท่านั้น แต่ยังมีอาการที่รุนแรงมากกว่า อีกด้วย เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทำความรู้จักกับอาการปวดและรักษาโดยเร็ว อาการปวดส่วนใหญ่จากปัญหาเหล่านี้สามารถบรรเทาได้ด้วยการใช้ยาแก้ปวด ยาแก้อักเสบแบบไม่มีสเตียรอยด์ (NSAID-nonsteroidal anti-inflammatory drugs) เป็นจุดเริ่มต้นในการรักษาที่ดี นอกเหนือจากการบรรเทาอาการปวดแล้ว ยากลุ่มนี้ยังลดไข้และอาการบวมได้อีกด้วย ดังนั้น หากคุณกำลังรักษาอาการปวดหลัง คุณอาจต้องการลองใช้ยา NSAID ก่อน อย่างไรก็ดี การปรึกษาแพทย์เป็นสิ่งที่ดีที่สุด เนื่องจากร่างกายของแต่ละคนมีการตอบสนองต่อยาอย่างแตกต่างกันออกไป  

Hello Health Group ม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค และการรักษาโรคแต่อย่างใด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook