ภาษากาย ที่บ่งบอกถึงอารมณ์ความรู้สึกของเด็กที่พ่อแม่ควรรู้

ภาษากาย ที่บ่งบอกถึงอารมณ์ความรู้สึกของเด็กที่พ่อแม่ควรรู้

ภาษากาย ที่บ่งบอกถึงอารมณ์ความรู้สึกของเด็กที่พ่อแม่ควรรู้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ภาษากาย เป็นสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก สำหรับคุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่ที่ลูกยังอยู่ในขวบปีแรก เนื่องจากเป็นช่วงที่เด็กๆ ยังไม่สามารถสื่อสารได้ด้วยการพูด การอ่านสัญญาณจากภาษากาย หรือการกระทำของลูก จึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะทำให้พ่อแม่ได้รับทราบถึงอารมณ์และความรู้สึกของลูก เพื่อที่จะตอบสนองได้อย่างเหมาะสม

ความสำคัญของภาษากายในเด็ก

การทำความเข้าใจกับภาษากายของเด็กเป็นเรื่องสำคัญมาก เนื่องจากมันเป็นวิธีการในการสื่อสารถึงความต้องการบางอย่างของเด็ก ดร.เจ.เควิน นูเจนท์ ผู้อำนวยการสถาบันบราเซลตัน ในเมืองบอสตัน สหรัฐอเมริกา และผู้เขียนหนังสือเรื่อง Your Baby is Speaking to You บอกว่า การสามารถอ่านภาษากายของเด็ก และตอบสนองได้อย่างเหมาะสม จะทำให้เด็กมีความสุขมากขึ้น และช่วยให้คุณเรียนรู้เกี่ยวกับอารมณ์และบุคลิกภาพของเด็กได้ด้วย

ภาษากาย ของเด็กที่พบได้บ่อย

เตะขา

เจ้าหนูอาจโตขึ้นมาเป็นนักฟุตบอลก็ได้ใครจะไปรู้ แต่เปล่าหรอกค่ะ นี่ยังไม่ใช่สิ่งที่เจ้าตัวน้อยต้องการจะสื่อในตอนนี้ แต่สิ่งที่ลูกต้องการจะสื่อจากการเตะขาในตอนนี้ ก็ขึ้นอยู่กับปฏิกิริยาอื่นของเด็กด้วย พญ.แคลร์ แมคคาร์ธี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านกุมารเวช จากโรงเรียนแพทย์ฮาร์วาร์ด ชี้ว่า ถ้าเด็กเตะขาพร้อมกับยิ้มและดูมีความสุข มันก็อาจเป็นสัญญาณว่า แกกำลังอยากเล่น แต่ถ้าเตะขาไปร้องไห้ไปด้วยอาการหงุดหงิด ก็สื่อว่า กำลังมีอะไรรบกวนเด็กอยู่ อาจจะเป็นผ้าอ้อมเปียกแฉะ หรืออาการท้องอืด ซึ่งพ่อแม่ควรรีบตรวจดูว่า มีอะไรที่ทำให้เด็กหงุดหงิดอยู่ แล้วก็รีบจัดการซะ

จับหูหรือดึงหู

อย่าเพิ่งรีบด่วนสรุปว่า เด็กกำลังเจ็บหู หรือมีอาการติดเชื้อที่หู เพราะจริงๆ แล้วผู้เชี่ยวชาญบอกว่า มันอาจบอกแค่ว่า เด็กเพิ่งรู้ว่าตัวเองมี “หู” หรือเพิ่งสำรวจเจออวัยวะใหม่ของตัวเอง งานวิจัยชี้ว่าอาการดึงหูของเด็กๆ นั้น ส่วนใหญ่แล้วไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับอาการติดเชื้อที่หูแต่อย่างใด (ในเรื่องนั้น คุณควรสังเกตอาการมีไข้ คัดจมูก และไม่หลับไม่นอนตอนกลางคืนมากกว่า) แต่บางทีเด็กมักจะชอบดึงหูตัวเอง เพื่อเป็นการปลอบตัวเองให้หายหงุดหงิดจากบางสิ่งบางอย่าง อย่างเช่น ถ้าเป็นเด็กในช่วงที่ฟันกำลังจะขึ้น หรือที่เรามักเรียกกันว่าเด็กกำลัง “คันเหงือก” เด็กก็อาจรู้สึกหงุดหงิดไม่สบายใจได้ ลองหาอะไรให้ลูกได้กัดแก้คันเหงือก ก็จะทำให้พวกแกสงบลงได้

กำหมัด

เจ้าหนูน้อยไม่ได้กำลังเตรียมที่จะสู้กับใครอยู่หรอกค่ะ และจริงๆ แล้ว สำหรับเด็กแรกเกิด ท่ากำหมัดเป็นท่าที่เด็กกำลังพักผ่อน เนื่องจากทารกแรกเกิดยังไม่สามารถทำอะไรกับมือตัวเองได้มากนัก เนื่องจากการเคลื่อนไหวนิ้วและมือ เด็กต้องมีพัฒนาการทางระบบประสาทและสมองที่มากพอ ปกติแล้วเด็กจะเริ่มแบมือตอนนอนหลับเมื่ออายุราว 8 สัปดาห์ และสามารถหยิบฉวยและไขว่คว้าสิ่งต่างๆ ได้ดีก็ในราววัย 3-4 เดือน แต่ถ้าการกำมือของเด็กมีลักษณะที่กำแน่นขึ้น มิเชลล์ ลอง พยาบาลผู้เชี่ยวชาญเรื่องการดูแลเด็กในนิวยอร์กซิตี้ ชี้ว่า นั่นอาจแสดงถึงความเครียดหรือความหิวได้ โดยเด็กที่หิวมากๆ มักจะมีอาการเกร็งเกือบทั่วทั้งร่างกายเลยทีเดียว ข้อควรระวังก็คือ ถ้าลูกของคุณมักจะกำหมัดแน่นหลังจากอายุเลยสามเดือนไปแล้ว ลองปรึกษาหมอ เพราะมันอาจหมายความถึงความเครียดบางอย่างก็เป็นได้

แอ่นหลัง

ท่าแอ่นหลังของเด็ก มักจะเป็นปฏิกิริยาตอบสนองต่อความเจ็บปวด หรือหงุดหงิดไม่สบาย เด็กทารกจำนวนมาก มักทำท่านี้เวลาที่เกิดอาการกรดไหลย้อน ถ้าลูกทำท่านี้ ควรรีบตรวจสอบว่ามีอะไรที่ทำให้ลูกรู้สึกไม่สบาย ท่าเด็กแอ่นหลังระหว่างที่กำลังกินนม มันอาจเป็นสัญญาณของภาวะไหลย้อนในเด็ก พยายามอย่าบังคับให้ลูกกินต่อ ถ้าลูกบ้วนนมออกมาหรือร้องไห้ แต่ควรหยุดป้อนนมและปลอบโยนแกแทน

เอาหัวโขก

เด็กอาจจะเอาหัวโขก ไม่ว่าจะกับพื้น หรือกับลูกกรงกั้นรอบเตียงเด็ก เวลาที่รู้สึกหงุดหงิดหรือไม่สบาย เพราะจังหวะการกระแทกหัวไปๆ มาๆ เป็นการเคลื่อนไหวที่ทำให้เด็กรู้สึกผ่อนคลายได้ แต่ถ้าเด็กโขกหัวเป็นเวลานานๆ หรือเกิดขึ้นบ่อยๆ ก็ควรปรึกษากับหมอเด็กดู เพราะมันอาจเป็นปัญหาสุขภาพ ไม่เหมือนกับการอาละวาดของเด็กโตๆ ที่เป็นปัญหาแบบอื่น    

 

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือรักษาโรคแต่อย่างใด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook