"สปาร์คเซ็นเตอร์" เปิดโลกของเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ให้สังคมเข้าใจ เรียนรู้ความแตกต่าง

"สปาร์คเซ็นเตอร์" เปิดโลกของเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ให้สังคมเข้าใจ เรียนรู้ความแตกต่าง

"สปาร์คเซ็นเตอร์" เปิดโลกของเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ให้สังคมเข้าใจ เรียนรู้ความแตกต่าง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราได้ยินคำว่า เด็กที่มีความต้องการพิเศษ หรือ children with special needs กันบ่อยขึ้นจนเป็นคำคุ้นหู แต่จะมีสักกี่คนที่เข้าใจในบริบทที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องราวของเด็กที่มีความต้องการพิเศษอย่างแท้จริง หลายๆครั้ง เรื่องราวของเด็กที่มีความต้องการพิเศษจึงถูกสะท้อนออกมาในรูปแบบของปัญหา ภาระ และ ความเครียดของครอบครัว ทั้งที่จริงๆ แล้ว หากภาวะถูกวิเคราะห์อย่างถูกต้อง และเด็กได้รับการบำบัดอย่างถูกวิธี พวกเขาจะสามารถมีพัฒนาการเชิงบวกได้เช่นเดียวกับเด็กๆ ทั่วไป และนี่จึงเป็นที่มาของการก่อตั้ง "Spark Centre" เพื่อริเริ่มจุดประกายความเปลี่ยนแปลงในสังคม ผ่านการให้ความรู้ที่ถูกต้อง พร้อมเสนอกิจกรรมบำบัดทางเลือกให้กับครอบครัว


คุณเปรมฤดี  พันธุ์รัตน์ ผู้ร่วมก่อตั้งสปาร์คเซ็นเตอร์ กล่าวว่า "เด็กที่มีความต้องการพิเศษนั้น เป็นกลุ่มเด็กที่มีพฤติกรรมและการเรียนรู้ที่แตกต่างไปจากเด็กคนอื่นๆ ในวัยเดียวกัน พวกเขาจึงต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดและถูกต้องตามลักษณะเฉพาะบุคคล โดยเพิ่มเติมจากการเรียนรู้ตามธรรมชาติ เพื่อช่วยพัฒนาการในด้านต่างๆทั้งร่างกาย สติปัญญา และอารมณ์ให้เป็นไปในทางที่ดี ให้เขาพัฒนาตนเองได้อย่างเต็มศักยภาพ และผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยสนับสนุนพัฒนาการเชิงบวกของเด็กๆ นั้น ก็คือ กลุ่มคนที่มีความใกล้ชิดกับเด็กมากที่สุด คือ ผู้ปกครอง ที่ต้องมีความเข้าใจ ใส่ใจ พร้อมเรียนรู้วิธีการการดูแลเด็กๆ ได้อย่างเหมาะสม"

ทีมงานและผู้ก่อตั้ง
และนี่จึงเป็นที่มาของการก่อตั้ง "Spark Centre" (สปาร์ค เซ็นเตอร์) กลุ่ม Social Enterprise (กิจการเพื่อสังคม) ที่มีวิสัยทัศน์ ในการจุดประกายแห่งความเปลี่ยนแปลงในสังคมเกี่ยวกับเรื่องเด็กที่มีความต้องการพิเศษในองค์รวม ทั้งเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับความหลากหลายของภาวะทางความคิดและอารมณ์ที่แตกต่างกัน และ การส่งเสริมพัฒนาการของเด็กที่มีความต้องการพิเศษผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ


โดย "Spark Center" (สปาร์ค เซ็นเตอร์) มีพันธกิจหลัก 4 ประการ คือ A.C.T.S เพื่อขับเคลื่อนวิสัยทัศน์อย่างเป็นรูปธรรม
A – Advocate             ให้ข้อมูลที่ชัดเจน สร้างการยอมรับความแตกต่าง ให้ความเข้าใจที่ถูกต้อง
C – Counseling         ให้คำปรึกษา เติมกำลังใจและคำแนะนำ สร้างความพร้อมให้กับผู้ปกครองที่ลูกมีภาวะความต้องการพิเศษ
T – Therapy              นำเสนอทางเลือกในการบำบัด ส่งเสริมพัฒนาการผ่านกิจกรรมต่างๆที่เหมาะสม
S – Synergy             สร้างภาคีเครือข่ายเพื่อให้การสนับสนุนทั้งด้านกิจกรรม การบำบัด การศึกษา และวิชาชีพ



โดยกิจกรรมบำบัดแรก ที่ สปาร์คเซ็นเตอร์ (Spark Centre) นำมาเปิดตัวในเดือน ธันวาคม 2561 นี้  คือ การบำบัดด้วย  "เทคนิคฮอร์สบอย" หรือ Horse Boy Method ซึ่งถูกคิดค้นขึ้นในปี 2550 โดย "มร. รูเพิร์ต ไอแสคสัน" (Rupert Isaacson) แห่งมูลนิธิ เดอะฮอร์ส บอย (The Horse Boy Foundation)


คุณรูเพิร์ต
มร. รูเพิร์ต พัฒนา การบำบัดด้วย "เทคนิคฮอร์สบอย"  (Horse Boy Method)  เพื่อเยียวยา โรเวน (Rowan) ลูกชายของเขาที่มีสภาวะออทิสซึ่ม โดยเขาได้ไปขอคำปรึกษาจาก ศาสตราจารย์ แมรี เทมเปิล แกรนเดน  (Mary Temple Grandin, Ph.D.) ศาสตราจารย์ด้านสัตววิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้านออทิสติกได้ ผู้ซึ่งมีภาวะออทิสซึ่ม ที่ไม่สามารถสื่อสารทางวาจาได้จนอายุกว่า 3 ขวบ มร. รูเพิร์ตจึงเกิดแรงบันดาลใจและตั้งคำถามว่า "จะทำอย่างไรให้ลูกชายของเขามีพัฒนาการที่ดีขึ้นเหมือนอย่าง ดร. แกรนเดนได้" 

ดร. แกรนเดน จึงให้คำแนะนำ 3 ข้อว่า
1. ให้ทำความเข้าใจกับร่างกาย อารมณ์ และสติปัญญาของลูก  
2. ให้ลูกอยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติที่ไม่มีสิ่งเร้าในเชิงลบให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
3. ให้โรเวนได้เคลื่อนไหวบ่อยๆ เพราะเด็กที่มีภาวะออทิสซึ่มส่วนใหญ่เรียนรู้ได้ดีจากการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างสม่ำเสมอ และนี่เอง จึงเป็นจุดเริ่มต้นของกิจกรรมบำบัดด้วย "เทคนิคฮอร์สบอย" (Horse Boy Method) ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่าง อาชาบำบัด (Therapeutic Riding) การบำบัดด้วยการ เคลื่อนไหว (Kinetic Learning) และ เสริมพัฒนาการระบบประสาท (Brain Building) ในสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ

หลังจากที่เขาได้พิสูจน์แล้วว่า การบำบัดด้วย "เทคนิคฮอร์สบอย" (Horse Boy Method) สามารถช่วยเยียวยาและเสริมพัฒนาการของลูกชายเขาได้เป็นอย่างดี เขาจึงส่งต่อทางเลือกในการบำบัดนี้ ให้กับครอบครัวของเด็กที่มีภาวะความต้องการพิเศษคนอื่นๆ และในวันนี้  "เทคนิคฮอร์สบอย" (Horse Boy Method) เป็นการบำบัดทางเลือกให้กับกลุ่มเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ที่ต้องการพัฒนาทั้งด้านระบบประสาท สติปัญญา และการเคลื่อนไหว อาทิ ออทิสซึ่ม (Autism) สมาธิสั้น (ADHD - Attention Deficit Hyperactivity Disorder)  สภาวะดื้อและต่อต้าน (Oppositional Defiant Disorder) กลุ่มอาการดาวน์ (Down Syndrome) หรือแม้แต่ สภาวะสมองพิการ (Cerebral Palsy)  โดยมีคนนับหมื่นครอบครัวในกว่า 20 ประเทศเข้าร่วมกิจกรรมบำบัดด้วย “เทคนิคฮอร์สบอย” (Horse Boy Method) และเห็นพัฒนาการที่ดีขึ้น


"คุณเก็จมณี วรรธนะสิน" นักแสดงและอาสาสมัครผู้มาร่วมศึกษาเกี่ยวกับการบำบัดโดยใช้ "เทคนิคฮอร์สบอย" กล่าวว่า "ม้าเป็นสัตว์ที่มีความอ่อนโยน และสามารถเชื่อมโยงกับผู้ขี่ได้ทั้งด้านการเคลื่อนไหวและจิตใจ จึงเป็นสื่อกลางในการบำบัดที่ดีมาก และ "เทคนิคฮอร์สบอย" เป็นกิจกรรมบำบัดที่เชื่อมการเคลื่อนไหวของม้า เข้าสู่การทำงานของกล้ามเนื้อและระบบประสาทของผู้ถูกบำบัด จึงช่วยด้านพัฒนาการของผู้ที่มีภาวะความต้องการพิเศษได้อย่างเห็นผล การที่สปาร์คเซ็นเตอร์นำเทคนิคการบำบัดนี้เข้ามาแนะนำในประเทศไทยนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะจะเป็นทางเลือกดีๆ ให้กับครอบครัวที่มีความต้องการ" คุณเก็จมณีกล่าวทิ้งท้าย

ม้า เป็นสิ่งมีชีวิตที่น่าอัศจรรย์ ที่สามารถสื่อสารความรู้สึกเหมือนกับมนุษย์เรา โดยคนและม้าสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกนี้ต่อกันและสามารถสร้างความเชื่อมโยงที่น่าอัศจรรย์ซึ่งมีพลังในการรักษา และสร้างความรู้สึกที่ดี

สำหรับท่านที่มีความสนใจในเรื่องการดูแลเด็กที่มีความต้องการพิเศษ หรือ การบำบัดทางเลือกในเด็กพิเศษ สามารถเข้ามาดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ "Spark Center" (สปาร์ค เซ็นเตอร์) หรือติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.sparkcentre.net  เฟสบุ๊ค : SPARK Centre Thailand

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook