เบาหวานก่อนตั้งครรภ์ VS เบาหวานระหว่างตั้งครรภ์

เบาหวานก่อนตั้งครรภ์ VS เบาหวานระหว่างตั้งครรภ์

เบาหวานก่อนตั้งครรภ์ VS เบาหวานระหว่างตั้งครรภ์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เรื่อง : พญ. ชัญวลี ศรีสุโข


โรคเบาหวานในประเทศไทยปัจจุบันพบมากขึ้น อาจเป็นเพราะมีการถ่ายทอดทางพันธุกรรมร่วมกับสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวย อย่างเช่น การกินดีอยู่ดี อาหารรสชาติหวาน น้ำหนักตัวมาก เป็นต้น ซึ่งโรคเบาหวานสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์มี 2 แบบ ดังนี้ค่ะ

1. โรคเบาหวานก่อนการตั้งครรภ์ (Pregestational diabetes)
2. โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (Gestational diabetes)

โรคเบาหวานก่อนการตั้งครรภ์ (Pregestational diabetes)
ตัวอย่างคนไข้
คุณกิริยา (นามสมมุติ) อายุ 42 ปี มีลูกแล้ว 3 คน หลังคลอดลูกคนเล็ก เธอป่วยเป็นโรคเบาหวาน จึงรับประทานยารักษามาโดยตลอด แต่การคุมน้ำตาลทำได้ไม่ดี มีช่วงหนึ่งไม่สบาย ต้องรับการรักษาในโรงพยาบาลจึงไม่ได้รับประทานยาคุมกำเนิด ต่อมาพบว่า คุณกิริยาตั้งครรภ์ได้หกเดือนแล้ว คุณกิริยาถามว่า  "ตั้งท้องพร้อมกับเป็นโรคเบาหวาน จะเกิดอันตรายต่อลูกและตัวเองอย่างไรบ้างคะ"

ผลกระทบต่อลูกน้อย
ผลกระทบต่อลูกน้อยนั้นมีมากมาย ได้แก่ ทารกแท้ง ทารกพิการ ทารกคลอดก่อนกำหนด คลอดยากเพราะตัวโต ปอดไม่พัฒนา ทารกเสียชีวิตในครรภ์ ทารกเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังคลอด

ผลกระทบต่อคุณแม่
ส่วนผลกระทบต่อคุณแม่คือ เกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน ครรภ์เป็นพิษ แฝดน้ำ มารดาเกิดการบาดเจ็บจากการคลอด

กลับมาที่คุณกิริยา ผลการตรวจฮีโมโกลบินอิ่มน้ำตาลพบว่าสูงถึง 10% จากการอัลตราซาวนด์ ทารกในครรภ์มีความพิการอย่างรุนแรงคือไม่มีสมองส่วนหน้า ซึ่งแม้คลอดครบกำหนดก็เสียชีวิต เธอจึงปรึกษาสามีและญาติ สรุปขอให้หมอยุติการตั้งครรภ์

คุณแม่ตั้งครรภ์ที่เป็นโรคเบาหวาน ต้องผ่าตัดคลอดทุกรายไหม ?
อันที่จริงการผ่าตัดคลอดพิจารณาการผ่าตัดเหมือนคุณแม่ที่ไม่ได้เป็นโรคเบาหวาน แต่ที่แตกต่างคือ หากคะเนน้ำหนักลูกในครรภ์เกิน 4 กิโลกรัม แพทย์อาจพิจารณาผ่าตัดคลอดได้ เป็นโรคเบาหวาน แต่ต้องการมีลูก แนะนำอย่างไรบ้างคะ?
1. ควรพบสูติแพทย์ เพื่อเตรียมตัวก่อนการตั้งครรภ์
2. เมื่อตั้งครรภ์ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจและฝากครรภ์ทันที
3. ควรดูแลค่าน้ำตาลให้ปกติ หรือใกล้เคียงปกติที่สุด ก่อนการตั้งครรภ์อย่างน้อย 3 เดือน
4. ออกกำลังกายสม่ำเสมอก่อนการตั้งครรภ์ และควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ หรือใกล้เคียงที่สุด
5. รับประทานกรดโฟลิค สารโฟเลต หรือวิตามินบี 9 ตามคำแนะนำของแพทย์ก่อนตั้งครรภ์ 1 เดือน เพื่อลดการเกิดความผิดปกติระบบประสาทสมองของทารกในครรภ์

ไม่ควรตั้งครรภ์ หากมีภาวะต่อไปนี้
1. ค่าฮีโมโกลบินอิ่มน้ำตาลมากกว่า ร้อยละ 10
2. เบาหวานขึ้นตาหรือลงไต และเส้นเลือดหัวใจตีบหรือหัวใจขาดเลือด อาจเสียชีวิตได้หากตั้งครรภ์
3. คุณแม่ที่เป็นโรคเบาหวานอายุมากกว่า 35 ปี
4. มีโรคแทรกซ้อนอื่นๆ อย่างโรคไธรอยด์เป็นพิษ

โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (Gestational diabetes)
ตัวอย่างคนไข้
คุณมนัสอำไพ (นามสมมุติ) อายุ 28 ปี เมื่อทราบว่าตนเองตั้งครรภ์ ก็ได้มาฝากครรภ์เมื่ออายุครรภ์ 2 เดือน ด้วยเหตุผลน้ำหนักตัวที่มาก และประวัติครอบครัวมีมารดาเป็นโรคเบาหวาน ถือว่าเสี่ยง แพทย์จึงตรวจน้ำตาลในเลือดพบว่า คุณมนัสอำไพเป็นโรคเบาหวานในขณะตั้งครรภ์

คนที่ไม่เป็นเบาหวาน ทำไมเมื่อตั้งครรภ์กลับพบว่าเป็นโรคเบาหวาน ?
เกิดจากฮอร์โมนหลายชนิดซึ่งสร้างจากรก มีฤทธิ์ต้านฮอร์โมนอินซูลิน ทำให้ฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอ ประกอบกับการรับประทานอาหารรสหวานมากขึ้น อ้วนมากขึ้นจนมีไขมันมาสะสมในช่องท้องมากกว่าเดิม อีกทั้งไม่ได้ออกกำลังกายหลังตั้งครรภ์ค่ะ

คนตั้งท้องต้องตรวจหาเบาหวานทุกคนหรือไม่ ?
การแพทย์ในโลกนี้ยังไม่มีมาตรฐานเดียวกันในการคัดกรองโรคเบาหวานสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ บางประเทศอาจมีการคัดกรองคนท้องทุกราย ในขณะที่บางประเทศคัดกรองตามความเสี่ยงเช่นเดียวกับประเทศไทยเสี่ยงเป็นเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์หรือเปล่านะ ?
• พ่อแม่พี่น้องเป็นโรคเบาหวาน และอายุมากกว่า 25 ปี
• มีดัชนีมวลกายมากกว่า 30 กิโลกรัม / ตารางเมตร (ดัชนีมวลกาย = น้ำหนักเป็นกิโลกรัม หารด้วยส่วนสูงเป็นเมตรยกกำลังสอง)
• คุณแม่ตั้งครรภ์ที่อ้วนอยู่แล้ว มีน้ำหนักขึ้นเกิน 1 กิโลกรัมต่อ 1 สัปดาห์
• เคยคลอดลูกน้ำหนักมากกว่า 3.8 กิโลกรัม
• น้ำหนักของคุณแม่ตั้งครรภ์เมื่อคลอด (เมื่อคุณแม่เป็นทารก) มากกว่า 3.8 กิโลกรัม หรือน้ำหนักน้อยกว่า 2.5 กิโลกรัม โดยหาสาเหตุไม่ได้
• ท้องที่แล้วเคยเป็นโรคเบาหวาน และท้องก่อนเคยมีทารกเสียชีวิตในครรภ์ไม่ทราบสาเหตุ
• ตรวจปัสสาวะพบว่ามีน้ำตาลออกมาในปัสสาวะ
• เป็นโรครังไข่หนา อาการของโรคคือ อ้วน ขนดก ประจำเดือนไม่ค่อยมา เป็นโรคความดันโลหิตสูง หรือครรภ์เป็นพิษ
• ใช้สารสเตียรอยด์เป็นประจำ
ข้อมูลจาก UptoDate ทบทวนกุมภาพันธ์ 2555

ตรวจเบาหวานเมื่ออายุครรภ์เท่าไร ?
คุณแม่ท้องที่มีความเสี่ยง จะตรวจเมื่ออายุครรภ์ 24-28 สัปดาห์ ในกรณีที่เสี่ยงสูงมาก อาจจะคัดกรองทันทีที่ฝากครรภ์

โรคเบาหวานในขณะตั้งครรภ์มีผลกระทบกับแม่และลูกอย่างไร ?
โรคเบาหวานในขณะตั้งครรภ์แบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่ เบาหวานเต็มขั้น (Overt diabetes) ซึ่งมีผลกระทบไม่แตกต่างจากโรคเบาหวานก่อนตั้งครรภ์ ส่วนเบาหวานในขณะตั้งครรภ์ (Gestational diabetes) เนื่องจากค่าน้ำตาลไม่ได้สูงก่อนการตั้งครรภ์ โอกาสทารกพิการจึงพอๆ กับคนที่ไม่ได้เป็นเบาหวาน และภาวะแทรกซ้อนมีโอกาสเกิดน้อย ส่วนผลกระทบด้านอื่นๆ จะเหมือนกับโรคเบาหวานก่อนตั้งครรภ์

ดูแลตนเองอย่างไรจึงจะดี ?
1. ควบคุมอาหาร คุณแม่ตั้งครรภ์ที่เป็นเบาหวานทุกคนควรพบกับโภชนากร เพื่อรับคำแนะนำอย่างถูกต้อง หลักทั่วไปในการควบคุมอาหารคือ จำกัดอาหารให้เหลือประมาณ 1,800-2,500 กิโลแคลอรี่ต่อวัน จำกัดคาร์โบไฮเดรต จำพวกข้าว แป้ง น้ำตาล ไม่เกินร้อยละ 40 ของอาหารอื่นๆ แบ่งการกินเป็นมื้อเล็กๆ มากกว่ากินมื้อใหญ่ทีเดียว และงดอาหารรสหวาน ไม่ควรรับประทานผลไม้รสหวาน น้ำผลไม้กระป๋อง ข้าวขัดขาว ฯลฯ

2. ออกกำลังกาย คุณแม่ตั้งครรภ์ที่ไม่มีข้อห้าม เช่น ไม่มีโรคหัวใจ ไม่มีความดันโลหิตสูง ไม่มีอาการครรภ์เป็นพิษ ไม่มีเลือดออก ไม่มีน้ำคร่ำรั่ว เป็นต้น สามารถออกกำลังกายได้ อย่างการเดิน เต้นแอโรบิกช้าๆ ฯลฯ ที่สำคัญไม่ควรออกกำลังกายหักโหมจนร่างกายร้อน และออกกำลังกายไม่เกิน 20-30 นาทีต่อครั้งต่อวัน

3. ใช้ยารักษาเบาหวาน ในกรณีที่ไม่สามารถควบคุมน้ำตาลได้ แพทย์มักแนะนำให้ใช้ยารักษาซึ่งมีทั้งยาฉีดและยารับประทาน

4. ตรวจค่าน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอ การเจาะตรวจเลือดจะได้ผลดียิ่งขึ้น หากคุณแม่ตั้งครรภ์ที่เป็นโรคเบาหวาน สามารถเจาะเลือดด้วยตนเอง และนำผลเลือดมาปรึกษาแพทย์

5. พบแพทย์และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์โดยเคร่งครัด เนื่องจากการตั้งครรภ์พร้อมโรคเบาหวานมีความเสี่ยงทั้งแม่และลูก แพทย์จะตรวจสุขภาพของแม่และลูกในครรภ์เป็นระยะๆ เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน ทั้งแนะนำวิธีการคลอดและช่วงเวลาที่ควรจะคลอดอย่างเหมาะสม

สำหรับคุณมนัสอำไพ ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวานในขณะตั้งครรภ์ จึงได้ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ออกกำลังกายทุกวัน ผลการตรวจค่าน้ำตาลในเลือดพบว่า อยู่ในเกณฑ์ปกติ เด็กทารกในครรภ์อยู่ในเกณฑ์ดี คุณมนัสอำไพคลอดเองตามธรรมชาติ ทารกน้ำหนักแรกเกิด 3 กิโลกรัม แข็งแรงปลอดภัยดี

หลังคลอดจะเป็นเบาหวานต่อไปเลยหรือเปล่า ?
หากตั้งครรภ์อีก 1-2 ใน 3 ของคนไข้เบาหวานขณะตั้งครรภ์ จะเกิดโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ซ้ำ และภายใน 10 ปี ร้อยละ 20 ของคนไข้เบาหวานขณะตั้งครรภ์จะกลายเป็นโรคเบาหวานที่ต้องรับการรักษาตลอดชีวิต วิธีที่จะป้องกันได้คือการออกกำลังกายและดูแลเรื่องอาหารการกินค่ะ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook