โรคกระเพาะอาหาร

โรคกระเพาะอาหาร

โรคกระเพาะอาหาร
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อาการ

โรคกระเพาะอาหารทั้งชนิดที่เป็นแผลและไม่เป็นแผล อาการจะคล้ายคลึงกัน คือมีอาการปวดจุกแน่นใต้ลิ้นปี่ เหนือสะดือ ปวดใต้ชายโครงซ้าย บางรายปวดแน่นถึงหน้าอก อาการมักเป็นๆหายๆ และสัมพันธ์กับมื้ออาหาร อาจปวดก่อนอาหารเวลาหิว ปวดหลังอาหารเวลาอิ่ม และอาการจะดีขึ้นได้เมื่อได้รับประทานอาหารเมื่อโรครุนแรงขึ้นอาจมี อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระดำ หรือเบื่ออาหาร น้ำหนักลด

 

 

อาการเตือนที่สำคัญที่ต้องพบแพทย์

เบื่ออาหาร น้ำหนักลด อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายดำ ซึ่งบ่งชี้ว่าอาจเป็นแผลหรือมีเลือดออก หรืออาจเป็นเนื้องอก มะเร็งกระเพาะอาหารได้

ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคกระเพาะอาหาร

1. เชื้อโรคแบคทีเรีย ชื่อ เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลโร ซึ่งจะติดต่อได้จากการกินอาหาร หรือ ดื่มน้ำที่ไม่สะอาดปนเปื้อนเชื้อโรคเหล่านี้ เชื้อโรคดังกล่าวนี้ ทำให้เกิดแผลกระเพาะอาหารและมะเร็งบางชนิดของกระเพาะอาหารได้

2. ยาแก้ปวดข้อ ปวดกระดูก (Aspirin และ NSAID) ทำให้มีโอกาสเป็นแผลกระเพาะอาหารหรืออักเสบมากขึ้น การหายของแผลช้า)

3. การสูบบุหรี่ ทำให้อัตราการเป็นแผลกระเพาะอาหารเพิ่มขึ้น แผลหายช้า เป็นใหม่ได้ง่าย ทำให้การตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาได้ผลไม่ดี

4. เหล้า

5. ภาวะเครียด รับประทานอาหารเผ็ด หรือไม่ตรงเวลา

6. ติดเชื้อทางเดินอาหาร เช่น ท้องเสีย อาหารเป็นพิษ

7. ยารักษาสิว อาจทำให้เกิดแผลในหลอดอาหาร หรือโรคกระเพาะอาหารได้

อาการปวดท้องที่ควรพบแพทย์ทันที เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม (Alarming Symptom)

1. ถ่ายดำหรือถ่ายมีเลือดปน

2. น้ำหนักลด

3. ตัวซีด เหลือง (ดีซ่าน)

4. ปวดรุนแรงนานเป็นชั่วโมง

5. มีอาเจียนรุนแรงติดต่อกัน หรืออาเจียนมีเลือดปน

6. เจ็บหรือกลืนลำบาก

7. มีประวัติครอบครัวป่วยเป็นโรคกระเพาะอาหาร

8. คลำก้อนในท้องได้ หรือต่อมน้ำเหลืองโต

 

 

 

แนวทางการรักษา

ในผู้ป่วยที่มีอาการปวดจุกแน่นท้อง จุกเสียด ลมเรอ แสบท้อง มานานไม่เกิน 2 สัปดาห์ และไม่มีอาการเตือนที่สำคัญ มีแนวทางรักษา ดังนี้

1. รับประทานยาลดกรดในกระเพาะอาหาร

2. งดบุหรี่ งดเหล้า งดอาหารรสเผ็ด รับประทานอาหารให้ตรงเวลา

3. ออกกำลังกาย

4. งดกินยาแก้ปวดข้อ ปวดกระดูกโดยไม่จำเป็น

แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้นหลังปฎิบัติตามข้างต้น หรือ อาการเป็นมานานกว่า 1 เดือน หรือมีอาการเตือนที่สำคัญตั้งแต่ต้น จำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยเพิ่มเติม คือ "การส่องกล้องกระเพาะอาหาร"

ถ้าไม่มีแผลในกระเพาะอาหาร

ให้ปฎิบัติตามดังกล่าวข้างต้น อาจต้องรับประทานยานาน 4 สัปดาห์

ถ้ามีแผลในกระเพาะอาหาร

1. ต้องตัดชิ้นเนื้อจากแผล เพื่อตรวจหาว่าเป็นมะเร็งหรือไม่

2. ต้องตัดชิ้นเนื้อจากส่วนล่างของกระเพาะอาหารเพื่อดูว่ามีเชื้อโรคเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไรหรือไม่ ถ้ามีเชื้อโรคดังกล่าวร่วมกับมีแผล ต้องให้ยากำจัดเชื้อโรค 2 สัปดาห์ และให้ยารักษาแผลอีก 4-6 สัปดาห์

การส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหาร นอกจากดูว่ามีแผล เนื้องอก และมะเร็งหรือไม่ ยังสามารถฉีดยาหรือห้ามเลือดด้วยวิธีต่างๆผ่านการส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหารในผู้ป่วยที่มีเลือดออกจากกระเพาะอาหาร และสามารถติดตามดูการหายของแผลได้

การป้องกันโรคกระเพาะอาหาร

1. รักษาสุขอนามัย รับประทานอาหารและน้ำดื่มที่สะอาด เพื่อลดอัตราการติดเชื้อ เฮลิโคแบคเตอร์ไพโลไร ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดแผลกระเพาะอาหารและมะเร็งบางชนิดของกระเพาะอาหาร

2. งดกินยาแก้ปวดข้อ ปวดกระดูก โดยไม่จำเป็น

3. งดบุหรี่ งดเหล้า งดเผ็ด รับประทานอาหารให้ตรงเวลา ออกกำลังกายคลายเครียด

 

สนับสนุนข้อมูลโดย
นพ. จีรวัส ศิลาสุวรรณ
อายุรแพทย์ระบบทางเดินอาหารและตับ
โรงพยาบาลพญาไท 2

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook