วิธีใช้ Facebook แบบเป็นสุขและสร้างสรรค์

วิธีใช้ Facebook แบบเป็นสุขและสร้างสรรค์

วิธีใช้ Facebook แบบเป็นสุขและสร้างสรรค์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นิตยสาร Secret ฉบับ 97 ปักษ์ 10 ก.ค. 2555
คอลัมน์ : Life Management
เรื่อง : วรวิทย์ เต็มวุฒิการ



หลังจากที่โลกได้ค้นพบเว็บไซต์โซเชี่ยลเน็ตเวิร์คที่ชื่อ "Facebook" วิถีชีวิตของมนุษย์ก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

จากข้อมูลในเว็บไซต์ MBAonline.com ระบุว่าในแต่ละวัน มีผู้คนทั่วโลกใช้เวลาอยู่กับ Facebook นานถึง 4.7 พันล้านนาที โดยมีการ upload ภาพกันมากกว่า 250 ล้านภาพ ซึ่งถ้าทุกภาพถูกพิมพ์ออกมาจะมีความยาวประมาณ หอไอเฟล 80 หอเรียงต่อกัน!

แน่นอนว่าการบริโภคจนเกินพอดี ย่อมเกิดผลเสียตามมา ไม่ว่าจะเป็นการเสียงานเสียการเรียน ไปจนถึงสูญเสียความสามารถในการปรับตัวเข้าหาสังคมแห่งความจริง เรียกว่าล็อกอินก็ทุกข์ ล็อกเอาท์ก็อยู่ไม่เป็นสุข แต่ถึงกระนั้น ก็ต้องยอมรับว่า Facebook ยังมีข้อดีอยู่หลายประการ การจะลาขาดกันจึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ

ถ้าเช่นนั้นเราควรจะทำอย่างไรกันดี

5 สัญญาณเตือนว่า Facebook กำลังคุกคามจิตใจคุณ
ก่อนหน้าที่จะไปถึงขั้นตอนการเล่น Facebook ให้สร้างสรรค์ แบบไม่ทุกข์ ลองมาทบทวนตัวเองกันก่อนว่า คุณถูกเจ้าพ่อโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คเจ้านี้บุกรุกเข้ามาในหัวใจและหัวสมองมากมายขนาดไหน โดยดูว่า 5 สัญญาณเตือน(ภัย)ต่อไปนี้เกิดกับคุณแล้วหรือไม่

1. เวลาพักผ่อนของคุณเริ่มน้อยลง หากคุณต้องอดตาหลับขับตานอนเล่น Facebook จนดึกจนดื่น ทำให้รู้สึกเหนื่อยล้าในวันถัดไป ไม่มีสมาธิทำงาน นั่นหมายถึงสัญญาณเตือนภัยได้เริ่มขึ้นแล้ว

2. คุณครองแชมป์เกมต่างๆ ใน Facebook เกือบทุกเกม แน่นอนว่าจะมีข้อความขอความช่วยเหลือเรื่อง Item ต่างๆ จนรก Wall อยู่เป็นประจำ ทำให้หลายคนตัดคุณออกจากลิสต์เพื่อนด้วยเหตุนี้มาแล้ว แต่คุณก็ยังไม่เข็ด

3. คุณใช้เวลาเล่น Facebook ไม่ต่ำกว่า 1 ชั่วโมงทุกวัน ถ้าคุณใช้เวลาอยู่ที่หน้านี้มากขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งมีใจว้าวุ่นอยากพิมพ์ Status หรืออ่านข้อความทุกครั้งที่มีโอกาส อาการของคุณเริ่มน่าเป็นห่วงแล้วละ

4. สังคมเพื่อนใน Facebook มีอิทธิพลกับชีวิตคุณมากขึ้น ลองถามตัวเองดูว่า คุณเริ่มสนิทกับเพื่อนใน โลกออนไลน์มากกว่าเพื่อนที่ทำงานหรือยัง ถ้าคำตอบคือ "ใช่" สัญญาณเริ่มชัดเจนมากขึ้นอีกขั้น

5. คุณยอมหมดเงินซื้อ iPhone, Blackberry และสารพัน Tablet ทั้งหมดก็เพื่อออนไลน์ Facebook ได้ทุกที่ทุกเวลา...ก็เท่านั้นเอง!

หาก 5 ข้อที่ว่ามานี้ตรงกับตัวคุณ 1-2 ข้อ คุณเริ่มมีอาการเสพติดในระดับที่พึงระวังได้แล้ว แต่ถ้าคุณอยู่ในข่ายนี้ตั้งแต่ 3 ข้อขึ้นไป นั่นหมายความว่าอาการของคุณอยู่ในขั้นรุนแรง ต้องรีบหาทางเยียวยาโดยด่วน แต่ไม่ว่าอาการติดของคุณจะอยู่ในระดับใด ก็สามารถควบคุมได้ หากได้รับการป้องกันและรักษาแบบตรงจุด

 

ตั้งสติ เมื่อล็อกอิน!
การดำเนินชีวิตที่ปราศจากซึ่งสติและสัมปชัญญะย่อมนำไปสู่การใช้ชีวิตที่ประมาท และนำผลเสียมาสู่ตัวเองทั้งในระยะสั้นและระยะยาวได้อย่างง่ายดาย ด้วยเหตุนี้ การรู้จักตั้งสติ คิดพิจารณาให้เท่าทันไปกับทุกอิริยาบถ และทุกสิ่งที่กระทำ จึงเป็นข้อควรจำและควรทำอย่างยิ่ง

Secret tips

• เล่นให้ถูกที่ ถูกเวลา ปัจจุบันมีหลายบริษัทที่ใช้วิธีบล็อกไม่ให้พนักงานเล่น Facebook เพื่อป้องกันไม่ให้เสียเวลาไปกับโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คจนเสียงานเสียการ มีกรณีตัวอย่างมากมายของคนชอบคลิกที่ถูกไล่ออกจากงาน เพราะเข้าเว็บไซต์บ่อยกว่าทำงาน หรือไปโพสต์แสดงความคิดเห็นลบๆ ต่อบริษัทในเฟซบุ๊คแล้วโดนจับได้ ฯลฯ ดังนั้นควรเลือกเล่นให้ถูกที่ ถูกเวลา และถูกทาง

• "ตื่นรู้" อยู่เสมอ การตั้งสติก่อนคลิกทุกครั้งจะช่วยให้เราจัดการความคิด หักห้ามใจตัวเองและปฏิเสธเสียงเรียกร้องจากภายในได้ดีขึ้น ถ้าทำได้จิตจะไม่หลงเพลินไปกับความสนุกสนานจากการอ่านข้อความหรือเล่นเกม โดยขาดวิจารณญาณในการพินิจพิเคราะห์ถึงความถูกต้อง รวมทั้งสามารถควบคุมจิตใจไม่ให้จิตตกหมกมุ่นไปกับข้อมูลข่าวสาร ซึ่งบางทีอาจไม่มีสาระสำคัญกับชีวิตเราเลยแม้แต่น้อย

 

วิธีสร้างภูมิคุ้มใจ ให้เล่น Facebook โดยไม่ทุกข์
เนื่องจากมีข่าวลือข่าวลวงถูกโพสต์อยู่ตลอดเวลา การอ่าน โพสต์ และแชร์ข้อมูลใน Facebook แต่ละครั้งจึงต้องรู้จักพิจารณาตีความสารต่างๆ อย่างเท่าทัน วิธีที่ดีที่สุดคือ การพิจารณาและวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้หลัก "กาลามสูตร" (วิธีปฏิบัติต่อสิ่งที่ตนสงสัยหรือหลักความเชื่อ 10 ประการ)

การพิจารณาข่าวสารหรือข้อมูลต่างๆให้ครบทั้ง 10 ประการนั้น อาจดูเหมือนยุ่งยาก แต่รับรองว่าทำแล้วจะเกิดผลดีกับตัวคุณแน่นอน เพราะเพียงทำตามข้อแรก "อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการฟังตามๆ กันมา" ก็สามารถการป้องกันการตื่นตูม หรือใจเร็วด่วนแชร์ข้อมูลได้เห็นๆ แล้ว

หนึ่งในปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมยุคปัจจุบันคือ มีคนจำนวนไม่น้อยที่จมอยู่กับ Facebook และอินเตอร์เน็ต จนประสบปัญหาในการแยกแยะเรื่องที่ดีกับเรื่องที่ไม่ดี ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลที่อัพเดตอยู่ตลอดเวลา หรือเพื่อนที่ขอแอดเพิ่มขึ้นทุกวัน บางครั้งข้อความที่มีผู้โพสต์เข้ามา เป็นเพียงความคิดเห็นที่แตกต่าง ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องเก็บมาเครียดเลยสักนิด ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าว เราจึงขอนำเสนอวิธีการคิดแยกแยะแบบพุทธที่คุณสามารถนำไปใช้ได้ง่ายๆ นั่นคือ...

"วิธีคิดแบบวิภัชชวาท" หรือ การคิดแบบแยกประเด็นปัญหา ไม่มองปัญหาด้านเดียว ซึ่งมีประโยชน์มากเมื่อต้องตัดสินใจ เพราะเป็นการมองปัญหาอย่างรอบด้าน แล้วจึงแยกแยะประเด็นทีละประเด็น จากนั้นจึงค่อยๆวิเคราะห์แต่ละประเด็นอย่างละเอียดรอบคอบ พร้อมทั้งใช้สติสัมปชัญญะในการเลือกรับแต่สิ่งดีๆ เข้ามา ดังที่ท่านพุทธทาสเคยกล่าวไว้ว่า
"การเพิ่มพูนความรู้ หรือปัญญาลึกซึ้งมันก็มาจากโยนิโสมนสิการ ไม่ว่าเรื่องบ้าน เรื่องโลก เรื่องธรรมะ การรับเข้ามาด้วยวิธีใดก็ตาม ได้ฟังจากผู้อื่น อ่านจากหนังสือหรือจากอะไรก็ตาม ที่เรียกว่านอกตัวเรามา พอถึงแล้วก็โยนิโสมนสิการว่าให้เป็นความรู้ เป็นสมบัติ พอจะลงมือทำอะไรก็โยนิโสมนสิการในสิ่งที่จะทำให้ดีที่สุด มันก็ผิดพลาดน้อยที่สุด"
เพียงเท่านี้ การเลือกรับข่าว และการรับแอดเพื่อนใหม่ๆ หรือการเลือกกลุ่มเพื่อนก็จะมีความรอบคอบ รอบด้าน ไม่แตกตื่นและไม่เครียดกับข้อมูลข่าวสารโดยใช่เหตุ ทั้งยังมีแต่เรื่องราวดีๆ ในหน้า Facebook ของเรา

ก่อนคลิกเข้า Facebook ครั้งต่อไป อย่าลืมสร้างภูมิคุ้มใจให้แข็งแรง และใช้ชุมชนออนไลน์นี้เป็นช่องทางในการแบ่งปันเรื่องราวดีๆ แล้วรับรองว่า จากนี้ไป Facebook จะไม่เป็นเพียงของเล่นเพียงชั่วคราว แต่จะเป็นเครื่องมือสร้างความสุขแบบถาวรให้คุณได้ในที่สุด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook