ไอเรื้อรังในเด็ก สาเหตุและทางแก้ที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้

ไอเรื้อรังในเด็ก สาเหตุและทางแก้ที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้

ไอเรื้อรังในเด็ก สาเหตุและทางแก้ที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อได้ยินเสียงลูกรักไอ ย่อมทำให้พ่อแม่เป็นกังวลและร้อนใจ ยิ่งเมื่ออาการไอของลูกยืดเยื้อยาวนานไม่หายสักที หรือที่เรียกว่าอาการ ไอเรื้อรังในเด็ก พ่อแม่ยิ่งต้องใส่ใจ เพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนว่าลูกของคุณกำลังมีปัญหาสุขภาพร้ายแรง หรือเรื้อรังบางประการ

ไอนานแค่ไหนถึงเรียกว่าเรื้อรัง

การไอเป็นปฏิกิริยาตอบสนองต่อการระคายเคืองหรือสิ่งแปลกปลอมในทางเดินหายใจที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เส้นประสาทจะส่งสัญญาณไปยังสมอง ให้สมองขจัดสิ่งแปลกปลอม เช่น เสมหะ น้ำหอม ฝุ่นละอองออกจากทางเดินหายใจ สำหรับเด็ก หากมีอาการไอไม่ถึง 2 สัปดาห์ เรียกว่า อาการไอเฉียบพลัน แต่หากไอต่อเนื่องยาวนานกว่า 4 สัปดาห์ หรือ 1 เดือนถือว่าไอเรื้อรัง ซึ่งอาการไอเรื้อรังในเด็กนี้ถือเป็นอาการที่พบได้บ่อย คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปพบคุณหมอเพื่อตรวจวินิจฉัยถึงสาเหตุว่าเกิดจากอะไร และแก้ไขได้อย่างไรบ้าง

สาเหตุของอาการ ไอเรื้อรังในเด็ก

อาการหลังติดเชื้อไวรัส

โรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส เช่น ไข้หวัดธรรมดา ไข้หวัดใหญ่ รวมไปถึงกลุ่มอาการครูป (Croup/Laryngotracheobronchitis) สามารถทำให้เด็กมีอาการไอติดต่อกันได้ยาวนานหลายสัปดาห์ เด็กที่เป็นไข้หวัดธรรมดาจะมีอาการไอแค็กๆ หากเป็นไข้หวัดใหญ่จะมีอาการไอแห้ง ส่วนกลุ่มอาการครูปทำให้มีอาการไอเสียงก้องพร้อมหายใจเสียงดัง ส่วนใหญ่มักเกิดในตอนกลางคืน อาการไอเรื้อรังในเด็กที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสนี้ไม่มียารักษาจำเพาะ แต่จะค่อยๆ หายได้เอง หากเป็นเด็กอายุ 4 ปีขึ้นไป คุณหมออาจรักษาด้วยการให้กินยาระงับอาการไอ หรือยากดอาการไอ (Cough Suppressants)

โรคหืด

เด็กส่วนใหญ่ที่เป็นโรคหืด หรือหอบหืด (Asthma) จะมีภาวะทางเดินหายใจบวมหรือติดเชื้อ จนเป็นสาเหตุให้หายใจหรือไอแบบมีเสียงฟืดฟาดหรือเสียงหวีด (Wheezing cough) โดยเฉพาะในตอนกลางคืน ระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลในร่างกายจะค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้นกระตุ้นให้เกิดภาวะหดเกร็งเพราะหอบหืด เป็นเหตุให้เด็กที่เป็นโรคหืดมีอาการไอหนักในตอนนอน คุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกหลีกเลี่ยงตัวกระตุ้นโรคหืด เช่น ควันพิษ น้ำหอม การออกกำลังกาย อากาศเย็น เพราะอาจทำให้อาการไอเรื้อรังในเด็กแย่ลงได้

โรคกรดไหลย้อน

โรคกรดไหลย้อน นอกจากจะทำให้มีอาการเกี่ยวกับกระเพาะและลำไส้ เช่น ปวดท้อง แสบร้อนกลางอก คลื่นไส้อาเจียน รวมไปถึงมีรสเปรี้ยวหรือขมในปากแล้ว ยังทำใหเกิดอาการไอเรื้อรังได้อีกด้วย นั่นเพราะกรดไหลย้อนลงไปในหลอดลมและหลอดอาหาร จึงทำให้ไอออกมา เด็กที่ไอเรื้อรังเพราะโรคกรดไหลย้อนจะมีอาการไอแห้ง ส่วนใหญ่มักเกิดอาการในตอนกลางวันขณะที่เด็กนั่งอยู่ โดยเฉพาะหากเด็กพูด หัวเราะ หรือร้องเพลงไม่หยุดหลังกินอาหาร อาการไอเนื่องจากกรดไหลย้อนนี้ป้องกันได้ โดยงดให้เด็กกินอาหารที่อาจกระตุ้นให้เกิดกรดไหลย้อน เช่น ชอกโกแลต อาหารทอด อาหารมัน อาหารเผ็ด น้ำอัดลม ผลไม้รสเปรี้ยว ให้กินอาหารหรือเครื่องดื่มอย่างน้อย 2 ชั่วโมงก่อนเข้านอน หรือแบ่งอาหารเป็นมื้อย่อยๆ ให้เด็กกินอาหารแต่ละมื้อในปริมาณน้อยลง

โรคภูมิแพ้และโรคไซนัสอักเสบ

โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic Rhinitis) และโรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง (Chronic Sinusitis) ถือเป็นสองสาเหตุหลักของอาการไอในเด็ก โดยเด็กที่เป็นโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้จะจามบ่อย มักมีน้ำมูกใส และดวงตาระคายเคือง ส่วนเด็กที่เป็นโรคไซนัสอักเสบเรื้อรังจะมีน้ำมูกเหนียวข้นสีเหลืองปนเขียว เด็กอาจรู้สึกเหมือนมีอะไรกดทับหรือปวดที่ใบหน้า และมีอาการเหล่านี้มากกว่า 12 สัปดาห์ขึ้นไป เด็กที่เป็นโรคทั้งสองชนิดนี้มักมีอาการเสมหะไหลลงคอ (postnasal drip) ซึ่งนำไปสู่อาการไอเรื้อรัง คุณพ่อคุณแม่ควรให้เด็กอยู่ห่างจากสารก่อภูมิแพ้ เช่น อาหาร มลพิษ สะเก็ดหนังหรือขนสัตว์ รวมไปถึงรักษาด้วยยาแก้ภูมิแพ้ หากเป็นไซนัสอักเสบคุณหมออาจให้รักษาด้วยยาปฏิชีวนะ หรือการล้างไซนัส

อาการไอกรน

อาการไอกรน (Whooping cough) หรือโรคไอกรน (Pertussis) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย สามารถทำให้ไอติดต่อกันหลายครั้งพร้อมพร้อมมีเสียงหายใจลำบากตามมาหลังไอ โรคไอกรนทำให้มีอาการไอเรื้อรังในเด็กนานติดต่อกันได้หลายเดือน และอาจทำให้เกิดอาการหรือโรคแทรกซ้อนรุนแรงได้ เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ (Sleep Apnea) ร่างกายขาดออกซิเจน โรคปอดอักเสบหรือปอดบวม อาการชัก หรือร้ายแรงอาจถึงขึ้นเสียชีวิต โรคไอกรนนี้ถือเป็นโรคร้ายแรงต้องรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ แต่สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน

โรคซิสติกไฟโบรซิส

โรคซิสติกไฟโบรซิส (Cystic  Fibrosis) เป็นโรคเรื้อรังที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ส่งผลให้เซลล์สร้างเมือกที่หนาและเหนียวข้นกว่าปกติ เมื่อเมือกดังกล่าวไปอุดกั้นตามอวัยวะต่างๆ จึงส่งผลให้อวัยวะนั้นๆ ทำงานผิดปกติ เช่น ไปปิดกั้นปอดจนปอดติดเชื้อเรื้อรัง ผู้ป่วยโรคนี้มักมีอาการไอเรื้อรัง น้ำหนักตัวลดหรือน้ำหนักตัวไม่เพิ่มขึ้นแม้จะกินอาหารเยอะมาก ท้องเสียเรื้อรัง เป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลัน เป็นต้น

สาเหตุอื่นๆ

นอกจากสาเหตุข้างต้นแล้ว อาการไอเรื้อรังในเด็กยังสามารถเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น

  • การติดเชื้อแบคทีเรียที่ทางเดินหายใจส่วนล่าง
  • สิ่งแปลกปลอม เช่น ของเล่น อาหาร เข้าไปติดในหลอดลมหรือหลอดอาหาร มักเกิดกับเด็กอายุ 2-4 ปี หากหาสาเหตุไม่ได้ เด็กอาจมีอาการไอไม่หยุดนานหลายสัปดาห์ไปจนถึงหลายเดือน
  • ไอโดยที่ไม่มีโรค หรือที่เรียกว่า Habit Cough มักหาโรคที่เป็นสาเหตุไม่ได้ เด็กส่วนใหญ่จะไอแห้งติดๆ กัน (Honking cough) และไม่เป็นในเวลานอนหลับ สันนิษฐานว่าเกิดจากกล้ามเนื้อร่วมประสาทกระตุก
  • ไอเพราะระคายเคือง เนื่องจากสูดมลพิษเข้าไป เช่น ควันบุหรี่ ควันจากท่อไอเสีย ซึ่งอาการไอจะยิ่งเรื้อรังและแย่ลงหากเด็กเป็นโรคหืด หรือโรคเยื่อจมูกอักเสบ

สิ่งที่พ่อแม่ควรรู้ก่อนให้ลูกกินยาแก้ไอ

อาการไอสามารถบรรเทาได้ด้วยยาจิบแก้ไอ หรือที่เรียกว่ายาน้ำแก้ไอ ส่วนอาการเจ็บคอที่นำไปสู่อาการไอนั้นสามารถบรรเทาได้ด้วย ยาอมหรือลูกอมแก้เจ็บคอ แต่หากเด็กมีอาการไข้หวัด อาการไอ หรือเจ็บคอ ก่อนที่คุณพ่อคุณแม่จะให้ลูกกินยาบรรเทาอาการ ควรทราบข้อเท็จจริงต่อไปนี้

  • ไม่ควรให้เด็กอายุต่ำกว่า 1 ปีจิบยาน้ำแก้ไอที่มีน้ำผึ้งเป็นส่วนผสม
  • ไม่ควรให้เด็กอายุต่ำกว่า 4 ปีกินยาอมหรือลูกอมแก้เจ็บคอ เพื่อป้องกันเด็กสำลัก รวมถึงไม่ควรให้กินยาขับเสมหะ (Expectorants) หรือยาระงับอาการไอ (Cough Suppressants) ด้วย
  • ห้ามให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีกินยาแอสไพรินเด็ดขาด เพราะอาจทำให้เกิดกลุ่มอาการราย (Reye’s syndrome) จนสมองเสียหายและเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

เมื่อใดที่ควรพาลูกไปพบคุณหมอ

  • พูดหรือหายใจลำบาก
  • อาเจียนบ่อย
  • ไอคนหน้าดำหน้าแดง
  • ดูเหนื่อยล้าอ่อนเพลียมาก
  • สงสัยว่ามีสิ่งแปลกปลอมติดคอ
  • เจ็บหน้าอกเมื่อสูดหายใจแรงๆ
  • ไอเป็นเลือด หรือหายใจหวีด
  • สำหรับเด็กอ่อนหรือเด็กทารกอายุไม่เกิน 4 เดือนที่มีไข้สูงกว่า 38° เซลเซียส หรือกินยาแก้ไข้ตามที่คุณหมอสั่งนานกว่า 2 ชั่วโมงแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบพาไปพบคุณหมอทันที

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook