หมดสวยเพราะ “คีลอยด์”

หมดสวยเพราะ “คีลอยด์”

หมดสวยเพราะ “คีลอยด์”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ทุกครั้งที่ส่องกระจกแล้วเห็นแผลเป็นขนาดใหญ่อยู่บริเวณที่ไม่ควรจะอยู่ มันน่าเจ็บใจมาก เพราะมันทำให้ผิวสาว สวย หมวย เอ็กซ์(แอล) ของฉันมันแลดูมีตำหนิ อีกอย่าง แผลเป็นแบบนี้มันทั้งเจ็บและคันเอาเรื่องด้วย ฉันเลือกที่จะอดทนและใช้ชีวิตอยู่กับมันมานานมาก นานเกินไปแล้ว สุดท้ายผู้หญิงเอ็กซ์(แอล)อย่างฉัน ต้องไปกำจัดมันออกเดี๋ยวนี้! แต่ขอบอก..มันเจ็บมาก!

หมดสวยเพราะรอยแผลเป็นหมดสวยเพราะรอยแผลเป็น

บาดแผลเล็กน้อย หรือ ใหญ่เป้ง ก็มีสิทธิ์เป็นแผลเป็น และคีลอยด์ได้

บาดแผลที่เกิดขึ้นของเรานั้น ไม่ว่าจะเป็นแผลเล็กน้อย หรือแผลขนาดใหญ่ ก็มีโอกาสเป็นแผลเป็น หรือลุกลามจนเป็นคีลอยด์ได้เหมือนกัน ซึ่งขนาดของแผลสดก็ไม่จำเป็นต้องเท่ากับขนาดแผลที่จะเกิดขึ้นเลย ทั้งหมดที่จะเกิดขึ้นนั้น เป็นเพราะช่วงเวลาของการที่เราดูแลรักษาแผลสดมากกว่า หากเราดูแลไม่ดี จากแผลสดเล็กๆ ก็กลายเป็นแผลเป็นได้ หรือกลายเป็นแผลสดขนาดใหญ่ ซึ่งเกิดจากการที่เราปล่อยไว้ไม่ดูแล จนอักเสบ ทีนี้พอแผลสดใหญ่หาย ก็จะเหลือรอยแผลเป็น ซึ่งจะเล็กหรือใหญ่ ก็ย้อนกลับไปว่า เราดูแลมันดีหรือเปล่านั่นเอง

สำหรับแผลคีลอยด์นั้นคือ แผลเป็นนูนใหญ่ยักษ์ ที่จริงแล้วมันก็ไม่ใช่ผู้ร้ายเสียทีเดียว เพราะร่างกายสร้างคีลอยด์ขึ้นมาด้วยความปรารถนานี้ล้วนๆ แต่แอบประสงค์ร้ายนะ เพราะผิวของเราจะไม่สวย ที่คีลอยด์ปรากฏกายนั้น เพราะเขาต้องการที่จะซ่อม และสร้างเนื้อเพื่อปกป้องร่างกายในส่วนที่สึกหรอไป แต่เมื่อแผลนั้นเป็นเรื้อรัง ไม่หายสักที ร่างกายก็ยังมีสิทธิ์ที่จะสร้างเนื้อใหม่ไปเรื่อยๆ กลายเป็นคีลอยด์ขนาดโตขึ้น และมีอาการเจ็บและคันสุดพลัง และตัว
คีลอยด์เอง ก็ต่างกับแผลเป็นขนาดใหญ่นะ เราเรียกคีลอยด์ว่า เป็นขั้นก้าวหน้ากว่า ลุกลามกว่า เจ็บและคันได้หนักกว่าแผลเป็นขนาดใหญ่ ดูแลรักษาให้ดี จะดีกว่าเป็นคีลอยด์ แล้วมารักษาเสียอีก

สัณญาณเตือนว่าคีลอยด์กำลังคืบคลานเข้ามา

สังเกตง่ายๆ จากแผลเจาะหู หากเคยเป็นก็มีสิทธิ์ที่แผลสดอาจจะกลายเป็นคีลอยด์ได้ หรือเป็นแผลที่มีการเย็บ เพราะไหมเย็บนั้นเป็นสิ่งแปลกปลอมที่จะไประคายเคือง แล้วไปทำให้คีลอยด์ปรากฏกายได้ รวมทั้งแผลที่หายยาก มีการอักเสบติดเชื้อ แล้วก็จะเกิดขึ้นกับคนที่มีเม็ดสีผิวเข้ม... แต่เอ๊ะ! ผิวขาว ใสอย่างฉันยังเป็นได้เลย คุณหมอจึงสันนิษฐานว่า เป็นเพราะมันอักเสบหนักมาก และมือของฉันอยู่ไม่นิ่งชอบไปแกะ ไปเกาะ ไปวุ่นวายตอนที่เกิดแผลนั่นเอง ขอบอกว่า ตอนที่เป็นคีลอยด์ว่าเจ็บและคันแล้ว ยังเจ็บปวดไม่เท่ากับตอนฉีดยา ย้ำ 3 คำว่า "มัน เจ็บ มาก"

การดูแลรักษาแผลสดอย่างถูกต้อง (ก่อนที่จะกลายเป็นแผลเป็น)

แน่นอนว่า ฉันจะไม่ให้แผลเป็นเล็ก ใหญ่หรือคีลอยด์ มันเกิดขึ้นอีกแน่ๆ ฉันจึงได้วิธีในการดูแลแผลสด เพื่อป้องกันการเกิดของพวกมันอีก สำคัญเรื่องแรกคือ เลี่ยงราดแอลกอฮอล์ การทำแผลโดยใช้แอลกอฮอล์ทาลงแผลสดนั้น มันคือ การทำลายแผลอย่างรุนแรงมาก ทำให้เนื้อเยื่อตาย แผลก็จะหายช้า ถ้าเป็นไปได้ให้ใช้น้ำยาสีเข้ม อย่าง โพวิเดนไอโอดีน จะดีที่สุด... นี่เราเข้าใจผิดมาโดยตลอดเลยนะ คิดว่ามันจะฆ่าเชื้อโรคที่แผลอย่างหมดจด! และ อย่าให้แผลโดนน้ำ

อย่าโดนแดด ถ้าเป็นแผลนอกร่มผ้า เพราะแดดจะทำลายเนื้อเยื่อและสร้างเม็ดสี ทำให้แผลเป็นรอยคล้ำดำกลังจากนั้นได้ และ ลดการสัมผัส ยิ่งสัมผัสยิ่งจัดหนัก การแตะแผลบ่อยๆ หรือปล่อยให้เสื้อผ้าเสียดสีกับแผล จะทำให้แผลไม่ได้พัก และไม่สมานกัน พักผ่อนให้มากๆ เพราะร่างกายจะทำการสมานแผลตัวเองอยู่แล้ว ถ้าเราได้พักผ่อนมากขึ้น ก็จะมีสารเคมีช่วยสมานแผลออกมา อีกอย่างหากมีสัญญาณเตือนมาว่าจะติดเชื้อ เช่น ปวด บวม แดง ร้อนและมีหนอง ให้ไป จัดหายาฆ่าเชื้อมากิน จะได้หายไวๆ

การรักษาแผลเป็น และ คีลอยด์

เวอร์ชั่นการแพทย์ทั่วไป : (แผนกศัลยกรรม) หลักๆ จะมีแผ่นแปะป้องกันแผลเป็น หรือ ซิลิโคนเจลทา มีการฉีดยาสลายคีลอยด์ ตัวนี้แหละที่ทำให้ฉันเจ็บปวด ยานี้คือ สเตียรอยด์ที่เข้มข้นมาก ทำให้เจ็บปวดมากเวลาฉีด ตามหมอนัดประมาณ เดือนละครั้ง หรือ 4-6 สัปดาห์ แล้วก็ยังมีการใช้เลเซอร์รักษาในกรณีที่เป็นน้อยๆ ผ่าตัดด้วยความเย็นหรือจี้เย็นก็มี แต่มันจะทิ้งรอยด่างขาวไว้ได้ ฉายรังสี ก็ได้เพื่อช่วยในการลดขนาดร่วมกับการผ่าตัด แต่ก็อาจจะเสี่ยงคีลอยด์กลายเป็นเนื้อร้ายเพราะรังสีได้ หรือ ผ่าตัดเลาะออกในกรณีที่เป็นมาก

เวอร์ชั่นเวชศาสตร์อายุรวัฒน์ : รับประทานอาหารสมานผิว โดยเฉพาะโปรตีน วิตามินซี และสังกะสี อาทิ ฝรั่งสด เสาวรส มะเขือเทศ น้ำมันปลา จากนั้นก็ให้รีบทายาหรือปิดแผ่นเจลป้องกันแผลเป็นไว้แต่เนิ่นๆ หากคันแผลให้ระวังน้ำอุ่น และประคบน้ำเย็นก็จะช่วยได้ และเมื่อแผลเริ่มนูน อย่าไปแตะมัน เพราะมันจะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และก็ค่อยๆ ไปฉีดยาให้แผลยุบลง

ตอนนี้ฉันกำลังรักษาเจ้าคีลอยด์ตัวแสบอยู่ แต่ก่อนหน้านี้ก็แอบเป็นกังวลว่า คีลอยด์จะกลายเป็นมะเร็งหรือเปล่า คุณหมอก็เลยบอกให้โล่งใจว่า คีลอยด์ไม่ค่อยกลายเป็นมะเร็ง (เอ๊ะ!) และไม่ใช่โรคติดต่อ แม้จะดูน่ากลัวสำหรับสาวๆ อย่างเรา แต่ท้ายสุดแล้ว มันจะต้องหายไปจากชีวิตของเราค่ะ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook