เมนูอาหารลูกน้อย "แอปเปิล มะละกอ อะโวคาโด พิวเร" สารอาหารเสริมไขมัน

เมนูอาหารลูกน้อย "แอปเปิล มะละกอ อะโวคาโด พิวเร" สารอาหารเสริมไขมัน

เมนูอาหารลูกน้อย "แอปเปิล มะละกอ อะโวคาโด พิวเร" สารอาหารเสริมไขมัน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คุณแม่มือใหม่คนไหนที่กำลังหาคู่ผักผลไม้คุณภาพที่เต็มไปด้วยสารอาหารที่สำคัญมาบดให้ลูกน้อย คุณแม่ ปอม-รัตมา พงศ์พนรัตน์ พรชำนิ ขอแนะนำ แอปเปิล มะละกอ อะโวคาโด พิวเร ที่ให้ใครทานก็ต้องติดใจ ถือเป็นโอกาสดีที่จะแนะนำสารอาหารเสริมอย่างไขมัน ให้เจ้าตัวน้อยที่คุ้นเคยแต่นมแม่เพียงอย่างเดียวด้วยค่ะ แต่ก่อนที่เราจะพาไปดูวิธีทำอาหารนั้น มาดูความสำคัญของไขมันกับเด็กว่ามีความสำคัญอย่างไร ตามมาดูกันค่ะ

อาหารสมองของเจ้าตัวน้อย

เชื่อไหมคะว่าในระยะสามปีแรก สมองของเด็กจะเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จนมีขนาดใหญ่ถึงร้อยละ80 ของสมองผู้ใหญ่เลยทีเดียว จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กเรียนรู้ได้ง่ายกว่าช่วงอื่นๆ มีงานวิจัยระบุว่า เด็กขวบปีแรกที่ได้รับนมแม่ และได้รับอาหารเสริมที่มีคุณค่าทางโภชนาการซึ่งทำเองที่บ้าน จะมีไอคิวสูงกว่าเด็กที่ทานอาหารสำเร็จรูปแต่เพียงอย่างเดียว เพราะอาหารที่คัดสรรวัตถุดิบมีประโยชน์มาปรุงมีส่วนช่วยพัฒนาสมองของเด็กในระยะสามปีแรก อาหารที่ดีที่นอกจากจะประคบประหงมระบบย่อยเครื่องน้อยๆแล้ว ยังจะช่วยในเรื่องการทำงานของสมอง ป้องกันการติดเชื้อและสร้างภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงอีกด้วย[i]

วันนี้เลยจะมาพูดถึง ไขมัน สารอาหารที่สำคัญอีกอย่างที่คนมักจะตราหน้าว่าไม่ดีไม่ควร แต่สำหรับเด็กน้อยแล้วมันจำเป็นมาก เซลล์ของสมองประกอบไปด้วยไขมัน นอกจากจะช่วยในการทำงานของสมอง ไขมันยังเป็นพลังงานและเกราะป้องกันให้สมองเราอีกด้วยนะคะ ดังนั้นเด็กควรได้รับอาหารสมองอย่าง ไขมันดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งไขมันที่มีกรด โอเมก้า 3 ที่ร่างกายสร้างเองไม่ได้ ต้องได้รับจากสารอาหาร เช่น ปลาแซลมอน  น้ำมันมะกอก ถั่ววอลนัท ไข่ เมล็ดพืชต่างๆ ผักโขม คะน้า สาหร่ายทะเล เป็นต้น นับว่าเป็นโชคดีที่มหาลัยมหิดลได้ทำการวิจัยและจัดอันดับปลาไทยที่อุดมไปด้วยโอเมก้า 3 เอาไว้ อย่างอันดับต้นๆ ก็จะมี ปลาจะระเม็ดขาว ปลาดุก ปลาช่อน ปลากระพง  เป็นต้น ลูกเราก็จะได้หาทานได้ง่ายแถมกระเป๋าคุณแม่ก็จะสบายขึ้น ไว้มีโอกาสจะมานำเสนอเมนูจากปลาไทยมาให้ชิมกันนะคะ

อะโวคาโด แหล่งไขมันดีชั้นเลิศเหมาะสำหรับวัยเริ่มทานอาหารเสริม

ช่วงนี้เข้าหน้าอะโวคาโด ดิฉันเองลองเพาะจากเมล็ดได้สี่ต้น ปลูกจนต้นสูงเกือบสองเมตร ผ่านมาสามปียังไม่มีลูกให้ทานสักที  ก็ต้องมาพึ่งผลผลิตของโครงการหลวงที่ยังเป็นแหล่งผักส่วนใหญ่ของริมาอีกด้วย อะโวคาโดเกรดเอของที่นี่จะรับประทานตอนที่เปลือกยังเขียวอยู่ เนื้อถึงจะไม่เละ แต่พันธุ์อื่นอย่าง Haas ทานตอนเปลือกคล้ำทั้งใบถึงจะสุกพอดี  แม่อย่างดิฉันก็ผ่านการทดลองจับคู่ผักผลไม้ให้ลูกลองทานเหมือนบ้านอื่น โดยถือคติว่าถ้าไม่มีประโยชน์ไม่ต้องไปเสียเวลาทาน ลองผิดลองถูกจนมาลงตัวที่สามอย่างนี้ค่ะ ไม่ใช่แค่อร่อยอย่างเดียวแต่ยังเต็มไปด้วย โอเมก้า 3 แหล่งธาตุเหล็กชั้นดี แถมวิตามินซีจากมะละกอยังช่วยในการดูดซึมธาตุเหล็กอีกด้วย ลองทำกันค่ะ

เครื่องปรุง สำหรับ 4 ออนซ์ เวลาเตรียม 10 นาที

แอปเปิล                  ½           ลูก

มะละกอ                 1/3          ถ้วย

อะโวคาโด              ½            ลูก

ผงอบเชย               1          หยิบมือ

น้ำเปล่า/นมแม่      1              ออนซ์  (ถ้าเห็นว่าข้นไปให้เติมได้ ถ้าพอดีแล้วก็ไม่ต้องใส่ค่ะ)

(เครื่องปรุง หรือส่วนผสมบางอย่าง จะใส่หรือไม่ใส่แล้วแต่วิจารณญาณของผู้ปกครองเลยค่ะ หากน้องคนไหนยังไม่เคยลอง อาจปรึกษาแพทย์ประจำก่อนลองรับประทาน)



วิธีทำ

ถ้ามีแอปเปิลก็ต้องมีอบเชย ของมันเกิดมาคู่กันจริงๆ นะคะ อบเชยได้ถูกนำมาปรุงอาหารเพื่อใช้เป็นยารักษาโรคมาเป็นเวลาช้านาน เป็นสารต้านอนุมูลอิสระอย่างดี วันนี้เราจะสร้างความคุ้นเคยกับเครื่องเทศให้ตัวน้อยในเมนูนี้กันค่ะ เริ่มจากหั่นแอปเปิลเป็นชิ้นเล็กๆจะได้สุกง่าย นำไปคลุกกับผงอบเชยแล้วนำไปนึ่งห้านาทีพอสุก หั่นมะละกอสุกพอคำ ตักอะโวคาโดและผลไม้ทั้งหมดใส่ชามผสม ปั่นสักสิบวินาที ถ้าข้นไปเติมน้ำเปล่าหรือนมแม่ แต่ถ้าพอดีแล้วไม่ต้องเติมก็ได้ค่ะ ปั่นอีกสิบวินาที ตักใส่จานโรยผงอบเชยจบท้ายก็พร้อมเสิร์ฟตัวน้อย

คุณแม่บางท่านอาจตั้งคำถามว่าทำไมต้องใส่เครื่องเทศ น้องจะทานได้เหรอ ทานได้แน่นอนค่ะ เพราะเขาคุ้นชินตั้งแต่อยู่ในครรภ์ของเราเวลาเราทานอาหาร ดิฉันยังคิดว่าการใช้เครื่องเทศและสมุนไพรในอาหารเด็กนอกจากจะมีประโยชน์แล้ว ยังถือว่าเป็นการฝึกให้เรียนรู้ในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสในรูปแบบของอาหารไปในตัว นอกจากจะใช้ปากทาน ตาดู และมือสัมผัสที่อาหารแล้ว ดิฉันอยากให้ฝึกทักษะการใช้จมูกดมกลิ่นด้วย ให้น้องติดเครื่องเทศ ติดสมุนไพรย่อมดีกว่าติดหวาน ติดเค็มอย่างแน่นอน การให้น้องทำความคุ้นชินกับอาหารในทุกผัสสะน้องจะได้เป็นมิตรที่ดีกับอาหารต่อไปในอนาคตค่ะ 

แล้วพบกันใหม่อาทิตย์หน้าค่ะ

 

[i] Cheney Lauren, The Smart Cookbook: Boots Your Baby’s Immunity and Brain Development, Murdoch books, 2018.


>> เมนูอาหารลูกน้อย ไม่ใช่เรื่องยาก! "รัตมา พงศ์พนรัตน์" แนะนำสูตรอาหารเด็กทำง่าย ได้ประโยชน์

>> เมนูอาหารลูกน้อย "ข้าวคั่วตุ๋น" เต็มไปด้วยประโยชน์ที่ลูกน้อยต้องการ

>> เมนูอาหารสำหรับลูกน้อย "โจ๊กมรกตไข่แดง" ทำง่าย ได้ประโยชน์เต็มๆ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook