ปั่นจักรยาน - ปั้นสุขภาพ

ปั่นจักรยาน - ปั้นสุขภาพ

ปั่นจักรยาน - ปั้นสุขภาพ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"Get a bicycle, you will not regret it, if you like" เป็นคำกล่าวของมาร์ค ทเวน นามปากกาอันโด่งดังมีชื่อเสียง ของนักเขียน นักบรรยาย และนักหนังสือพิทม์ชาวอเมริกัน ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วงคริสต์ศักราช 1835 - 1900 ค่ะ ทั้งอายุของคำพูดนี้ก็แก่จนเรียกว่าชราเหลือเกิน แต่ลองว่าวาทะใดยังคงอยู่จนข้ามศตวรรษ ข้ามน้ำข้ามทวีปถึงเพียงนี้ ก็เห็นควรต้องเอะใจสักนิดล่ะค่ะ ว่าประโยคธรรมดานี้ เห็นทีจะมีอะไรพิเศษแน่ๆ


เพราะปัจจุบันไม่เพียงแต่ประเทศญี่ปุ่น ที่นิยมขี่จักรยานไปเรียน ไปทำงาน และไปทำธุระ แทนการใช้รถยนต์ ปัจจุบันประเทศเนเธอแลนด์ ประเทศเกาหลี ในบางรัฐของสหรัฐอเมริกา และประเทศไทย ก็มีการรณรงค์ส่งเสริมการขี่จักรยานแพร่หลายเพิ่มขึ้นมาก ควบคู่กับการสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้บริการรถเมล์และรถไฟฟ้า เพื่อลดปัญหามลพิษด้วยค่ะ

ปักษ์นี้ ชีวจิต จึงชวนผู้อ่านมาลองขี่จักรยานกันบ้างดีกว่าค่ะ ดูว่าจะชอบไหม แค่มีจักรยานจ่ายตลาดธรรมดาๆ เบาะนิ่มๆ และมีตะกร้าหน้ารถ เสริมอุปกรณ์อีกนิดหน่อย เท่านี้ก็แจ๋วแล้วค่ะ

ทำไมต้องขี่จักรยาน
สมาคมจักรยานเพื่อสุขภาพไทย(Thai Cycling for Health Association) ได้รวมกลุ่มกันจัดตั้งเป็นสมาคมมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2534 เพื่อช่วยเป็นแรงหนึ่งในการผลักดันให้สังคมไทย และประชาชนทุกคนเห็นคุณค่า รวมถึงประโยชน์ของการขี่จักรยานในด้านต่างๆ

สำหรับผลดีต่อสุขภาพนั้น การขี่จักรยานจะช่วยลดไขมันสะสม กระชับต้นขา สะโพก และหน้าท้อง ช่วยเผาผลาญพลังงานได้ถึงชั่วโมงละ 350 - 700 แคลอรี่ ขึ้นอยู่กับช่วงเวลา ความเร็วในการปั่น และพื้นผิวถนน

สามารถป้องกันโรคหัวใจ โรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูงได้ เพิ่มประสิทธิภาพระบบไหลเวียนโลหิต ผ่อนคลายความตึงเครียด กระตุ้นให้ร่างกายหลั่งโกร๊ธฮอร์โมน ปรับสมดุลสุขภาพกายใจให้สมบูรณ์แข็งแรง

นอกจากนี้ การขี่จักรยาน ยังช่วยลดโลกร้อน ขจัดปัญหามลภาวะเป็นพิษ อนุรักษ์พลังงานธรรมชาติ รักษาสิ่งแวดล้อมให้อยู่คู่โลกไปจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน

เมื่อเดือนมกราคม 2556 ที่ผ่านมา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) และสำนักงานจังหวัดเลย ได้จัดโครงการเติมสีเขียวให้ท่องเที่ยวยั่งยืน ในชื่อ ‘ปั่นสองน่อง ท่องภู ดูธรรมชาติ' ระยะทางจากอำเภอภูเรือ ถึงอำเภอด่านซ้าย โดยมีสมาคมจักรยานเพื่อสุขภาพไทย เป็นผู้สนับสนุนและช่วยประชาสัมพันธ์

เชิญชวนให้ผู้รักสุขภาพทุกๆคน เข้าร่วมปั่นจักรยาน สร้างสังคมอนุรักษ์แผ่นดินไทย และสังสรรค์แบ่งปันประสบการณ์สุขภาพ พบปะเพื่อนฝูงใหม่ๆที่มีหัวใจนักออกกำลังกายเหมือนๆกันค่ะ

ใครพลาดไปไม่ต้องเสียใจค่ะ ชีวจิต แวะไปขอปฏิทินกิจกรรมจากทางสมาคมจักรยานเพื่อสุขภาพไทย มาบอกกล่าวกัน ดังต่อไปนี้ค่ะ

- วันที่ 19 เมษายน 2556 : Friday Night Ride มุ่งสู่วัดเล่งเน่ยยี่ 2 (ระยะทาง 80 กิโลเมตร)
- วันที่ 28 เมษายน 2556 : มือใหม่หัดขี่ สองน่องท่องเกาะกรุงรัตนโกสินทร์-สวนลุมพินี
- วันที่ 12 พฤษภาคม 2556 : ปั่นไหว้พระ 9 วัด จังหวัดกาญจนบุรี

หมายเหตุ : ผู้สนใจเข้าร่วมต้องนำจักรยานไปเอง พร้อมติดไฟหน้าและไฟท้ายให้เรียบร้อย โดยสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 0-2612-4747 , 0-2678-5470
เตรียมตัวอย่างไร

ผู้อ่านที่รักสุขภาพ อยากลองไปเข้าร่วมปั่นจักรยานเป็นหมู่คณะแบบนี้ ชีวจิต นำเคล็ดลับในการเตรียมพร้อมขับขี่ปลอดภัย ซึ่งแนะนำโดยสมาคมจักรยานเพื่อสุขภาพไทย พร้อมสรุปการอบอุ่นร่างกายซึ่ง กูรูต้นตำรับชีวจิต อาจารย์สาทิส อินทรกำแหง เขียนไว้ในหนังสือ ‘เตะสุดชีวิต' จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์อมรินทร์สุขภาพ มาฝากค่ะ

1.) เลือกจักรยานให้เหมาะสมกับน้ำหนักและส่วนสูง ไม่จำเป็นต้องมีราคาแพง แต่ต้องคงทนแข็งแรง ควรตรวจสภาพล้อ ยาง และเบรกทุกครั้งก่อนใช้งาน
2.) เพื่อความปลอดภัย สวมสนับเข่า ข้อศอก และหมวกกันน็อคเสมอ
3.) ขณะปั่นจักรยาน อย่ายกไหล่ เกร็งหลังส่วนบน หรือก้มหน้า เพราะจะทำให้ออกแรงมากขึ้น
4.) รักษาจังหวะถีบคันเหยียบให้สม่ำเสมอ ไม่ควรปั่นช้าหรือเร็วเกินไป เพื่อการควบคุมทิศทางที่แม่นยำ ไม่ส่ายไปส่ายมา
5.) ก่อนปั่นจักรยานเพื่อออกกำลังกายทุกครั้ง ควรอบอุ่นร่างกายด้วยการยืดเส้นยืดสาย สะบัดแขนและขา หรือวิ่งแทงเข่าอยู่กับที่ประมาณ 5 - 10 นาที จนรู้สึกว่ามีเหงื่อซึม

ลองหาจักรยานมาปั่นไปซื้อของใกล้ๆ ขับเล่นรับลมเย็นๆละแวกหมู่บ้าน แวะทักทายเพื่อนฝูงดูค่ะ ถ้าหลงรักจักรยานเมื่อไร กระซิบบอก ชีวจิต บ้างนะคะ

(ล้อมกรอบ) Did you know?

องค์กรผู้ให้ข้อมูลด้านการจราจร(INRIX) ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ร่วมกับสถาบันอื่นๆ และนิตยสาร Travel and Leisure เผยว่า กรุงเทพมหานคร เป็นเมืองรถติดอันดับที่ 4 ของโลก รองจาก เม็กซิโก ซิตี้ ประเทศเม็กซิโก รัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา และเมืองบรัสเซลล์ ประเทศเบลเยี่ยม

(ล้อมกรอบ)

ข้อควรระวัง : ตารางเสนอแนะนี้ เป็นเพียงขนาดโดยประมาณที่เหมาะสมเท่านั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือ ผู้ขับขี่ควรเลือกจักรยานด้วยตนเอง เน้นคันที่เหมาะมือ ขี่สะดวก รู้สึกสบาย ไม่เมื่อยหลัง และความปลอดภัยเป็นหลักค่ะ

ขอบคุณภาพประกอบจาก http://www.photos.com/

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook