ตัดอัณฑะก่อนเป็นหนุ่ม กับผลลัพธ์ที่รออยู่

ตัดอัณฑะก่อนเป็นหนุ่ม กับผลลัพธ์ที่รออยู่

ตัดอัณฑะก่อนเป็นหนุ่ม กับผลลัพธ์ที่รออยู่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
เมื่อไม่นานมานี้มีข่าวดังเกรียวกราวเรื่อง “ความนิยมในการเปลี่ยนแปลงเพศ โดยการผ่าตัดลูกอัณฑะออก(orchidectomy) หรือเรียกว่าตอน(castration)ในวัยรุ่น” เพราะมีค่าใช้จ่ายราคาถูก และหยุดพัฒนาการสู่ความเป็นชายอย่างเห็นผล เรื่องนี้ทำให้แพทย์สภาออกมาประกาศเตือนว่า การผ่าตัดลูกอัณฑะออกในเด็กผู้ชายก่อนอายุ 18 ปีถือว่าผิดกฎหมาย ถ้าไม่ได้รับความยินยอมจากพ่อและแม่ของเด็ก และระบุว่ายังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ที่ยืนยันว่าการผ่าตัดลูกอัณฑะออกในเด็กผู้ชายจะสามารถเปลี่ยนแปลงเพศได้และอาจเป็นอันตรายได้



ทำให้เกิดคำถามมากมายในสังคมไทยว่าจะเกิดข้อดีและข้อเสียอย่างไรต่อเด็กผู้ชายก่อนวัยหนุ่มสาวที่อายุน้อยกว่า 18 ปีที่ต้องการเปลี่ยนแปลงเพศและได้รับการผ่าตัดลูกอัณฑะออก เด็กผู้ชายที่มีความรู้สึกหรือจิตใจของเพศตรงข้ามและต้องการเปลี่ยนแปลงเพศอย่างแท้จริงจะเสียโอกาสหรือไม่ ถ้าไม่ได้รับการผ่าตัดดังกล่าวในเวลาที่เหมาะสม หรือเด็กผู้ชายที่อายุน้อยกว่า 18 ปีถือว่าเป็นผู้ไม่มีวุฒิภาวะเพียงพอที่จะตัดสินใจ ถ้าได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองของเด็กจะทำการผ่าตัดลูกอัณฑะออกได้หรือไม่ ที่สำคัญคือเมื่อผ่าตัดแล้วจะมีผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายในอนาคตอย่างไรบ้าง

ก่อนที่จะตอบคำถามมากมายนี้ มาดูกันว่าลูกอัณฑะของเพศชายที่มีสองข้างขวาและซ้ายมีความสำคัญอย่างไร ลูกอัณฑะ มีหน้าที่คือสร้างเชื้ออสุจิและฮอร์โมนเพศชายที่เรียกว่า “เทสโทสเตอโรน” ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำให้ร่างกายแสดงลักษณะเพศชาย เช่น เสียงห้าว มีหนวดเครา ขนขึ้นตามตัว เสียงแตก ลูกกระเดือกโตขึ้น การทำงานของต่อมไขมันตามผิวหนังเพิ่มขึ้นทำให้ผิวหนังมันและสิวขึ้นง่าย ศีรษะล้านแบบผู้ชาย และกระตุ้นให้มีอารมณ์และพฤติกรรมต่างๆ แบบลูกผู้ชาย เพราะฉะนั้นการผ่าตัดลูกอัณฑะออกทั้งสองข้างก่อนวัยหนุ่มสาวที่ทางการแพทย์กำหนดไว้ที่ 18 ปี จะทำให้มีผลกระทบต่อการพัฒนาทางเพศ ลักษณะความเป็นเพศชายน้อยลง เช่น ไม่มีการเปลี่ยนแปลงของกล่องเสียง และลูกกระเดือก มีเสียงเล็ก หรือทำให้เป็นหมัน ผลดังกล่าวทำให้เป็นที่มาของเหตุผลต่างๆ ของการผ่าตัดลูกอัณฑะออกก่อนวัยหนุ่มสาวทั้งในอตีดจนถึงปัจจุบัน

การผ่าตัดลูกอัณฑะออกทั้งสองข้างก่อนวัยหนุ่มสาวมีหลักฐานเป็นบันทึกมานานกว่า 2,000 ปี เพื่อประโยชน์ทางการเมือง สังคม รวมถึงเพื่อประโยชน์ทางการรักษาโรค ข้อบ่งชี้ของการผ่าตัดประเภทนี้มีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ถือเป็นการผ่าตัดที่กระทำกันอย่างกว้างขวาง เช่น นครรัฐในอิตาลี เพื่อความบันเทิงในการฟังอุปรากร (opera) เพราะเด็กที่ได้รับผ่าตัดลูกอัณฑะออกจะมีเส้นเสียงไม่หนาใหญ่ การร้องเพลงจึงกังวานดีกว่าเสียงผู้หญิง ส่วนในประเทศจีนพบได้ในกลุ่มขันทีที่ทำกันเพื่ออยู่ในพระราชวังต้องห้าม และในปัจจุบันการตัดลูกอัณฑะในเด็กผู้ชายก่อนวัยหนุ่มสาวเป็นที่ยอมรับทางการแพทย์ในหลายกรณี ได้แก่ การบิดของลูกอัณฑะจนขาดเลือด ลูกอัณฑะได้รับอุบัติเหตุรุนแรง หรือการมีลูกอัณฑะอยู่ในช่องท้องซึ่งอาจกลายเป็นมะเร็งได้ แต่การผ่าตัดทางการแพทย์ดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นการผ่าตัดลูกอัณฑะออกเพียงข้างเดียว ในปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกเพื่อการผ่าตัดแปลงเพศ การตัดลูกอัณฑะทั้งสองข้างในเด็กผู้ชายก่อนวัยหนุ่มสาวน่าจะเพื่อการเสริมสวยโดยการลดฮอร์โมนเพศชายออกแบบถาวร

ผลเสียจากการตัดลูกอัณฑะก่อนวัยหนุ่ม
การผ่าตัดลูกอัณฑะก่อนวัยหนุ่มสาวได้หายไปในช่วงทศวรรษที่ 19 น่าจะมีเหตุผลจากผลเสียของการตัดลูกอัณฑะในเด็กผู้ชายก่อนวัย การตัดลูกอัณฑะจะทำให้เกิดผลกระทบต่างๆ ต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจทั้งระยะสั้นและระยะยาว เช่น อาจมีอารมณ์แปรปรวน ซึมเศร้า ซึ่งเป็นผลจากการดำรงชีวิตและการยอมรับของสังคมเปลี่ยนไปอย่างมาก ผลกระทบด้านทางกฎหมาย ได้แก่ ปัญหาเรื่องเอกสารสำคัญต่างๆ เช่น การขอวีซ่า การเกณฑ์ทหาร เป็นต้น

การตัดลูกอัณฑะออกเป็นการลดฮอร์โมนเพศชายออกแบบถาวร จึงไม่สามารถกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ นอกจากนี้อาจทำให้เกิดภาวะที่มีแขนขายาวมากกว่าปกติ มีความสูงมากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะอ้วน ผลเสียจากการตัดลูกอัณฑะในเด็กผู้ชายก่อนวัยหนุ่ม จึงไม่ได้มีเพียงทำให้หนังบริเวณถุงอัณฑะเกิดฝ่อตัว ซึ่งส่งผลต่อการทำช่องคลอดหรือการตกแต่งอวัยวะเพศภายในเมื่อต้องการจะผ่าตัดแปลงเพศ แม้ว่าส่วนใหญ่ของฮอร์โมนเพศชายจะถูกผลิตขึ้นที่ลูกอัณฑะ แต่ก็มีประมาณร้อยละ 5 ที่ถูกผลิตขึ้นที่ต่อมหมวกไตด้วย ฤทธิ์ที่ทำให้ร่างกายแสดงลักษณะเพศชายพอยังมีอยู่บ้าง และอาจอธิบายได้ว่าการผ่าตัดลูกอัณฑะในเด็กผู้ชายก่อนวัยหนุ่มสาวเพื่อแปลงเพศไม่อาจประสบความสำเร็จทุกราย และเป็นที่มาของความจำเป็นของการกินฮอร์โมนเพศหญิงหลังการผ่าตัดลูกอัณฑะ เพื่อให้มีลักษณะทางเพศภายนอกเป็นหญิง เช่น มีเต้านมโต สะโพกผาย ถ้ากินฮอร์โมนเพศหญิงมากเกินขนาดปกติ จะมีผลทำให้สูงไม่เต็มที่หรือตัวเตี้ยกว่าปกติ เพราะกระดูกปิดก่อนกำหนด และมีรายงานว่าอัตราเสี่ยงการเป็นมะเร็งเต้านม เบาหวาน หรือกระดูกพรุนได้สูงขึ้น สุดท้ายจะส่งผลให้ชราภาพเร็ว และอายุสั้นกว่าคนปกติทั่วไป

ดังนั้นการผ่าตัดลูกอัณฑะและ/หรือการให้ฮอร์โมนเพศหญิงในเด็กผู้ชายก่อนวัยหนุ่ม จึงมีความแตกต่างกับการผ่าตัดลูกอัณฑะและ/หรือการให้ฮอร์โมนเพศหญิงในผู้ใหญ่หลังวัยที่มีการพัฒนาทางเพศแล้ว เช่นอาจเกิดอาการของการพร่องฮอร์โมนเพศชาย คล้ายกับสตรีวัยทองถ้าได้รับการผ่าตัดลูกอัณฑะในผู้ใหญ่ การกิน ฮอร์โมนเพศหญิงต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ นอกจากนี้การผ่าตัดแปลงเพศแบบสมบูรณ์ ได้แก่ การผ่าตัดอวัยวะเพศองคชาต(penis) ไปพร้อมๆ กับการผ่าตัดลูกอัณฑะ และอาจรวมทั้งการผ่าตัดทำหน้าอก การผ่าตัดอัณฑะอย่างเดียวถือว่าเป็นการผ่าตัดแปลงเพศที่ไม่สมบูรณ์ ไม่ครบขั้นตอน อย่างไรก็ตามถือว่าเข้าข่ายเดียวกับการผ่าตัดแปลงเพศ เพราะไม่สามารถสืบพันธุ์มีบุตรได้อีก

ตามหลักการทางการแพทย์ซึ่งเป็นที่ยอมรับทั่วโลก คือคนไข้ที่ต้องการจะแปลงเพศจากชายเป็นหญิง ต้องเป็นผู้บรรลุนิติภาวะ ได้ผ่านการตรวจสอบสุขภาพจิตจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ใช้ชีวิตในเพศที่ต้องการและแสดงความประสงค์ก่อนการผ่าตัดอย่างน้อย 1 ปีและ 2 ปีตามลำดับ เพื่อให้แน่ใจว่าต้องการผ่าตัดแปลงเพศอย่างแท้จริง ตลอดจนสามารถปรับตัวเข้าสังคมได้ในเพศที่ต้องการ เพราะอาจมีผลกระทบได้หลายด้านดังที่กล่าวแล้วในข้างต้น ในกรณีได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองของเด็กที่ไม่บรรลุนิติภาวะทำการผ่าตัดลูกอัณฑะออก ก็ยังจำเป็นต้องได้รับการพิจารณาโดยศาลเด็ก จากเหตุผลดังกล่าวแพทยสภากำลังร่างข้อบังคับแพทย์สภาว่าด้วยหลักเกณฑ์เพื่อการทำศัลยกรรมแปลงเพศว่าจะต้องมีหลักปฏิบัติอย่างไรบ้าง โดยเบื้องต้นมีแนวโน้มที่จะอนุญาตให้ผ่าตัดลูกอัณฑะได้ แต่ต้องมีหลักเกณฑ์ข้อบ่งชี้ชัดเจน และอาจกำหนดอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี เพราะกฎหมายไทยระบุว่าผู้บรรลุนิติภาวะที่อายุ 20 ปี จึงเป็นที่น่าติดตามว่าข้อบังคับแพทย์สภาจะออกมาอย่างไร

จากข้อมูลต่างๆ ที่เล่าสู่กันฟังนี้คุณคงตอบคำถามได้ว่าเด็กผู้ชายก่อนวัยหนุ่มที่อายุน้อยกว่า 18 ปี ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงเพศและได้รับการผ่าตัดลูกอัณฑะออกเหมาะสมหรือไม่ การที่จะตัดสินใจกระทำสิ่งใดกับตนเองนั้นมีเงื่อนไข และข้อควรตระหนักมากมาย คนเราไม่ควรใช้เพียงอารมณ์หรือกระแสสังคมเป็นตัวตัดสินนะครับ

ขอขอบคุณบทความดีๆจาก : นท.ดร.นพ.สมพล เพิ่มพงศ์โกศล ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเพศชาย์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook