ยืนหนึ่งในวงการวิศวะฯ "ไนซ์ นริศรา กิจพิพิธ" ผู้บริหารหญิงไม่กี่รายในธุรกิจพลังงานของไทย

ยืนหนึ่งในวงการวิศวะฯ "ไนซ์ นริศรา กิจพิพิธ" ผู้บริหารหญิงไม่กี่รายในธุรกิจพลังงานของไทย

ยืนหนึ่งในวงการวิศวะฯ "ไนซ์ นริศรา กิจพิพิธ" ผู้บริหารหญิงไม่กี่รายในธุรกิจพลังงานของไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ก๊าซเอ็นจีวีที่ต่อแถวเติมกันยาวเหยียดในเมืองไทยนั้น เกือบทั้งหมดเป็นผลงานของบริษัท สแกน อินเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCN ซึ่งทำธุรกิจพลังงานครบวงจร ทั้งสร้างปั๊ม ทำรถขนส่งก๊าซ ไปจนถึงติดตั้งถังก๊าซเอ็นจีวีในรถยนต์ เป็นธุรกิจที่ทำร่วมกับปตท. เมื่อ พ.ศ. 2546 เรียกว่าเป็นผู้บุกเบิกก๊าซธรรมชาติรายแรกๆ ของประเทศไทย ซึ่ง คุณไนซ์-นริศรา กิจพิพิธ เป็นผู้หญิงไม่กี่คนในแวดวงวิศวกรรม ศาสตร์ และเป็นผู้บริหารหญิงไม่กี่รายในธุรกิจพลังงานของไทย ที่สำคัญเธอเป็นผู้กุมคลังการเงินของสแกน อินเตอร์ ต่อให้คุณธัญชาติ ประธานกรรมการบริหารซึ่งเป็นคุณพ่อ หรือดร.ฤทธี ซีอีโอซึ่งเป็นพี่ชาย ก็ไม่อาจไฟเขียวโปรเจกต์ใดๆ ได้ถ้าเธอไม่อนุมัติงบ 

คุณไนซ์-นริศรา กิจพิพิธ
ชีวิตวัยเรียนสุดท้าทายของวิศวกรสาวสายซ่าส์
“ไนซ์ได้ปริญญาวิศวะ 3 ใบ แค่อยากท้าทายว่าผู้หญิงเรียนวิศวะได้ ตอนเรียนก็ใส่เสื้อช็อปกับรองเท้าส้นสูง นุ่งกระโปรงสั้น” เธอจบปริญญาตรีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมอุตสาหการ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังเรียนจบปริญญาตรี “ไนซ์กลับมาช่วยที่บ้านนิดหน่อย ทำ production line ให้กับโตโยต้าซึ่งมาจ้างเราสร้างไลน์ผลิตเพื่อเปลี่ยนจากน้ำมันเป็นก๊าซธรรมชาติ เป็นโปรดักชั่นไลน์ที่ช่วยลดต้นทุน ลดของเหลือทิ้ง ลดเวลาในการผลิต เป็นผลงานแรกในชีวิตการทำงาน การทำงานจริงกับสิ่งที่เรียนมาแตกต่างกัน 80 - 90% เวลาทำ project feasibility หรือวิเคราะห์ผลตอบแทนธุรกิจก่อนลงมือทำ ตอนเรียนมีสมมุติฐานเยอะแยะ ทุกอย่างหาได้จากห้องสมุด แต่ตอนทำจริงมันไม่มี เราต้องไปคุยกับคนหลายฝ่ายมาก แต่ตอนส่งโปรเจกต์นี้ไปประกวดก็ได้รางวัลที่ 1 มา” 

หลังจากนั้นเธอลัดฟ้าไปเรียนปริญญา 2 ใบรวดในสาขาวิศวกรรมอุตสาหกรรมจาก University of Southern California สหรัฐอเมริกา และสาขาวิศวกรรมการเงินและการบริหารความเสี่ยงที่ Imperial College London จากอังกฤษ “ปริญญาโทอยากมาดูฝั่งไฟแนนซ์บ้าง เรียนจบก็คิดว่าอยากทำงานเมืองนอกสัก 2 - 3 ปี แต่ยังไม่ทันสมัครงาน คุณพ่อโทร.มาบอกว่าอยากเอาบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ ให้กลับมาช่วยกันหน่อย คุณพ่อเป็นเจ้าพ่อโปรเจกต์ ท่านทำทุกอย่างในโลกนี้ได้ถ้าอยากจะทำ

คุณพ่อ(คุณธัญชาติ) และคุณไนซ์-นริศรา กิจพิพิธ
 

จุดเริ่มต้นของธุรกิจท่อส่งก๊าซในเมืองไทย ที่แตกต่างจากเมืองนอก
“ท่อก๊าซในเมืองไทยไม่ได้มีโครงข่ายทั่วประเทศเหมือนในต่างประเทศ ซึ่งไม่มีใครต้องขับมอเตอร์ไซค์ส่งแก๊สตามบ้าน เขาเปิดท่อแก๊สในบ้านก็ได้ใช้เลย แต่ในเมืองไทยไม่มีท่อก๊าซเชื่อมต่อกัน เวลาสร้างปั๊มเลยต้องมีรถขนส่งจากท่อไปยังปั๊มต่างๆ ปั๊มไหนอยู่ตามแนวท่อก็ดีไป ประหยัดค่าขนส่ง คุณพ่อได้สัมปทานทำมาเธอร์สเตชั่นเอาไว้เติมก๊าซให้รถขนส่งกระจายไปส่งตามปั๊มย่อย ซึ่งท่านประกอบรถขนส่งเองด้วย ทำธุรกิจเปลี่ยนรถยนต์ให้เป็นรถใช้แก๊สด้วย ต่อยอดจนเราทำครบวงจรของเอ็นจีวี คุณพ่อมองการณ์ไกล ชอบสร้างอะไรใหม่ๆ ไนซ์คิดว่าแพสชั่น ของคุณพ่อคือเขาสะใจกับความสำเร็จ ท่านไม่เคยคิดเรื่องเงินเลย แค่ทำรีเสิร์ชก็ทุ่มเทเงินจนแทบหมดตัว แม้ว่าฐานะในตอนนั้นของคุณพ่อจะติดลบ ทุกวันนี้ก็ยังเป็นแบบนั้น ไม่พร้อมแต่ก็ลุยไป (หัวเราะ) ไม่มีคำว่าพร้อมหรอกค่ะ” 

 

กว่าจะมีวันนี้ ในตลาดหลักทรัพย์
เธอวกกลับมาเล่าเรื่องนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ให้ฟังว่า เป็นเพราะความเจ้าโปรเจกต์ของคุณพ่ออีกเช่นเคยที่อยากเติบโตแบบก้าวกระโดด นอกจากนำบริษัทเข้าตลาดแล้ว ยังมีโปรเจกต์ยักษ์จ่ออีกงาน คือโครงการก๊าซธรรมชาติอัดแรงดันสูงในภาคอุตสาหกรรม (Industrial Compressed Natural Gas หรือ ICNG) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่สแกน อินเตอร์ครอบครองสิทธิบัตรแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย 

ครั้นเข้ามาทำงานเต็มตัวก็โดนเหตุการณ์รับน้องมากมาย ดังที่เธอไล่เรียงให้ฟังยาวเหยียดว่า “ช่วงเตรียมตัวเข้าตลาดหลักทรัพย์ มือขวา 4 คนของเราลาออกหมดเลย ไม่มีเหตุขัดแย้ง เขาจะออกไปตั้งบริษัท คุณพ่อก็ไม่สนใจค่ะ ท่านบอกว่าไม่เป็นไร ทำเองได้เพราะรู้ดีเทลทุกอย่าง ณ ตอนนั้นเป็นบริษัทแบบวันแมนโชว์พอสมควร 

“ปกติบริษัทที่ไม่ได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์จะปิดบัญชีปีละครั้ง ยื่นเอกสารให้สรรพากรก็จบ แต่ถ้าอยู่ในตลาดต้องปิดบัญชีทุก 3 เดือน ฝ่ายบัญชีที่เก่งๆ ลาออกกันพรึ่บเลย ด้วยความที่เราต้องทำงานแข่งกับตารางเวลาที่ระบุชัดเจนว่าต้องเข้าตลาดวันไหน แล้วเขาทำงานกันไม่ทัน แต่เขาอยู่กับคุณพ่อมานาน เป็นหน้าที่ของคุณพ่อที่ต้องไปเบรกไว้ ตอนนั้นไนซ์แทบจะตัวติดกับคุณพ่อเลย ไม่มีตำแหน่งค่ะ ทำงานทุกอย่างแล้วแต่นายสั่ง (หัวเราะ) ท่านไม่สอนงานนะคะ ให้ลองผิดลองถูกเอาเอง เพราะประสบการณ์คือสิ่งสำคัญที่สุดค่ะ แต่…”

เธอลากเสียงแต่ยาวๆ บอกใบ้ว่าโลกสวยไม่มีหรอกในชีวิตจริง ยิ่งทำงานกับคนในครอบครัวเดียวกันด้วยแล้ว “คุณพ่อเป็นคนลงดีเทลและเป็นคนคิดใหญ่มาก ทุกอย่างเป็นไปได้หมดเลย แต่เรารู้สึกว่ามันเยอะไป เมื่อเรามอบหมายหน้าที่ให้ใครแล้วก็ให้เขาจัดการเอง แต่ในมุมคุณพ่อ ท่านต้องรู้ทุกอย่าง พอมีโปรเจกต์มากเข้าเราก็รู้ได้ไม่หมดหรอกค่ะ เวลาทำงานกับคุณพ่อและพี่ชาย ทุกอย่างที่เราไม่เห็นด้วยต้องหาเหตุและผลมาแย้ง ดีว่าทุกคนรับฟังกัน อะไรที่เราคิดว่าคุณพ่อเก่งและรู้ดี เราต้องปรึกษาอยู่แล้ว แรกๆ พนักงานไม่มีใครต่อต้าน แค่ไม่ทำตามที่สั่ง (หัวเราะ) ไนซ์เข้ามาวางระบบ แต่หลายโปรเจกต์มากที่เราขาดทุน เกินงบ เราก็งงว่ามันเกินได้ยังไงในเมื่อเราวางระบบทุกอย่างไว้หมดแล้ว พอเข้าไปดู ปรากฏว่าพนักงานลบระบบที่ไนซ์วางไว้หมดเลย ตอนนั้นไนซ์โกรธมากแต่ไม่ลงโทษ เพราะเขาก็เป็นคนเก่าคนแก่ 

บทเรียนสุดท้าทายของผู้หญิงเก่งในวงการธุรกิจพลังงาน


“ช่วงที่เรากำลังจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ ไนซ์ขอให้พนักงานทุกคนทำสัญญาใหม่ โดยที่มีข้อหนึ่งเขียนว่าห้ามเปิดเผยข้อมูลของบริษัท และหลังจากลาออกไปแล้ว 2 ปี ห้ามทำธุรกิจเหมือนหรือใกล้เคียงกับบริษัท สุดท้ายพนักงานลาออกเยอะมากจนไนซ์ตกใจว่าเราทำอะไรผิดหรือเปล่า พนักงานแจ้งเหตุผลที่ลาออกว่าเขาไม่โอเคกับเงื่อนไขนี้ อย่างในการประมูล เราจะพิสูจน์ได้ยังไงว่าเขาเป็นคนเอาข้อมูลไปบอกคู่แข่ง ถ้าเกิดความเสียหายขึ้นมา เขารับผิดชอบไม่ได้หรอก ก็เลย
ลาออกดีกว่า แต่ไนซ์กลับไม่ได้มองว่าพนักงานลาออกไม่ใช่เรื่องไม่ดี ถ้าคนทำงานมี mindset แบบนั้น เขาก็ไม่ได้ช่วยองค์กรนะคะ แต่เหตุการณ์นี้ก็สอนว่าเราอาจจะใจร้อนเกินไป มันมีวิธีการอีกแบบหรือเปล่าที่ไม่ใช่เข้ามาเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว”

สานต่องานได้ 5 ปี ทุกเหตุการณ์สอนให้เธอเติบโตขึ้นทางอาชีพและทางอารมณ์ “แต่ก่อนไม่พอใจอะไรก็พูดเลย ไม่ใช่อยู่เมืองนอกมานานหรอกค่ะ เป็นนิสัย (หัวเราะ) เราโมโหสะสมมาเรื่อยๆ จนวันหนึ่งก็คิดว่ามันได้ประโยชน์อะไรไหม ที่เราตะโกนไปคนอื่นเขาเข้าใจหรือเปล่า เดี๋ยวนี้ก่อนจะพูดว่าใคร เราจะถามตัวเองก่อนว่ามันมีประโยชน์ไหม แล้วก็หายใจเข้า หายใจออกเยอะๆ ค่ะ 

“เคยคิดว่าฉันเก่งที่สุด ฉันจบมหาวิทยาลัยนี้มา แต่พอมาอยู่ในโลกทำงานจริง อัตตาก็หายไป เพราะทุกคนเก่งหมดเลยค่ะ เราเลยหัดฟังคนอื่นบ้าง และการรับพนักงานที่เก่งกว่าเราเข้ามาร่วมทีมก็มีประโยชน์มาก จากคนที่คิดว่าฉันทำคนเดียวก็ได้ เหมือนคุณพ่อที่ต้องรู้ทุกอย่าง แต่ตอนนี้เรารู้จักใช้ความสามารถด้านต่างๆ ของคนอื่นเข้ามาช่วยทำงาน เราสบายขึ้น องค์กรก็เติบโตได้เร็วกว่า พยายามหาผู้สืบทอดงานในแต่ละหน่วย จะได้ไม่ตกใจมากเวลาคนลาออก อย่างฝ่ายบัญชี แต่ก่อนไนซ์จะบอกเขาว่าห้ามป่วย ห้ามตาย ห้ามทุกอย่าง เพราะเป็นหน่วยสำคัญ แต่พอเราเจอเหตุการณ์ที่มือขวาลาออก 4 คน เราต้องหาตัวตายตัวแทนในแต่ละหน่วยไว้เลย ไม่มีพนักงานคนไหนจะอยู่กับเราไปตลอดชีวิตหรอกค่ะ

บทบาทในวงการธุรกิจ VS บทบาทของคุณแม่


“ไนซ์เป็นคนขี้ตกใจค่ะ เวลามีปัญหาเลยต้องแก้ให้ได้ ไม่เคยปล่อยทิ้งไว้ และคงเพราะเราเรียนวิศวะมา มันคือวิชาที่ช่วยฝึกกระบวนการความคิด ทุกอย่างต้องหาคำตอบ หาทางออกให้ได้ ทุกกระบวนการต้องมีเหตุและผล เป็นการฝึกสมองของเราและของทีมไปด้วย แต่บางทีก็เครียดมากเกินจนคุณพ่อเตือนว่ากลัวคลอดแล้วหลานคิ้วขมวด แต่ทุกคนมีปัญหามาให้เราตลอดเวลา ไนซ์มองว่าทุกปัญหามีทางแก้ ถ้าเราแก้ได้ก็เป็นประสบการณ์ ถ้าแก้ไม่ได้ก็ต้องแก้ให้ได้ค่ะ เพราะการที่เราเป็นผู้บริหาร หน้าที่เรามีแค่ 2 อย่าง หนึ่ง วางแผน สอง แก้ปัญหา ใครมีปัญหาอะไรต้องวิ่งมาหาเรา เป็นเรื่องปกติสำหรับผู้บริหารทุกคน” 

กล่าวจบเธอยกมือลูบท้องที่อายุครรภ์ 8 เดือนแล้ว  “ไนซ์แพ้อยู่ 4 เดือนแต่มาทำงานทุกวันค่ะ เวียนหัว อาเจียน เป็นไมเกรน ก็คิดว่าหนักอยู่ ต้องปรับตารางงานพอสมควร ถ้ามี business dinner หรือ business trip เราไปไม่ไหว ต้องตามอัพเดตข้อมูลกันทีหลัง และพอท้องแล้วสมองจะช้ากว่าเดิมประมาณ 30%  ซึ่งอันหลังนี้ไม่ค่อยโอเคค่ะ (หัวเราะ) แต่เข้าใจได้ เป็นไปตามสภาพร่างกาย โชคดีที่ทีมงานดี สามีดูแลอย่างดีเลยค่ะ” คุณไนซ์พูดถึงคุณพีรภัทร ศรีสอ้าน สามีนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ไฟแรงไม่แพ้กัน 

สุดท้ายเธอก็นำพาบริษัทผ่านช่วงเวลาที่เป็นทั้งวิกฤติและโอกาสมาได้ เมื่อสแกน อินเตอร์เข้าตลาดหลักทรัพย์ใน พ.ศ. 2558 บริษัทเติบโตถึงปีละ 25% มีรายได้ระดับพันล้านบาทต่อปี เพราะเอ็นจีวีคือบ่อทองคำของนักธุรกิจ “ช่วงที่เอ็นจีวีบูมมากๆ เคยมีเหมือนกันที่คุยกันจนถึงวันสุดท้ายแล้ว พรุ่งนี้จะเซ็นสัญญาแล้วเขาไม่มา หายไปเลย สรุปว่าเขาขายให้คนอื่น มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นตลอดค่ะ” แต่ก๊าซพลังธรรมชาติมีวันหมดไป ไม่เหมือนไฟในตัวคุณพ่อที่ไม่เคยมอด วันนี้คุณไนซ์จึงต้องประเมินความเสี่ยงของธุรกิจต่างๆ เพิ่มขึ้นอย่างไม่รู้จบ

 

“เราต้องมีธุรกิจให้หลากหลาย เพราะเอ็นจีวีขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาล ราคาจะขึ้นลงแค่ไหน รัฐบาลจะให้เงินสนับสนุนต่อหรือเปล่า ถ้าปตท.ไม่อุดหนุนทางการเงินแล้ว เราจะอิงกับเอ็นจีวีอย่างเดียวไม่ได้ เราเลยต้องทำโปรเจกต์ ICNG ขึ้นมา ซึ่งราคาจะอิงกับราคาน้ำมันของตลาดโลก แปลว่าถ้ารัฐบาลไม่สนับสนุนเอ็นจีวี เราก็มีไอซีเอ็มจีอุ้มเราไว้ได้ เรายังลงทุนใน renewable energy เช่น โซลาและพลังงานธรรมชาติอื่นๆ ข้อดีคือธุรกิจที่เราทำไม่ได้มีคู่แข่งในระดับเดียวกันเยอะนัก จะเจอปัญหาก็คือความผันผวนจากนโยบายของรัฐบาลและตลาดโลกค่ะ” 

เมื่อถามถึงแผนการในอนาคต เธอกลับตอบว่า “แผนรีไทร์นี่ไม่มีเลย คิดว่าตัวเองอยู่นิ่งไม่ได้แน่นอนค่ะ อยู่บ้านเฉยๆ ดูทีวีไป ทำไม่ได้หรอก ไนซ์ชอบทำงานค่ะ” 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook