ความลับทางเพศของนักเขียนระดับโลก (ตอนจบ)

ความลับทางเพศของนักเขียนระดับโลก (ตอนจบ)

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
เอฟ. สก็อตต์ ฟิตซ์เจอรัลด์ : บาทาพิศวาส

ฟิตซ์เจอรัลด์ (F. Scott Fitzgerald) เป็นพวกคลั่งเท้า และแนวโน้มการเชื่อมโยงเรื่องเท้าเข้ากับเรื่องเพศ สำหรับเขาเกิดขึ้นมาตั้งแต่วัยเด็ก ตลอดชีวิตฟิตซ์เจอรัลด์ไม่เคยยอมให้ใครมองเท้าเปล่าของเขา เพราะในใจเขาจะเอาไปผูกพันกับร่างเปลือยอยู่เสมอ

“แม้แต่การเห็นเท้าของตัวเองก็ทำให้เขาเกิดความอึดอัดและหวาดกลัว” นักสัมภาษณ์คนหนึ่งบันทึกไว้ในปี 1924 แต่ในทางกลับกัน สำหรับเท้าของผู้หญิง ฟิตซ์เจอรัลด์กลับมีความรู้สึกในด้านบวก

เขาเคยสารภาพกับโสเภณีนางหนึ่งว่า เท้าของผู้หญิงทำให้เขาเกิดความตื่นเต้นได้เสมอ และการลูบไล้เท้าของเธอก็กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในเกมรักระหว่างคนทั้งสอง

ข้อเขียนที่แปลกประหลาดตอนหนึ่งใน This Side Of Paradise ซึ่งตัวเอกรู้สึกขยะแขยงเมื่อเห็นเท้าของสาวคอรัสคนหนึ่ง อาจเป็นความพยายามของฟิตซ์เจอรัลด์ในการจัดฉากเพื่อการเขียนด้วยแรงกระตุ้นเกี่ยวกับเท้าที่อัดแน่นอยู่ภายใน

เกอร์ทรูด สไตน์ : รหัสลับทางเพศ

สไตน์ (Gertrude Stein) เพียงคนเดียวเท่านั้นที่รู้ว่า ทำไมเธอจึงกล่าวถึง “การบรรลุจุดสุดยอด” โดยใช้คำว่า “วัว” (cows) โค้ดลับคำนี้พบได้ทั่วไปในบทกวีและเรื่องแต่งของเธอ รวมทั้งเรื่องรัก As a Wife Has a Cow : A Love Story และครั้งหนึ่งเธอเคยเรียกตัวเองว่า The best cow giver in all the world

วอลต์ วิตแมน : คลั่งไคล้ลินคอลน์

วิตแมน (Walt Whitman) หลงใหลประธานาธิบดีลินคอลน์ (Abraham Lincoln) หัวปักหัวปำ จนกลายเป็นแรงบันดาลใจในการเขียนบทกวี “O Captain! My Captain!” ในปี 1865 ตอนที่ทำงานเป็นพยาบาลอยู่ในกรุงวอชิงตัน ระหว่างนั้นเขาเห็นประธานาธิบดีกับทหารอารักขาบ่อยครั้งบนถนน

ข้อเขียนของเขาพรรณนาถึงการพบกันโดยบังเอิญระหว่างบุคคลทั้งสอง และทิ้งไว้ซึ่งความสนเท่ห์ที่วิตแมนได้นำมาครุ่นคิดยาวเหยียดจนกลายเป็นบทกวี

“ฉันเห็นใบหน้าสีน้ำตาลเข้มของอับราฮัม ลินคอลน์ พร้อมกับเส้นสายเป็นร่องลึก ดวงตาทั้งสองแฝงความเศร้าไว้อย่างลึกซึ้ง...” อ่านมาถึงตรงนี้ บางทีคุณอาจมองเห็นหน้าตาของชาวนาแก่ๆ กัปตันเรือ หรือคนที่มีความเฉียบแหลมอยู่เบื้องหลังความธรรมดาสามัญหรือน่าเกลียด

ด้วยความชัดเจนดังกล่าว ทำให้ใบหน้าที่แท้จริงของพวกเขาแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะประพรมน้ำหอม หรือมีเสียงที่ทรงพลัง ดังนั้นใบหน้าของลินคอลน์ สีผิว เส้นสาย ดวงตา ปาก ฯลฯ ในสายตาของศิลปินใหญ่จึงหมายถึงความน่าหลงใหล

อายน์ แรนด์ : รักข้ามรุ่น

แรนด์ (Ayn Rand) ชอบเด็กหนุ่ม และไม่มีใครเข้าใจเธอมากไปกว่า นาธาน บลูเมนธาล (Nathan Blumenthal) นักศึกษาชาวแคนาดาซึ่งต่อมากลายเป็นทายาททางปัญญา และผู้ให้ความสุขทางเพศแก่เธอ พวกเขาพบกันครั้งแรกในปี 1950

หลังจากที่เด็กหนุ่มวัย 19 ปีในตอนนั้นเขียนจดหมายไปหาเธอในฐานะแฟนหนังสือ เธอทำให้เขาประหลาดใจเมื่อได้รับเชิญไปที่บ้านของเธอในแมนฮัตตัน เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมที่นักเขียนชื่อดังในยุคนั้นเรียกว่า The Collective

บลูเมนธาล (เปลี่ยนชื่อในภายหลังให้เท่ขึ้นว่า นาธาเนียล แบรนเดน-Nathaniel Branden) กลายมาเป็นคนใกล้ชิดของเธออย่างรวดเร็ว แรนด์ถึงขั้นยอมเป็นเพื่อนเจ้าสาวในงานแต่งงานของเขา แต่แล้วในปี 1955 เป็นต้นมา

ทั้งสองกลายเป็นคู่นอนของกันและกัน ตอนนั้นแรนด์อายุ 50 ปี ขณะที่แบรนเดนอ่อนกว่าเธอครึ่งต่อครึ่ง (25 ปี) แรนด์เล่าให้เพื่อนๆ ฟังว่าเธอต้องการมีเซ็กซ์กับเขาอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เพื่อความลื่นไหลในการเขียนหนังสือ

ต่อมา แบรนเดนได้เสนอให้แรนด์ก่อตั้งสถาบันนาธาเนียล แบรนเดน เพื่อเผยแพร่ผลงานของเธอ แต่ในปี 1968 ตำนานรักข้ามรุ่นบทนี้ก็จบลง เมื่อแบรนเดนแอบไปมีความสัมพันธ์กับนางแบบสาวซึ่งเป็นลูกศิษย์คนหนึ่งของแรนด์ เมื่อเธอจับได้ว่าเขานอกใจ แรนด์ระเบิดอารมณ์ออกมาและประกาศว่าจะทำลายเขาให้ย่อยยับ เธอสั่งปลดเขาออกจากสถาบันที่ตั้งขึ้นมาในทันที

ทุกวันนี้ แบรนเดนทำงานอยู่ในเบเวอร์ลีย์ฮิลล์ แคลิฟอร์เนีย ในฐานะนักบำบัดจิต เชี่ยวชาญด้านการนับถือตัวเองเป็นพิเศษ และในปี 1999 เขานำบันทึก My Years With Ayn Rand มาพิมพ์เป็นหนังสือออกจำหน่าย

ฌอง-ปอล ซาร์ตร์ : นอกใจแบบมีชั้นเชิง

แม้จะเป็นนักปรัชญาไม่ใช่ดาราหรือนายแบบ แต่ซาร์ตร์ (Jean-Paul Sartre) ก็มีชื่อเสียงโด่งดังในหมู่หญิงสาว ว่าเป็นคนใช้คู่นอนเปลืองไม่ต่างจากบุหรี่ที่เขาสูบ มีเรื่องเล่าว่าเขาเคยมีอะไรกับนักข่าววัยรุ่นชาวบราซิล ตอนที่คู่รักนักปรัชญา ซีโมน เดอ โบวัวร์ (Simone de Beauvoir)

นอนพักรักษาโรคไทฟอยด์อยู่ในโรงพยาบาล ทุกครั้งที่นอกใจเขาพยายามหนีความผิดโดยเปรียบเทียบการกระทำกับหญิงอื่นว่าไม่ต่างจากการช่วยตัวเอง และจะไม่ยอมถึงจุดไคลแม็กซ์กับผู้หญิงเหล่านั้น ไม่ใช่เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ แต่เพื่อหลีกหนีจากความผูกพันกับพวกหล่อน

วิลเลียม เบอร์โรห์ส : รักต่างวัยแต่ไม่ต่างเพศ

แม้จะมีอายุห่างกัน 12 ปี แต่เบอร์โรห์ส (William Burroughs) กับ อัลเลน กินสเบิร์ก (Allen Ginsberg) ก็สร้างตำนานรักอันร้อนแรงและอื้อฉาวในช่วงต้นทศวรรษ 1950 ก่อนจะพังทลายเมื่อเบอร์โรห์สหันไปตกหลุมรักครั้งใหม่กับเด็กใหม่ในการอุปถัมภ์ของเขา

“บิลต้องการความสัมพันธ์ที่มีการครอบครอง” กินสเบิร์กเขียนบันทึกไว้ในภายหลัง “เพื่อบรรลุผลในการสื่อสารด้านจิตวิญญาณ” ตอนที่ต้องสลัดรักจากเบอร์โรห์ส คำพูดที่กินสเบิร์กนำมาใช้เป็นภาษาที่ตรงไปตรงมาต่างจากบทกวีที่เขาเขียน

“ชั้นไม่ต้องการไส้กรอกเหี่ยวๆ น่าเกลียดๆ อีกต่อไปแล้ว” เขาบอกชู้รักป่าเดียวกัน มันทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งคู่หักสะบั้นลง และต้องใช้เวลาอีกหลายปีในการเยียวยามิตรภาพที่แตกร้าวให้กลับมาดีเหมือนเดิม


ติดตามอ่าน ความลับทางเพศของนักเขียนระดับโลก (ตอนแรก) ได้ที่นี่


แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook