“นัน ชญาธิสา” ความฝันที่คว้าได้ของแอร์ข้ามเพศคนแรกของโลก

“นัน ชญาธิสา” ความฝันที่คว้าได้ของแอร์ข้ามเพศคนแรกของโลก

“นัน ชญาธิสา” ความฝันที่คว้าได้ของแอร์ข้ามเพศคนแรกของโลก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“แอร์โฮสเตส” อาชีพในฝันของสาว ๆ หลายคน ที่ไม่ใช่แค่หน้าตาสะสวย บุคลิกภาพงดงาม แต่ยังต้องมีความรู้ความสามารถ ทั้งยังมีโอกาสได้ท่องเที่ยวไปหลายประเทศทั่วโลก แต่อาชีพนางฟ้าบนเครื่องบินกลับไม่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงข้ามเพศเข้ามาแสดงศักยภาพ ยิ่งไปกว่านั้น ผู้หญิงข้ามเพศก็มักจะติดอยู่ในอคติมายาคติของการทำงานเพียงไม่กี่อาชีพ เช่น ช่างแต่งหน้า หรือนางโชว์ ถึงแม้จะไม่มีการเปิดรับแอร์โฮสเตสข้ามเพศอย่างกว้างขวาง แต่ก็มีสายการบินหนึ่งของประเทศไทยที่เคยให้โอกาสผู้หญิงข้ามเพศกลุ่มหนึ่งได้เข้ามาทำงานนี้ Sanook Women จึงขอพาทุกคนไปรู้จักอดีตแอร์โฮสเตสสาวข้ามเพศที่เคยทำตามความฝันและได้เป็นนางฟ้าบนเครื่องบินอย่างที่เธอต้องการ

ความฝันที่เอื้อมถึง

เพราะตอนเป็นเด็กมีโอกาสได้ขึ้นเครื่องบินบ่อย ประกอบกับการได้เห็นน้าสะใภ้ที่ทำงานเป็นแอร์โฮสเตสของสายการบินหนึ่ง ทำให้ คุณชญาธิสา นาคใหม่ หรือ นัน ใฝ่ฝันอยากทำหน้าที่นี้เช่นเดียวกับพี่สาวคนสวยบนเครื่อง แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องเพศสภาพ คุณชญาธิสาจึงรู้ดีว่าคงเป็นไปได้ยากที่ผู้หญิงข้ามเพศอย่างเธอจะสามารถเข้าทำงานเป็นแอร์โฮสเตสได้ แต่คุณชญาธิสาก็หวังว่าสักวันจะมีสายการบินหนึ่งเปิดใจรับผู้หญิงข้ามเพศมาเป็นแอร์โฮสเตส

“มีคนติดต่อมาว่ามีสายการบินที่เปิดรับผู้หญิงข้ามเพศ ซึ่งเราไม่เชื่อ เพราะว่าเราเคยไปสมัครสายการบินอื่นแล้ว ซึ่งเขาก็บอกว่าคุณสมบัติเราพร้อมแต่เราก็ไม่ผ่าน จนมาถึงตอนนั้น เราก็คิดแล้วก็เตรียมตัวปกติเลย เตรียมสอบโทอิค แล้วก็เตรียมเอกสารทุกอย่างเหมือนชายจริงหญิงแท้ทุกประการ พอถึงวันจริง เขาก็ประกาศว่าวันนี้เราเปิดรับผู้หญิงข้ามเพศจริง เราเลยมีความมั่นใจว่าเรามาถูกทางแล้ว” คุณชญาธิสาเริ่มเล่า

สายการบิน PC Air เป็นหนึ่งในสายการบินพาณิชย์เช่าเหมาลำของประเทศไทย ที่เน้นจุดขายด้วยการเปิดโอกาสให้ผู้หญิงข้ามเพศได้มาเป็นลูกเรือ เนื่องจากต้องการสร้างความเท่าเทียมทางเพศให้เกิดขึ้นในสังคมไทย และเล็งเห็นว่าผู้หญิงข้ามเพศก็มีศักยภาพที่จะเข้ามาทำหน้าที่นี้ ซึ่งในวันที่เปิดรับสมัคร คุณชญาธิสาเล่าว่าคนไปรอสมัครเยอะมาก ในขณะที่สำนักข่าวก็ไปเยอะเช่นกัน 

คุณชญาธิสาเล่าย้อนไปว่า ในขั้นตอนการสัมภาษณ์จะมีการถามคำถามกดดันต่าง ๆ เพราะแอร์โฮสเตสคือการทำงานบริการ เป็นการทำงานที่ต้องอยู่ใต้ความกดดันตลอดเวลา พร้อมกับคำถามเรื่อง “การแปลงเพศ” ที่กำหนดว่าผู้สมัครแอร์โฮสเตสผู้หญิงข้ามเพศทุกคนจะต้องทำการผ่าตัดแปลงเพศเรียบร้อยแล้ว สุดท้ายเธอก็ได้รับคัดเลือกให้เป็นแอร์โฮสเตสผู้หญิงข้ามเพศ 1 ใน 3 คนแรกของโลก ซึ่งคุณชญาธิสาบอกว่า เหมือนกับความฝันกลายเป็นจริง และเธอก็สัญญากับตัวเองว่าจะทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดและเป็นคนเบิกทางให้กับผู้หญิงข้ามเพศคนอื่น ๆ ที่มีความฝันเหมือนกับเธอ 

“ซีอีโอจะพูดเสมอว่าคนที่เป็นแอร์โฮสเตสผู้หญิงข้ามเพศ 3 คนแรกของโลกจะต้องเป็นต้นแบบให้กับผู้หญิงข้ามเพศทุกคน เขาต้องการคนที่พร้อม แล้วก็รับความกดดันตรงนี้ได้ และเราต้องทำตัวให้ดีที่สุด เพราะเราคือคนเบิกทางให้น้อง ๆ ทำให้พวกเขาเดินตามเราได้ อันนี้คือความยาก ถ้าจะถามว่ายากแบบไหน จริง ๆ คือมันยากทุกส่วน” คุณชญาธิสากล่าว 

 

ความฝันและความจริง

การได้รับคัดเลือกให้เป็นแอร์โฮสเตสผู้หญิงข้ามเพศเปรียบเสมือนปราการด่านแรกเท่านั้นเพราะยังมีการฝึกซ้อมและการออกปฏิบัติงานจริงที่มีอุปสรรคอีกมากมายรอคุณชญาธิสาอยู่ 

“อย่างเวลาไปเทรนนิ่งที่ศูนย์ฝึกลูกเรือ จะมีครูฝึก สำนักข่าว คนมากมายมาคอยดูเรา ถ้ามีสอบอะไรก็จะเอาเรามาสอบเป็นคนแรก ๆ สมมติมีการสอบเกี่ยวกับการเปิดประตูเครื่องบิน ก็จะให้พวกเรามาเปิดให้ดูก่อนเพื่อดูว่าคุณสมบัติของเราผ่านไหม แล้วจากนั้นครูก็จะให้ทุกคนทำตาม ถามว่ารู้สึกแย่ไหม ก็รู้สึกนิดนึงนะคะ คือถ้าเจอด่านอะไร เราจะต้องเป็นคนออกไปทำก่อน เพราะเขาจะเรียกสามคนนี้ก่อน ถ่ายรายการก็สามคน สอบต่าง ๆ เขาก็จะขอดูคะแนนของสามคนนี้ก่อนเลย” คุณชญาธิสาเล่าย้อนกลับไป 

ความคาดหวังของคนรอบข้างต่อแอร์โฮสเตสผู้หญิงข้ามเพศ 3 คนแรกของเมืองไทยทำให้คุณชญาธิสายอมรับว่าทำให้เธอเครียดเพราะกลัวว่าสิ่งที่ตัวเองทำจะดีไม่พอสำหรับผู้หญิงข้ามเพศคนอื่น ๆ ที่กำลังเดินตามหลังเธอมา แต่พวกเธอก็ไม่ย่อท้อและพยายามอย่างเต็มที่ในการพิสูจน์ตัวเองให้คนอื่นได้เห็นว่าผู้หญิงข้ามเพศก็มีความสามารถและศักยภาพที่จะทำหน้าที่ลูกเรือได้อย่างยอดเยี่ยม ไม่แตกต่างจากผู้หญิงเลย แต่ถึงแม้จะมีความเครียดและแรงกดดันที่ถาโถมใส่ แต่คุณชญาธิสาก็ได้กำลังใจที่ดีจากกลุ่มผู้หญิงข้ามเพศที่ยกให้เธอเป็นเสมือนคนต้นแบบในชีวิต 

“เหมือนเราเป็นต้นแบบให้คนอื่น เขาเฟซบุ๊กเข้ามาเยอะมาก ดีใจ ร้องไห้ เวลาเราไปเดินห้างแล้วเจอ เขาก็จะเข้ามาร้องไห้ แล้วบอกเราว่าสิ่งที่เขาคิดเอาไว้ มันเป็นจริงแล้ว เขาไม่ได้มองรูปลักษณ์ภายนอกของเรา แต่เขามองว่าเราเป็นคนเบิกทางให้กับเขา” คุณชญาธิสาบอก 

แต่ความหวังของผู้หญิงข้ามเพศก็สูญสลายไป เมื่อสายการบิน PC Air ประกาศหยุดดำเนินการด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ คุณชญาธิสาบอกว่า นั่นเป็นเรื่องที่เธอเสียใจมากที่สุด เพราะไม่เพียงต้องสูญเสียงานในฝันของเธอไป แต่ความฝันของผู้หญิงข้ามเพศคนอื่นก็ต้องจบลงด้วย แม้เธอจะหวังว่าสายการบินอื่นอาจเปิดโอกาสให้ผู้หญิงข้ามเพศได้เข้ามาทำงานตรงนี้อีกครั้ง แต่จวบจนทุกวันนี้ ก็ยังไม่มีสายการบินไหนของประเทศไทยที่เปิดรับแอร์โฮสเตสผู้หญิงข้ามเพศ ซึ่งคุณชญาธิสาก็ได้แสดงความคิดเห็นว่าข้อจำกัดที่ทำให้ผู้หญิงข้ามเพศไม่สามารถทำงานนี้ได้ ก็คือการเดินทางเข้าออกประเทศที่ต้องแสดงหนังสือเดินทางและคำนำหน้าของพวกเธอยังเป็น “นาย” 

 “คำนำหน้านาม” อุปสรรคใหญ่ของคนข้ามเพศ

“สำหรับนันคิดว่าสังคมไทยเปิดโอกาสให้เรามากพอสมควร แต่ก็ยังไม่ได้เปิดกว้างมากที่สุดที่จะยอมรับเราจริง ๆ ที่หนักมากที่สุดก็คือเรื่องคำนำหน้านาม ซึ่งนันก็เคยเจอปัญหา เพราะวันนั้นเป็นไฟลท์ที่เป็นแอร์โฮสเตสหมด ไม่มีสจ๊วตเลย แล้วในรายชื่อลูกเรือมันมี “มิสเตอร์” อยู่สามคน ซึ่งกราวด์ก็ต้องเข้ามาถามว่าทำไมถึงเป็นแบบนี้ เราก็ต้องอธิบายให้เขาฟัง แสดงใบรับรองแพทย์ว่ามีการแปลงเพศอะไรแบบนี้ รู้สึกอายนะคะ เพราะเขาพูดว่า จริง ๆ แล้วเขาดูไม่รู้หรอกว่าเราเป็นใคร คือเรารู้สึกเหมือนเป็นตัวปัญหา แล้วจะทำไฟลท์กลับได้ไหม มันมีความรู้สึกหลายอย่าง” คุณชญาธิสาเล่าประสบการณ์ 

คำนำหน้านามไม่ใช่แค่คำที่บ่งบอกเพศ วัย และสถานะของคนในสังคมเท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่กำหนดสิทธิและการเข้าถึงสวัสดิการต่าง ๆ ในฐานะของพลเมืองประเทศ ซึ่งคำนำหน้านามได้สร้างปัญหาให้กับคนข้ามเพศทั้งในทางวัฒนธรรมและทางกฎหมาย และส่งผลให้เกิดการเลือกปฏิบัติกับกลุ่มคนข้ามเพศ นั่นทำให้เกิดการออกมาเรียกร้องของคนข้ามเพศที่ต้องการจะมีชีวิตที่ดีกว่าและลบล้างอคติมายาคติออกไป แต่การเรียกร้องก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ เพราะทัศนคติของสังคม 

“จริง ๆ แล้วเรายอมหมดนะคะ เป็นนางสาว จุด ก็ได้ แต่ขอให้มีคำว่านางสาว คือเราหวังกันมานานมาก เราต้องการแค่สิ่งนี้ เพราะถ้าเราสามารถเปลี่ยนได้ ทุกอย่างจะกลายเป็นเรื่องปกติ แต่มันก็มีคนบางกลุ่มที่ออกมาต่อต้านว่าถ้าเราไปหลอกแต่งงาน หรือใช้เอกสารเหล่านั้นในทางที่ไม่ชอบ คือถ้ามันยังไม่เกิดขึ้น ยังไงทุกคนก็มองว่าเป็นปัญหา แต่อยากให้เข้าใจว่าปัญหาของเรามันมีมากกว่าแค่การแต่งงาน เพราะมันคือเรื่องของการทำงาน การเดินทางเข้าประเทศ เราอยากให้มองมุมกว้างมากกว่า ไม่ใช่แค่ว่าเรื่องเราเปลี่ยนแล้ว เราจะเอาไปหลอกลวงใคร หลอกเงินใครมาแต่งงาน ไม่ใช่เรื่องแค่นั้น” คุณชญาธิสากล่าว 

ความฝันครั้งใหม่ 

แม้ความฝันการเป็นแอร์โฮสเตสจะต้องพับเก็บไปเพราะสายการบินปิดตัวลง แต่คุณชญาธิสาก็ยังหวังว่าสักวันหนึ่ง เธอจะมีโอกาสได้ติดปีกและทำงานบนเครื่องบินอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ชีวิตยังต้องดำเนินต่อไป คุณชญาธิสาจึงขอเป็นตัวแทนของผู้หญิงข้ามเพศคนอื่นอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ไม่ใช่ในฐานะแอร์โฮสเตส แต่ในฐานะผู้ประกวด Miss T-Star Thailand 2020 ที่เธอมองว่าจะเป็นอีกหนึ่งกระบอกเสียงที่เธอจะได้ใช้เพื่อบอกคนในสังคมว่าคนข้ามเพศยังถูกเลือกปฏิบัติอีกมาก 

“นันไม่ได้มองแค่การอยู่ในประเทศไทย แต่มองว่าถ้าเราชนะ เราอยากเป็นคนที่ไปกระจายให้คนทั่วโลกทราบว่า ตอนนี้มีการกดขี่ข่มเหงคนข้ามเพศอยู่ ในบางประเทศมีการออกกฎหมายรุนแรง มีการกระทำชำเรา มีการใช้ความรุนแรงกับคนข้ามเพศ นันอยากทำให้ทัศนคติของทุกคนเปลี่ยนไปและยอมรับพวกเรามากขึ้น เพราะเราเป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง เราไม่สามารถสื่อให้ทุกคนได้รับรู้ ดังนั้น การได้ตำแหน่งก็จะช่วยให้เราได้เป็นตัวแทน และเราสามารถช่วยได้มากขึ้น เพราะทั่วโลกยังต้องการความช่วยเหลือเรื่องนี้อีกเยอะ” คุณชญาธิสาทิ้งท้าย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook