เลี้ยงเด็กหลายมาตรฐานในบ้านเดียว ปล่อยปละจะ...เสียใจ (เตือนแล้วนะ)

เลี้ยงเด็กหลายมาตรฐานในบ้านเดียว ปล่อยปละจะ...เสียใจ (เตือนแล้วนะ)

เลี้ยงเด็กหลายมาตรฐานในบ้านเดียว ปล่อยปละจะ...เสียใจ (เตือนแล้วนะ)
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Q. ดิฉันกับคุณแม่สามี มักจะตามใจและเคร่งครัดกับลูกคนละเรื่องค่ะ เช่น "เรื่องกิน" แม่สามีตามใจ เลือกกินได้ รวมถึงเรื่องกินไม่เป็นเวลาก็ได้ แต่ดิฉันอยากฝึก พอ"เรื่องเล่น" ลูกจะเลอะเทอะ หยิบข้าวของในบ้านมาเล่น ดิฉันปล่อย (แต่เขาต้องเก็บ) แต่แม่สามีไม่ชอบสกปรก วุ่นวาย จึงไม่ยอม "เรื่องนอนดึก" "ดูทีวี" ดิฉันอยากให้เป็นเวลา แต่แม่สามีบอกว่าเด็กๆ จะกะเกณฑ์อะไรมาก พอคุยปรับกัน ก็ไปกันได้อยู่พักหนึ่ง แล้วก็เป็นอีก ทำอย่างไรดีคะ เหนื่อยเหลือเกิน

คำถามนี้มีประเด็นสำคัญ 3 เรื่อง เรื่องที่ 1 เราควรยอมลูกมากน้อยเพียงไร เรื่องที่ 2 เราควรจัดการสมาชิกอื่นของครอบครัวขยายอย่างไร เรื่องที่ 3 เราควรปล่อยเลยตามเลยหรือไม่

เรื่องที่ 1 เราควรยอมลูกมากน้อยเพียงไร เรื่องนี้ขอให้คุณพ่อคุณแม่เตือนตนเองเสมอว่า เด็กทุกคนกำลังสนุกสนานกับความสามารถที่เขามี นั่นคือเดินได้ หยิบได้ พูดได้ สนุกกว่านี้คือปฏิเสธและขัดขืนได้ด้วย ทั้งด้วยวาจาและการกระทำ เมื่อเขากำลังมีความสามารถใหม่ๆ เกิดขึ้นทุกวันหรือทุกเดือน เป็นธรรมดาและเป็นธรรมชาติที่เขาจะต้องทดลองหรือทดสอบความสามารถที่เขามี เช่น ขอกินข้าวเฉพาะเมื่ออยากกินและกินที่ไหนก็ได้ ขอเล่นเลอะเทอะแล้วไม่เก็บ ขอดูทีวีกี่โมงก็ได้นานเท่าไรก็ได้ หากเขาทดสอบแล้วพบว่าทั้งหมดนี้ทำได้ก็แปลว่าบ้านของคุณอนุมัติหรือส่งสัญญาณว่าให้เขาทำได้ แต่ถ้าเขาทำไม่ได้ เขาก็จะได้เรียนรู้ว่าทำไมได้ เท่านี้เองครับ

ดังนั้น ผมไม่อาจหาญตอบแทนทุกบ้านว่าคิดอย่างไรเกี่ยวกับระเบียบปฏิบัติหรือวินัยแต่ละข้อ (อย่าลืมคำถามยากที่สุดตอนนี้นะครับ จะให้เด็กเล็กใช้สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตเมื่อไร) ดังที่เรียนให้ทราบเสมอว่าโลกสมัยใหม่มีตัวแปรมากมายจนกระทั่งผู้เชี่ยวชาญก็ไม่ควรรีบตอบคำถามว่าอะไรควรอะไรไม่ควรโดยง่าย ที่ผมแนะนำเสมอคือ คุยกับคู่สมรสให้บ่อยๆว่า ควรทำอย่างไร จากนั้นจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตก็ทำสักอย่าง แต่ขอให้ทำด้วยความมั่นคง เอาจริง สม่ำเสมอ จนกระทั่งเด็กเรียนรู้ได้ว่า "พวกคุณ" จะเอาอย่างไร

ข้อ 2 เราควรจัดการสมาชิกอื่นในครอบครัวขยายอย่างไร ต่อเนื่องจากข้อแรก หากบ้านเรามีแค่พ่อและแม่ซึ่งควรจะง่าย (แต่หลายบ้านก็ยังอุตส่าห์ไม่ง่าย) แต่ถ้ามีคนอื่น เช่น ปู่ ย่า ตา ยาย หากต่างคนต่างออกระเบียบปฏิบัติและวินัยคนละทิศคนละทาง เด็กย่อมเรียนรู้ได้ยากว่า "พวกคุณ" จะเอาอย่างไร แย่กว่านี้คือเด็กฉลาด (ซึ่งน่าปลื้มใจ) มักจะเรียนรู้วิธีที่จะใช้ความเห็นต่างของแต่ละคนเป็นเครื่องมือ ย้อนกลับไปข้อแรก อย่าลืมว่าเขาเพียงต้องการทดสอบว่าพวกคุณจะเอาอย่างไร ดังนั้นพวกเราก็ควรคุยกันให้เรียบร้อย เรียนปู่ย่าตายายให้ชัดๆ ว่าลูกเป็นของเรา ดังนั้นจำเป็นมากที่ลูกต้องรู้ว่าบ้านหลังนี้ใครเป็นซีอีโอในเรื่องการดูแลเขา พ่อแม่ที่ชาญฉลาดย่อมต้องแสดงจุดยืนของตนให้บุพการีรับทราบอย่างนุ่มนวลแต่เอาจริงว่าวินัยในการกิน การเล่น และการดูโทรทัศน์เป็นเราคือผู้กำหนด ปู่ย่าตายายรักหลานและจะช่วยหลานได้มากในเรื่องอื่นๆ ด้วยวิธีนี้เด็กจะเรียนรู้ว่าต้องฟังใครและเรียนรู้ด้วยว่าทุกคนรักเขาในวิธีของแต่ละคน

ข้อ 3 เราไม่ควรปล่อยเลยตามเลยอย่างแน่นอน วินัยในการกินอาหารตามเวลาภายในเวลาที่กำหนด วินัยในการเล่นของเล่นแล้วเก็บกวาดให้เรียบร้อยไม่ว่าจะในบ้านหรือนอกบ้าน วินัยในการดูทีวีตามเวลาและจำกัดระยะเวลาที่เหมาะสม เหล่านี้คือพื้นฐานของการสร้าง "ตัวตน" คือ self และเป็นจุดเริ่มต้นของ "การควบคุมตนเองจากภายใน" คือ internal control หากทำสำเร็จแล้วเด็กจะมีตัวตนที่ชัด ภาคภูมิใจที่จัดการตนเองได้ และสามารถควบคุมตนเองในการไม่ขับรถเร็ว ไม่ใช้ยาเสพติด หรือระมัดระวังในการมีเพศสัมพันธ์ในอนาคต ฯลฯ

ขอบคุณภาพประกอบจาก photos.com

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook