ไม่อยากหน้าเยินก่อนวัย หลีกให้ไกลบุหรี่

ไม่อยากหน้าเยินก่อนวัย หลีกให้ไกลบุหรี่

ไม่อยากหน้าเยินก่อนวัย หลีกให้ไกลบุหรี่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

พิษภัยของบุหรี่ที่มีต่อปอดนั้น เราคงได้ยินกันบ่อยจนเบื่อแล้ว แต่พิษภัยของบุหรี่ที่ส่งผลให้หน้าเยินจนเหี่ยวล้ำหน้าเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันได้ อาจยังไม่ค่อยมีใครกล่าวถึงในรายละเอียดเท่าใดนัก ทั้งที่จริงๆแล้วสำหรับสาวๆบางคน ความเหี่ยว อาจฟังดูน่ากลัวยิ่งกว่าคำว่า มะเร็ง ด้วยซ้ำ!?

คนที่สูบบุหรี่มาเป็นเวลานาน จะมีการเปลี่ยนแปลงของใบหน้าไปในแนวทางเดียวกัน รวมเรียกว่า แก่แบบ Smoker's face โดยมีลักษณะคือ ถุงใต้ตามักจะหย่อนคล้อยชัด รอยย่นที่หางตาหรือตีนกา มักจะยาวและลึกมากกว่าคนที่ไม่สูบ เพราะคอลลาเจนและอิลาสตินที่ช่วยพยุงผิวรอบดวงตาเสื่อมสภาพ จากการทำลายของสารเคมีกว่า 4,000 ชนิดในบุหรี่ อนุมูลอิสระยังส่งผลทำลายเลนส์ตา เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดต้อกระจก

ส่วนสีผิวของคนสูบบุหรี่ มักออกโทนเหลืองและไม่เรียบเนียน เป็นผลจากการทำลายของอนุมูลอิสระ รอบๆริมฝีปากมักมีรอยเหี่ยวย่น อันเกิดจากการใช้กล้ามเนื้อรอบปากดูดควันบุหรี่ ยิ่งใช้มากร่องลึกก็จะยิ่งปรากฏชัด ถัดจากปากเข้ามาถึงฟัน แน่นอนว่าผู้ที่สูบบุหรี่มักมีฟันดำ และยังมักมีปัญหาโรคเหงือกรวมถึงกลิ่นปากอีกด้วย นอกจากผิวแล้ว ผมก็ถูกกระทบด้วย เพราะมีงานวิจัยจากไต้หวันที่พบว่า การสูบบุหรี่เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผมร่วงก่อนวัยในผู้ชายชาวเอเชีย

นอกจากหน้าเหี่ยว ฟันดำ ตาฝ้าฟาง และหัวล้านแล้ว ยังพบว่า ในสาวนักสูบ มักมีเต้านมและต้นแขนที่หย่อนคล้อยมากกว่าสาวที่ไม่สูบ ซึ่งน่าจะอธิบายได้จากการเสื่อมสภาพของคอลลาเจนและอิลาสตินเช่นกัน สรุปว่าการสูบบุหรี่นั้น ส่งผลให้เหี่ยวและหย่อนยานหมดสวยกันตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้าเลยทีเดียว

การสูบบุหรี่นอกจากจะกระทบกับตัวคนสูบเอง ซึ่งถือเป็นบุหรี่มือหนึ่งแล้ว ยังมีผลกระทบชิ่งไปยังคนรอบข้างที่ต้องนั่งทนสูดควันพิษไปด้วย หรือที่เรียกกันว่า บุหรี่มือสอง และแม้จะไม่ได้สูบกันต่อหน้าต่อตา แต่มีควันพิษติดมาในรถ ในบ้าน ติดมากับผม เล็บ หรือเสื้อผ้า ก็ถือเป็นการส่งผ่านสารพิษให้คนรอบข้าง จัดเป็นบุหรี่มือสามได้

การแก้ไขภาวะเยินก่อนวัยอันเกิดจากภัยบุหรี่นั้น ข้อแรกและข้อที่สำคัญที่สุดคือ เลิกบุหรี่ ซึ่งจะส่งผลดีทั้งภายในและภายนอกกับตัวเองและผู้คนรอบข้าง ข้อถัดมาคือการดูแลแก้ไขผลร้ายที่เกิดขึ้นกับผิวพรรณบุคลิกภาพ โดยอาจแบ่งการดูแลได้เป็นหมวดหมู่ดังนี้

การดูแลผิวจากภายนอก
การดูแลผิวพื้นฐานที่คุณสามารถทำได้ด้วยตัวเองคือ การทาครีมกันแดดสม่ำเสมอทุกวัน เพราะรังสียูวีก็เป็นอีกตัวการสำคัญหนึ่งที่ก่อให้เกิดอนุมูลอิสระสะสม ในผู้ที่สูบบุหรี่ ควรเน้นการทาครีมบำรุงที่มีส่วนผสมของสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น Ascorbic acid, Gamma tocopherol รวมถึงส่วนผสมที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ เช่น Green tea extract เป็นต้น

ในหนุ่มสาวนักสูบที่ผิวผ่านการทำลายมามากแล้ว อาจต้องพึ่งพาเทคโนโลยีทางการแพทย์ในการรักษาปัญหาผิวที่เกิดขึ้น โดยการเลือกใช้วิธีใดนั้น ขึ้นกับความรุนแรงของปัญหาผิว ในรายที่รุนแรงไม่มาก อาจใช้เพียงการผลัดเซลล์ผิวด้วยกรดไกลโคลิก ควบคู่กับการทายาที่มีส่วนผสมของสารต้านอนุมูลอิสระเข้มข้น ในรายที่รุนแรงปานกลาง อาจเลือกใช้เป็นแสงความเข้มสูงหรือเลเซอร์ที่ช่วยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนโดยไม่ทำให้เกิดแผล แต่ในรายที่มีริ้วรอยมาก สีผิวไม่สม่ำเสมอและหมองคล้ำ อาจต้องใช้เป็นกลุ่มเลเซอร์ผลัดเซลล์ผิวแบบแยกส่วนเพื่อปรับสภาพผิวหน้า รักษาริ้วรอยยับๆรอบดวงตาและปาก และในรายที่มีการหย่อนคล้อยของถุงใต้ตาและใบหน้า อาจต้องพึ่งเทคโนโลยีกลุ่มใหม่คือ คลื่นเสียงความถี่สูงที่มีความจำเพาะเจาะจงเพื่อยกกระชับผิวหน้า

การดูแลริมฝีปากและฟัน
สำหรับริมฝีปากและเหงือกที่คล้ำจากการสูบบุหรี่ ปัจจุบันมีการใช้เลเซอร์ที่มีความจำเพาะเจาะจงต่อเม็ดสี ในการรักษาให้หายคล้ำได้ แต่ที่สำคัญคือ ต้องหยุดสูบให้ได้ก่อน มิเช่นนั้นการรักษาทั้งหมดก็เปรียบได้กับการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ส่วนในเรื่องของสีฟัน ควรปรึกษาทันตแพทย์เพื่อฟอกสีฟันด้วยน้ำยาเข้มข้น ร่วมกับการฉายแสง เช่น hot light, cool light, laser แล้วแต่ความเหมาะสม

การดูแลจากภายใน
ในผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ หากมาตรวจเลือดในแบบเวชศาสตร์ชะลอวัย มักพบระดับอนุมูลอิสระในเลือดที่สูงเกินเกณฑ์ และมีระดับวิตามินซีต่ำกว่าผู้ที่ไม่สูบ ระดับอนุมูลอิสระที่มากขึ้นนี้ เป็นปัจจัยเร่งจากภายในที่ส่งผลให้แก่เกินวัย และยังเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคต่างๆที่สัมพันธ์กับอนุมูลอิสระ เช่น อัลไซเมอร์ จอประสาทตาเสื่อม พาร์คินสัน รวมถึงมะเร็งต่างๆด้วย

ผู้ที่สูบบุหรี่จึงต้องให้ความสำคัญกับการรับประทานอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูงเป็นพิเศษ โดยเฉพาะวิตามินซี ซึ่งพบมากในพริกหยวก ฝรั่ง ผลไม้กลุ่มเบอรี่ บร็อคโคลี่ กีวี่ ส้ม แคนตาลูป กะหล่ำดาว โดยควรรับประทานผักผลไม้ให้ได้อย่างน้อย 5 กำมือต่อวัน สำหรับการรับประทานวิตามินเสริมนั้น ควรปรึกษาแพทย์ถึงความจำเป็นก่อน เพราะมีการศึกษาพบว่าวิตามินบางชนิด เช่น วิตามินเอ แทนที่จะมีประโยชน์ กลับมีโทษส่งผลเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งปอดในผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำได้

ดูแลทั้งภายนอกและภายในแล้ว อย่าลืมดูแลจิตใจให้เข้มแข็ง หย่าขาดจากบุหรี่ให้ได้นะคะ ยิ่งเลิกได้เร็วเท่าไร ก็จะยิ่งส่งผลดีต่อสุขภาพเร็วขึ้นเท่านั้น

ขอบคุณข้อมูลจาก Samitivej Hospitals

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook