เตรียมลูกไปโรงเรียนอย่างไร ให้มั่นใจหายห่วง
คำที่ถูกค้นบ่อย
    Sanook//s.isanook.com/sr/0/images/logo-new-sanook.png60060
    //s.isanook.com/wo/0/ud/33/165473/b.jpgเตรียมลูกไปโรงเรียนอย่างไร ให้มั่นใจหายห่วง

    เตรียมลูกไปโรงเรียนอย่างไร ให้มั่นใจหายห่วง

    2020-07-04T08:00:00+07:00
    แชร์เรื่องนี้

    ในช่วงนี้เด็กๆ เริ่มจะเปิดเทอมกันแล้ว แต่ยังมีบางโรงเรียนยังไม่เปิด หรือลูกๆ บางบ้านยังไม่ถึงเกณฑ์เข้าโรงเรียน Sanook! Women มีคำแนะนำจากคุณหมอโอ๋-จิราภรณ์ อรุณากูร เจ้าของเพจ เลี้ยงลูกนอกบ้าน ที่มาแนะนำเรื่องที่คุณพ่อ คุณแม่ทุกบ้านต้องรู้ เกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมก่อนลูกไปโรงเรียนกันค่ะ

    คุณหมอโอ๋ แนะนำไว้ว่า "หน้าที่สำคัญที่ทำให้การไปโรงเรียนของลูกเป็นเรื่องง่าย คือการ "เตรียมลูกไปโรงเรียน" ซึ่งเอาจริงๆ ก็ไม่ควรเตรียมเมื่อลูกจะเข้าโรงเรียนพรุ่งนี้ แต่หลายอย่างจะให้ดีควรเตรียมไว้ก่อนหน้า หมอมีข้อแนะนำดังนี้นะคะ...."



    1. ฝึกให้ลูกช่วยเหลือตัวเองให้มากๆ
    เด็กบางคนอยู่บ้านเหมือนเจ้าหญิงเจ้าชาย มีคนรับใช้คอยเอาใจซ้ายขวา ไปโรงเรียนที่ต้องช่วยตัวเองมากขึ้น เด็กหลายคนก็พบว่าโรงเรียนนี่ไม่น่าอภิรมย์

    พ่อแม่ควรฝึกให้ลูกช่วยเหลือตัวเอง กินข้าว เข้าห้องน้ำ ใส่รองเท้า ลากกระเป๋า บอกฉี่อึได้ ฯลฯ เพื่อให้ลูกไม่ต้องรู้สึกพึ่งพาใครมากมาย ที่สำคัญความรู้สึกว่า "ฉันทำได้" มันช่างมีความหมายและเป็นพลังใจในการไปโรงเรียน


    2. อย่าทำให้บ้านเป็นสวรรค์ (มากไปนัก)
    เด็กบางคนที่บ้านเหมือนร้านของเล่น มีทุกอย่างที่อยากได้ในโลกนี้ การไปโรงเรียนที่บางทีความรื่นรมย์มันน้อยกว่า จึงเป็นเรื่องไม่น่าสนุก "ให้แต่พอดี" คือหน้าที่ของพ่อแม่


    3. วินัย "เริ่มในบ้าน"
    โรงเรียนเป็นที่ๆ มีวินัย เด็กๆ ที่อยู่บ้านแบบจะทำอะไรก็ทำได้ รื้อของไม่ต้องเก็บ กินข้าวมีคนตามป้อน อยากเล่นอยากกินเมื่อไหร่ก็ "ตามสบายเลยนะลูก" เด็กเหล่านี้มักปรับตัวไม่ง่ายเมื่อไปโรงเรียน


    4. อย่าหลอกจนลูกกลัว "คนแปลกหน้า"
    "เดี๋ยวใครมาจับตัวไปนะ" "เดี๋ยวเค้ามาเอาไป ไม่ได้เจอแม่เลย" การขู่เด็กด้วยคำพูดเหล่านี้เป็นการสร้างความรู้สึกหวาดกลัว ไม่ปลอดภัยเวลาอยู่กับใครที่ไม่ใช่พ่อแม่ การระแวง ไม่ไว้ใจใคร หลายครั้งก็เป็นที่มาของการปรับตัวไม่ได้ในโรงเรียน


    5. สร้างความ "นับถือตัวเอง" ให้ลูกอยู่เสมอ
    เด็กที่คิดว่าตัวเองจะเอาชนะอะไรได้สักอย่าง ความนับถือตัวเองช่างมีความหมาย...."ไม่ได้เชื่อมั่นว่าฉันทำได้ดีแน่ แต่เชื่อมั่นว่าฉันจะทำมันได้ดีขึ้น" ที่สำคัญการรู้ตัวว่าตัวเองเป็นที่รักและมีความหมายกับพ่อแม่ จะทำให้ลูกรู้สึกปลอดภัย ว่าจะไม่ถูกทอดทิ้งไว้ เมื่อต้องห่างไกลไปโรงเรียน


    6. ทำให้โรงเรียนเป็นภาพบวก
    หานิทานเรื่องโรงเรียนแสนสนุกมาเล่าบ่อยๆ ให้ลูกดูภาพเด็กๆ ไปโรงเรียน พาลูกไปดูโรงเรียนเป็นระยะ จะช่วยบิ๊วลูกได้มากๆ อย่าเอาครูมาขู่ลูก "ฉี่ราดเดี๋ยวครูดุนะ" "กินข้าวหกไปโรงเรียนเดี๋ยวครูว่าเอา" "ดื้ออย่างนี้เดี๋ยวแม่ให้ครูตีเลย" ครูและโรงเรียนควรมีภาพดีๆไว้ในใจของลูก


    7. พ่อแม่ต้องเชื่อถือได้
    พ่อแม่ที่ชอบหลอกไปเรื่อย ทำให้ลูกไม่เชื่อถือคำพูด เวลาลูกถูกทิ้งไว้ ก็จะอยู่กับความระแวงไม่แน่ใจ ว่าพ่อแม่เชื่อได้รึเปล่า จง "พูดความจริงกับลูกอยู่เสมอ" แม่จะมารับเวลานี้ “และมาจริง” (เผื่อเวลาฝ่ารถติด หรือลางานไว้ในวันแรกๆ)


    8. ฝึกลูกให้นั่งคาร์ซีท
    บอกเลยว่าการไปรับส่งลูกได้โดยใช้คนๆ เดียว ก็เหนื่อยน้อยกว่าต้องขนกันไปทั้งบ้าน (มีผลกับตอนพรากจากที่ง่ายกว่าด้วย)


    9. อันนี้เพิ่มเติมให้ทันยุคสมัย เตรียมความเข้าใจเรื่องโควิด (ตามความเป็นจริง) ฝึกใส่หน้ากาก ล้างมือ หาเจลแอลกอฮอล์ให้ติดไป “แต่ไม่ขู่ลูกให้หวาดกลัว” (เด็กไปโรงเรียนแบบระแวงไปหมดนี่ไม่สนุกเลยเชื่อเถอะ)


    10. เตรียมใจเรา...เข้าใจลูก
    ใจของพ่อแม่ช่างมีความหมายต่อ "พลังใจของลูก" พ่อแม่ที่เชื่อว่าลูกทำได้ ทำอะไรให้เป็นเรื่องชิวๆ ไม่ร้อนรนกระวนกระวาย ลูกจะจับสัญญาณได้และสงบตาม ให้พื้นที่หายใจให้กับลูกแบบที่แสดงความเข้าใจในสิ่งที่ลูกต้องเผชิญ


    เชื่อหมอค่ะ "ลูกทำได้...แค่ใจเราเชื่อ" 

    #หมอโอ๋เพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน