5 ขวบยังไม่อิ่มดูดนิ้ว ทำอย่างไรถึงอิ่ม

5 ขวบยังไม่อิ่มดูดนิ้ว ทำอย่างไรถึงอิ่ม

5 ขวบยังไม่อิ่มดูดนิ้ว ทำอย่างไรถึงอิ่ม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เรื่อง : นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์ แผนกจิตเวช โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์


Q. ลูกอายุ 5 ขวบแล้ว ยังดูดนิ้วไม่เลิก มีอะไรผิดปกติหรือไม่ ทำอย่างไรดีครับ

เป็นไปได้ว่านักจิตวิทยาสมัยใหม่อาจจะให้คำตอบไม่เหมือนผม หากอ่านคำตอบแล้วไม่ถูกใจก็หาหนังสือเล่มอื่นอ่านต่อนะครับ ผมจะชวนคุยเรื่องการจัดการต้นเหตุและการแก้ปัญหาที่ปลายทาง

เด็กดูดนิ้วมีความหมายว่ายังไม่อิ่มกับการดูด ในทางจิตวิเคราะห์นี่เป็นสัจพจน์เหมือนกับสัจพจน์ในวิชาเรขาคณิต เด็กยังไม่อิ่มกับการดูดก็จะหาอะไรดูดต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะอิ่ม

พอเด็กอายุเริ่มมากขึ้น หลายคนไม่ใช้การดูดในการตอบสนองความสุขของตนเองอีกแล้ว แต่ยังคงใช้วิธีที่กระทำกับร่างกายอยู่ดี เช่น กัดเล็บ ดึงผม หรือเล่นอวัยวะเพศตนเอง เป็นต้น รูปแบบพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปสะท้อนว่า ตอนนี้เด็กไม่เพียงดูดยังไม่อิ่ม แต่เริ่มไม่มั่นใจในการมีอยู่ของตนเอง ไม่มั่นใจในความมีอยู่ของพ่อแม่ ไม่มั่นใจว่าจะถูกทิ้งวันไหน ไม่มั่นใจว่าตนเองยังมีคุณค่าพอ ฯลฯ


มองในแง่ดี หากเด็กยังแค่ดูดนิ้วแปลว่าเขาก็ยังเพียงแค่ดูดไม่อิ่ม อย่างอื่นๆ ไม่มีอะไรเสียหายมากนัก วิธีแก้ไขคือไปช่วยทำให้เขาอิ่ม

ดูดนิ้วเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการในขวบปีที่ 1 ของทารกอยู่แล้ว นั่นคือใช้การดูด (Sucking) สำรวจและสร้างสัมพันธ์กับโลก เด็กที่ดูดนมพอเพียงจะด้วยจากเต้านมแม่จริงๆ หรือจากหัวนมขวดโดยมีคุณแม่อุ้มอย่างเพียงพอก็จะอิ่ม เมื่ออิ่มก็เลิกดูดอย่างอื่นเอาเวลาไปพัฒนาด้านอื่นดีกว่า แต่ถ้าเขาไม่อิ่มก็แปลว่าไม่อิ่ม เขาจึงส่งสัญญาณว่าจะเอาอีก

ปัญหาคือเขาโตขึ้นเรื่อยๆ เราจะมาป้อนนมให้ดูดเหมือนเดิมก็ไม่ได้อีกแล้ว รูปแบบของการเลี้ยงดูจึงต้องเปลี่ยนไปเป็นการให้เวลาที่มากขึ้นและอาจจะมากกว่าเด็กคนอื่นๆ เพื่อชดเชยความหิวที่เขามีอยู่ เล่นด้วยกันมากขึ้น ไปเที่ยวนอกบ้านด้วยกันมากขึ้น กอดกันให้มากขึ้น กินข้าวด้วยกันมากขึ้น นอนด้วยกันมากขึ้น อ่านหนังสือให้ฟังบ่อยยิ่งขึ้น ฯลฯ สารพัดกิจกรรมที่นึกออกขอให้ทุ่มลงไปให้แก่เขาอย่างมากมาย ถล่มทลายและไม่มีเงื่อนไข

ถ้าบ้านไหนตอบว่าทำหมดแล้วเขาก็ยังดูดนิ้ว ผมก็จะตอบว่าทำหมดแล้วก็จริงแต่ยังไม่พอ กลับไปทำใหม่ให้มากกว่าเดิม ถ้าบ้านไหนตอบว่าให้เวลาเขามากมายจนแทบไม่มีเวลาส่วนตัวแล้ว ผมก็จะตอบว่ายังมีเวลาส่วนตัวเหลือนิดหน่อยนั่นแปลว่ายังให้เวลาแก่เขามากกว่าเดิมได้อีก

ที่เล่ามาเป็นการแก้ไขที่ต้นเหตุ แน่นอนว่าทำยากแน่ๆ แต่ต้องทำให้ได้

ต่อไปเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าหรือปลายเหตุ นักจิตวิทยาบางสำนักพอใจเพียงให้แก้ปลายเหตุเท่านี้อย่าไปสนใจต้นเหตุให้มากนัก วิธีการก็เป็นอย่างที่พ่อแม่สมัยใหม่ส่วนใหญ่ทราบดีอยู่แล้วนั่นคือ "เบี่ยงเบนความสนใจ" กล่าวคือพอเขาดูด

1. เราก็เข้าไปเอาออก
2. แล้วพาออกจากบริเวณนั้น
3. พาไปทำอย่างอื่น พอเขาดูดอีก
4.เราก็เข้าไปเอาออกอีก
5. แล้วพาออกจากบริเวณนั้นอีก
6.ไปทำอย่างอื่นอีก

อันที่จริงผมจะ Copy และ Paste วิธีนี้ไปเรื่อยจนหมดหน้ากระดาษก็ได้นะครับ ก็จะได้ผลสักวัน

ปัญหาของพ่อแม่มีข้อเดียว "ไม่ว่าง"

ขอบคุณภาพประกอบ : http://www.photos.com/

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook