วิธีดูแลสุขภาพขณะตั้งครรภ์ เมื่อต้องเผชิญภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ

วิธีดูแลสุขภาพขณะตั้งครรภ์ เมื่อต้องเผชิญภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ

วิธีดูแลสุขภาพขณะตั้งครรภ์ เมื่อต้องเผชิญภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติที่เกิดขึ้นกับคุณแม่ตั้งครรภ์นั้น ถือเป็นเรื่องที่ค่อนข้างสร้างความกังวลใจกับคุณแม่ตั้งครรภ์ไม่น้อยเลยทีเดียว วันนี้เราจึงขอนำสิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับโรคไทรอยด์ พร้อมทั้งอาการและวิธีการรักษามาแบ่งปันให้คุณแม่ได้ทราบกันค่ะ เพื่อที่คุณแม่ตั้งครรภ์จะสามารถรับมือกับอาการและการดูแลเมื่อเผชิญกับโรคชนิดนี้ได้อย่างดี


คุณแม่ตั้งครรภ์กับต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ
สำหรับผู้หญิงที่เป็นโรคไทรอยด์แต่เดิมหรืออาจจะเคยมีภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกตินั้น ย่อมมีความกังวลว่าอาการอาจจะกำเริบเมื่อตั้งครรภ์ หรืออาจจะทำให้เกิดผลกระทบต่อลูกน้อยในครรภ์ได้ ซึ่งในช่วงที่ผู้หญิงตั้งครรภ์นั้น ต่อมไทรอยด์จะมีขนาดที่โตขึ้นจากเดิมเพียงเล็กน้อย และอาจทำให้ระดับฮอร์โมนไทรอยด์เปลี่ยนแปลง รวมทั้งมีการเผาผลาญภายในร่างกายเพิ่มขึ้นร้อยละ 20


ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์
ในส่วนของภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์นั้นจะพบไม่บ่อยนัก เนื่องจากผู้หญิงที่มีภาวะต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนได้น้อยนั้น โดยส่วนใหญ่จะมีปัญหาเกี่ยวกับการมีบุตรยาก เพราะไข่ไม่ตกหรือไม่สมบูรณ์นั่นเอง


อาการจากภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์
ในส่วนของอาการจากภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ที่เกิดขึ้นกับคุณแม่ตั้งครรภ์ อาจมีภาวะโลหิตจาง ความดันโลหิตสูง ทารกในครรภ์เจริญเติบโตช้า รกอาจลอกตัวก่อนกำหนด มีโอกาสแท้ง และทารกอาจเสียขณะคลอดสูงมาก หากไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสม


การดูแลรักษาจากภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์
สำหรับวิธีการดูแลรักษาคุณแม่ตั้งครรภ์ที่เผชิญกับภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์คือการรับการรักษาจากสูติแพทย์ และรับการตรวจพร้อมติดตามโดยอายุรแพทย์โรคต่อมไร้ท่อ พร้อมทั้งการทานยา จำเป็นต้องตรวจครรภ์อย่างสม่ำเสมอ และควรได้รับการตรวจอัลตราซาวด์เพื่อติดตามการเจริญเติบโตของลูกในครรภ์เป็นระยะๆ


ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากผิดปกติ
ต่อมไทรอยด์ทำงานมากผิดปกติจะส่งผลทำให้มีอาการคอพอกเป็นพิษ และอาจพบร่วมกับครรภ์ไข่ปลาอุกหรือเป็นโรคเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย ซึ่งคุณแม่จะทราบผลว่าตัวเองเผชิญกับภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากผิดปกติจากการตรวจเลือด พร้อมทั้งการสังเกตอาการจากน้ำหนักที่ลดลง ขี้ร้อน ผิวอุ่น ใจสั่น และชีพจรเต้นเร็วกว่าปกติ ในช่วงตั้งครรภ์นั้นฮอร์โมนและระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายจะเปลี่ยนแปลง จึงทำให้ไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์เกิดการกำเริบของโรคได้ และจะดีขึ้นเมื่อเข้าสู่ไตรมาสที่ 2 และ 3 แต่หากคุณแม่ตั้งครรภ์ควบคุมโรคไม่ดีพอ ก็อาจจะทำให้เกิดอาการกำเริบในช่วงหลังคลอดได้


อาการจากภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากผิดปกติ
อาการที่เกิดจากภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากผิดปกตินั้น อาจทำให้เกิดความดันโลหิตสูง ทารกเจริญเติบโตได้ช้า รกลอกก่อนกำหนด มีโอกาสคลอดก่อนกำหนด และอาจเสี่ยงต่อการแท้งได้


การดูแลรักษาจากภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากผิดปกติ
ในส่วนของการดูแลรักษานั้น สูติแพทย์จะทำหน้าที่ดูแลและรักษา พร้อมทั้งรับการติดตามและตรวจโดยอายุรแพทย์โรคต่อมไร้ท่อ พร้อมทั้งการกินยาต้านไทรอยด์ และหมั่นตรวจครรภ์อย่างสม่ำเสมอ และในช่วงไตรมาสที่ 3 นั้น คุณแม่จำเป็นต้องระวังภาวะคลอดก่อนกำหนด โดยเฉพาะคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ควบคุมโรคได้ไม่ดีเท่าที่ควร


การดูแลรักษาสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ที่เผชิญกับภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์และภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากผิดปกตินั้น ควรมาพร้อมกับการเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ และหมั่นเข้ารับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สำคัญที่สุดคือการปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการทานยาและการดูแลตัวเอง เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook