คิดจะสร้างครอบครัว จะเลือกคู่ชีวิตอย่างไรดี

คิดจะสร้างครอบครัว จะเลือกคู่ชีวิตอย่างไรดี

คิดจะสร้างครอบครัว จะเลือกคู่ชีวิตอย่างไรดี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จำเป็นมากที่จะต้องใช้ความสามารถกันสุดกำลังในการเลือกคู่ครอง เพราะว่าชีวิตจะมีสุขหรือทุกข์ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราจะได้คนแบบไหนมาเป็นคู่ชีวิต เป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดของการคิดจะใช้ชีวิตคู่เลยทีเดียว Tonkit360 จึงได้หยิบยกบทความด้านสุขภาพจิตในการเลือกคู่ครองโดย ศาสตราจารย์ แพทย์หญิง นงพงา ลิ้มสุวรรณ คณะแพทย์ศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มานำเสนอ ว่า 6 วิธีเลือกคู่ครอง ให้ชีวิตรักมีความสุข สามารถพิจารณาได้จากอะไรกันบ้าง

1. ความรัก (ความถูกใจ)
ความรักเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงใจ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ทุกข์ยากลำบาก ดังนั้นคนที่เริ่มต้นจากไม่รักกันจะเสียเปรียบหรือขาดทุนไม่น้อย เพราะอย่างน้อย คนที่เริ่มจากการรักกันเขายังได้มีช่วงชีวิตที่มีความหวานชื่นอยู่ระยะเวลาหนึ่ง
แม้ภายหลังอาจจะไม่สามารถรักกันตลอดไปก็ตาม คือเข้าทำนองว่า “อกหักดีกว่ารักไม่เป็น” แต่แน่นอนว่า จะเป็นการดีที่สุดถ้ามีความรู้ความเข้าใจเรื่องชีวิตคู่ การเลือกคู่ และรู้จักวิธีรักษาความรักให้ยั่งยืน เป็นองค์ประกอบด้วยนอกจากความรู้สึกรัก


2. ลักษณะนิสัย
คู่ที่คบกันเป็นเวลาสั้น ๆ แล้วตัดสินใจแต่งงานกัน โดยไม่มีเวลาทำความรู้จักอีกคนให้ดี ๆ เสียก่อนนั้น มักจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่นำไปสู่ความทุกข์ยากต่าง ๆ ในชีวิตคู่ได้มาก หรือหลายคนทราบดีตั้งแต่ก่อนแต่งงานว่าคู่ของตนมีนิสัยไม่ดีอะไรอยู่บ้าง แต่เนื่องจากถูกใจเรื่องอื่น ๆ ของเขา จนรักเขาและเขายังให้สัญญาว่าจะไม่เป็นอย่างนั้นหลังแต่งงาน คือสัญญาว่าจะเลิกพฤติกรรม หรือนิสัยที่ไม่ดีหลังแต่งงานอย่างแน่นอน

เรื่องนี้ต้องเข้าใจไว้เลยว่าการแต่งงานไม่สามารถเปลี่ยนนิสัยของใครได้ทั้งนั้น นอกจากตัวเขาเองมุ่งมั่นจะเปลี่ยนเอง เพราะมองเห็นว่านิสัยนั้นก่อให้เกิดปัญหากับตัวเอง ดังนั้นจึงไม่ควรหวังว่าเขาจะรักษาสัญญาได้ เพราะจะผิดหวังกันเป็นส่วนใหญ่ น้อยคนนักที่จะเปลี่ยนตัวเองเพื่อคนอื่นแม้จะเป็นคนที่เขารักในตอนแรกก็ตาม ซ้ำร้ายคนที่เขารักมาเคี่ยวเข็ญให้เขาทำโน่นทำนี่โดยเขาไม่เต็มใจ นานวันไปความรักก็กลายเป็นความรำคาญ เป็นความโกรธและความชิงชังในที่สุด ทางที่ดีควรคบดูใจกันให้นานพอ ศึกษาดูนิสัยใจคอและเรื่องอื่น ๆ อย่างน้อยที่สุด คือ 1 ปี


3. ความสามารถในการเลี้ยงดูครอบครัว
เป็นเรื่องสำคัญมากที่สุดในการเลือกคู่ที่ทั้งคู่จะต้องสามารถพาครอบครัวให้มีชีวิตรอด โดยสามารถหาปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตได้เพียงพอ มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง และมีสิ่งจำเป็นพื้นฐานอื่น ๆ ในการเลี้ยงชีวิตไม่ให้ฝืดเคืองขัดสน
รวมทั้งมีความมั่นคงพอสมควรสำหรับอนาคต


4. ภูมิหลังก่อนแต่งงาน
มนุษย์นั้นกว่าจะเติบโตมาถึงวัยที่จะมีคู่ชีวิตมีครอบครัวนั้นได้ผ่านชีวิตมาหลายปีมาก ได้สั่งสมประสบการณ์ชีวิตทั้งในแง่บวกและแง่ลบ จิตใจได้ถูกหล่อหลอมจากการเลี้ยงดูของครอบครัว จากการศึกษา จากสังคมรอบตัว จนเป็นตัวเขา
ซึ่งเป็นคนหนึ่งคนที่ซับซ้อนและละเอียดอ่อน จนแม้บางครั้งเจ้าตัวเองไม่เข้าใจตัวเองก็มี

ดังนั้นจึงเกิดปัญหากับชีวิตคู่หลายคู่ที่บอกว่าอยู่ ๆ ไปยิ่งรู้สึกว่าไม่รู้จักสามีหรือภรรยาของตนเลย ราวกับเขาเป็นคนแปลกหน้า และไม่สามารถเข้าใจพฤติกรรมหรือความคิดความต้องการหรือทัศนคติของเขา ที่แสดงออกมาว่าเป็นอย่างนั้นได้อย่างไร บางครั้งทำให้รู้สึกประหลาดใจ งุนงง ผิดหวัง ตกใจ เสียใจ โกรธ และอื่น ๆ ได้อีกมาก ซึ่งคนทั่วไปมักจะพูดว่าพอแต่งงานกันแล้วก็ “ออกลาย” ให้เห็น ที่จริงเขามีลายอยู่แล้วเพียงแต่เราไม่เห็นเองต่างหาก การเลือกคู่จึงต้องดูให้ดี


5. เรื่องญาติ ๆ ของคู่สมรส
เรื่องญาติของคู่สมรสมีความสำคัญมาก ๆ อีกเรื่องหนึ่ง เพราะอาจเป็นสาเหตุของการทำลายความสุขของชีวิตคู่ได้อย่างมากเหมือนกัน แต่หนุ่มสาวสมัยใหม่จำนวนไม่น้อยไม่สนใจประเด็นนี้ โดยคิดว่าการแต่งงานเป็นเรื่องของเขาเพียงสองคน ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะหลายคู่ชีวิตรักพัง เพราะญาติมาเยอะแล้ว ดังนั้นจึงควรมีเวลาที่จะทำความรู้จักและเข้าใจนิสัยญาติของคู่ของตน จะช่วยให้ชีวิตคู่มีความสุขมากขึ้น


6. ต้องการอะไรจากชีวิตคู่
ความต้องการหรือความคาดหวังจากชีวิตคู่ เป็นเรื่องใหญ่อีกเรื่องหนึ่งที่ซับซ้อนพอควร และควรให้ความสำคัญ
ความต้องการของมนุษย์มีทั้งความต้องการพื้นฐาน และความต้องการในระดับจิตใจ หลักสำคัญที่สุดคือ เมื่อมีความต้องการอะไร อย่างไร ควรจะรู้ตัวเองแล้วพูดคุยกับคู่ของตน แบบปรึกษาหารือกัน เพื่อที่จะได้มีความเข้าใจตรงกัน และยอมรับความต้องการของกันและกัน นำไปสู่การครองคู่ด้วยความเข้าใจ และไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง หรือขุ่นข้องหมองใจในภายหลัง

บทความ “เลือกคู่ ดูอย่างไร” 
เขียนโดย ศาสตราจารย์ แพทย์หญิง นงพงา ลิ้มสุวรรณ
คณะแพทย์ศาสตร์ รพ.รามาธิบดี
ข้อมูลจาก หนังสือติวเข้ม เต็มรัก ชีวิตคู่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook