หวาน มัน เค็ม เข้มข้น ครบรส! ส่งผลหัวใจอ่อนแอ

หวาน มัน เค็ม เข้มข้น ครบรส! ส่งผลหัวใจอ่อนแอ

หวาน มัน เค็ม เข้มข้น ครบรส! ส่งผลหัวใจอ่อนแอ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปฏิเสธไม่ได้จริงๆ เลยว่า พฤติกรรมการกินของคนรุ่นใหม่ มีโอกาสส่งผลให้หัวใจอ่อนแออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย นั่นเพราะการกินรสชาติหวานมันหรือเค็มที่มากจนเกินไปนั้น มีโอกาสส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายอย่างหนัก โดยเฉพาะอาหารไทยที่มีครบทุกรสนั้น สามารถนำไปสู่ความเสี่ยงของการบริโภคที่เกินพอดี จึงอาจส่งผลให้เกิดโรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคหัวใจอ่อนแอได้ง่าย มาดูกันดีกว่าว่าการกินอาหารรสชาติหวาน มัน และเค็มมากเกินไปนั้น ส่งผลเสียต่อร่างกายอย่างไรกันบ้าง


กินหวานมากไปก็ไม่ดี


เหตุผลที่สาวๆ ไม่ควรกินรสชาติหวานเกินไป นั่นเพราะน้ำตาลเป็นแหล่งพลังงานที่ไม่มีสารอาหารอื่นๆ ดังนั้นเมื่อกินมากเกินไป ร่างกายก็จะได้รับแต่พลังงานเพียงอย่างเดียว อีกทั้งน้ำตาลยังมีหลายชนิด และให้พลังงานที่ไม่ต่างกัน นั่นก็คือ น้ำตาลให้พลังงานแก่ร่างกายประมาณ 4 กิโลแคลอรีต่อกรัม ถึงแม้ว่าร่างกายของคนเราจะมีกระบวนการป้องกันไม่ให้น้ำตาลในเลือดสูง แต่หากกินเข้าไปมากๆ ก็ย่อมส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงได้ จนทำให้ร่างกายหลั่งอินซูลินจากตับอ่อนเพื่อนำน้ำตาลในเลือดเข้าสู่เซลล์แล้วเปลี่ยนเป็นพลังงาน ซึ่งแน่นอนว่าร่างกายของแต่ละคนตอบสนองต่ออินซูลินไม่เท่ากัน ซึ่งคนที่เป็นโรคอ้วนลงพุง ร่างกายจะดื้อต่ออินซูลิน จึงไม่สามารถนำน้ำตาลเข้าสู่เซลล์ จึงส่งผลให้น้ำตาลในเลือดสูง และมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคหัวใจเพิ่มขึ้น


กินมันมากไปโรคย่อมตามหา


แน่นอนว่าไขมันเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย ถือเป็นพลังงานที่สำคัญของร่างกายเลยก็ว่าได้ ซึ่งไขมัน 1 กรัมให้พลังงานแก่ร่างกายสูงถึง 9 กิโลแคลอรี ซึ่งมากกว่าคาร์โบไฮเดรตและโปรตีน แต่ในขณะเดียวกันหากร่างกายได้รับไขมันที่มากจนเกินไปก็จะทำให้ร่างกายอ้วน และนำไปสู่การเป็นโรคเรื้อรังได้ โดยเฉพาะไขมันทรานส์ที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการผลิตไขมันเทียม ซึ่งพบในอาหารชนิดต่างๆ เช่น เนยขาว เนยเทียม เบเกอรี่ โดนัท คุ้กกี้ ครีมเทียม เป็นต้น เมื่อร่างกายได้รับไขมันจากอาหารเหล่านี้มากเกินไป ก็จะเกิดการสะสมอยู่ตามผนังหลอดเลือด ส่งผลให้เส้นเลือดตีบ อีกทั้งยังเพิ่มไขมันชนิดไม่ดีและลดไขมันชนิดดี จึงทำให้มีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจสูงขึ้นไปด้วย


กินเค็มมากไปร่างกายอาจพัง


รสชาติเค็ม ถือเป็นรสชาติที่ติดปากคนไทยมากที่สุด ซึ่งความเค็มของรสชาติอาหารนั้นมาจากสารประกอบโซเดียมคลอไรด์หรือเกลือ แน่นอนว่าโซเดียมมีประโยชน์ต่อร่างกาย ช่วยให้ระบบไหลเวียนของร่างกาย ความดัน และปริมาตรของเลือดเป็นปกติ แต่ทั้งนี้หากร่างกายได้รับโซเดียมมากเกินไป ก็ย่อมส่งผลเสียต่อร่างกายได้เช่นกัน นั่นเพราะเมื่อกินรสชาติเค็มมากๆ ก็จะทำให้ร่างกายรู้สึกอยากดื่มน้ำ เลยกลายเป็นการเพิ่มปริมาณเกลือแร่ในเลือด ส่งผลให้หัวใจต้องสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ หนักขึ้น ทำให้แรงดันหลอดเลือดสูงจนอาจทำให้เกิดภาวะหัวใจโต ซึ่งมีโอกาสนำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลวได้ ที่สำคัญการกินเค็มมากเกินไป ยังเสี่ยงทำให้เป็นความดันโลหิตสูง จนนำไปสู่ภาวะเส้นเลือดในสมองแตกหรือเป็นอัมพาตได้ในที่สุด อีกทั้งสิ่งที่น่ากลัวอย่างมากสำหรับการกินเค็มมากเกินไปก็คือ ร่างกายอาจไม่แสดงอาการ แต่กลับทำลายอวัยวะต่างๆ ในร่างกายไปเรื่อยๆ นั่นเอง

แน่นอนว่าการกินอาหารรสชาติจัด ไม่ว่าจะเป็นรสหวาน มัน หรือเค็มมากเกินไป ย่อมส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ทั้งนี้การป้องกันไม่ให้ร่างกายได้รับความเสียหายจากการกินอาหารก็สามารถทำได้ด้วยการกินอาหารด้วยรสชาติที่พอดี ควรรู้ว่าร่างกายควรได้รับน้ำตาล ไขมัน หรือโซเดียมในแต่ละวันในปริมาณเท่าใด เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่จำเป็นในปริมาณที่พอดีกับความต้องการของร่างกายนั่นเอง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook