My body, my choice และขอบเขตความพอดีว่าอยู่ตรงไหน?

My body, my choice และขอบเขตความพอดีว่าอยู่ตรงไหน?

My body, my choice และขอบเขตความพอดีว่าอยู่ตรงไหน?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในยุคที่ไม่ว่าจะอะไรก็ตาม ข้อความที่ว่า My body, my choice มักจะถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นกล่าวอ้างเสียทุกครั้งไป ก็คงทำให้หลายคนรู้สึกว่านี้เป็นช่วงเวลาที่ผู้คนในสังคมตระหนักถึงสิทธิ เสรีภาพของตนเองกันมากขึ้น ย้ำเตือนว่าเรามีอิสรภาพเต็มที่ที่จะทำอะไรกับร่างกายตนเองก็ได้ ทั้งยังเป็นการตอกย้ำว่าคนอื่นไม่จำเป็นต้องวุ่นวาย ถ้าไม่ได้เดือดร้อนหรือมีส่วนได้ส่วนเสียอะไร ทว่าถ้าทุกคนจะบอกว่า My body, my choice กันหมด สงสัยไหมว่าขอบเขตหรือความพอดีมันอยู่ที่ตรงไหนกัน หรือสามารถทำได้ทุกอย่างโดยไร้ขอบเขตจริง ๆ

เมื่อพูดถึงสิทธิหรือเสรีภาพในปัจจุบัน ดูจะเป็นอะไรที่หลาย ๆ คนนึกถึงอิสระจนไร้ข้อจำกัดหรือขอบเขตแบบไม่มีที่สิ้นสุด อย่างการพูดเรื่อง My body, my choice ก็เช่นกัน ขอบข่ายของสิทธิ์ในร่างกายก็ค่อนข้างกว้าง เพราะมันครอบคลุมตั้งแต่การตัดสินใจเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปจนถึงเรื่องที่ใหญ่กว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการเลือกแต่งตัว การแต่งหน้า การทำผม การกินอาหาร รูปร่างหน้าตา การทำศัลยกรรม การสัก เจาะร่างกาย การมีเพศสัมพันธ์ และการทำแท้ง ทุกอย่างอยู่ในขอบข่ายที่พูดถึงสิทธิ์ในการเลือกที่จะทำหรือไม่ทำในร่างกายตัวเองทั้งสิ้น

ที่ผ่านมา การที่เราจะทำอะไร ๆ กับร่างกายของตนเอง ล้วนมีสิ่งที่เรียกว่า “สังคม” คอยล้อมกรอบไว้เสมอ อะไรก็ตามที่ดูผิดแผกไปจากค่านิยมที่สังคมกำหนด ก็เหมือนจะกลายเป็นเรื่องผิดบาปอยู่ร่ำไป เช่น ถ้ารูปร่างหน้าตาไม่เพอร์เฟกต์ อย่าหาที่จะแต่งตัวแบบนั้นแบบนี้นะ น่าเกลียด กลายเป็นข้อจำกัดในการแต่งกายของใครหลาย ๆ คน จนหลายคนต้องพยายามที่จะวิ่งตามมาตรฐานความสวยของสังคม ต้องทำในสิ่งที่ไม่ใช่ความสุขของตนเอง โดยที่ก็ไม่รู้ว่าใครที่นิยามว่าแบบนั้นแบบนี้ที่เรียกว่าสวย หรือผู้หญิงที่แต่งตัวเปิดเผยเรือนร่าง แทนที่จะกระทำได้เพื่อความต้องการและความพึงพอใจของตนเอง กลับถูกมองว่าแรง ยั่ว อ่อยผู้ชายไปเสียอย่างนั้น

การที่คนหลาย ๆ คนเข้ามาอยู่รวมกันเป็นสังคม จึงต้องมีอะไรบางอย่างที่กำหนดว่าขอบเขตการกระทำทั้งหมดทั้งมวลของสมาชิกในสังคมมันอยู่ที่ตรงไหน บรรทัดฐานที่คนในสังคม (ต้อง) ยอมรับให้ได้และต้องปฏิบัติตาม คือ กฎหมาย ซึ่งถือว่าเป็นบรรทัดฐานอย่างเป็นทางการของสังคม

นอกจากนี้ ในทางสังคมวิทยายังมีสิ่งที่เรียกว่า จารีต และวิถีประชา อยู่ด้วย 2 สิ่งนี้ก็ถูกใช้เป็นกฎเกณฑ์ในการควบคุมความประพฤติของคนในสังคมเช่นเดียวกับกฎหมาย เพียงแต่เป็นบรรทัดฐานที่ไม่เป็นทางการ เพราะถูกทำให้เชื่อและถือปฏิบัติมาจนเกิดเป็นความเคยชิน บทลงโทษไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับสังคมนั้น ๆ ถ้าเคร่งก็โดนหนัก ถ้าไม่เคร่งก็เบา ๆ ชิล ๆ ที่สำคัญ สังคมยังมี ค่านิยม ซึ่งเป็นสิ่งที่บุคคลหรือสังคมยึดถือเป็นเครื่องช่วยตัดสินใจ ในกำหนดการกระทำของตนเองด้วย

เป็นสิทธิ เสรีภาพที่พึงกระทำ แต่ก็มีขอบเขตที่จำกัด
หากจะถกกันถึงประเด็นที่ว่าเหมาะสมไม่เหมาะสมในสังคม เรื่องของการกินอาหารและรูปร่างหน้าตาอาจไม่ค่อยมีคนถกว่าเหมาะหรือไม่เหมาะกับสังคม เพราะมันเป็นเรื่องปัจเจกบุคคลที่ชัดเจนมาก สังคมจะไปเดือดร้อนอะไรกับการกินของคนอื่นหรือรูปร่างหน้าตาของคนอื่น เขาอยากกินอะไรก็เรื่องของเขา หุ่นเขาจะเป็นอย่างไรมันก็เรื่องของเขา มันไม่เดือดร้อนใครจริง ๆ มีแต่พวกที่พยายามจะเดือดร้อนที่มักจะคอยกลั่นแกล้ง หรือตีกรอบการเข้าสังคม ด้วยการตัดสินง่าย ๆ ด้วยรูปลักษณ์ภายนอกมากกว่า

แต่พอเป็นเรื่องการแต่งกาย เหมือนมันจะกลายเป็นอีกเรื่องทันที หากมีใครสักคนที่แต่งกายผิดไปจากกรอบของสังคม การอ้างหรือหาความเหมาะสมไม่เหมาะสมจะเกิดขึ้นทันที ทั้งที่มันก็เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลเหมือนกัน เขาจะแต่งกายอย่างไรก็เรื่องของเขา เขาจะเปิดเผยส่วนไหนมันก็ร่างกายเขา แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่เป็นเช่นนั้น ต้องยอมรับว่าเรามักจะมีปัญหากับการแต่งตัวของคนอื่นจริง ๆ

อย่างในยุคนี้ที่คนยุคใหม่หลายคนพยายามจะ My body, my choice กันมากขึ้น ตั้งแต่การรณรงค์ไปจนถึงการแสดงออกในสิ่งที่สังคมตัดสินว่า “ไม่เหมาะสม” พวกเขาเหล่านี้มองว่าเป็นสิทธิ์ของพวกเขาเต็มที่ที่จะทำอะไรกับร่างกายของตนเองก็ได้ แต่ในขณะที่ก็มีคนอื่น ๆ ในสังคมมองว่ามันไม่ดี ไม่เหมาะสม บางคนแค่วิจารณ์ แต่บางคนก็เข้าข่ายคุกคาม หมิ่นประมาท ตลอดจนด้อยค่ามนุษย์ด้วยกันเอง ทั้งที่ในความเป็นจริงการแต่งกายของคนอื่นก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับตนเอง ถึงอย่างนั้นทำไมถึงยังมีคนที่มักจะคอยตำหนิติเตียนคนอื่นอยู่ล่ะ

มันอาจจะไม่ใช่คำพูดที่น่าฟังในยุคที่อะไรหลาย ๆ อย่างขับเคลื่อนด้วยความเสรีและอาจฟังดูกำปั้นทุบดิน แต่ก็ต้องยอมรับว่าสังคมมันมีบทบาทต่อชีวิตเราไม่ทางใดก็ทางหนึ่งอยู่ดี โดยเฉพาะการที่มีคนใดคนหนึ่ง “ไม่ยอมรับ” หรือ “รับไม่ได้” เพราะในสังคมมีผู้คนร้อยพ่อพันแม่ แต่ละคนเติบโตมีที่มามีพื้นฐานอะไรหลาย ๆ อย่างต่างกัน

ถ้าการแต่งกายคือสิ่งที่เรามีอิสระจะแต่ง อีกฝ่ายก็อ้างว่ามีอิสระที่จะคิดเช่นกัน ต่างฝ่ายต่างก็ห้ามกันไม่ได้ ซึ่งถ้าคิดอย่างเดียวอยู่ในใจก็คงจะไม่ผิดอะไรและจบด้วยคำว่า “ก็เรื่องของเขา” แต่ส่วนใหญ่จะมีการแสดงออกหรือการปฏิบัติไปในทิศทางที่เรียกว่า “ลงโทษ” เพราะตัดสินว่าเขาผิดไปแล้ว การแต่งกายแบบเปิดเผยเนื้อหนังมากเกินไปมันอาจไม่ได้ผิดกฎหมาย แต่ผิดจารีตหรือวิถีประชาในบางสังคมนั่นเอง มันจึงเป็นเรื่องที่เถียงกันไม่มีวันจบสิ้น ทว่าการคุกคามหรือหมิ่นประมาท การทำในลักษณะนั้นมันก็จะเป็นเรื่องผิดเหมือนกัน

ดังนั้น ขอบเขตที่ชัดเจนที่สุดของ My body, my choice ก็คงจะเป็นเรื่องทางสังคม ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในร่างกายของตนเอง จะใส่ชุดอะไรแบบไหนก็ตามสะดวก ตราบใดที่ยังอยู่ภายใต้กฎหมาย กาลเทศะ และบรรทัดฐานทางสังคม โดยที่ไม่ควรมีใครมาคุกคาม พูดจาให้ร้าย และหมิ่นประมาทใด ๆ ที่นี้ก็อยู่ว่าแต่ละคนจะตีความกาลเทศะอย่างไร การที่ไม่มีใครห้ามไม่มีใครบังคับหรือกำหนดกฎเกณฑ์ ก็ต้องรู้ว่าในสังคมที่ตนเองอยู่อนุญาตให้ทำได้แค่ไหน มันคือหนึ่งในมารยาทในการอยู่ร่วมกัน

เสรีภาพ​ต้องมาพร้อมความรับผิดชอบต่อสังคม​ และการเกรงใจคนรอบข้าง โลกไม่ได้หมุนรอบตัวเรา แม้ว่ามันจะไม่ได้เดือดร้อนใครและเป็นความพอใจส่วนตัวที่พึงกระทำ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนในสังคมจะสบายใจ ด้วยความที่ทุกสังคมมีกฎ มีกติกาในการอยู่ร่วมกัน เสรีภาพจึงมีขอบเขตว่าควรจะเคารพผู้อื่นในสังคม โดยเฉพาะในที่สาธารณะ อย่างที่บอกว่าการแต่งกายเผยเนื้อหนังมากเกินไปมันอาจไม่ได้ผิดกฎหมาย แต่เกินความพอดีที่เป็นมารยาททางสังคมก็เท่านั้นเอง

ท้ายที่สุดแล้ว ขอบเขตความพอดีมันก็มาจบที่สังคมอยู่ดี ด้วยตัวเราไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว และเพราะไม่มีอะไรที่เราจะทำได้อย่างอิสระโดยไม่อยู่ภายใต้กฎหมาย รวมถึงมารยาทในการอยู่ร่วมกัน ตราบใดที่เราต้องอยู่ร่วมกับคนอื่น ๆ อีกมากมายที่คิดเห็นไม่เหมือนกัน การหาตรงกลาง และพยายามรณรงค์ ให้ความรู้ ตระหนักถึงสิทธิ เสรีภาพของคนอื่นมากขึ้น ตราบเท่าที่เขาไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน ปรับเปลี่ยนบรรทัดฐานของสังคมให้ทันสมัยมากขึ้นน่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า แต่ในสังคมใหญ่ที่จารีตเดิมฝังรากลึกก็คงเป็นเรื่องยากและต้องใช้เวลา

การเลือกที่จะแต่งกายอย่างไรก็ได้เป็นสิทธิ์อันพึงมี และสิ่งที่ควรมีเช่นกันก็คือความรับผิดชอบต่อสังคมว่าขอบเขตที่กระทำได้อยู่ที่ตรงไหนในสังคมนั้น ๆ เพราะแต่ละสังคมก็จะมีกลไกที่ควบคุมและจัดการแตกต่างกันไป โดยรวมแล้วต้องอาศัยการเปิดใจ และให้ความรู้ อีกทั้งต่างฝ่ายต่างอยู่บนพื้นฐานว่าคนทุกคนควรจะให้เกียรติซึ่งกันและกัน และรู้ว่าขอบเขตในการแสดงออกของตนเองอยู่ที่ตรงไหน

ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าสังคมนั้น ๆ จะมีทิศทางและแนวคิดไปในทางไหน รวมถึงผู้ที่มีอำนาจในสังคมนั้น ๆ ด้วย เพราะมีไม่น้อยที่ใช้อคติ อำนาจและความเป็นส่วนตัวในการตัดสิน (แต่อ้างคนหมู่มาก) ไม่ได้ปล่อยให้เป็นไปตามกลไกของสังคม เพราะจริง ๆ สังคมอาจจะเริ่มเปิดกว้างขึ้นแล้ว แต่คนบางคนต่างหากที่ไม่เปิดใจ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook