Baby Colic อาการเด็กร้องร้อยวัน เรื่องสำคัญที่พ่อแม่ต้องใส่ใจ

Baby Colic อาการเด็กร้องร้อยวัน เรื่องสำคัญที่พ่อแม่ต้องใส่ใจ

Baby Colic อาการเด็กร้องร้อยวัน เรื่องสำคัญที่พ่อแม่ต้องใส่ใจ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลายครั้งที่ลูกน้อยร้องไห้ พ่อแม่มักจะมีความกังวลอยู่เสมอ ถึงขนาดที่พ่อแม่บางคนเกิดความวิตกกังวลเพราะกลัวว่าลูกจะไม่สบายหรือเกิดความผิดปกติใดๆ หรือเปล่า สำหรับพ่อแม่ที่มีลูกน้อยขี้ร้อง หรือร้องไห้บ่อย ร้องโดยไม่รู้สาเหตุ วันนี้เราจะชวนให้มาทำความเข้าใจเกี่ยวกับ Baby Colic หรืออาการเด็กร้องร้อยวันกันค่ะ เพื่อที่จะได้สังเกตการร้องไห้ของลูกน้อยได้ว่าตรงกับอาการ Baby Colic หรือไม่


Baby Colic คืออะไร
Baby Colic หรือที่คนสมัยก่อนเรียกว่า เด็กร้องร้อยวัน เป็นอาการที่เกิดขึ้นกับเด็กทารก แต่ไม่ใช่โรคแต่อย่างใด ซึ่งอาการดังกล่าวนี้พบได้บ่อยในเด็กแรกเกิดที่มีอายุ 3 สัปดาห์ ไปจนถึง 3 เดือน อีกทั้งยังเกิดขึ้นประมาณ 8-40% ของเด็กเล็กอีกด้วย อาการเด็กร้องร้อยวัน เป็นอาการที่เกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน แต่มักจะร้องไห้ในเวลาที่แน่นอน รวมทั้งระยะเวลาร้องไห้ค่อนข้างแน่นอนในแต่ละวัน บางครั้งพ่อแม่อาจจะงงๆ เพราะก่อนร้องไห้ ลูกจะยังคงเรียบร้อย แต่อยู่ดีๆ ก็กรี๊ดขึ้นมา พร้อมทั้งดิ้น ทุ่มตัวและแขนขา ในส่วนของลักษณะอาการร้องไห้ของเด็กในภาวะโคลิก เวลาร้องไห้ เด็กจะงอขา งอตัว และกำมือ หรือที่เรียกกันว่า ร้องไห้จนตัวงอ รวมทั้งมีการหดเกร็ง หน้าแดง และมีเสียงร้องที่แหลม ระยะเวลาการร้องไห้จะร้องยาวเป็นชั่วโมง ส่วนใหญ่จะร้องในช่วงหัวค่ำ นอกจากนี้ภาวะโคลิกยังอาจมีอาการปวดท้องหรือท้องอืดร่วมด้วย แต่จะปวดเป็นพักๆ ซึ่งเรียกว่า Colicky Pain นั่นเอง


Baby Colic รักษาได้ไหม
เนื่องจากในทางการแพทย์ Baby Colic เป็นอาการที่ยังไม่สามารถค้นพบสาเหตุที่แน่ชัด อีกทั้งการวินิจฉัยเพื่อรักษาอาการดังกล่าวนี้ยังทำได้ค่อนข้างยาก ทั้งนี้การวินิจฉัยอาการโคลิกจำเป็นต้องตัดสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้พบอาการเหมือนโคลิกออกไปเสียก่อน เช่น มีไข้ ตัวร้อน หรืออาการเจ็บป่วยอื่นๆ แต่การรักษาอาการนี้พ่อแม่สามารถพาลูกน้อยไปหาหมอ เพื่อให้คุณหมอช่วยบรรเทาอาการ พร้อมทั้งเพื่อให้พ่อแม่สามารถปรับทัศนคติในการเตรียมรับมือกับอาการโคลิกมากกว่าที่จะมุ่งรักษาโดยตรง


วิธีดูแลหนูน้อยโคลิก
เมื่อพ่อแม่เริ่มมั่นใจว่าลูกน้อยมีภาวะ Baby Colic จำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญกับการดูแลลูกน้อยให้ถูกต้อง เช่น เริ่มจากการจัดห้องนอนที่เงียบมากที่สุด รวมทั้งการเปิดปิดประตูห้องเบาๆ เนื่องจากเด็กโคลิกจะมีอาการขี้ตกใจ รวมทั้งต้องหมั่นอุ้มลูกน้อยเพื่อให้เขาได้รับไออุ่น และควรแสดงความรักให้บ่อยกว่าปกติ นอกจากนี้การไล่ลมหลังลูกดื่มนมก็เป็นวิธีการดูแลอาการหนูน้อยโคลิกได้เช่นกัน

แน่นอนว่าอาการโคลิกส่งผลให้พ่อแม่เกิดความวิตกกังวล นานๆ เข้าอาจทำให้เกิดความเครียด แต่ด้วยความที่อาการดังกล่าวนี้ไม่มีวิธีการรักษา พ่อแม่จึงต้องพยายามปรับทัศนคติของตัวเองต่ออาการนี้ให้เข้าใจลูกมากที่สุด เพื่อที่จะสามารถประคองอาการหรือดูแลลูกโคลิกให้เหมาะสม แทนที่จะมุ่งเน้นไปที่การรักษา ซึ่งยังคงไม่มีวิธีการรักษาที่ชัดเจนแต่อย่างใด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook