เด็กจมน้ำ มหันตภัยหน้าร้อน 3 นาที 15 เมตร ทักษะชีวิต รู้ไว้ไม่ตาย!

เด็กจมน้ำ มหันตภัยหน้าร้อน 3 นาที 15 เมตร ทักษะชีวิต รู้ไว้ไม่ตาย!

เด็กจมน้ำ มหันตภัยหน้าร้อน 3 นาที 15 เมตร ทักษะชีวิต รู้ไว้ไม่ตาย!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หน้าร้อนทีไร มักปรากฏข่าวเศร้าบนหน้าหนังสือพิมพ์ "เด็กจมน้ำตาย"!

ความที่เป็นช่วงปิดเทอม อากาศที่ร้อนทำให้เด็กชักชวนกันลงเล่นน้ำ เหตุนี้สถิติในรอบ 11 ปี ตั้งแต่ 2546-2556 พบเด็กจมน้ำเสียชีวิตในช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคมมีจำนวนมากที่สุด เฉลี่ยวันละ 4 คน

เพื่อเป็นการล้อมคอกไว้ก่อนวัวจะหาย "สำนักคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ" ร่วมกับ "ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก" จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ มาตรการและแนวทางสร้างความปลอดภัยทางน้ำแก่นักเรียน เปิดเวทีอภิปราย ""ทางออกของการลดการเสียชีวิตของนักเรียนจากการจมน้ำ"" มีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญมาร่วมระดมความคิดมากมาย

"แสงไทย มีสุนทร" ผู้อำนวยการสำนักพัฒนากิจกรรมนักเรียน สพฐ. หยิบยกตัวเลขที่น่าตกใจมาเล่าให้ฟังว่า คนไทยในปัจจุบันมีคนที่ว่ายน้ำเป็นเพียงร้อยละ 27 ของคนไทยทั้งประเทศ จึงเป็นปัญหาในเรื่องครูสอนว่ายน้ำที่มีน้อย

ทั้งนี้ จากสถิติพบว่าจำนวนเด็กที่เสียชีวิตด้วยการจมน้ำเฉลี่ยวันละ 4 คน มีอายุต่ำกว่า 15 ปี ซึ่งการว่ายน้ำเป็นกิจกรรมหน้าร้อนที่เด็กมักรวมกลุ่มกับเพื่อนไปเล่นและทำ กิจกรรมยามว่างกัน โดยเฉพาะในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม มีอัตราการตายของเด็กจมน้ำสูงที่สุด เนื่องจากอยู่ในช่วงปิดเทอม การว่ายน้ำเป็นทักษะชีวิตหนึ่งของเด็ก แม้เด็กไม่ได้อยู่ในพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำแต่ต้องมีการสอนว่ายน้ำแก่เด็กด้วย เพราะเมื่อเด็กเติบโตขึ้น ต้องเดินทาง ทำกิจกรรมต่างๆ ที่ต้องเจอะเจอกับน้ำ จะช่วยลดความเสี่ยงการเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุทางน้ำ

นอก จากนี้ผู้ใหญ่ต้องช่วยกันหาวิธีการป้องกัน ร่วมกันสร้างเครือข่ายทีมงานเพื่อเสริมแหล่งองค์ความรู้ เพื่อนำไปสอนเด็กๆ ให้มีความรู้พื้นฐานเป็นภูมิคุ้มกัน และเป็นกุศลในภายภาคหน้าสำหรับได้ช่วยเหลือเด็กๆ ได้ต่อไป ให้เอาตัวรอดเมื่อต้องเผชิญกับเหตุการณ์ไม่คาดคิด และลดการตายของเด็กๆ ได้

"กาจัดโครงการเกี่ยวกับการวางมาตราการและแนวทางสร้างความปลอดภัยหรือสอนเด็ก ว่ายน้ำ ต้องดำเนินการต่อเนื่อง และสร้างแบบแผนให้เป็นรูปธรรมชัดเจน ยิ่งถ้าทำแล้วมีผลดีก็ต้องทำต่อไป เมื่อมีการสนับสนุนจากองค์กรต่างๆ มากยิ่งขึ้น โครงการก็จะก้าวหน้า อย่างมีศักยภาพ" ผู้อำนวยการสำนักพัฒนากิจกรรมนักเรียน กล่าวด้วยน้ำเสียงหนักแน่น

เช่นเดียวกับ "รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์" หัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ที่ย้ำว่าจากสถิติการเสียชีวิตของเด็กๆ อันดับ 1 มาจากการจมน้ำ เพราะแค่จมน้ำเกิน 4 นาที ขาดอากาศหายใจทำให้สมองตายก่อนเป็นอันดับแรก

เมื่อดูเจาะลึกลงไปถึงช่วงอายุของเด็ก พบว่า กลุ่มเด็กโตมีสถิติจมน้ำมากกว่าเด็กเล็ก เนื่องจากเด็กเล็กยังอยู่ในความดูแลของพ่อแม่ โดยตั้งแต่ปี 2546-25556 พบว่าในจำนวนเด็กที่เสียชีวิตจากการจมน้ำคิดเป็นร้อยละ 42 ของเด็กทั่วไปประเทศนั้น เด็กอายุ 1-4 ปี (อนุบาล) จากจำนวน 637 คนในปี 2545 ลดลงเหลือ 295 คนในปี 2556

กลุ่มอายุ 5-9 ปี (ประถม) เสียชีวิตจากการจมน้ำร้อยละ 59 และในกลุ่มเด็กโตตั้งแต่อายุ 9 ปีขึ้นไป เสียชีวิตลดลงเพียงร้อยละ 12 ของเด็กทั้งหมด

โดยจุดเสี่ยงของการเกิด อุบัติเหตุจนเสียชีวิตคือ แหล่งน้ำขนาดเล็กในชุมชนใกล้บ้านเด็ก และแอ่งน้ำบริเวณใกล้เคียงในพื้นที่ชุมชน โดยเดือนที่มีอัตราการตายของเด็กสูงสุดคือ เมษายน-พฤษภาคม ในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ และมาจากการออกไปเล่นกันไปช่วงปิดเทอม

รศ.นพ.อดิศักดิ์ บอกถึงการรณรงค์เพื่อการป้องกันเด็กเสียชีวิตจากการจมน้ำสำหรับเด็กประถม 1 หรืออายุ 7 ปี ว่า มียุทธศาสตร์ของทักษะชีวิต ความปลอดภัยทางน้ำว่า มีด้วยกัน 5 ข้อ เรียกว่า ""โครงการ 3 นาที 15 เมตร"" ประกอบด้วย

1.การรู้จุดเสี่ยง 2.การลอยตัวให้ได้ 3 นาที 3.การว่ายจากท่าลอยตัวเพื่อเข้าเกาะขอบฝั่งให้ได้ 15 เมตร 4.การช่วยเหลือผู้อื่นโดย การตะโกน โยน ยื่น และ 5 เมื่อต้องเดินทางทางน้ำให้ใช้เสื้อชูชีพ

อีกหนึ่งผู้ใหญ่ที่มาให้คำแนะนำและความรู้เกี่ยวกับทักษะการเอาตัวรอดเบื้องต้น คือ "สลักจิต สกุลรักษ์" นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ บอกว่า โครงการปกป้องเด็กจมน้ำ เป็นที่ภาคภูมิใจของกระทรวงสาธารณสุขที่มีโอกาสเข้ามาช่วยเหลือให้ความรู้ แก่เด็ก ได้รับยกย่องให้เป็น "The Best Model" ในด้านจัดโครงการนี้โดยใช้สระว่ายน้ำเคลื่อนที่เป็นสิ่งสำคัญ เพราะเหตุการณ์ไม่คาดฝันสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา บางครั้งเราไม่สามารถคุมพฤติกรรมเด็กได้ และไม่สามารถตามเด็กไปได้ทุกหนทุกแห่ง "โครงการวัคซีนป้องกันเด็กจมน้ำ" จึงเกิดขึ้น เพื่อเสริมทักษะเพื่อให้สามารถเอาตัวรอดได้ในยามคับขัน และยังสามารถช่วยเหลือเพื่อนได้อีกด้วย

เริ่มจากการสอนทั้งคนทำงาน และเพื่อจะขยายเป็นแหล่งเรียนรู้ต่อไป ซึ่งทางสาธารณสุขได้ร่วมมือกับหลายๆองค์กร โดยเฉพาะกรมควบคุมโรคที่ช่วยกันผลักดันให้โครงการเป็นไปตามวัตถุประสงค์ ขณะนี้มีทั้งครูฝึกกว่า 500 คน มีสระว่ายน้ำเคลื่อนที่มาตรฐาน กระจายครอบคลุมทุกอำเภอ และตามโรงเรียน โดยในปี 2557 ได้ตั้งเป้าการลดจำนวนของเด็กจมน้ำในช่วงอายุ 5-9 ปี และเด็กโตให้เหลือเพียงร้อยละ 30

นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ ได้ฝากความรู้ทิ้งท้ายในการประชุมเชิงปฏิบัติการว่า ทักษะที่ใช้สำหรับเอาชีวิตรอดด้วยการลอยตัวแบบคว่ำ (อาทิ ท่าปลาดาว ท่าแมงกะพรุน) และการลอยตัวแบบนอนหงาย รวมถึงใช้ท่าลูกหมาตกน้ำ นอกจากนี้ยังมีทักษะการเอาตัวรอดโดยใช้สิ่งใกล้ตัว เช่น ขวดน้ำดื่มหรือรองเท้าแตะฟองน้ำมาเป็นสิ่งที่ช่วยพยุงตัวสามารถช่วยชีวิตได้ เช่นกัน

"เพราะชีวิตคือการเรียนรู้สิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวสามารถเป็นประโยชน์ได้ถ้ารู้จักคิด ที่สำคัญคือ อย่าใช้ชีวิตอยู่ในความประมาท"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook