ที่สุดของชีวิต รัตนวดี เหมนิธิ วินเธอร์ ภริยาทูตเดนมาร์ก

ที่สุดของชีวิต รัตนวดี เหมนิธิ วินเธอร์ ภริยาทูตเดนมาร์ก

ที่สุดของชีวิต รัตนวดี เหมนิธิ วินเธอร์ ภริยาทูตเดนมาร์ก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2011 ที่ รัตนวดี เหมนิธิ วินเธอร์ เดินทางกลับมาพำนักในประเทศไทยในฐานะ "ภริยาเอกอัครราชทูตเดนมาร์กประจำประเทศไทย" นับเป็นเวลา 4 ปี ที่เธอบอกว่าเป็น "ที่สุดของชีวิต"

ย้อนกลับไป ก่อนที่สตรีไทยใบหน้าคมหวาน สาวโคราชคนนี้จะตกปากรับคำเป็น "หลังบ้าน" ให้กับ มิคเคล วินเธอร์ ทูตเดนมาร์ก เส้นทางชีวิตของเธอตั้งแต่เยาว์วัย เหมือน "ปูทาง" มาเพื่อการเป็นภริยาทูตอย่างไรอย่างนั้น

ไม่ว่าจะเป็นชอบเรียนวิชาภาษาอังกฤษมาก สามารถสอบชิงทุนเป็น "นักเรียนแลกเปลี่ยน AFS" ไปศึกษาที่สหรัฐอเมริกา จบการศึกษาปริญญาตรีคณะศิลปศาสตร์ วิชาเอกภาษาอังกฤษ วิชาโทรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาโทคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยไซมอน เฟรเซอร์ ประเทศแคนาดา และเมื่อเรียนจบก็สมัครเข้าทำงานที่แคนาดาเลย ด้วยตั้งใจว่าจะลงหลักปักฐานไปตลอดชีวิต

"ชีวิตเหมือนความฝัน แต่เป็นฝันที่เป็นจริง" รัตนวดี เอ่ยปากพลางยิ้มน้อยๆ ระหว่างที่เปิดบ้านย่านสาทรให้ทีมข่าวจากมติชนเข้าเยี่ยมชม ท่ามกลางบรรยากาศร่มรื่นของบ้าน 2 ชั้น สนามหญ้ากว้างใหญ่ ที่ตอนนี้ "นกยูง" กำลังเดินเล่นอย่างสบายอารมณ์

หลายคนอาจมองว่า ชีวิตภริยาทูตคงจะหรูหราฟู่ฟ่า แต่สำหรับรัตนวดี เธอเป็น "คนสู้ชีวิต" และเป็น "เวิร์กกิ้งวูแมน" คนหนึ่ง

"ที่แคนาดา พอเราขอเป็นพลเมืองของเขาแล้ว เราจะได้รับโอกาสให้เข้าทำงาน ดิฉันได้ทำงานในด้านการศึกษา เริ่มตั้งแต่เป็นครู ทำงานหามรุ่งหามค่ำ เสาร์-อาทิตย์ไม่หยุดพักผ่อน ดึกดื่นค่ำมืด หิมะตกก็ลุยไปทำ จนได้รับโอกาสให้เป็นผู้บริหารของกรมการศึกษาที่โน่น มีหน้าที่ดูแลคนต่างชาติที่ขอโอนสัญชาติเป็นคนแคเนเดียน โดยเป็นผู้จัดคอร์สอบรมให้กับนิวแคเนเดียน ทั้งการสร้างทักษะทางภาษา ทักษะการทำงาน ทักษะการใช้ชีวิต"

(บน) ฐานทัพอเมริกาในกรุงแบกแดด (ล่าง) เอกอัคราชทูตเดนมาร์กกับหน่วยรักษาความปลอดภัย

ในอายุเพียง 32 ปี เธอสามารถก้าวขึ้นสู่ "ผู้บริหาร" ควบคุมดูแลพนักงานนับ 100 คน

"แคนาดามีนโยบายสนับสนุนผู้หญิง ถ้าเรามีความสามารถจะไม่โดนปิดกั้นอะไรมาก และจะได้โอกาสทางการทำงาน เช่น ถ้าผู้หญิงและผู้ชายสมัครงานด้วยกัน และมีความเก่ง หรือความชำนาญ เท่ากัน เขาจะเลือกผู้หญิงก่อน เป็นการให้โอกาสความเท่าเทียม ซึ่งสังคมที่พัฒนาแล้วจะเป็นสังคมที่ผู้ชายกับผู้หญิงเท่ากัน"

เมื่อเป็น "คู่แล้วย่อมไม่แคล้ว" ทั้งที่อยู่ไกลกันคนละซีกโลก ในระหว่างที่รัตนวดีเดินทางกลับมาประเทศไทย เธอได้รับการแนะนำให้รู้จักกับ "เลขานุการเอกสถานทูตเดนมาร์กประจำประเทศไทย"

เขาตกหลุมรักเธอตั้งแต่ครั้งแรกที่เจอกัน ในขณะที่เธอนั้นกลับมองเขาเป็นเพียงเพื่อน แต่ด้วยความจริงใจของนักการทูตหนุ่มก็ทำให้เธอแพ้ใจและตกลงใจใช้ชีวิตร่วมกับเขาที่เดนมาร์ก

จากนั้นไม่นานเธอก็เดินทางตามสามีไปประจำอยู่ที่ประเทศเวียดนามแล้วก็ต้องแยกกันอยู่ถึง2ปี เมื่อสามีได้รับการแต่งตั้งให้ไปเป็นทูตประจำประเทศอิรัก ซึ่งในขณะนั้นกำลังมีสงครามกลางเมือง ทูตอเมริกา อังกฤษ เดนมาร์ก ตกเป็นเป้าที่มีความเสี่ยงระดับสูงสุด

และก็เป็นครั้งหนึ่งในชีวิตที่ต้องไปประสบพบเจอเมื่อเดินทางไปเยี่ยมสามีที่กรุงแบกแดด

"ท่านทูตมีการ์ด25คนคอยดูแลส่วนดิฉัน แม้ไปแค่ครั้งเดียว ก็ต้องใส่เสื้อเกราะ ใส่หมวกกันกระสุน ติดวิทยุ ใส่ถุงมือกันความร้อน นั่งในรถกันกระสุน หรือแม้แต่ที่สถานทูตก็ต้องมีม่านกันกระสุน ระบบรักษาความปลอดภัยเข้มงวดมาก"

แม้จะต้องไปเผชิญกับประสบการณ์ "เสี่ยง" แต่ก็ "คุ้มค่า"

"ท่านทูตมีผลงานดีมาก รัฐบาลต้องการอะไร ท่านสามารถทำได้ เมื่อทำผลงานได้ดีแม้จะอยู่ในที่อันตราย จึงได้รับโอกาสให้เลือกประเทศใหม่ที่จะไปอยู่"

คำตอบ คือ ประเทศไทย

"ประเทศไทยเป็นประเทศที่ไม่ได้มากันง่ายๆ ต้องเป็นคนตำแหน่งใหญ่หรือคนที่มีอายุมากแล้ว ถึงจะได้มา คุณมิคเคลเป็นทูตคนแรกที่อายุน้อยที่สุดเพียง 49 ปี ที่มาเมืองไทย"

มาดามรัตนวดีเล่าว่า คนไทยต้องภูมิใจ ที่ประเทศของเราใครๆ ก็อยากมาอยู่ นักการทูตตะวันตกแย่งกันมาเมืองไทย อย่างเดนมาร์ก ไทยเป็นอันดับที่ 2 รองจากนิวยอร์ก หรือที่เยอรมนี มีคนยื่นใบสมัครขอมาเป็นทูตที่เมืองไทยครั้งละ 60-80 คน

"ประเทศเรามีทุกอย่าง ทั้งความสะดวกสบาย การบริการ อาหารการกิน สถานที่ท่องเที่ยว การเดินทาง เอ็นเตอร์เทนเมนต์ เราเป็นฮับของทุกอย่าง"

เมื่อเป็นคนไทย แต่มาอยู่ประเทศไทยในฐานะ "มาดามแอมบาสเดอร์ เดนมาร์ก"

"มีหลายคนเคยล้อดิฉัน หญิงไทยหัวใจเดนมาร์ก" บอกพลางหัวเราะอย่างอารมณ์ดี ก่อนอธิบายว่า

"เราเป็นคนไทยอยู่ที่ไหนก็เป็นคนไทย การมาอยู่ที่นี่เหมือนการพบกันครึ่งทาง อะไรเป็นข้อดีของเมืองไทยดิฉันยึดถือ และอะไรที่เป็นข้อดีของเดนมาร์กดิฉันนำมาประยุกต์ให้เป็นประโยชน์กับประเทศ อะไรที่ทำให้เราสองประเทศมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันก็อยากจะทำให้ดีที่สุด"

ด้วยความที่เป็นเวิร์กกิ้งวูแมนไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนต้องมีงานทำเสมอและที่ประเทศไทยเธอเคยดำรงตำแหน่งประธานจัดงานออกร้านภริยาทูต โดยรายได้จากการจัดการมอบให้สภากาชาดไทย ล่าสุดกับตำแหน่ง "ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย มูลนิธิป้องกันอุบัติภัยแห่งเอเชีย"

"งานของเราคือการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยให้กับเด็ก ซึ่งเราได้ทุนจากหลายภาคส่วนทั้งในและต่างประเทศ มาทำโครงการในโรงเรียนให้เด็ก และครู เป็นกิจกรรมนอกหลักสูตรที่สร้างจิตสำนึกของการใช้หมวกกันน็อก นอกจากนี้ จะเน้นไปที่คนรุ่นใหม่ โดยใช้สื่อ

โซเชียลมีเดียในการประชาสัมพันธ์ ให้เด็กรุ่นใหม่มองหมวกกันน็อกให้ดูน่ารักสดใสไม่น่าเบื่อ"

ขณะนี้กำลังเจรจากับโรงเรียนในสังกัดสำนักคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกระทรวงศึกษาธิการเพื่อเข้าไปรณรงค์เบื้องต้นนำร่อง 30 โรงในกรุงเทพฯ

"ได้มาทำโครงการนี้ถือเป็นโอกาสดี เพราะตอนนี้เป็นภริยาทูต แทนที่จะเป็นแม่บ้าน มาช่วยทูตเราคนเดียว ซึ่งปัญหาคนที่เสียชีวิตบนถนนในประเทศไทยมีเยอะมาก อันดับ 2 ของโลก มันไม่ใช่สิ่งที่น่าภูมิใจ แต่เป็นสิ่งที่ควรตระหนัก และทุกคนควรจะร่วมกันแก้ไข"

และการทำงานทดแทนคุณแผ่นดินแม่ก็เป็น "ที่สุดในชีวิต" ของเธอ

"การได้มีโอกาสได้ใช้ความเป็นภริยาทูต ทำอะไรคืนให้กับคนไทย เป็นสิ่งที่มีความหมาย การรณรงค์ความปลอดภัย เป็นสิ่งที่ประเทศไทยต้องการมากที่สุด เพราะคนไทยเสียชีวิตมาก ปัญหานี้เป็นปัญหาของคนจนมากกว่าคนรวย อยากให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดี มันเป็นที่สุดในชีวิตของดิฉัน มีความสุขที่ได้ทำและมีความสุขที่สามีสนับสนุน" ว่าพลางก็หัวเราะออกมาอย่างสดใส

ครอบครัวศิลปิน

ถือว่าเป็นครอบครัวที่รักศิลปะมากๆท่านทูตมิคเคลวินเธอร์หลงรักการเล่นดนตรีและขับบิ๊กไบค์เป็นชีวิตจิตใจ ทุกวันเกิดของภริยา ท่านทูตมักจะแต่งโคลงให้เป็นของขวัญทุกปี อีกทั้งยังเคยแต่งเพลงที่มีเนื้อหาทำนองว่า "เธอผู้เป็นกำลังใจ" ให้กับมาดามด้วย

ขณะที่ มาดามรัตนวดีก็ชอบการเขียนหนังสือและวาดรูป แม้จะเพิ่งหัดวาดได้ปีกว่า แต่ฝีมือไม่เบาเลยทีเดียว

เธอบอกว่า การวาดรูปเป็นความสุขที่ทำให้รู้สึกสงบและผ่อนคลาย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook