เปิดร่างกม.คุมน้ำเมา ห้ามโฆษณา-ฝ่าฝืนโทษหนัก

เปิดร่างกม.คุมน้ำเมา ห้ามโฆษณา-ฝ่าฝืนโทษหนัก

เปิดร่างกม.คุมน้ำเมา ห้ามโฆษณา-ฝ่าฝืนโทษหนัก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
หมายเหตุ : กระทรวงสาธารณสุขได้ยกร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.....เพื่อเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาเห็นชอบในเร็วๆ นี้ เพื่อคุ้มครองผู้ที่ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ได้รับผลกระทบจากผู้ดื่ม ประกอบกับให้สอดรับในนโยบายของรัฐบาลใหม่ที่จะรณรงค์ให้ประชาชนลด ละ เลิกอบายมุข "มติชน" ขอคัดมาตราที่น่าสนใจมานำเสนอโดยสังเขป **ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มาตรา 3 ว่าด้วย นิยาม..... ผู้ติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หมายความว่า บุคคลที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จนก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพร่างกายหรือจิตใจ จนถึงขนาดมีความบกพร่องในหน้าที่การงาน การเรียน หรือการมีสัมพันธภาพกับผู้ใกล้ชิดหรือบุคคลรอบข้าง โดยการดื่มนั้นมีลักษณะที่ต้องเพิ่มปริมาณมากขึ้น และเมื่อหยุดดื่มจะมีอาการแสดงของการขาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร่างกาย ขาย หมายความรวมถึง จำหน่าย จ่าย แจก แลกเปลี่ยน ให้ เพื่อประโยชน์ในทางการค้า โฆษณา หมายความว่า การกระทำไม่ว่าโดยวิธีใดๆ ให้ประชาชนเห็น ได้ยิน หรือทราบข้อความเพื่อประโยชน์ในทางการค้า และให้หมายความรวมถึงการสื่อสารการตลาด อันได้แก่ การกระทำกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะขายสินค้า บริการหรือ ภาพลักษณ์องค์การ เช่น การประชาสัมพันธ์ การเผยแพร่ข่าวสาร การส่งเสริมการขาย การแสดงสินค้า การจัดหรือสนับสนุนให้มีการจัดกิจกรรมพิเศษ และการตลาดแบบตรงด้วย ข้อความ หมายความรวมถึง การกระทำให้ปรากฏด้วยตัวอักษร ภาพ ภาพยนตร์ แสง เสียง เครื่องหมายหรือการกระทำอย่างใดๆ ที่ทำให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าใจความหมายได้ ฉลาก หมายความว่า รูป รอยประดิษฐ์ กระดาษหรือสิ่งอื่นใดที่ทำให้ปรากฏข้อความเกี่ยวกับสินค้าซึ่งแสดงไว้ที่สินค้าหรือภาชนะบรรจุหรือหีบห่อบรรจุสินค้า หรือสอดแทรกหรือรวมไว้กับสินค้าหรือภาชนะบรรจุหรือหีบห่อบรรจุสินค้าและหมายความรวมถึงเอกสาร หรือคู่มือสำหรับใช้ประกอบกับสินค้า ป้ายที่ติดตั้งหรือแสดงไว้ที่สินค้าหรือภาชนะบรรจุหรือหีบห่อบรรจุสินค้านั้น มาตรา 5-15 ว่าด้วยคณะกรรมการคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ และคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับกระทรวง มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้ (1) เสนอนโยบาย แผนงาน และมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เกี่ยวกับการผลิต การนำเข้า การขาย การโฆษณา และการบริโภค ตลอดจนการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสภาพผู้ติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อคณะกรรมการ (2) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์และฉลาก พร้อมทั้งข้อความคำเตือนในฉลากของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผลิตหรือนำเข้า (3) เสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีในการกำหนดเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สถานที่ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ วิธีหรือลักษณะการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ต้องห้าม สถานที่หรือบริเวณห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสิ่งอื่นใดที่ใช้เป็นการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (4) วางระเบียบเกี่ยวกับการรับเงิน การจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงิน และการจัดหาผลประโยชน์ของกองทุน (5) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการบำบัดรักษาหรือฟื้นฟูสภาพผู้ติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (6) เสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีในการออกกฎกระทรวง ประกาศและระเบียบเพื่อปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ (7) ให้คำปรึกษาแนะนำ และประสานงานแก่หน่วยงานของรัฐและเอกชนเกี่ยวกับการควบคุมการผลิต การนำเข้า การขาย การโฆษณา และการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งการเสนอมาตรการในการป้องกันผลกระทบจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตลอดจนการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสภาพผู้ติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (8) เชิญบุคคล หน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรอื่นให้มาชี้แจง ส่งข้อมูลและเอกสาร หรือสถิติใดๆ ที่เกี่ยวกับการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ มาตรา 17-21 ว่าด้วยคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรุงเทพมหานคร และระดับจังหวัด มีอำนาจหน้าที่คล้ายคลึงกับคณะกรรมการระดับกระทรวง มาตรา 22 ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้กรรมการและอนุกรรมการเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 25 ให้ผู้ผลิตหรือนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปฏิบัติดังต่อไปนี้ (1) จัดให้มีบรรจุภัณฑ์สำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผลิต หรือนำเข้า ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง (2) จัดให้มีฉลาก พร้อมทั้งข้อความคำเตือนสำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผลิต หรือนำเข้า ทั้งนี้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการควบคุมกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา (3) การอื่นตามที่คณะกรรมการควบคุมกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา มาตรา 26 ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่ดังต่อไปนี้ (1) วัดหรือสถานที่สำหรับปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา (2) สถานบริการสาธารณสุขของรัฐ สถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล และร้านขายยาตามกฎหมายว่าด้วยยา (3) สถานที่ราชการ ยกเว้นบริเวณที่จัดไว้เป็นร้านค้าหรือสโมสร (4) สโมสรเยาวชน (5) หอพักตามกฎหมายว่าด้วยหอพัก (6) สถานศึกษา ตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ (7) ยานพาหนะขนส่งมวลชน (8) สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิงหรือร้านค้าในบริเวณนั้นๆ (9) ที่สาธารณะและทางสาธารณะตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข (10) สถานที่อื่นที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุม มาตรา 27 ห้ามมิให้ผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นอกวัน หรือเวลาที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุม มาตรา 28 ห้ามมิให้ผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่ายี่สิบห้าปีบริบูรณ์ หรือบุคคลที่มีอาการมึนเมาจนประพฤติวุ่นวายหรือครองสติไม่ได้ มาตรา 29 ห้ามมิให้ผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีการหรือในลักษณะดังต่อไปนี้ (1) ใช้เครื่องขายอัตโนมัติ (2) การเร่ขาย (3) โดยลดราคา แจก แถม ให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือแลกเปลี่ยนกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แล้วแต่กรณี (4) โดยแจก แถม ให้หรือแลกเปลี่ยนกับสินค้าอื่นหรือการให้บริการอย่างอื่นประกอบ (5) ให้หรือเสนอให้สิทธิในการเข้าชมการแข่งขัน การแสดง การให้บริการ การชิงโชค การชิงรางวัล หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดเป็นการตอบแทนแก่ผู้ซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือแก่ผู้นำหีบห่อหรือสลากหรือสิ่งอื่นใดเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาแลกเปลี่ยนหรือแลกซื้อ (6) แจกจ่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในลักษณะเป็นตัวอย่างของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือเพื่อให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์แพร่หลาย หรือเป็นการจูงใจสาธารณชนให้บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (7) โดยวิธีหรือลักษณะอื่นใดตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุม มาตรา 30 ห้ามมิให้ผู้ใดบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่หรือบริเวณดังต่อไปนี้ (1) วัดหรือสถานที่สำหรับปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา (2) สถานบริการสาธารณสุขของรัฐ สถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล และร้านขายยาตามกฎหมายว่าด้วยยา ยกเว้นบริเวณที่จัดไว้เป็นที่พักส่วนบุคคล (3) สถานที่ราชการ ยกเว้นบริเวณที่จัดไว้เป็นที่พักส่วนบุคคล หรือสโมสร หรือ การจัดเลี้ยงตามประเพณี (4) สโมสรเยาวชน (5) สถานศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ ยกเว้นบริเวณที่จัดไว้เป็นที่พักส่วนบุคคล หรือสโมสร หรือการจัดเลี้ยงตามประเพณี (6) ยานพาหนะขนส่งมวลชน (7) สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิงหรือร้านค้าในบริเวณนั้นๆ (8) ที่สาธารณะและทางสาธารณะตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข (9) สถานที่อื่นที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุม มาตรา 31 ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (1)ในสิ่งพิมพ์ เทปหรือวัสดุโทรทัศน์ ทางวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ ป้ายโฆษณา หรือสิ่งอื่นใดที่ใช้เป็นการโฆษณาได้ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุม (2) ในโรงมหรสพ หรือในการแสดง การละเล่น การประกวด การแข่งขัน การให้บริการ การใช้บุคคล หรือการประกอบกิจกรรมอื่นใดโดยมีวัตถุประสงค์หรือมีผลทำให้สาธารณชนเข้าใจว่าเป็นชื่อ หรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บทบัญญัติในวรรคหนึ่ง มิให้ใช้บังคับกับการโฆษณาที่ปรากฏในการถ่ายทอดสดรายการสดจากต่างประเทศทางวิทยุโทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ และการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสิ่งพิมพ์ซึ่งจัดพิมพ์นอกราชอาณาจักรโดยมิได้มีวัตถุประสงค์ให้นำเข้ามาขายในราชอาณาจักรโดยเฉพาะ มาตรา 32 ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาสินค้าที่ใช้เครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นเครื่องหมายของสินค้านั้น บทบัญญัติในวรรคหนึ่งให้ใช้บังคับกับการโฆษณาสินค้าโดยนำชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาตัดหรือต่อเติมข้อความเป็นเครื่องหมายของสินค้านั้นโดยประการที่จะทำให้เกิดการเข้าใจว่าเป็นการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นๆ มาตรา 33 ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณา หรือแสดงเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บนผลิตภัณฑ์อื่นใดที่ไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์หรือผลิตภัณฑ์ที่มิได้เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มาตรา 34 ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาชื่อ หรือเครื่องหมายของบริษัทห้างร้านผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือผู้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในลักษณะที่อาจทำให้แพร่หลายซึ่งชื่อหรือเครื่องหมายของบริษัทห้างร้านผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มาตรา 35 ให้จัดตั้งกองทุนขึ้นในสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เรียกว่า "กองทุนสนับสนุนการควบคุม ลด และเลิกการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์" มาตรา 36 กองทุนประกอบด้วยเงินและทรัพย์สิน ดังต่อไปนี้ (1) เงินที่รัฐบาลจ่ายให้เป็นทุนประเดิม (2) เงินบำรุงกองทุนที่รัฐบาลจัดสรรให้ตามมาตรา 37 (3) เงินบริจาคจากภาคเอกชนหรือองค์กรอื่น (4) รายได้จากการดำเนินกิจการที่สำนักงานดำเนินการโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเข้ากองทุน (5) ดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินของกองทุน มาตรา 37 ให้กองทุนมีอำนาจจัดเก็บเงินบำรุงกองทุนจากผู้มีหน้าที่เสียภาษีตามกฎหมายว่าด้วยสุรา ในอัตราร้อยละสองของภาษีที่เก็บจากสุราและตามกฎหมายว่าด้วยสุราเพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บและส่งเงินบำรุงกองทุน ให้กรมสรรพสามิตและกรมศุลกากรเป็นผู้ดำเนินการเรียกเก็บเงินบำรุงกองทุน เพื่อนำส่งเป็นรายได้ของกองทุน โดยไม่ต้องนำส่งกระทรวงการคลังเป็นรายได้แผ่นดิน ให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีตามกฎหมายว่าด้วยสุรา มีหน้าที่ส่งเงินบำรุงกองทุนตามอัตราที่กำหนดตามวรรคหนึ่ง พร้อมกับการชำระภาษีตามระเบียบที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกำหนด ในกรณีที่ผู้มีหน้าที่ส่งเงินบำรุงกองทุนไม่ส่งเงินบำรุงกองทุนหรือส่งภายหลังระยะเวลาที่กำหนด หรือส่งเงินบำรุงกองทุนไม่ครบตามจำนวนที่ต้องส่ง นอกจากจะมีความผิดตามพระราชบัญญัตินี้แล้ว ให้เสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละสองต่อเดือนของจำนวนเงินที่ไม่ส่งหรือส่งภายหลังระยะเวลาที่กำหนดหรือจำนวนเงินที่ส่งขาดไปแล้วแต่กรณี นับแต่วันครบกำหนดส่งจนถึงวันที่ส่งเงินบำรุงกองทุน มาตรา 51 ในการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ (1) เข้าไปในสถานที่ทำการของผู้ผลิต นำเข้า หรือขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สถานที่ผลิต นำเข้า หรือขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สถานที่เก็บเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในเวลาทำการของสถานที่นั้น รวมถึงเข้าตรวจสอบยานพาหนะเพื่อตรวจสอบการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ (2) ยึดหรืออายัดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือผู้ขายที่ฝ่าฝืนหรือไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ (3) มีหนังสือเรียกบุคคลใดมาให้ถ้อยคำหรือให้ส่งเอกสารหรือวัตถุใดมาเพื่อประกอบการพิจารณา มาตรา 55 ผู้ผลิตหรือนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 25 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา 56 ผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยฝ่าฝืนมาตรา 26 หรือ มาตรา 27 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา 57 ผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยฝ่าฝืนมาตรา 28 หรือ มาตรา 29(1) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา 58 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 29 (2) (3) (4) (5) (6) หรือ (7) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา 59 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 30 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา 60 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 31 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากต้องระวางโทษตามวรรคหนึ่งแล้ว ผู้ฝ่าฝืนยังต้องระวางโทษปรับอีกวันละไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง มาตรา 61 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 32 มาตรา 33 หรือมาตรา 34 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากต้องระวางโทษตามวรรคหนึ่งแล้ว ผู้ฝ่าฝืนยังต้องระวางโทษปรับอีกวันละไม่เกินห้าพันบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง มาตรา 62 ผู้ใดต่อสู้หรือขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 51 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ผู้ใดไม่อำนวยความสะดวกแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ อันเป็นการไม่ปฏิบัติตาม มาตรา 53 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท มาตรา 63 บรรดาความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ให้คณะกรรมการควบคุม มีอำนาจเปรียบเทียบได้...เมื่อผู้กระทำความผิดได้เสียค่าปรับตามที่เปรียบเทียบแล้วให้ถือว่าคดีเลิกกัน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

อัลบั้มภาพ 2 ภาพ

อัลบั้มภาพ 2 ภาพ ของ เปิดร่างกม.คุมน้ำเมา ห้ามโฆษณา-ฝ่าฝืนโทษหนัก

เปิดร่างกม.คุมน้ำเมา ห้ามโฆษณา-ฝ่าฝืนโทษหนัก
เปิดร่างกม.คุมน้ำเมา ห้ามโฆษณา-ฝ่าฝืนโทษหนัก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook