เรื่องเงินกับคู่แต่งงานใหม่ และสูตรวางแผนการเงินในครอบครัว

เรื่องเงินกับคู่แต่งงานใหม่ และสูตรวางแผนการเงินในครอบครัว

เรื่องเงินกับคู่แต่งงานใหม่ และสูตรวางแผนการเงินในครอบครัว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การบริหารการเงินในบ้าน เป็นตัวชี้วัดหนึ่งที่ชี้ให้เห็นถึงความมั่นคงทางการเงินของครอบครัว ที่บอกว่าเรื่องเงินไม่เข้าใครออกใครนั้นเป็นเรื่องจริง เพราะปัญหาเรื่องเงินนับเป็นปัญหาหลัก ๆ และปัญหาแรก ๆ ที่ทำให้เกิดปัญหาอื่นตามมา มันไม่เหมือนกับตอนที่คน 2 คนคบหาเป็นคู่รัก ที่ต่างคนต่างมีอิสระเต็มที่ในเงินของตัวเอง แต่การสร้างครอบครัวร่วมกันมันหมายความว่าทั้ง 2 จะต้องช่วยเหลือกัน แม้ว่าบางบ้านจะมีประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำของรายได้สามี-ภรรยาค่อนข้างสูง แต่ทุกอย่างก็ต้องคุยและเคลียร์กันให้เรียบร้อยก่อนที่จะตกลงปลงใจเดินเข้าประตูวิวาห์

จุดนี้อาจทำให้คู่แต่งงานใหม่ไม่ค่อยจะสันทัดในการบริหารเงินเท่าไรนัก ต่างคนต่างก็ยังใหม่ในวงการคนมีครอบครัว มองความรักแค่รักกันก็แต่งงานสร้างครอบครัว จึงค่อนข้างจะฉาบฉวยกับปัจจัยอื่น ๆ ที่อยู่เบื้องหลังคำว่าครอบครัวเหมือนกัน โดยเฉพาะเรื่องการเงิน ก่อนแต่งงานก็คิดแหละว่าการใช้เงินของตนเองต่อจากนี้จะไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว แต่ก็พลาดรายละเอียดย่อย ๆ ไปมากเหมือนกัน จึงทำให้หลายคู่ไปกันไม่รอดหลังจากใช้ชีวิตคู่ ซึ่งสาเหตุก็เกิดจากปัญหาการจัดการการเงินภายในครอบครัวที่ไม่ลงตัว ไม่ได้วางแผนหรือสร้างข้อตกลงร่วมกันก่อนจะใช้ชีวิตคู่นั่นเอง

ดังนั้น ทั้งคู่จึงจำเป็นต้องหาสูตรในการบริหารเงินในบ้านมาใช้เป็นมาตรฐานในการเก็บเงินสร้างครอบครัวร่วมกัน ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะใช้วิธีใดก็ตาม สิ่งสำคัญคือกติกาการเงินนั้นจะต้องไม่ทำให้ฝ่ายใดผ่ายหนึ่งอึดอัดใจ และจะต้องเป็นการตกลงร่วมกันอย่างแท้จริง เพราะเรื่องเงินเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องวางแผนกันในระยะยาวเพื่อครอบครัวที่มั่นคง

สูตรหาร 2 นอกนั้นกระเป๋าใครกระเป๋ามัน
คู่รักที่มักจะหาร 2 เท่า ๆ กันมาตั้งแต่ช่วงที่ยังคบหาเป็นแฟน เมื่อแต่งงานแล้วก็อาจจะยังคงหารครึ่งแบ่งกันจ่ายอยู่เหมือนเดิม ส่วนที่นอกเหนือจากนั้นก็ให้อิสระค่าใช้จ่ายส่วนตัวบุคคลของอีกฝ่ายเต็มที่ แบบนี้มันก็ดูยุติธรรมดี แต่ช่วงแรก ๆ อาจต้องระวังเรื่องการคิดคำนวณค่าใช้จ่ายทั้งหมดสักหน่อย เพราะตอนที่ยังเป็นแค่แฟนกันนั้นหลังจากเดตเสร็จก็แยกย้ายกลับบ้านใครบ้านมัน แต่พอแต่งงานแล้วและต้องใช้ชีวิตร่วมกันใต้ชายคาเดียวกัน มันมีรายละเอียดมากกว่านั้น อย่าลืมพวกค่าใช้จ่ายยิบย่อยต่าง ๆ เงินออม เงินสำรอง เงินลงทุน หรือประกันชีวิตของคนในครอบครัว ในขณะเดียวกัน ค่าใช้จ่ายบางอย่างที่มันอาจโอนเอนไปทางฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากกว่า คุยกันก่อนซื้อจะได้ไม่มีปัญหา

สูตรรวมเงินไว้ที่กองกลาง ใช้เงินกระเป๋าเดียวกัน ใครสักคนบริหารเงิน
เป็นวิธีดั้งเดิมที่หลายครอบครัวคุ้นเคยดี แบบที่พ่อบ้านหลายคนมักจะนำเงินเดือนของตน (เกือบ) ทั้งหมด มาให้แม่บ้านเป็นคนเก็บและจัดการเรื่องค่าใช้จ่ายในบ้านทั้งหมด แม่บ้านก็นำเงินตัวเองเข้ากองกลางเช่นกัน ส่วนค่าใช้จ่ายส่วนตัวของสามี ภรรยาจะเป็นคนจัดสรรให้อีกที จริง ๆ แล้ววิธีนี้ฝ่ายชายหลายบ้านอาจจะไม่ชอบ เพราะรู้สึกว่าตนเองขาดอิสระทางการเงินในส่วนที่ตนเป็นคนหามา แต่ถูกมัดมือชกมาตั้งแต่แรก มันจึงเป็นเรื่องที่ควรจะคุยตกลงกันก่อนที่จะเริ่มบริหารเงินของครอบครัวก้อนแรก ไม่อย่างนั้นจะเปิดใจคุยกันยากแล้ว แม้วิธีนี้จะช่วยให้หมดปัญหาเรื่องการบริหารค่าใช้จ่ายภายในบ้าน เพราะทุกอย่างใช้เงินกองกลาง แต่เวลามีปัญหากัน เรื่องนี้จะกลายเป็นประเด็นได้ทันที

สูตรแบ่งความรับผิดชอบตามค่าใช้จ่าย
สูตรนี้จะไม่นำเงินรายได้ของทั้งสองคนมารวมกัน แต่จะแบ่งความรับผิดชอบตามประเภทค่าใช้จ่ายแทน ส่วนใหญ่แล้วสูตรนี้เกิดขึ้นกับครอบครัวที่สามี-ภรรยารายได้แตกต่างกันค่อนข้างมาก และอาจรวมไปถึงครอบครัวที่ฝ่ายหนึ่งไม่ได้ทำงานนอกบ้าน แต่เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้านที่อยู่บ้านเลี้ยงลูก นั่นหมายความว่ารายจ่ายทั้งหมด (หรือรายจ่ายหลัก ๆ) ก็จะเป็นหน้าที่ของคนที่หาเงินเข้าบ้านไปโดยปริยายนั่นเอง ส่วนฝ่ายที่มีรายได้น้อยกว่าก็จะรับผิดชอบพวกค่าใช้จ่ายในบ้านไป เพื่อแบ่งเบาภาระของอีกฝ่าย เรื่องเงินก็จะลงตัวได้ ทั้งนี้ทั้งนั้น การบริหารเงินด้วยสูตรนี้จะต้องคุยหรือตกลงกันเรียบร้อยแล้วก่อนแต่งงาน ไม่อย่างนั้นมันจะเป็นเหตุให้โต้เถียงว่าฉันจ่ายมากเธอจ่ายน้อยได้

สูตรกองกลางครึ่ง ใช้จ่ายส่วนตัวครึ่ง
สูตรนี้ดูจะเป็นสูตรที่เป็นกลางและอะลุ่มอล่วยที่สุด แต่ละฝ่ายจะแบ่งเงินรายได้ของตนเองออกมาครึ่งหนึ่งเพื่อโยนเข้าบัญชีกองกลางไว้ โดยบัญชีกองกลางนี้ก็จะถูกนำไปบริหารเป็นกองเล็ก ๆ อีกที เช่น กองหนึ่งเป็นค่าใช้จ่ายรายเดือน กองหนึ่งเป็นเงินออม กองหนึ่งเป็นเงินลงทุน ส่วนรายได้อีกครึ่งหนึ่งที่ถูกแบ่งมาเพื่อเป็นกองกลางของครอบครัวแล้วนั้น คนที่หาเงินก็เก็บไว้กับตัวเองเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัวได้ มันจึงเป็นวิธีที่ทำให้แต่ละฝ่ายยังมีพื้นที่ส่วนตัวของตัวเอง มีอิสระที่จะใช้เงินที่ตนเองหามาทำในสิ่งที่ตนเองอยากทำ ส่วนเงินกองกลางของครอบครัวก็พอเหมาะพอควรสำหรับวางแผนในขั้นอื่น ๆ ต่อไป ไม่ฝืนใจกันมากเกินไป แบบที่ชีวิตหลังแต่งงานไม่มีความสุขเลย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook