วางแผนจ่ายภาษีสำหรับคนมีคู่ จ่ายถูกลงและถูกกฎหมาย

วางแผนจ่ายภาษีสำหรับคนมีคู่ จ่ายถูกลงและถูกกฎหมาย

วางแผนจ่ายภาษีสำหรับคนมีคู่ จ่ายถูกลงและถูกกฎหมาย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เทศกาลแห่งการยื่นภาษีวนลูปกลับมาอีกครั้งแบบนี้ กลุ่มคนผู้มีรายได้ทั้งมนุษย์เงินเดือนและฟรีแลนซ์หลายคนน่าจะทำเรื่องยื่นแบบแสดงรายการภาษีไปแล้วเรียบร้อย แต่อีกกลุ่มน่าจะกำลังเตรียมหาเอกสารใบทวิ 50 ที่จำไม่ได้ว่าไปเก็บไว้ส่วนไหนของบ้านบ้าง ก็นะ ยุคนี้ต้องมีตั้ง 3 อาชีพ อาชีพหลัก อาชีพรอง อาชีพเสริม รับรายได้หลายทางใบหัก ณ ที่จ่ายก็จะเยอะหน่อย และบางส่วนก็กำลังง่วนอยู่กับการคำนวณรายได้สุทธิว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีแล้วหรือไม่ ถ้าอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องเสีย จะเสียในอัตราภาษีฐานไหน เพราะรายได้สุทธิที่เพิ่มมาเพียง 1 บาท ก็สามารถเปลี่ยนฐานภาษีได้แล้ว ซึ่งจะทำให้คุณต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงขึ้น

ในกรณีนี้ สิ่งที่จะช่วยให้คุณจ่ายภาษีได้น้อยลงอย่างถูกกฎหมาย คือพวกค่าใช้จ่ายและสารพัดค่าลดหย่อนต่าง ๆ ในส่วนของค่าลดหย่อนนั้น คนมีคู่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนคู่สมรสได้ โดยจะต้องเป็นคู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย (กรณีที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสไม่สามารถลดหย่อนคู่สมรสได้ ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีสถานภาพ “โสด”) และคู่สมรสจะต้องไม่มีรายได้ในปีภาษีนั้น จึงจะสามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้ได้ 60,000 บาทต่อปีภาษี

แต่ถ้าหากว่าคู่สามีภรรยามีรายได้ทั้งคู่ ก็ต้องช่วยกันวางแผนเรื่องภาษี เพื่อที่จะได้เสียภาษีได้ถูกลงตามที่กฎหมายให้สิทธิประโยชน์ ไม่ถูกเรียกตรวจสอบย้อนหลัง ไม่ต้องเสียภาษีย้อนหลัง หรือไม่ต้องเสียเบี้ยปรับและเสียเงินเพิ่มให้ปวดใจ ซึ่งจริง ๆ แล้วคู่สมรสมีทางเลือกในการวางแผนภาษีและยื่นแบบได้หลายแบบกว่าคนโสด จึงต้องเลือกอย่างเหมาะสม เพื่อให้ได้ประโยชน์ทางภาษีสูงสุด หรือก็คือประหยัดภาษีได้มากที่สุด จ่ายภาษีถูกลง ภายใต้เงื่อนไขของกฎหมายเป็นสำคัญ

การยื่นแบบแสดงรายการภาษีของคนมีคู่ ทำแบบไหนได้บ้าง

1. “แยกยื่น” แบบแสดงรายการภาษี

  • คู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสกัน สามารถแยกยื่นแบบแสดงรายการภาษีได้ นั่นก็คือต่างคนต่างยื่นแบบด้วยรายได้ส่วนตัวของตนเองโดยไม่ต้องนำรายได้มารวมกัน และแต่ละคนก็สามารถใช้สิทธิหักค่าลดหย่อนและค่าใช้จ่ายแยกกันตามกฎหมายได้เลย
  • วิธีนี้เหมาะสำหรับคู่สมรสที่มีรายได้พอ ๆ กัน มีรายได้อยู่ในฐานภาษีเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน การแยกยื่นจะเป็นการกระจายหน่วยภาษี ทำให้ทั้งคู่ได้รับยกเว้นภาษีสำหรับเงินได้สุทธิ 150,000 บาท และต่างฝ่ายเสียภาษีของตนเองในอัตราที่เหมาะสม นอกจากนี้การแยกยื่นจะช่วยให้เกิดความสะดวกกับทั้ง 2 ฝ่าย หากคุยกันแล้วว่าไม่ต้องการให้อีกฝ่ายมายุ่งเกี่ยวการบริหารเงินส่วนตัวของตนเอง
  • สำหรับคู่สมรสที่มีรายได้จากการทำธุรกิจร่วมกัน สามารถแบ่งรายได้เพื่อยื่นแบบแสดงรายการภาษีฝ่ายละ 50 เปอร์เซ็นต์ได้ รวมถึงใช้สิทธิค่าลดหย่อนภาษีที่ใกล้เคียงกัน การแยกยื่นจะสะดวกกับทั้ง 2 ฝ่ายมากกว่า และทำให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีทั้งคู่

2. “รวมยื่น” แบบแสดงรายการภาษี

  • วิธีนี้เหมาะสำหรับคู่สมรสที่มีรายได้ต่างกันมาก จึงนำรายได้ของทั้งคู่มารวมเข้าด้วยกัน แล้วให้ฝ่ายที่มีรายได้มากกว่าเป็นผู้ยื่นแบบ เพื่อรวมสิทธิค่าลดหย่อนภาษีต่าง ๆ ของฝ่ายที่มีรายได้น้อยกว่า ซึ่งใช้ประโยชน์ไม่เต็มสิทธิ ไปให้อีกฝ่ายที่มีภาระภาษีสูงกว่าได้ใช้ประโยชน์แทน
  • หรือกรณีที่คู่สมรสไม่มีรายได้ แต่มีค่าลดหย่อนมากก็ให้ยื่นภาษีรวมกัน เพื่อให้ฝ่ายที่มีรายได้สุทธิถึงเกณฑ์ที่จะต้องเสียภาษีจะได้ใช้ประโยชน์จากค่าลดหย่อนภาษีของคนที่ไม่มีรายได้ เช่น ฝ่ายที่ไม่มีรายได้จากการทำงานประจำ แต่สามารถหักค่าลดหย่อนจากการเลี้ยงดูบิดามารดา การเลี้ยงดูบุตร หากแยกยื่นจะเป็นการใช้ค่าลดหย่อนที่ไม่คุ้มค่าในการประหยัดภาษี
  • ตัวอย่างการรวมยื่นแบบแสดงรายการภาษี กรณีที่รวมยื่นแบบแสดงรายการในนามสามี ให้ภรรยานำรายได้ทั้งหมดของตนไปรวมกับรายได้ทั้งหมดของสามี แล้วให้สามีเป็นผู้ยื่นแบบ และกรณีที่รวมยื่นแบบแสดงรายการในนามภรรยา ให้สามีนำรายได้ทั้งหมดของตนไปรวมกับรายได้ทั้งหมดของภรรยา แล้วให้ภรรยาเป็นผู้ยื่นแบบ

3. แยกยื่นแบบแสดงรายการภาษีเฉพาะเงินเดือนของตัวเอง ส่วนรายได้อื่น ๆ นำไปรวมยื่นในนามอีกฝ่าย

  • เป็นวิธีที่ให้คนที่มีรายได้มากกว่ายื่นเฉพาะรายได้จากงานประจำของตัวเอง แล้วนำรายได้อื่น ๆ ที่นอกเหนือจากงานประจำไปรวมยื่นกับคู่สมรสคนที่มีรายได้น้อยกว่า เพื่อที่หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนในส่วนของรายได้จากงานประจำเต็มสิทธิทางกฎหมายแล้ว จะได้เสียภาษีแค่ในส่วนของรายได้จากงานประจำ ซึ่งอาจอยู่ในฐานภาษีที่ต่ำลง
  • ส่วนคนที่มีรายได้น้อยกว่า ให้ยื่นรายได้ของตัวเองรวมกับเงินได้อื่น ๆ เช่น ค่าเช่าบ้าน ดอกเบี้ย เงินปันผล เงินรับจ้างทำของ เงินได้จากวิชาชีพอิสระ และเงินได้ประเภทอื่น ๆ เพื่อที่จะได้ใช้สิทธิค่าลดหย่อนและค่าใช้จ่ายตามกฎหมายได้ เป็นการแบ่งเบาภาระภาษีที่ต้องจ่าย ซึ่งจะช่วยประหยัดภาษีได้มากทีเดียว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook