อย่าเพิ่งตัดสินใจ “หย่า” ถ้ายังไม่ได้ลองทำตามนี้!

อย่าเพิ่งตัดสินใจ “หย่า” ถ้ายังไม่ได้ลองทำตามนี้!

อย่าเพิ่งตัดสินใจ “หย่า” ถ้ายังไม่ได้ลองทำตามนี้!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เรื่องการหย่าร้างของเหล่าอดีตสามี-ภรรยา มักจะเป็นที่สนใจของสังคมเสมอ สำหรับอดีตคู่รักคนธรรมดา ก็จะตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในสังคมละแวกบ้าน สังคมที่ทำงาน ส่วนถ้าเป็นอดีตคู่รักคนดัง ก็อย่างที่เห็น มันเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์เลยทีเดียว เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง ทั้งด้านบวกและด้านลบ รวมถึงการพยายามจะเชื่อมโยง จับต้นชนปลายสถานการณ์ต่างมากมายว่ามันเป็นปัจจัยที่ทำให้คนทั้งคู่ตัดสินใจเซ็นใบหย่ากัน ไม่ว่าจะเคยรักกันมากแค่ไหนก็ตาม จะเห็นว่าการมีความรักและเริ่มต้นใช้ชีวิตคู่ ยุคนี้มันอาจจะไม่ยากเท่ากับการรักษาสถานะครอบครัว

ต้องบอกว่าเรื่องของการหย่าร้างในยุคสมัยปัจจุบัน มีตัวเลขเพิ่มขึ้นทุกปี และสวนทางกับการจดทะเบียนสมรสด้วยซ้ำ สถิติจากกรมการปกครอง เปิดเผยตัวเลขการจดทะเบียนหย่าภายในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2555-2565) คนไทยมีการจดทะเบียนหย่ารวม 1,322,145 คู่ นับเฉพาะปี 2565 ที่ผ่านมา มีอดีตคู่รักคนจดทะเบียนมากถึง 1146,159 คู่ จากตัวเลขดังกล่าว จะเห็นว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของการหย่าร้างในสังคมไทยจะดูน่าเป็นห่วงและสร้างความหวั่นวิตกให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่มากก็น้อยในทุกปี

อัตราการหย่าร้างที่สูงขึ้นสะท้อนให้เห็นอะไรบ้าง ประการแรกก็คือ การที่คนไทยมีมุมมองเรื่องการหย่าร้างเปลี่ยนแปลงไป เมื่อมีปัญหาในความสัมพันธ์ คู่รักสามารถตัดสินใจที่จะไม่ไปต่อกันได้ง่ายขึ้น ปัจจัยอาจมาจากการที่หลายครอบครัวไม่มีลูกให้ต้องมานั่งวิตกกังวล (สอดคล้องกับอัตราการเกิดต่ำ) คนเริ่มไม่สนใจคำครหาจากสังคมที่พร้อมตราหน้าพวกที่ต้องยุติความเป็นครอบครัวว่าเป็นพวกล้มเหลวทางความรัก เมื่อสิ่งที่คนอื่นพูดไม่สำคัญเท่าสิ่งที่ตัวเองต้องเผชิญ หรือคนมีความอดทนกันน้อยลง หรือคนเข้าใจเรื่องครอบครัวมากขึ้นว่าถ้าต้องอยู่กันไปอย่างไม่มีความสุข ควรจะหาทางออกด้วยการยุติการใช้ชีวิตคู่หรือไม่ หรือเพราะผู้หญิงพึ่งพาตนเองได้มากกว่าในอดีต

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะยุคนี้หรือยุคไหน การหย่าร้างก็ไม่ใช่เรื่องปกติอยู่ดี มันอาจจะเป็นเรื่องที่สังคมเปิดกว้างและยอมรับกันได้มากขึ้น แต่มันก็ยังสะท้อนให้เห็นปัญหาบางอย่างที่นำพาคนจำนวนมากไปสู่การหย่าร้างในที่สุด ถึงอย่างนั้น ก่อนที่บรรดาอดีตคู่รักจะไปถึงจุดที่เซ็นใบหย่ากันง่าย ๆ หลายคู่คงผ่านการประคับประคองกันมามากแล้ว เพราะคงไม่มีใครอยากจะจดทะเบียนสมรสเล่น ๆ เพื่อที่จะมาหย่ากันง่าย ๆ ที่สุดแล้วการถอยห่างจากกันและต่างคนต่างเดินคงทำให้ทั้งคู่มีความสุขได้มากกว่าที่เป็น

แต่ถ้าคนทั้งคู่ยังไม่ได้พยายามจะปรับเปลี่ยนอะไรเลยแม้แต่น้อย ก็อย่าเพิ่งตัดสินใจที่จะหย่าเลย เพราะการหย่าร้างควรเป็นวิธีสุดท้ายที่ทำหลังจากที่พยายามปรับตัวเข้าหากันแล้วไม่สำเร็จมากกว่า และพื้นฐานของการสมรสใช้ชีวิตคู่ คือการพยายามปรับตัวเข้าหากัน เปลี่ยน “ฉัน” เปลี่ยน “เธอ” ให้เป็น “เรา”

ทุกปัญหาไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ควรต้องพยายามที่จะแก้ไขก่อน

ปัจจัยที่จะทำให้ครอบครัวยังคงอยู่ต่อไปได้นั้น แค่ความรักที่คน 2 คนมีต่อกันมันยังไม่พอ อดีตสามี-ภรรยาจำนวนไม่น้อยต้องตัดสินใจแยกทางกันไปทั้งที่พวกเขายังรักกันอยู่ด้วยซ้ำ ในโลกของความเป็นจริง อะไร ๆ ต่างก็ไม่ได้เป็นใจกับชีวิตเราไปเสียทุกอย่าง ต่อให้คน 2 คนรักกันมากแค่ไหน แต่คำว่า “ชีวิตคู่” ซึ่งหมายถึงการเดินทางในระยะยาวมันมีปัจจัยที่มากกว่าความรักที่เป็นตัวแปรในความสัมพันธ์ “การอยู่ด้วยกัน” ให้รอด มีสิ่งที่ต้องปรับเข้าหากันค่อนข้างมาก ทั้งคู่อาจต้องพยายามทิ้งความเป็นตัวเองลงครึ่งหนึ่งเพื่อปรับตัวให้เข้ากันได้กับอีกฝ่าย และเมื่อทั้งคู่อยู่ในจุดที่ชินกันมากจนเกรงใจกันน้อยลง พฤติกรรมทุกอย่างของคนทั้งคู่จะเริ่มบั่นทอนกันและกัน

ในการแก้ไขปัญหา มันต้องรู้ก่อนว่าปัญหาคืออะไร ไม่ว่าจะเรื่องเล็กน้อยแค่ไหน ถ้าเริ่มขัดใจกันขึ้นมาก็ต้องรีบเคลียร์ อย่าเก็บทุกอย่างไว้จนกลายเป็นระเบิดเวลา คุยกันด้วยเหตุผลนำอารมณ์ ว่า “ฉัน” ต้องทำอย่างไร และ “คุณ” ต้องทำอย่างไรเพื่อให้ “เรา” เข้ากันได้ดีกว่านี้ และยังคงรักษาสถานะครอบครัวเอาไว้ได้ แต่ถ้าจนแล้วจนรอด คนทั้งคู่ไม่อาจจะปรับอะไรได้อีกแล้ว เพราะมันเริ่มที่จะสูญเสียความเป็นตัวเองมากขึ้นทุกที มันอาจมาจากการที่ “ความรู้สึก” ที่มีต่อกันมันไม่เหมือนเดิม ความรักที่มีให้กันมันจางหายไป ถ้าเป็นเช่นนี้ แก้ปัญหาที่หนึ่งได้แล้ว มันจะมีปัญหาที่สอง สาม สี่ ห้า ตามมาหรือไม่ ถ้าต้องวนลูปอยู่แบบนี้ซ้ำไปซ้ำมา จะโอเคกันแค่ไหนล่ะ

ข้อตกลงของการใช้ชีวิตคู่ เสมอต้นเสมอปลายมากแค่ไหน

ในทุก ๆ ความสัมพันธ์ที่มนุษย์เข้าไปมีส่วนร่วม ย่อมต้องมีกรอบสำหรับกำหนดพฤติกรรมและการกระทำต่าง ๆ ให้ทุกคนปฏิบัติตามเพื่อความสงบสุขโดยรวมอยู่แล้ว ในการใช้ชีวิตคู่ มันอาจจะเป็นข้อตกลงภายในครอบครัวที่คนตั้งแต่ 2 ฝ่ายขึ้นไปได้ร่วมพูดคุย และตกลงร่วมกันว่าอะไรที่ทำได้ อะไรที่ต้องทำ อะไรที่ทำไม่ได้ หรือพยายามอย่าทำอะไรบ้างเพื่อที่จะได้ไม่ต้องทะเลาะกัน มันคือการหาจุดพบกันตรงกลาง ยินดีที่จะลดความเป็นตัวเองลง ทำอะไรตามใจฉันเพราะฉันสะดวกแบบนี้ให้น้อยลง ถ้ามันจะนำไปสู่การไม่เข้าใจและทะเลาะเบาะแว้งกัน การมีข้อตกลงร่วมกันจะช่วยให้คน 2 คนมีแนวทางการใช้ชีวิตคู่แบบครอบครัวได้ชัดเจนขึ้น

นั่นหมายความว่ามันจะต้องมีทางออกเมื่อมีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดทำผิดข้อตกลง รวมถึงการพยายามหาสาเหตุว่าทำไมถึงเริ่มเมินข้อตกลงนั้น ถ้าเป็นเพราะความรักของทั้งคู่จืดจางไปตามกาลเวลา ต้องเติมความหวานให้กันไหม ถ้าเป็นเพราะเราเกรงใจกันน้อยลง เราต้องเอาใจใส่ความรู้สึกกันมากขึ้นไหม หรือมันเป็นเพราะความรู้สึกที่มีให้กันมันไม่เหมือนเดิม ทำให้ความสุขที่เคยมีวันนี้มันไม่มีแล้ว เราต้องพยายามเข้าหากันกว่านี้ไหม แก้แล้วดีขึ้นไหม ถ้าไม่ดีขึ้น นานวันไปความอดทนจะยังจำเป็นอยู่หรือเปล่า ยิ่งปรับตัวเข้าหากันก็ยิ่งทุกข์ทรมานและชังกันมากกว่าเดิม แล้วสุดท้ายแล้ว การหย่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดของปัญหาหรือไม่

ประคับประคองหรือหย่าร้าง แบบไหนสร้างบาดแผลได้มากกว่ากัน

เนื่องจากคนรุ่นใหม่ ๆ มีทัศนคติด้านการหย่าร้างแตกต่างออกไปจากเมื่อก่อน ตรงที่พวกเขาไม่ได้มองว่าการหย่าร้างมันเป็นความล้มเหลว เป็นเรื่องที่ควรจะหลีกเลี่ยงเพราะมันเลวร้ายมาก ๆ หรือเป็นปัญหาสังคมขนาดที่ต้องอดทนประคับประคองชีวิตคู่ต่อไปเรื่อย ๆ ทั้งที่ตัวเองแตกสลายมากมายกับการอยู่อย่างไม่มีความสุข ในทางกลับกัน การอดทนรักษาสถานะครอบครัวต่อไปต่างหากที่บั่นทอนชีวิตของทุกคนในบ้าน ในเมื่อทุกคนต่างก็รู้ ๆ กันอยู่ว่าครอบครัวตัวเองไม่ได้มีความสุขกันเหมือนเดิม และยังหลอกตัวเองไปวัน ๆ ว่าสามารถประคับประคองให้ครอบครัวยังอยู่ต่อไปได้ ทั้งที่มันไม่มีอะไรดีขึ้นเลยหลังจากที่สามี-ภรรยาหันหน้ามาแก้ปัญหาร่วมกันแล้ว

มุมมองจากพ่อเลี้ยงเดี่ยวหรือแม่เลี้ยงเดี่ยวหลาย ๆ คน พวกเขาสามารถเลี้ยงลูกให้ดีได้เอง ทุกอย่างมันอยู่ที่ตัวคนเลี้ยงว่าอธิบายเหตุผลและให้ความอบอุ่นกับเด็กดีแค่ไหน เด็กหลายคนที่เติบโตมากับพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวหรือพ่อแม่ที่หย่ากันแล้วแต่ทำหน้าที่พ่อแม่ ก็เห็นว่าพ่อแม่ตัวเองสามารถทำหน้าที่ได้ไม่ขาดตกบกพร่อง ที่สำคัญ ทุกคนไม่ต้องทนอยู่กับบรรยากาศที่บั่นทอนสุขภาพจิต เด็กหลายคนรู้ดีว่าพ่อแม่มีปัญหากันทุกวัน และพ่อแม่ต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการประคับประคองสถานะครอบครัว เพื่อไม่ให้นำไปสู่การหย่าร้างที่สร้างบาดแผลให้กับทุกฝ่าย หรือถ้าหย่าแล้วปัญหาคาราคาซังมันจบทันที และโดยรวมทุกคนมีความสุข อยู่กันอย่างสงบขึ้นไหม

เพราะถ้าคู่สามี-ภรรยาเลือกที่จะประคับประคองสถานะครอบครัวไว้ต่อไป มันก็ต้องมีการวัดผลลัพธ์ด้วยว่าหลังจากนั้นมันมีอะไรดีขึ้นบ้าง ปัญหาถูกแก้ไขหรือยัง ข้อตกลงที่ทั้งคู่ตั้งขึ้นเพื่อใช้ประนีประนอม มีใครที่ยอมปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตามที่คุยกันไว้ตอนที่จะร่วมกันแก้ปัญหาหรือเปล่า เพราะไม่ใช่ทุกคนที่พร้อมจะปรับเปลี่ยนความเป็นตัวเองเพื่ออีกฝ่ายหลังจากที่หันหน้ามาเคลียร์ปัญหากัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคนหมดรักกันแล้ว แล้วการรักษาสถานะครอบครัวจะยังคงมีประโยชน์อะไร หากคนทั้งคู่ยังคอยสร้างบาดแผลให้กันอย่างต่อเนื่องด้วยเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ขอกันแล้วแต่ไม่ได้รับการตอบสนองเช่นนี้ นี่จึงเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาว่าแบบไหนที่ทุกข์ทรมานกว่ากัน

ระวัง! บุคคลที่ 3 “คนนอก” ปรึกษาได้ แต่ท้ายที่สุดเราต้องตัดสินใจเอง

ส่วนใหญ่แล้ว เวลาที่คู่สามี-ภรรยามีปัญหากัน ก่อนที่พวกเขาจะหันหน้ามาคุยกันเพื่อหาทางออกของปัญหา พวกเขามักจะนำปัญหาเหล่านี้ไปพูดคุยกับคนข้างนอกก่อน อาจจะเริ่มต้นด้วยการพูดคุยในกลุ่มเพื่อน จากนั้นก็เริ่มให้เพื่อนเป็นที่ระบายความในใจหลังจากเผชิญปัญหา เริ่มให้เพื่อนช่วยออกความเห็นหรือคำแนะนำ ตลอดจนการถามตรง ๆ กับเพื่อน ผู้ซึ่งเป็นคนที่รับรู้ข้อมูลหลาย ๆ อย่างตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาว่าตนเองควรจะไปต่อหรือพอเท่านี้ หรือหลาย ๆ คนอาจเริ่มนำกลับไปปรึกษากับครอบครัวเดิมของตัวเอง ถึงปัญหาที่ตนเองกำลังเผชิญอยู่ในเวลานี้ คำตอบที่ได้มีตั้งแต่การแนะนำวิธีแก้ปัญหาที่ใช้ได้จริง และการตัดจบความน่ารำคาญด้วยการบอกว่าเลิก ๆ กันไปเสียทีเถอะ

แน่นอนว่าคำตอบที่บุคคลที่ 3 ให้มา พวกเขาอาจจะหวังดีต่อตัวเราเป็นสำคัญ พวกเขาอาจรู้สึกว่าไม่อยากให้คนของตัวเองต้องมาอดทนทุกข์ทรมานใจกับปัญหาในครอบครัวที่แก้ไม่ตกเสียที หรือพวกเขาอาจแค่รู้สึกรำคาญที่จะต้องรับฟังปัญหาเดิม ๆ ซ้ำ ๆ แบบนี้ไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้งโดยที่ไม่ทำอะไร ปากบอกว่าทนไม่ไหวแต่ก็ไม่เดินออกมาจากความสัมพันธ์นั้นเสียที ฉะนั้น สิ่งที่เราต้องชั่งใจก็คือ พวกเขาพูดจากมุมของคนนอก และอาจจะไม่ได้รู้เรื่องราวต่าง ๆ ดีเท่ากับตัวเราเอง หากการตัดสินใจที่จะไปต่อโดยพยายามแก้ปัญหากันไป หรือเลือกพอแค่นี้ด้วยการเลิกรากันไป ควรมาจากการตัดสินใจของเราหรือคนทั้งคู่มากกว่าว่าเพราะมันไปกันต่อไม่ได้จริง ๆ ไม่ใช่การถูกยุให้รำตำให้รั่ว

การหย่าร้างควรเป็นทางออกสุดท้าย เมื่อการอดทนทำให้ไม่มีความสุขอีกต่อไป

ในท้ายที่สุดแล้ว การหย่าร้างก็ไม่ใช่เรื่องผิดแต่ประการใด เพราะก่อนที่อดีตสามี-ภรรยาจะตัดสินใจนัดกันไปจดทะเบียนหย่านั้น ทุกคู่น่าจะผ่านการพูดคุย การสร้างข้อตกลงทำความเข้าใจ การห่างกันสักพัก การอดทน แม้กระทั่งยอมปรับเปลี่ยนความเป็นตัวเองหลาย ๆ อย่างเพื่อประคับประคองชีวิตคู่มาหมดแล้ว ว่ากันตามจริงก็ไม่มีใครอยากที่จะให้ชีวิตคู่และชีวิตครอบครัวของตัวเองยุติและพังทลายไม่เป็นท่า ไม่มีใครอยากตกเป็นขี้ปากชาวบ้านว่าไม่อดทน ไม่มีใครอยากรู้สึกว่าตัวเองล้มเหลวในความรัก แต่ในเมื่อสถานการณ์มันเดินทางมาถึงจุดที่ทำทุกอย่างแล้วแต่มันไม่ดีขึ้น จุดที่ความอดทนสิ้นสุดลง จุดที่ไม่อาจอดทนรักษาชีวิตคู่ทั้งที่ตัวเองไม่มีความสุขอีกต่อไป เมื่อนั้นการหย่าคือคำตอบ

คนเราทุกคนมีขีดจำกัดในการอดทนและการแบกรับทุกความรู้สึกที่ตัวเองไม่มีความสุข เมื่อการใช้ชีวิตคู่ที่มันเคยเวิร์ก แต่พอมาวันนี้มันไม่เวิร์ก หากคนทั้งคู่พยายามหาทางออกร่วมกันด้วยวิธีต่าง ๆ มาหมดแล้ว แต่คนทั้งคู่ก็ยังไม่อาจกลับไปมีความสุขได้เหมือนเดิม คนเราก็มีสิทธิ์เลือกที่หย่าเพื่อจบปัญหาครอบครัวที่เรื้อรังมายาวนาน ในเมื่อเราไม่สามารถที่จะใช้ชีวิตคู่ต่อไปได้อีกแล้ว เราก็ควรจะยุติมัน ก่อนที่มันจะลุกลามทำให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา โดยเฉพาะบรรยากาศในครอบครัวที่ทุกคนต่างรู้ดีว่ามันไม่เหมือนเดิม และทุกคนต้องอดทนจนไม่มีความสุขในบ้านอีกต่อไป การหย่าร้างไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ทำไมเรายังต้องอดทนต่อไป ทั้งที่การอดทนก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนกัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook