คำถามง่าย ๆ ที่ควรถามเด็ก ๆ เมื่อกลับจากโรงเรียน

คำถามง่าย ๆ ที่ควรถามเด็ก ๆ เมื่อกลับจากโรงเรียน

คำถามง่าย ๆ ที่ควรถามเด็ก ๆ เมื่อกลับจากโรงเรียน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โรงเรียนเปิดเทอมใหม่แบบนี้ ผู้ปกครองหลาย ๆ คนเป็นห่วงบุตรหลานที่เพิ่งเข้าโรงเรียน เพิ่งย้ายโรงเรียน เพิ่งเลื่อนชั้นใหม่ ว่าจะสามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ ได้ดีแค่ไหน ซึ่งนอกจากการเอาใจใส่ติดต่อกับทางโรงเรียนอย่างสม่ำเสมอ หรือการอยู่ในกลุ่มไลน์ผู้ปกครองที่มีคุณครูอยู่ในนั้น มีอีกวิธีที่จะทำให้ผู้ปกครองได้รับรู้ความเป็นไปอย่างตรงไปตรงมาและชัดเจนที่สุด นั่นก็คือการถามไถ่จากปากเด็ก ๆ เอง ถึงอย่างนั้น คำถามบางคำถามอาจจะถามตรง ๆ ได้ แต่บางคำถามอาจจะต้องมีการบิด ๆ ไปบ้าง เพื่อให้ได้คำตอบในแบบที่เราอยากจะรู้จริง ๆ

การถามคำถามกับเด็ก ๆ หลังจากกลับจากโรงเรียน ก็เพื่อประเมินชีวิตความเป็นอยู่ที่โรงเรียนของพวกเขาว่าเป็นอย่างไรบ้าง มีอะไรผิดปกติหรือไม่ เพราะเราไม่สามารถที่จะไปตามดูตามเช็กได้ตลอดเวลา นอกจากเราจะได้รู้ว่าเด็ก ๆ ยังมีความสุขดีที่โรงเรียนหรือไม่แล้ว การที่ผู้ปกครองหมั่นถามความเป็นไปของเด็ก ๆ ยังแสดงให้เห็นถึงการเอาใจใส่และให้ความสำคัญกับเรื่องของเด็ก ๆ ด้วย พวกเขาจะได้รู้ว่าพ่อแม่ไม่ได้ละเลยไม่ให้ความสำคัญ พ่อแม่ยังรักและเป็นห่วงพวกเขา มีคำถามง่าย ๆ เหล่านี้ที่เหล่าผู้ปกครองควรใช้ถามบุตรหลานของคุณหลังจากกลับมาจากโรงเรียน

วันนี้ชอบอะไรมากที่สุด

คำถามปลายเปิดที่เปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้ตอบทุกอย่างที่พวกเขารู้สึกชอบใน 1 วัน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเพื่อน ครู วิชาเรียน กิจกรรมที่ทำ หรือแม้แต่สิ่งที่พวกเขารู้สึกกับตัวเอง ฯลฯ ตรงจุดนี้สามารถเชื่อมโยงไปถึงความชอบส่วนตัวและความถนัดของพวกเขาได้ หากคำตอบของพวกเขามีสิ่งที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ หรืออะไรที่ใกล้เคียงกัน นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มการตระหนักรู้ในคุณค่าของตัวเองและการนับถือตัวเองของเด็ก ที่สำคัญ ยังประเมินความสุขของเด็ก ๆ ในการไปโรงเรียนได้อีกต่างหาก ถ้าหากพวกเขาไปโรงเรียนแล้วรู้สึกชอบ สนุก มีความสุข พวกเขาก็จะมีเรื่องเล่าให้ผู้ปกครองฟังมากมาย โดยมีท่าทีการแสดงออกอย่างตื่นเต้นและกระตือรือร้น

วันนี้ไม่ชอบอะไรมากที่สุด

เป็นคำถามปลายเปิดอีกเหมือนกัน แต่ตรงข้ามกับข้อแรก ผู้ปกครองสามารถรับรู้ปัญหาและความกังวล ความเครียดของเด็ก ๆ ได้จากคำตอบของพวกเขา พวกเขาอาจจะตอบเกี่ยวกับกลุ่มเพื่อน ครู วิชาเรียน กิจกรรมที่โรงเรียนให้ทำ หรืออาจเป็นความขัดแย้งในใจของเด็กเองก็ได้ ส่วนใหญ่แล้วถ้าเด็กได้เล่า พวกเขาก็จะเล่าหมดว่าเกิดอะไรขึ้น แล้วพวกเขาทำอะไรเพื่อแก้ปัญหา ในกรณีที่เป็นความไม่ชอบทั่ว ๆ ไป ซึ่งผู้ปกครองไม่จำเป็นต้องถามคำถามนี้ทุกวัน อาจเว้นระยะเป็นถามทุกสัปดาห์แทน แต่ให้สังเกตว่ามีเรื่องอะไรที่ซ้ำ ๆ เดิม ๆ ที่พวกเขาไม่ชอบ เพราะนั่นอาจเป็นปัญหาที่พวกเขากำลังเผชิญอยู่ที่โรงเรียน ถูกรังแก กลั่นแกล้ง หรือครูทำรุนแรง เพื่อที่จะได้รู้และแก้ไขปัญหาได้ทัน

วันนี้เล่น/กินข้าวกับเพื่อนคนไหน

คำถามนี้ใช้วัดเรื่องการเข้าสังคมของเด็ก ว่าอยู่ที่โรงเรียนพวกเขามีเพื่อนหรือไม่ เข้ากับเพื่อนได้ดีหรือเปล่า ส่วนใหญ่เด็กอยู่คนเดียวไม่มีเพื่อน เด็กอาจมีปัญหาในการเข้าสังคม เด็กตอบชื่อเพื่อนไม่ซ้ำกันเลย ต้องพิจารณาต่อไปว่าเด็กเข้าสังคมได้ดี เฟรนด์ลี่ หรือเพราะเพื่อนคนเดิมไม่อยากอยู่ใกล้กันแน่ หรือตัวติดอยู่กับเพื่อนคนเดิมตลอด ลองถามระดับความสนิทสนมดูเพิ่มเติมหรือถามว่าแล้วคนอื่น ๆ ล่ะ ตรงนี้อาจมีความเชื่อมโยงกับการที่เด็กชอบหรือไม่อยากไปโรงเรียนได้เหมือนกัน รวมถึงการดูพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของพวกเขา เพราะเด็ก ๆ มักจะชอบเลียนแบบหรือทำตามเพื่อน หากได้เพื่อนดีก็ดี แต่ถ้าได้เพื่อนที่ออกจะเกเรหรือไม่เรียนหนังสือ ผู้ปกครองจะได้หาวิธีสอนได้อย่างถูกต้อง

วันนี้เล่นอะไรกับเพื่อน

เด็ก ๆ จะเริ่มมีความสนใจส่วนตัว สิ่งที่ชอบ หรือสิ่งที่ตนเองถนัด หลังจากที่ได้ลองเล่นหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งถ้าหากพวกเขานำมาเล่นกับเพื่อน ๆ ต่อเนื่อง ก็มีแนวโน้มว่าเด็กจะสนใจในสิ่งเหล่านั้นมากเป็นพิเศษ มีความถนัดที่ค่อย ๆ ฉายแววออกมา เพื่อที่จะได้ส่งเสริมและสนับสนุนลูกอย่างถูกต้อง ที่สำคัญ คือการประเมินว่าพวกเขายังเข้ากันได้ดีกับกลุ่มเพื่อนที่โรงเรียน ยังเล่นด้วยกันได้ดี ก็แปลว่าไม่ได้เกิดการแกล้งกันหรือรังแกจนน่าเป็นห่วง อาจมีการเล่นแรง ๆ ตามประสาเด็กเล่นกันบ้าง แต่ผู้ปกครองก็ต้องหมั่นถามว่าแล้วสรุปคือคืนดีกันหรือเปล่า ขอโทษกันไหม แล้วยังเล่นด้วยกันอยู่ไหม แล้วเล่นกันอย่างไร

วันนี้คุณครูพาทำ/สอนอะไรบ้าง/คุณครูเป็นอย่างไรบ้าง

ทุกวันนี้ผู้ปกครองจะมองข้ามเรื่องของครูผู้สอนไม่ได้เด็ดขาด เนื่องจากทุกวันนี้มีทั้งข่าวครูใช้ความรุนแรงกับเด็ก ครูล่วงละเมิดทางเพศเด็ก หรือพาทำอะไรที่อยู่นอกเหนือการเรียนรู้ของเด็กวัยนี้ เพราะคุณไม่มีทางรู้เลยว่าครูพาบุตรหลานของคุณทำอะไรบ้างถ้าคุณไม่ถาม เบื้องต้น คุณจะได้รู้ว่าเด็ก ๆ ได้ทำอะไร ได้เรียนอะไร มีปัญหาที่ทำให้ไม่อยากเรียนหรือไม่ชอบครูหรือเปล่า วิชานี้ไม่ชอบ ไม่ถนัด หรือครูดุเกินไป เด็กก็พาลรู้สึกไม่ดีกับครูได้เหมือนกัน หรือครูพาทำอะไรที่ไม่เหมาะสม ต้องค่อย ๆ ตะล่อมถามและสังเกตตท่าทีระหว่างที่ตอบคำถามเป็นอย่างไร ถ้ายังร่าเริงดี ตาเป็นประกายก็ไม่มีอะไรน่าห่วง แต่ถ้าซึม ๆ เลี่ยงที่จะตอบ ตอบอ้ำ ๆ อึ้ง ๆ ถ้ามีโอกาสต้องไปคุยกับครู

ชอบ/ไม่ชอบเพื่อนคนไหน เพราะอะไร

เป็นคำถามที่จะทำให้ทราบว่าลูกเข้าสังคมกับเพื่อนเป็นอย่างไร เพื่อนสนิทของลูกเป็นใคร เป็นเด็กแบบไหน วัน ๆ พากันเล่นหรือทำอะไรที่น่าเป็นห่วงหรือเปล่า ผู้ปกครองจะได้ทราบและสนับสนุนให้คบกันได้ หรือจะต้องชี้แนะให้ลูกรู้ว่าอะไรดีอะไรไม่ดี คบได้แต่ต้องรู้จักแยกแยะ หรือถ้าลูกไม่ชอบเพื่อนคนไหนเป็นพิเศษ เป็นไปได้หรือไม่ว่าลูกอาจถูกกลั่นแกล้ง ถูกรังแก ถูกบูลลี่ จากเพื่อนคนนั้น หรืออีกกรณีก็คือ การที่ลูกเราไม่ชอบเพื่อนคนนั้น ก็อาจจะเป็นลูกเรานี่แหละที่อาจไปแกล้งเพื่อนได้เหมือนกัน เรื่องเพื่อน ผู้ปกครองต้องค่อย ๆ ตะล่อมถาม และถามอย่างชาญฉลาดเพื่อให้ได้คำตอบที่ชัดเจนโดยที่เด็กไม่รู้สึกว่าถูกกดดันหรือถูกจับผิด จะได้อบรมสั่งสอนอย่างถูกจุด

พรุ่งนี้ครูบอกว่าต้องทำอะไรบ้าง

เป็นการกระตุ้นให้เด็กรู้จักหน้าที่และมีความรับผิดชอบ รวมถึงการวางแผนและเตรียมตัวว่าวันพรุ่งนี้จะต้องทำอะไร ต้องส่งการบ้านวิชานั้นนี้ เด็กทำหรือยัง ต้องสอบย่อยวิชานี้ อ่านทบทวนก่อนหรือยัง หรือพรุ่งนี้มีกิจกรรมพิเศษ ไม่ต้องใส่ชุดพละ ให้ใส่ชุดนักเรียนแทน หรือครูอาจจะบอกผ่านเด็กมาว่าอยากคุยกับผู้ปกครองแล้วเด็กลืมบอก การถามพวกเขาก็เพื่อให้พวกเขาไม่ลืมในสิ่งที่จะต้องทำ พวกเขาจะได้ไม่ต้องไปแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่โรงเรียนในวันรุ่งขึ้น เพราะเตรียมความพร้อมมาเป็นอย่างดีแล้ว ซึ่งบางอย่างอาจถูกลงโทษเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ไม่ทำหรือไม่เตรียมมา

มีคนแปลกหน้าเข้ามาคุยด้วย/ให้ขนม/ชวนไปเที่ยวไหม

เพื่อความปลอดภัยของเด็ก ปกติผู้ปกครองหลาย ๆ คนจะกำชับลูกหลานตัวเองอยู่แล้วว่าให้พยายามออกห่างจากคนแปลกหน้า อย่ารับของอะไรก็แล้วแต่ และอย่าไปไหนกับคนแปลกหน้า แต่ก็ต้องเข้าใจว่าพวกเขายังเป็นแค่เด็ก พวกเขารู้ไม่เท่าทันคนร้ายหรือมิจฉาชีพหรอก บางทีการมีขนมมาล่อ เอาเรื่องเที่ยวสวนสนุก ดูการ์ตูนมาล่อ หรือพยายามเข้ามาตีสนิทเรื่อย ๆ ให้เด็กเชื่อใจก่อนค่อยล่อลวงไป การถามไถ่ถึงเรื่องนี้บ่อยครั้งเป็นการระวังภัยให้พวกเขา จะได้พอรู้ว่ามีอะไรไม่ชอบมาพากล และย้ำให้พวกเขาระวังตัวดี ๆ

วันนี้ได้ทำเรื่องอะไรดี ๆ อะไรบ้าง/มีอะไรที่อยากขอบคุณหรือขอโทษบ้างไหม

คำถามนี้ช่วยพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ให้กับเด็ก ๆ รวมถึงเป็นการสอนทางอ้อมให้พวกเขารู้จักการทำอะไรดี ๆ เพื่อคนอื่น ซึ่งเมื่อได้ทำแล้วก็รู้สึกดีมีความสุข กระตุ้นให้อยากจะทำอะไรดี ๆ แบบนี้เพื่อคนอื่นต่อไป รวมถึงสอนในเรื่องของการรู้สึกขอบคุณเมื่อมีคนอื่นทำอะไรดี ๆ ให้ รู้สึกสำนึกผิดให้เป็นและพูดขอโทษอย่างจริงใจเมื่อรู้ว่าตัวเองทำผิด มันเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ผู้ปกครองจึงต้องค่อย ๆ สอนด้วยการปลูกจิตสำนึกไปทีละนิด ในอนาคตพวกเขาต้องเข้าสังคมที่ใหญ่ขึ้น จะได้อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างปกติสุข รู้คุณค่าในตัวเอง และไม่เป็นภาระของสังคม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook