โรคหูตึงจากเสียงดัง

โรคหูตึงจากเสียงดัง

โรคหูตึงจากเสียงดัง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คอลัมน์ พบแพทย์จุฬา โดย รศ.นพ.ภาคภูมิ สุปิยพันธุ์ ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสียงเป็นพลังงานธรรมชาติที่มีคลื่นความถี่ต่างกัน มีแหล่งกำเนิดต่างกัน และมีความดังที่ต่างกัน มนุษย์เราจะได้ยินเสียงที่ความถี่ตั้งแต่ 20-20,000 เฮิร์ตซ์ และได้ยินดีมากในช่วงความถี่ 500-2,000 เฮิร์ตซ์ ซึ่งเป็นความถี่ของเสียงพูด และหูของคนเราจะรับความถี่ดังกล่าวได้ดี เสียงนอกจากนำมาซึ่งความสุข ความบันเทิง ความเข้าใจ และสื่อภาษาแล้ว เสียงอาจจะนำพิษภัยมาสู่ผู้ฟังได้ เสียงที่เป็นภัย มักจะเป็นเสียงรบกวนที่มีความดังมากกว่า 85 เดซิเบล ซึ่งเสียงดังระดับนี้ท่านอาจจะพบหรือสัมผัสได้บ่อยครั้งโดยที่ท่านมิได้ระวังตัว และบางท่านก็ไม่คิดว่าเป็นโทษเป็นภัย ท่านจะทราบได้อย่างไรว่าเสียงรบกวนนั้นดังเกินไปหรือไม่ ให้ท่านพิจารณาง่ายๆ ดังนี้ว่า เมื่อท่านอยู่ในสถานที่ที่มีเสียงดัง และหากท่านต้องตะโกนพูดกับคนที่ท่านสนทนาด้วยแล้ว แสดงว่าเสียงนี้ดังเกินไปแล้ว ควรหลบเลี่ยงจากที่นั้นโดยเร็ว มิฉะนั้นเสียงดังอาจทำให้มีการสูญเสียการได้ยินได้ เสียงดังให้โทษอย่างไร เสียงที่ดังเกินไปจะทำลายเซลล์ประสาทในหูชั้นในส่วนที่รับการได้ยิน ผลของการทำลายมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับระดับเสียง และระยะเวลาที่สัมผัส อาการแรกๆ ของอันตรายจากเสียงก็คือ มีเสียงดังรบกวนในหู หูตึง ได้ยินไม่ค่อยชัด ซึ่งอาจจะเป็นชั่วคราว เมื่อได้พักก็หายไป แต่ถ้ามีการสัมผัสเสียงดังเป็นเวลานานๆ อาการดังกล่าวจะเป็นถาวร และจะมากขึ้นเรื่อยๆ ตามวัน และเวลาที่สัมผัส ตอนนี้หลายคนอาจจะสังเกตว่าท่านเริ่มพูดเสียงดัง เปิดโทรทัศน์เสียงดังขึ้น และพูดด้วยแล้วไม่ค่อยจะได้ยิน เสียงอะไรบ้างที่เป็นอันตราย เสียงที่ก่อภัยอันตรายคือเสียงที่ดังเกิน 85 เดซิเบล ได้แก่ เสียงตะโกนดังๆ เสียงจากเครื่องจักร เครื่องยนต์ต่างๆ เช่น รถมอเตอร์ไซค์ รถสามล้อเครื่อง รถเมล์ เรือหางยาว เครื่องบิน เสียงยิงปืน จุดประทัด และที่สำคัญคือเสียงดนตรีอันเร้าใจ ซึ่งบ่อยครั้งที่ดนตรีร็อค หรือในดิสโก้เธคจะมีความดัง 100-140 เดซิเบล ดังนั้นเด็กวัยรุ่น นักเที่ยวราตรี จึงเป็นกลุ่มเสี่ยงอย่างมาก หากจะพูดถึงเรื่องดิสโก้เธคนี้ ผู้เขียนอดมิได้ที่จะอัญเชิญกระแสพระราชดำรัสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่ผู้ที่เข้าเฝ้าฯถวายพระพรชัยมงคลในวโรกาสที่เจริญพระชนมพรรษา 77 พรรษา เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2547 ณ ศาลาดุสิดาลัย พระราชวังจิตรลดารโหฐาน ดังนี้ "........................เด็กไม่ฟัง หรือฟังไม่เข้าใจ ซึ่งแทนที่จะปฏิบัติสร้างสรรค์ต่อไป ก็ไปเข้าดิสโก้เธค ไปฟังเพลงที่ไม่ได้เพลงอะไรดี เป็นเพลงที่ไม่ได้เรื่อง ทำให้หูเสีย หูเสียไม่ใช่ว่าคนที่ฟังหูสูง หูต่ำ แต่หูไม่ได้ยิน หูตึง คนที่ไปฟังในดิสโก้เธคหูตึงทั้งนั้น........." ทุกท่านจะเห็นถึงพระอัจฉริยภาพของพระองค์ที่ทรงเห็นการณ์ไกล และมีพระเมตตาต่อพสกนิกรที่ทรงห่วงเยาวชนของชาติ ซึ่งในขณะนั้นกระทรวงสาธารณสุขก็รับสนองพระราชดำริโดยตั้งอนุกรรมการพิจารณาเรื่องดังกล่าว แต่ปัจจุบันยังไม่แล้วเสร็จ และยังไม่มีผลงานเป็นรูปธรรม ที่ผู้เขียนอัญเชิญพระราชดำรัสดังกล่าวมาไว้ ก็เพื่อให้ท่านทั้งหลายตระหนักถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีพระเมตตาเป็นห่วงเยาวชนของชาติ ทรงชี้ให้สังคมได้เห็นถึงอันตรายต่อเสียงดัง เพื่อให้สังคมช่วยป้องกันเสียงดังในชุมชน ในโรงงาน และสถานบันเทิงต่างๆ เพื่อให้เยาวชนของเราปราศจากโรคหูตึงจากเสียงดังโดยไม่จำเป็น เพราะการดูแลรักษาโรคดังกล่าวคือการป้องกันเท่านั้น จึงนับเป็นโชคดีของพวกเราทุกคนที่มีพระมหากษัตริย์ที่ทรงมองเห็นการณ์ไกล มีพระอัจฉริยภาพที่จะมองเห็นทุกข์ภัยของราษฎร เพียงแต่ว่าพวกเราจะมองเห็นเหมือนพระองค์หรือไม่ จะช่วยกันหรือไม่ หากพวกเราร่วมมือกัน เราอาจจะมี "วันที่สังคมต้านเสียงดัง" เหมือนในต่างประเทศที่กำหนดให้วันพุธ สัปดาห์ที่ 4 ของเดือนเมษายนทุกปี เป็น "International Noise Awareness Day"

อัลบั้มภาพ 2 ภาพ

อัลบั้มภาพ 2 ภาพ ของ โรคหูตึงจากเสียงดัง

โรคหูตึงจากเสียงดัง
โรคหูตึงจากเสียงดัง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook