มาลาเรีย

มาลาเรีย

มาลาเรีย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ที่มา : นพ.วรวุฒิ เจริญศิริ ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ มาลาเรีย เป็นโรคที่พบเฉพาะในเขตร้อนเท่านั้น ยุงก้นปล่องเป็นพาหะของไข้มาลาเรีย ยุงก้นปล่องที่สำคัญในเมืองไทยมีสองชนิด Anopheles dirus พบในป่าทึบ ชอบออกไข่ ตามแอ่งน้ำนิ่งขังตามธรรมชาติ เช่น แอ่งหินในป่าทึบ นิสัยชอบกัดกินเลือดคนมาก ไม่ชอบกัดสัตว์อื่น ออกหากินตอนดึกถึงเช้ามืด แต่ถ้าป่าทึบมาก ๆ ก็หากินช่วงกลางวันด้วย และถ้าเข้ามากัดคนในบ้าน ก็จะไม่เกาะฝาบ้าน ยุงชนิดนี้เป็นชนิดที่มีความสามารถในการแพร่เชื้อมาลาเรียมากกว่ายุงพาหะชนิดอื่นในประเทศไทย อีกชนิดหนึ่งคือ Anopheles minimus พบตามชายป่า ชอบวางไข่ในลำธารน้ำใสไหลเอื่อย ๆ เดิมพบว่าเมื่อมากัดคนในบ้านก็จะเกาะตามฝาบ้าน เมื่ออิ่ม ปัจจุบันยุงชนิดนี้มีการปรับตัว ไม่เกาะฝาบ้าน และกัดคนนอกบ้านมากขึ้นโดยเฉพาะตอนหัวค่ำ เชื้อมาลาเรียก็มีหลายชนิด ชนิดที่พบบ่อยในประเทศไทยคือชนิดฟาลซิปารัม (falciparum) และไวแวกซ์ (vivax) ที่พบมากและมีอาการรุนแรง คือ ชนิดฟาลซิปารัม อาการที่สำคัญของมาลาเรีย คือ อาการไข้ ช่วงแรก อาจมีอาการไข้ต่ำ ๆ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว แต่หลังจากนั้น จะมีไข้สูง หนาวสั่น อาจจะมีไข้เป็นพัก ๆ หรือสูงลอยก็ได้ อาการไข้มักเกิดหลังรับเชื้อประมาณ 9-17 วัน ดังนั้นถ้ามีอาการดังกล่าวหลังจากเข้าป่าประมาณ 1-2 สัปดาห์ ควรไปรับการตรวจหาเชื้อมาลาเรียทันที อาการของมาลาเรียฟาลซิปารัมที่เป็นรุนแรง ได้แก่ เหลือง ปอดบวมน้ำ ไตวาย และ มาลาเรียขึ้นสมอง ซึ่งจะมาด้วยอาการชักหรือหมดสติ หากมีอาการแทรกซ้อนดังกล่าวเกิดขึ้น โอกาสที่ผู้ป่วยจะเสียชีวิตก็มีสูง การวินิจฉัยที่ใช้กันทั่วไปโดยการเจาะเลือดและย้อมดูเชื้อมาลาเรียด้วยกล้องจุลทรรศน์ เมื่อพบว่าเป็นมาลาเรียแล้ว แนะนำให้นอนโรงพยาบาล โดยเฉพาะผู้ที่ไม่เคยเป็นมาลาเรียมาก่อนเพราะผู้ป่วยกลุ่มนี้มักมีอาการรุนแรง และต้องให้ยาฉีดทางหลอดเลือดดำ เพราะส่วนใหญ่มักจะกินไม่ได้ คลื่นไส้อาเจียน การให้ยาต้านมาลาเรียที่นิยมใช้กันอยู่ทั่วไปในการรักษามาลาเรียชนิดฟาลซิปารัมคือควินินร่วมกับเตตร้าซัยคลิน นอกจากนั้นยังมียากลุ่มใหม่ที่ใช้ได้ผลดีเช่นอาร์ทีซูเนทและอาร์ทีมีเทอร์ จำเป็นต้องได้รับยาจนครบเพื่อป้องกันการเกิดเป็นซ้ำและเชื้อดื้อยาได้ ส่วนมาลาเรีย ชนิดไวแวกซ์ อาการไม่รุนแรงและไม่มีโรคแทรกซ้อนมาก การรักษาจะใช้ยากินคลอโรควินร่วมกับยาไพรมาควิน ซึ่งจะต้องกินจนครบ 2 สัปดาห์ เพราะเชื้อชนิดนี้หลบซ่อนในตับและออกมาทำให้เป็นไข้มาลาเรียอีกได้ นอกจากนี้ยังต้องระวังอาการแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่สำคัญ คือ ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่กินไม่ได้ หรือเกิดภาวะดีซ่านตาเหลืองตัวเหลือง หรือในเด็กอาจต้องเจาะเลือดวัดระดับน้ำตาลในเลือดเป็นระยะเพื่อให้น้ำตาลได้ทัน ถ้าเกิดภาวะไตวายร่วมด้วยก็ต้องล้างไต หากมาลาเรียขึ้นสมองก็อาจต้องใส่เครื่องช่วยหายใจและให้ยากันชัก ซึ่งโรคแทรกซ้อนเหล่านี้ เมื่อผู้ป่วยหายจากมาลาเรียก็จะกลับคืนปกติ การป้องกันมาลาเรียทำได้โดยหลีกเลี่ยงการเข้าไปในป่าทีมียุงก้นปล่องอาศัยอยู่ รวมทั้งแหล่งที่มีการระบาดของเชื้อมาลาเรีย ตามป่าเขา ตามแนวชายแดน ป้องกันไม่ให้ยุงกัดโดยสวมใส่เสื้อผ้าที่ปกปิดร่างกายมิดชิด ไม่ควรใส่เสื้อผ้าสีดำหรือสีคล้ำ เพราะยุงชอบแสงสลัว ๆ หลีกเลี่ยงการพักแรมในป่าทึบ ถ้าจำเป็น ควรนอนในมุ้ง ในเต็นท์ที่กันยุงได้หรือห้องที่มีมุ้งลวด การใช้ยาทาป้องกันยุง ทีนิยมใช้ คือ N,N-diethyl-toluamide (DEET) มีฤทธิ์อยู่ได้ 4-6 ชั่วโมง โดยต้องทาให้ทั่ว บริเวณที่อยู่นอกผ้า ส่วนยาพ่นไล่ยุงและจุดรมควัน ประกอบด้วย Pyrethrum ใช้ไล่ยุงได้ดี แต่ออกฤทธิ์ไม่นาน สำหรับยาที่กินป้องกันมาลาเรีย ปัจจุบันนี้ไม่แนะนำให้กินยาป้องกันมาลาเรีย เนื่องจากเชื้อดื้อยามากขึ้น และทำให้เข้าใจผิดว่ากินยาแล้วจะไม่เป็น นอกจากนั้น ถ้าเป็นมาลาเรียขึ้นมาจริง ๆ ก็อาจตรวจเลือดไม่พบเชื้อ เมื่อตรวจพบอีกที ก็มีอาการมากแล้ว ขอขอบคุณข้อมูลจาก ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ

อัลบั้มภาพ 3 ภาพ

อัลบั้มภาพ 3 ภาพ ของ มาลาเรีย

มาลาเรีย
มาลาเรีย
มาลาเรีย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook