เมื่อลูกเป็นโรคภูมิแพ้ / หอบ

เมื่อลูกเป็นโรคภูมิแพ้ / หอบ

เมื่อลูกเป็นโรคภูมิแพ้ / หอบ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
โรคภูมิแพ้คืออะไร ? โรคภูมิแพ้เป็นโรคที่เกิดขึ้นจากการที่ร่างกายได้รับสารบางอย่างและร่างกายผู้นั้นตอบสนองผิดไปจากคนทั่วไป ทำให้เกิดโรคและอาการต่างๆขึ้น เช่น คนทั่วไปที่สูดฝุ่นละอองภายในบ้าน ซึ่งมีไรฝุ่นจะไม่เกิดอาการผิดปกติ แต่ถ้าผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ สูดเอาฝุ่นละอองเข้าไปจะเกิดอาการน้ำมูกไหล คันจมูก คันตา หรือมีอาการหอบเกิดขึ้น โรคภูมิแพ้มีหลายโรค เกิดขึ้นได้หลายระบบ เช่น เกิดขึ้นในระบบการหายใจ มีอาการได้ตั้งแต่น้ำมูกไหล จาม คันจมูก คัดจมูก ( คนทั่วไปมักเรียก โรคแพ้อากาศ ) หรืออาจมีอาการรุนแรง เช่น ไอ มีเสมหะมาก มีอาการหอบ ซึ่งเป็นอาการของโรคหืด บางคนอาจเป็นทั้งโรคหืดและโรคแพ้อากาศ สาเหตุของโรคภูมิแพ้ของระบบการหายใจนี้ ส่วนมากเกิดจากสารก่อภูมิแพ้ในอากาศ สำหรับสาเหตุที่เกิดกับคนไทย ส่วนใหญ่แล้วเกิดจากไรฝุ่นในบ้านเป็นสาเหตุสำคัญที่สุด รองลงมาได้แก่เศษและขี้แมลงสาบ ขนและรังแคสัตว์เลี้ยง เช่น แมว สุนัข ฯลฯ สำหรับในเด็กเล็กๆ อาหารอาจเป็นสาเหตุของโรคภูมิแพ้ของระบบการหายใจได้เช่นเดียวกัน เช่น แพ้นมวัว ไข่ เป็นต้น เกิดขึ้นที่ผิวหนัง เช่น อาการลมพิษ หรือผื่นภูมิแพ้ในเด็ก ( เอ็คซิม่า ) หรือผื่นแพ้จากการสัมผัส สาเหตุใหญ่ของลมพิษมักเป็นอาหารและยา ส่วนผื่นภูมิแพ้ในเด็กมักเกิดขึ้นเองในเด็กที่มีแนวโน้มในการเกิด เช่น มีกรรมพันธุ์ของโรคภูมิแพ้ในครอบครัว เกิดจากอาหาร เช่น นม ไข่ อาจทำให้เกิดอาการผื่น ซึ่งมักเกิดบริเวณแก้มเด็กเล็ก หรือข้อพับในเด็กโต เกิดขึ้นในระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ อาการปวดท้อง อาเจียน ท้องร่วง สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการแพ้อาหาร เกิดขึ้นในหลายระบบและรุนแรง ผู้ป่วยบางรายมีอาการแพ้มาก อาจมีอาการเกิดขึ้นในทุกระบบ เช่น หอบ ลมพิษ ช็อค หรืออาจรุนแรงจนเสียชีวิตภายหลังจากกินอาหารบางชนิด เช่น กุ้ง ถั่วลิสง ฯลฯ หรือภายหลังได้รับยา เช่น เพนนิซิลลิน โรคภูมิแพ้มีสาเหตุจากอะไร ? สาเหตุที่สำคัญมีอยู่ 2 ประการ กรรมพันธุ์ โรคภูมิแพ้หลายโรคจะเกิดขึ้นได้ง่ายถ้ามีพันธุกรรม เช่น โรคหืด โรคแพ้อากาศ และผื่นภูมิแพ้ในเด็ก ยิ่งถ้ามีประวัติว่าทั้งพ่อและแม่เป็น จะยิ่งมีโอกาสมากกว่าพ่อหรือแม่เป็นฝ่ายเดียว โรคภูมิแพ้บางอย่าง สาเหตุจากพันธุกรรมไม่ค่อยเป็นปัจจัยสำคัญมากนัก เช่น ลมพิษ แพ้อาหาร แพ้ยา หรือแพ้จากการสัมผัส เช่น แพ้เครื่องประดับ แพ้เครื่องสำอาง เป็นต้น สิ่งแวดล้อม เป็นปัจจัยสำคัญมาก เพราะสารก่อภูมิแพ้ที่จะเข้าร่างกายเราเกิดจากสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น ไม่ว่าสารก่อภูมิแพ้ที่เข้าร่างกายโดยการหายใจ หรือจากการรับประทาน หรือจากการสัมผัส สารก่อภูมิแพ้บางอย่างสังเกตได้ง่าย เช่น อาหาร หลังจากรับประทานอาหารทะเล อาจเป็นลมพิษภายในเวลาครึ่งชั่วโมง หรือกินยาแล้วมีผื่นขึ้น ผู้ป่วยกวาดบ้าน เล่นกับแมว หรือสุนัขแล้วเกิดอาการจาม คัดจมูกหรือหอบ สารก่อภูมิแพ้บางอย่างสังเกตได้ยาก เพราะมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เช่น เกสร หรือเชื้อราในอากาศ หรือไรฝุ่นในบ้าน ซึ่งมีมากตามที่นอน หมอน โซฟา ห้องรับแขก พรม ฯลฯ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยร่วมที่ทำให้เกิดอาการของโรคภูมิแพ้ได้ง่ายขึ้น หรือมีอาการรุนแรงขึ้น เช่น อากาศหนาว อากาศเปลี่ยน มลพิษในอากาศจากควันรถ ควันโรงงานอุตสาหกรรม ฝุ่นละอองตามท้องถนน ภายในบ้านหรือในสำนักงาน ก็มีควันบุหรี่เป็นตัวการสำคัญ หลักในการรักษาโรคภูมิแพ้มีอย่างไร ? หลักในการรักษาโรคภูมิแพ้ มี 3 ประการ คือ หลีกเลี่ยงจากสารที่แพ้ ถ้าเราทราบว่าแพ้สารอะไรจากการสังเกต หรือจากการทดสอบผิวหนังก็ต้องพยายามหลีกเลี่ยงต่อสารนั้นให้มากที่สุด เมื่อสารก่อภูมิแพ้ไม่เข้าร่างกาย ก็จะไม่มีอาการ สารก่อภูมิแพ้บางอย่างหลีกเลี่ยงง่าย เช่น หลีกเลี่ยงการเลี้ยงสัตว์เลี้ยง จะทำให้ผู้ป่วยอาจหายจากโรคนี้ได้ หากสารบางอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย เช่น เกสรหญ้า เกสรต้นไม้ เชื้อราในอากาศ ซึ่งมีอยู่ในบรรยากาศที่เราหายใจ มีมากน้อยแล้วแต่สถานที่และฤดูกาล สารบางอย่างหลีกเลี่ยงได้ยากแต่ทำให้น้อยลงได้ เช่น ไรฝุ่นตามที่นอน หมอน พรม ก็ทำความสะอาดบ่อย ดูดฝุ่นสม่ำเสมอ ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอนซักบ่อยๆ ถ้าซักด้วยเครื่องควรปรับอุณหภูมิให้ร้อนประมาณ 60 องศาเซลเซียส ซักครั้งละครึ่งชั่วโมง และซักทุกสัปดาห์ จะช่วยลดจำนวนไรฝุ่นลงได้ หรืออาจใช้ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอนกันไรฝุ่น ก็จะช่วยลดไรฝุ่นในที่นอนที่ก่ออาการหวัดเรื้อรัง หรืออาการหอบหืดลงได้พอสมควร ในกรณีที่ผู้ป่วยแพ้จากการสัมผัส เช่น ผื่นคันบริเวณที่ถูกเครื่องประดับ เครื่องสำอาง ก็งดการใช้ ผื่นก็จะไม่เกิด เป็นต้น การใช้ยาเฉพาะโรค การใช้ยามักเป็นการควบคุมอาการไม่ให้เกิดขึ้น ในปัจจุบันเมื่อเข้าใจพยาธิสภาพของโรคต่างๆดีขึ้น ก็สามารถใช้ยาควบคุมอาการลดการอักเสบ นอกเหนือจากการใช้ยาระงับอาการ ทำให้ควบคุมโรคต่างๆได้ง่ายขึ้น เช่น - โรคแพ้อากาศ นอกจากใช้ยาแก้แพ้ ( แอนติฮิสตามีน ) แล้ว ถ้ามีอาการมากอาจต้องใช้ยาพ่นจมูก ทำให้อาการอักเสบของเยื่อบุจมูกลดลง อาการก็จะควบคุมได้ง่ายขึ้น - โรคหืด สมัยก่อนมักใช้เฉพาะยาขยายหลอดลม อาจเป็นยาพ่น หรือยากิน เมื่อเกิดอาการหอบ แต่ยาพ่นจะได้ผลดีกว่า เพราะยาเข้าหลอดลมโดยตรง ออกฤทธิ์เร็ว ใช้ปริมาณยาน้อยกว่ายากิน ดังนั้นอาการข้างเคียงจึงเกือบไม่มี แต่ในปัจจุบันพบว่าโรคหืด จะมีการอักเสบของหลอดลมด้วย จึงใช้ยาอีกประเภทที่ช่วยลดการอักเสบของหลอดลม ซึ่งต้องพ่นประจำ ทำให้อาการลดน้อยลง เมื่อมีอาการจึงพ่นยาขยายหลอดลมเพิ่มเป็นครั้งคราว เป็นต้น แต่ควรให้แพทย์แนะนำ เพราะการใช้เกินขอบเขตอาจมีผลเสียได้ - ลมพิษ ลมพิษเกิดจากสาเหตุมากมาย อาจเป็นยา อาหาร พยาธิ โรคทางกายบางอย่าง ฯลฯ จึงต้องรักษาต้นเหตุ แต่ยาแก้แพ้อาจใช้ระงับอาการเป็นครั้งคราวเมื่อเกิดอาการ การฉีดเสริมภูมิคุ้มกัน โรคภูมิแพ้ระบบการหายใจ เช่น โรคแพ้อากาศ โรคหืด ที่มีสาเหตุจากการแพ้บางอย่าง ซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เช่น เกสรพืช เชื้อรา หรือไรฝุ่น และถ้าผู้ป่วยมีอาการมาก ใช้ยาแล้วไม่ดีขึ้น อาจต้องเสริมภูมิด้วยการฉีดยาเสริมภูมิคุ้มกัน วิธีการก็คือ ฉีดสารสกัดที่ผู้ป่วยแพ้เข้าร่างกายครั้งละน้อยๆค่อยๆเพิ่มจำนวน แต่ต้องใช้ระยะเวลานาน ระยะแรกๆอาจต้องฉีดทุกสัปดาห์ นานประมาณ 6 เดือน ต่อไปอาจจะทุก 2 สัปดาห์ ทุก 3 สัปดาห์ และ 4 สัปดาห์ตามลำดับ การรักษาแบบนี้กินเวลานาน อาจใช้เวลา 3 - 5 ปี ทำให้อาการต่างๆลดน้อยลง การป้องกันไม่ให้เกิดโรคภูมิแพ้ทำได้อย่างไร ? ดังได้กล่าวแล้วว่า ถ้าสามารถหลีกเลี่ยงสารที่ผู้ป่วยแพ้ได้ อาการก็จะไม่เกิดขึ้น จึงต้องอาศัยการสังเกตของผู้ป่วยโดยละเอียด ว่าอาการที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการที่ได้ไปพบอะไร สำหรับพ่อแม่ที่เป็นโรคภูมิแพ้ เช่น เป็นหืด หรือโรคแพ้อากาศ มีโอกาสถ่ายทอดให้ทารกที่เกิดใหม่มีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้ได้เช่นกัน ดังนั้นจึงมีการวิจัยมากมายในการที่จะช่วยให้ทารกที่เกิดใหม่ มีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้น้อยลง เช่น ระยะการตั้งครรภ์ มีบางรายงานกล่าวว่า มารดาที่ตั้งครรภ์ภายหลัง 6 เดือนแล้วควรงดอาหารที่แพ้ง่ายๆ เช่น ไข่ นม เพราะสารดังกล่าวอาจไปกระตุ้นทารกในครรภ์ได้ ผลการวิจัยนี้ ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ชัดเจนว่า การงดอาหารดังกล่าว จะทำให้ทารกเกิดโรคภูมิแพ้น้อยลง นอกจากนี้ยังอาจเป็นผลเสียต่อมารดา และทารกจากการขาดสารอาหารที่จำเป็นได้ ระยะแรกเกิด เป็นช่วงสำคัญ ควรหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ให้มากที่สุด เพราะระบบภูมิคุ้มกันในทารกยังไม่เจริญพอ สารก่อภูมิแพ้จะเข้าร่างกายและกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิแพ้ได้ง่าย จึงควรปฏิบัติตามข้อแนะนำนี้ - อาหาร ควรดื่มนมมารดาอย่างน้อย 6 เดือน และมารดาควรงดรับประทานอาหารที่ก่อให้เกิดการแพ้ง่ายๆ เช่น ไข่ นม ถั่วลิสง ถั่วเหลือง โดยมารดาควรได้รับแคลเซียมทดแทนประมาณวันละ 1.5 กรัม ทารกควรเริ่มทานอาหารเสริมหลังอายุ 6 เดือน ( หรืออย่างน้อย 4 เดือน ) อาหารเสริมที่ให้ควร เป็นสารที่ก่อภูมิแพ้น้อย เช่น กล้วยน้ำว้า ข้าวบด ฟักทอง น้ำต้มหมู และผักใบเขียว เมื่ออายุ 1 ปีแล้ว จึงเริ่มให้ ไข่ ปลา ถั่วลิสง การงดอาหารดังกล่าวจะแนะนำให้ใช้ในพ่อแม่ที่เป็นโรคภูมิแพ้เท่านั้น สำหรับพ่อแม่ปกติก็สามารถให้อาหารทารกตามเกณฑ์ที่กุมารแพทย์แนะนำ - ทางการหายใจ ควรหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ในบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งห้องนอนทารก ควรเป็นห้องโปร่ง สะอาด มีของเท่าที่จำเป็น ที่นอน หมอน ควรใช้ฟองน้ำ หรือใยสังเคราะห์ หลีกเลี่ยงนุ่น ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ควรซักบ่อยๆ ถ้าเป็นไปได้ควรซักในน้ำร้อน ไม่ควรมีตุ๊กตาที่มีขน ไม่ควรมีพรม ม่าน หรือนอนในห้องเก็บหนังสือ ห้องควรดูดฝุ่นทำความสะอาดเป็นประจำ ควรเปิดให้อากาศถ่ายเท และแดดเข้าได้ ในบ้านไม่ควรเลี้ยงสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว นก ฯลฯ ไม่ควรมีผู้สูบบุหรี่ในบ้าน ให้หลีกเลี่ยงควัน สิ่งระคายทางระบบการหายใจให้มากที่สุด นอกจากนั้นพยายามหลีกเลี่ยงการติดเชื้อระบบการหายใจ เพราะเชื้อบางอย่างอาจมีผลทำให้เด็กมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้ได้ง่ายขึ้น เมื่อเด็กหอบ หอบเป็นอาการ ไม่ใช่โรค เป็นอาการที่แสดงการหายใจลำบาก ซึ่งมักจะมีการหายใจเร็ว แสดงอาการเหนื่อย ซึ่งอาจพบช่องซี่โครงบุ๋ม ( อาจมีเสียงร่วมกับอาการหอบก็ได้ เช่น วี๊ดๆ หรือไม่มีก็ได้แล้วแต่โรค ในรายเป็นมากๆอาจมีอาการเขียวของริมฝีปากก็ได้ อาการหอบเกิดขึ้นได้จากหลายโรค ทั้งโรคระบบการหายใจ หรือโรคระบบอื่นๆ เช่น 1. โรคระบบการหายใจ 1.1 เกิดจากการที่มีการตีบแคบของทางเดินหายใจ อาจพบสิ่งแปลกปลอมตกลงในทางเดินหายใจ อาจเกิดจากการอักเสบของหลอดลมขนาดเล็ก หรือหอบเกิดจากโรคหืด ซึ่งเป็นโรคภูมิแพ้ชนิดหนึ่งที่ทำให้หลอดลมหดเกร็งทำให้อากาศเข้าสู่ปอดไม่ได้ทำให้เกิดอาการหอบได้ 1.2 เกิดจากการอักเสบของเนื้อปอด เช่น โรคปอดบวม ทำให้การแลกเปลี่ยนก๊าซเป็นไปไม่ได้ดีทำให้เกิดอาการหอบได้ 1.3 เกิดจากโรคในช่องเยื่อหุ้มปอด เช่น มีน้ำ มีหนอง หรือมีลม มาเบียดไม่ให้ปอดขยายได้เต็มที่ก็เกิดอาการหอบได้ 2. โรคระบบหัวใจ เช่น หัวใจวาย 3. โรคระบบอื่น เช่น มีภาวะกรดในเลือด เช่น เบาหวาน หรือท้องเสียมาก จะเห็นได้ว่าอาการหอบเกิดได้จากหลายโรค บางโรคอาจรุนแรงถึงกับชีวิต ดังนั้นหากเด็กเกิดอาการหอบจึงควรปรึกษาแพทย์โดยด่วน โดย ศาสตราจารย์นายแพทย์มนตรี ตู้จินดา แพทย์ประจำศูนย์กุมารเวช โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์

อัลบั้มภาพ 2 ภาพ

อัลบั้มภาพ 2 ภาพ ของ เมื่อลูกเป็นโรคภูมิแพ้ / หอบ

เมื่อลูกเป็นโรคภูมิแพ้ / หอบ
เมื่อลูกเป็นโรคภูมิแพ้ / หอบ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook