Plural Design คิดมุมใหม่ได้ความต่าง

Plural Design คิดมุมใหม่ได้ความต่าง

Plural Design คิดมุมใหม่ได้ความต่าง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

@kitchen 95
Interior gallery
Text: วาสสุคนธ์ เอกประดิษฐ์

Plural Design
คิดมุมใหม่ได้ความต่าง



จะว่าไปแล้วงานดีไซน์ไม่มีข้อจำกัดตายตัว ขึ้นอยู่กับนักออกแบบว่าต้องการสร้างสรรค์ชิ้นงานให้ออกมาในทิศทางใด ใช้งานได้มากน้อยแค่ไหน และสามารถตอบโจทย์ผู้ใช้งานได้ครบตามความต้องการหรือไม่ ทุกๆ งานที่เกิดขึ้นไม่จำเป็นต้องแปลกที่สุด สวยที่สุด หรือดีที่สุด อยู่ที่ความพึงพอใจของผู้ใช้งานและ นักออกแบบเป็นสำคัญ

การลดทอนรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ แต่เพิ่มการสื่อสารที่ชัดเจนแบบตรงไปตรงมาในรูปทรงเรขาคณิตเป็นจุดเด่นของแบรนด์ Plural Design ดูเรียบง่ายแต่กลับแฝงไปด้วยเสน่ห์ที่มีลักษณะคล้ายงานศิลปะ

Plural design งานออกแบบที่ถูกก่อร่างขึ้นจากคุณพิบูลย์ อมรจิรพร สถาปนิกผู้ทำงานอยู่ในแวดวงสถาปัตยกรรมไม่น้อยกว่า 10 ปี เริ่มมีแนวคิดอยากทำของชิ้นเล็ก เพราะการทำงานดีไซน์ที่มีสัดส่วนเล็กลงมานั้นสามารถเห็นขอบเขตและความชัดเจนได้ง่ายกว่าการออกแบบโครงสร้างอาคาร

“ตอนเริ่มต้นทำโปรดักต์ในช่วงแรก ผมอยากทำของที่ Flexible กับการใช้งานได้ค่อนข้างเยอะ แต่พอได้ลงมือทำจริงๆ เรากลับพบปัญหาในระหว่างการผลิต เริ่มรู้ข้อจำกัดว่าผลิตยาก ประกอบกับคนทำเขาไม่คุ้นเคยกับแบบที่เราดีไซน์ และเป็นเรื่องยากที่เราจะให้เขาทำอะไรที่มันต่างออกไปจากที่เขาเคยทำ ปัญหาตรงนี้นี่เองจึงทำให้ผมหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องวัสดุเป็นหลัก”

ด้วยความที่คุณพิบูลย์คลุกคลีอยู่ในงานสถาปัตยกรรม ทำให้เขามองเห็นวัสดุจากการผลิตแบบอุตสาหกรรม อย่างเช่น เหล็กรูปพรรณ ถึงแม้ภายนอกจะดูเป็นแค่เหล็กที่ใช้สำหรับงานก่อสร้าง แต่ด้วยความที่เขามองเห็นถึงความเป็นไปได้ จึงต่อยอดเป็นงานดีไซน์ให้มีการใช้งานที่มีประโยชน์มากกว่าที่คิด “เหล็กรูปพรรณเป็นฟอร์มที่เกิดจากระบบการผลิตอุตสาหกรรม จุดประสงค์การใช้งานของตัวนี้จริงๆ แล้วมีไว้สำหรับทำเสา โครงสร้างอาคาร มีลักษณะเป็นท่อนยาวๆ เรารู้แล้วว่าวัสดุตัวนี้มันผลิตได้ครั้งละมากๆ ถึงแม้จะดูซับซ้อน แต่เมื่อสามารถผลิตได้ง่ายและเร็ว ต้นทุนจะถูกลง ผมจึงนำวัสดุตัวนี้มาคิดและสร้างสรรค์ว่าสามารถออกแบบให้กลายเป็นอะไรได้บ้าง ด้วยเค้าโครงของความเป็นเหลี่ยม จึงทำให้เราดีไซน์เป็น Stationery แต่ลดทอนความแข็งโดยใช้ไม้เข้ามาผสมผสานกับชิ้นงาน แล้วทำผิวเหล็กใหม่ให้ดูไม่เป็นงานอุตสาหรรม เรียกว่าเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับงานตัวนี้ได้ลงตัวทีเดียว”

ชิ้นงานอื่นๆ ของ Plural design ยังมีโต๊ะ เก้าอี้ โคมไฟ รวมถึงที่ใส่ผลไม้ ซึ่งแต่ละงานล้วนมีความโดดเด่นทั้งในเรื่องแนวคิดและการเลือกใช้วัสดุทั้งสิ้น ถึงแม้ดีไซน์ของเขาจะเน้นเพียงรูปทรงและเส้นสายเป็นหลัก แต่นั่นก็ทำให้เราสัมผัส รับรู้ได้ถึงความตั้งใจ และการพัฒนาที่พยายามฉีกงานดีไซน์ให้เห็นถึงความแตกต่าง ซึ่งเรามองว่าเขาประสบความสำเร็จและทำชิ้นงานออกมาได้สมบูรณ์แบบดีจริงๆ


ขอขอบคุณ:
ภาพประกอบ Plural Design
เว็บไซต์ www.facebook.com/pluraldesigns
โทร. 08 1833 4566

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook