พุทธวิธี...ส่งเสริมสุขภาพ

พุทธวิธี...ส่งเสริมสุขภาพ

พุทธวิธี...ส่งเสริมสุขภาพ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข

ในการดูแลสุขภาพของการดำเนินงานทางการแพทย์ตะวันตกมาสู่การเรียนการสอนของโรงเรียนแพทย์ โรงเรียนการพยาบาล สาธารณสุขของไทย มีปรัชญาและหลักการสำคัญ 4 ด้าน คือ การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสภาพ

การดูแลสุขภาพนั้น ให้ได้ผลคุ้มค่า ประหยัด ราคาถูก อายุยืนด้วย

หลังจากประเทศไทยมีนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 30 บาทรักษาทุกโรค ยุทธศาสตร์สำคัญที่ชูประเด็นให้คนไทยใส่ใจดูแลและส่งเสริมสุขภาพ ตาม Ottawa Charter และ Bangkok Charter ด้วยการรณรงค์และสร้างค่านิยมว่า สุขภาพดีไม่มีขาย ต้องสร้างเอง ไม่ต้องรอให้เจ็บป่วย เพราะการใช้สิทธิ 30 บาท หรือฟรีก็ไม่คุ้ม เพราะการเจ็บป่วยจะทำให้สุขภาพเสื่อมโทรมไป ภายใต้ประเด็น "การรณรงค์ 6 อ." ดังนี้

ออกกำลังกาย : ให้ออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที อาทิตย์ละ 3 วัน

อาหาร : การกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ลดหวาน มัน เค็ม

อารมณ์ : การมีอารมณ์ดี ไม่เครียด

อนามัยสิ่งแวดล้อมที่ดี : มีสถานที่อยู่อาศัยและที่ทำงานเอื้อต่อการสร้างสุขภาพ

อุบัติเหตุ : การรณรงค์ป้องกันอุบัติเหตุ

อโรคยา : การป้องกันโรคไม่ติดต่อได้แก่ เบาหวาน ความดัน โรคหัวใจ โรคสมองขาดเลือด โรคไตวาย มะเร็ง โรคจิต

ต่อมาได้มีระบบการเฝ้าระวังควบคุม ป้องกันโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูงด้วย ปิงปองจราจรชีวิต 7 สี ด้วยการดูแลสุขภาพ "3 อ." และ "3 ลด" กล่าวคือ ออกกำลังสม่ำเสมอ อารมณ์ดี กินอาหารดีครบ 5 หมู่ (ลดหวาน มัน เค็ม) ลดภาวะอ้วน ลดเหล้า ลดบุหรี่ อันเป็นปัจจัยเสี่ยงและส่งเสริมให้โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง เป็นมากขึ้นและเสี่ยงต่อโรคแทรกซ้อนดังกล่าว

ผู้เขียนได้มีโอกาสอ่านหนังสือ "พรที่สัมฤทธิ์แก่ผู้ดำเนินชีวิตที่ดี" ของท่านรองสมเด็จพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ว่าด้วย "โพชฌงค์ พุทธวิธีเสริมสุขภาพ" อ่านเสร็จแล้วน่าสนใจมาก เข้าใจง่าย และคิดว่าต้องถ่ายทอดให้คนไทยหัวใจพุทธได้อ่านและนำไปสู่การปฏิบัติเป็นทางเลือกของชีวิตเรา นอกจาก "6 อ" หรือ "3 อ. 3 ลด" ที่เป็นการรณรงค์ทางโลกของกระทรวงสาธารณสุขมามากกว่า 15 ปีแล้ว สาระเป็นอย่างไรนั้น บอกได้ว่า "การส่งเสริมสุขภาพ" มีมานานแล้ว ตั้งแต่ครั้งพุทธกาล มากกว่า 2500 ปี ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน

คำว่า "โพชฌงค์นี้" เป็นหลักธรรมสำคัญหมวดหนึ่งที่พวกเราคนไทยหลายท่านรู้จักในสื่อที่เป็นบทสวดมนต์ เรียกว่า "โพชฌงค์ปริวัตร" และนับถือมาว่าเป็นพุทธมนต์สำหรับสวดสาธยาย เพื่อให้คนป่วยได้สดับตรับฟังแล้วจะได้หายจากโรค

ที่เชื่อกันอย่างนี้เพราะมีเรื่องเล่าว่า พระพุทธเจ้าเสด็จไปเยี่ยมพระมหากัสสปะซึ่งป่วยอาพาธ ท่านทรงแสดงธรรมเรื่อง "โพชฌงค์" นี้ ตอนท้ายพระมหากัสสปะก็หายป่วยจากโรค รวมทั้ง พระมหาโมคคัลลานะเคยป่วยก็หายจากโรคภัยไข้เจ็บเช่นเดียวกัน

กายกับใจเป็นสิ่งที่อาศัยกันและกัน พอกายเจ็บป่วย จิตใจก็ไม่สบาย กระสับกระส่าย หรือเมื่อจิตใจป่วยไม่สบาย กายก็ไม่สบายไปด้วย ตั้งแต่กินอาหารไม่ได้ ร่างกายเศร้าหมอง ผิวพรรณซูบซีด

ในทางตรงกันข้าม คือ ถ้าจิตใจดี ทำให้สุขภาพกายสดชื่น แจ่มใส มีกำลังใจ ป่วยมากก็กลายเป็นน้อย ป่วยน้อยก็หายไปเลย ถ้ากำลังใจดีมากอาจจะถึงรักษาโรคได้ด้วยเลย ทั้งนี้อยู่ที่ว่าจะช่วยทำใจหรือรักษาใจของเราได้มากแค่ไหน ต้องตามมาดูกันว่า "พุทธวิธี" ดังกล่าว "ส่งเสริมสุขภาพ" ได้อย่างไร?...

คําว่า "โพชฌงค์" แปลว่า องค์แห่งการตรัสรู้ (และสุขภาพที่สมบูรณ์) มี 7 ประการ องค์ที่ 1 คือ สติ องค์ที่ 2 คือ ธัมมวิจยะ องค์ที่ 3 คือ วิริยะ องค์ที่ 4 คือ ปีติ องค์ที่ 5 คือ ปัสสัทธิ องค์ที่ 6 คือ สมาธิ องค์ที่ 7 คือ อุเบกขา

องค์โพชฌงค์ 7 ประการเปรียบเสมือนเป็นเครื่องมือจะช่วยการส่งเสริมสุขภาพให้บรรลุจุดหมาย เราต้องรู้จักเครื่องมือ 7 อย่างนี้ มีอะไร ใช้สำหรับทำอะไร? เพื่ออะไร? และจะได้ผลอย่างไรต่อ "สุขภาพกายและใจ" ของการมี "สุขภาพที่ดี" ด้วยการบูรณาการองค์ทั้ง 7 ควบคู่ไปด้วยกัน เป็นองค์รวมอันหนึ่งอันเดียวกันจนเป็นปกติธรรมดาๆ ของชีวิตเรา...และเป็น "วัฒนธรรมของชีวิต" ให้ได้

เริ่มต้นด้วยองค์ 1 คือ "สติ" สติอาจจะหมายถึงสิ่งที่เราเกี่ยวข้องเฉพาะหน้าไว้ให้อยู่กับ "จิต" หรือให้ "จิต" อยู่กับสิ่งที่พิจารณา หรือที่กระทำอย่างหนึ่งหรืออาจจะดึงสิ่งที่ไกลเข้ามาใกล้คือเรื่องที่ผ่านไปแล้ว เช่น ธรรมที่ได้เล่าเรียนไปแล้ว ก็มานึกทบทวนระลึกขึ้นอยู่ในใจอย่างหนึ่ง "สติ" นี้เป็นตัวแรกที่จะเข้าไปสัมผัสกับสิ่งที่เราเข้าไปเกี่ยวข้อง พอสติดึงเอามาไว้ ดึงเข้ามาหรือระลึกขึ้นมาแล้ว

ต่อไปขั้นที่ 2 ก็ใช้ธรรมวิจัย คือการใช้ปัญญาไตร่ตรองความจริง ความถูกต้อง เลือกเฟ้นไตร่ตรองธรรมที่เคยเล่าเรียนหรือมาสู่ เมื่อจิตของเราพบปะ หรือปะทะ หรือสัมผัสกับอารมณ์นั้นหรือสิ่งนั้นแล้วก็มองเห็น "ธรรม" (คือความจริง ความถูกต้อง สิ่งที่ดีงาม ที่เป็นประโยชน์เกื้อกูล)

เช่น มองดูเปลวเทียนก็มองเห็นธรรม เกิดความเข้าใจ หยั่งลงไปถึงความเกิดขึ้น ความตั้งอยู่ ความดับไปของสิ่งทั้งหลาย (ไตรลักษณ์ : อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) หรือถ้ามองเห็นภาพหมู่มนุษย์วุ่นวาย โกลาหล ก็อย่าให้จิตใจปั่นป่วนวุ่นวาย สับสน มองให้เห็นแง่ด้านที่จะเกิดความ "กรุณา" ให้จิตใจมองไปด้วยความปรารถนาดี คิดจะช่วยเหลือ หรือเป็นเรื่องน่าสงสาร ให้เกียรติให้อภัย ก็จะเกิดกำลังใจขึ้นมา จิตก็จะมีแรงก้าวหน้าต่อไป ต่อไปก็ผ่านเข้าสู่องค์ที่ 3 คือ "วิริยะ" มีความพากเพียร กล้ามีกำลังใจ มองเห็นทางที่จะทำ เป็นเครื่องประคับประคองจิตไม่ให้หดหู่ ไม่ให้ท้อแท้หรือท้อถอย ด้วยการมีธรรมวิจะ พอเกิดวิริยะ จิตมีกำลังแล้วก็จะก้าวเข้าสู่องค์ที่ 4 คือ การมี "ปีติ" มีความอิ่มอกอิ่มใจ คนที่มีกำลังใจ ใจเข้มแข็งฮึกเหิม ไว้ได้เห็นเป้าหมายอะไรขึ้นมาแล้วจะเกิด "ปีติ" อย่างที่เรียกว่าชีวิตนี้เกิดมีความหวังสว่างไสวเกิดขึ้น

พอเกิดอิ่มอกอิ่มใจแล้วก็เข้าสู่องค์ที่ 5 คือ "ปัสสัทธิ" คือมีความผ่อนคลายสบายใจ สงบลงได้หายเครียด เพราะคนที่เครียดก็จะกระสับกระส่าย จะหวาดหวั่นกังวล วนอยู่ ติดค้างอยู่ ไม่มีที่ไป ติดกับดักชีวิต จิตยิ่งเครียด ยิ่งกระสับกระส่าย พอจิตมีทางไปแล้วก็มีกำลังใจเดินหน้า มีความอิ่มใจ ก็มีความผ่อนคลายสงบไปด้วย หายกระวนกระวายใจ จิตใจก็ผ่อนคลายสงบสงัด กายก็ผ่อนคลาย สงบ อันนี้เรียกว่าเกิด "ปัสสัทธิ"

ท่านเปรียบเสมือนกับน้ำที่เราลดลงมาจากที่สูง น้ำที่เราเอาภาชนะหรือที่บรรจุขนาดใหญ่ เทลงบนยอดภูเขา ถ้าน้ำไหลลงมาอย่างกระจัดกระจายก็ไม่มีกำลัง แต่ถ้าเราทำทางให้ไปในทางเดียวกัน จะต่อเป็นท่อก็ตามหรือขุดเป็นรางน้ำก็ตาม น้ำที่ไหลลงมาตามทางนั้นจะไหลพุ่งแรงเป็นทางเดียวและมีกำลังมาก เหมือน "จิต" ที่ได้ทางของมันชัดเจนแล้ว ก็จะเป็น "จิต" ที่ไหลแน่วแน่ไปทางนั้น ดิ่งลงทางเดียวและมีกำลังมาก นี้เป็นจิตที่มี "สมาธิ" เข้ามาสู่องค์ที่ 6

เมื่อจิตมี "สมาธิ" แน่วแน่ ก็เป็นอันว่าทุกอย่างเดินไปด้วยดีแล้ว เมื่อน้ำมีทางไป ไปในทางที่ถูกต้อง สู่จุดหมาย เดินไปด้วยดี ไม่ห่วงกังวล ใจก็สบาย ปล่อยวาง เฝ้าดูเฉยวางที่เป็นกลางอยู่ จิตที่เฝ้าดูเฉยนี้คือจิตที่มี "อุเบกขา" เป็นการเข้าสู่องค์สุดท้ายคือ องค์ที่ 7

คือจิตที่มีอุเบกขา เป็นกลาง ไม่เกาะเกี่ยว ยึดติดสิ่งใด เพราะไม่ต้องกังวลหรือเป็นห่วงงานที่ทำ เหมือน "คนขับรถ" ที่เขาเพียรพยายามในตอนแรก คือ เร่งเครื่อง จับโน่น ดึงนี่ เหยียบนั่น แต่เมื่อเครื่องเดินไปเรียบร้อย เข้าที่ดีแล้วก็ปล่อย จากนั้นก็เพียงนั่งมองดูเฉยๆ ควบคุมอยู่ และทำอะไรก็ทำไปตามจังหวะนั้น ถึงไฟจราจร สี่แยกไฟแดง ก็ต้องชลอเบรกหยุด หรือจะแซงก็ต้องเปิดไฟเลี้ยว เร่งเครื่อง เมื่อไม่มีสิ่งกีดขวางหรือรถวิ่งสวนมา เมื่อมีสมาธิดี ตอนนี้จะคุยพูดอะไรกับใครก็ได้ ฟังเพลงก็ได้ ถ้าทำอย่างนี้ได้

จิตที่เดินไปในแนวทางนี้เป็นแนวทางของการใช้ปัญญา ก็จะเจริญปัญญา เกิดความรู้ความเข้าใจเพิ่มพูนปัญญายิ่งๆ ขึ้นไป ถ้าเดินไปในทางของทำกิจเพื่อโพธิ ก็จะบรรลุโพธิ ก็คือ การตรัสรู้

ผู้เขียนใคร่ขอเชิญชวนสตาร์ตชีวิตด้วยจุดเริ่มต้นที่สำคัญคือ "ต้องมีสติ" สตินั้นอยู่ให้มีมากๆ ถึงพร้อมด้วยทุกเหตุการณ์ที่เข้ามาในชีวิต สตินั้นก็จะนำมาใช้ประโยชน์ เนื่องหนุนส่งต่อกันไปตามลำดับ เป็นธรรมที่หนุนเนื่องกัน 7 ประการ ถ้าทำได้เช่นนี้ก็เป็นประโยชน์ ช่วยให้บรรลุจุดหมายไม่ว่าเราจะทำเพื่อความหลุดพ้นหรือจะใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน

ขอเน้นว่าองค์หนึ่ง "สติ" คือกุญแจดอกสำคัญของชีวิตเรา หากมีอยู่อย่างเป็นนิจ สิ่งที่ตามมาคือ "ปีติ" ความอิ่มใจจะได้ช่วยเป็น "อาหารใจ" คือ นอกจากเป็นอาหารทางกาย เป็นภักษาแล้ว หากมีอาหารใจก็จะเป็นเครื่องส่งเสริมให้มีความสุข เมื่อมีความสุขกายแล้ว มีความสุขใจด้วย ก็ได้ชื่อว่า "เป็นผู้มีความสุขโดยสมบูรณ์" คือ สุขทั้งกายสุขทั้งใจ

คือมีสุขภาพดีและมีสุขภาพจิตดี และชีวิตที่ต้องสู้ ผู้เขียนขอฝากว่า หากเรามี "สติ" และมีสมาธิดีแล้ว การที่เราจะเสียอะไรก็เสียไปได้ แต่ขออย่าให้เสีย "กำลังใจ" นั้นก็คือ "อาหารใจ" เป็นวัคซีนชีวิตสร้างภูมิคุ้มกันให้เราด้วยการเกิดมาแล้วชีวิตนี้ต้องสู้ มุ่งมั่น ฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ ก้าวข้ามสิ่งที่กีดขวางให้ได้ก็จะบรรลุจุดมุ่งหมายหรือประสบความสำเร็จชีวิตได้ทุกประการไงเล่าครับ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook