สิทธิความเท่าเทียม ในสายตานางสาวไทย

สิทธิความเท่าเทียม ในสายตานางสาวไทย

สิทธิความเท่าเทียม ในสายตานางสาวไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ถือเป็นปัญหาสากลและคลาสสิกมากทีเดียว สำหรับประเด็น "สิทธิความเท่าเทียมระหว่างชายหญิง" ที่ยังคงถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยกันทุกยุคทุกสมัย เพียงแต่ปัจจุบันปมปัญหาความเท่าเทียมดังกล่าว ไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่คำถามเรื่องความเสมอภาคระหว่าง "ชาย" และ "หญิง" เท่านั้น แต่กลับขยายกว้างออกไปยังประเด็นความเท่าเทียมของ "หญิงแท้" และ "หญิงเทียม" ว่าควรได้รับการปฏิบัติจากสังคมแบบเท่าเทียมกันแค่ไหน

จากประเด็นเรื่องสิทธิความเท่าเทียมทั้งหมดทั้งมวล ในโอกาสที่ 5 สาวงามของเวที "นางสาวไทย ประจำปี 2557" มาเยี่ยมกองบรรณาธิการประชาชาติ จึงถือโอกาสสอบถามในประเด็นนี้กับ "วิลาสินี จันทร์วุฒิวงศ์" นางสาวไทยปี 2557, "พิมพ์ชนก จิตชู" รองอันดับ 1, "เสาวลักษม์ ไชยศิริธัญญา" รองอันดับ 2, "พัชรวรรณ หุตะเศรณี" รองอันดับ 3 และ "อาทิมา เนตรทิพย์" รองอันดับ 4 จึงได้กำข้อถกเถียงข้างต้นมาถามพวกเธอว่าคิดเห็นกันอย่างไรในประเด็นเหล่านี้

วิลาสินีมีความเห็นว่า ประเด็นความเท่าเทียมของชายหญิงเป็นสิ่งที่มักถูกมองข้าม ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะเกิดจากค่านิยมสมัยก่อนที่ผู้ชายเป็นหัวหน้าครอบครัว หลายสิ่งหลายอย่างจึงต้องขึ้นอยู่กับผู้ชาย ทำให้ผู้หญิงมีบทบาททางสังคมน้อย

อาทิมา รองอันดับ 4 กล่าวว่า บทลงโทษในกฎหมายเมืองไทยหลายจุดยังไม่ชัดเจนเท่าไรนัก ซึ่งพวกเราก็อยากจะเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้กฎหมายเข้มงวดกว่าเดิม เพราะน่าจะช่วยให้ปัญหาเรื่องการทำร้ายผู้หญิงลดลงกว่าปัจจุบันที่เป็นอยู่

นางสาวไทยคนล่าสุดเพิ่มเติมว่า นอกจากเรื่องกฎหมายแล้ว ยังต้องปรับความคิดและทัศนคติของผู้หญิงด้วยกันเอง ไม่ใช่แค่บอกกับผู้ชายให้แก้ไขเท่านั้น เพราะเราต้องมีความมั่นใจและเข้มแข็งด้วยตนเอง เพราะเรามีคุณค่ามากพอที่จะไม่ให้ใครมาทำร้ายเราได้

ขณะที่พิมพ์ชนก รองอันดับ 1 กล่าวว่า ปัจจุบันยังมีปัญหาเรื่องของคุณแม่วัยเยาว์ด้วย สังคมจึงควรเพิ่มเติมในเรื่องการแนะแนววิธีป้องกัน เพื่อทำให้เขาได้เข้าใจจะสามารถตั้งรับกับสิ่งที่ตามมายังไง เพราะประเด็นนี้เหมือนจะถูกมองข้ามไป ทำให้เวลาเกิดปัญหาเหล่านี้ขึ้นมา สังคมมักจะโทษว่าเพราะเด็กเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งเราน่าจะมองภาพกว้างให้สังคมช่วยเหลือให้เขามีชีวิตต่อไปให้ดีขึ้น

ประเด็นนี้ พัชรวรรณ รองอันดับ 3 เพิ่มเติมว่า เป็นเพราะสังคมไทยยังขี้อายและไม่ค่อยเปิดกว้าง คุณพ่อคุณแม่ควรให้คำแนะนำเรื่องการป้องกันไปเลยดีกว่า ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เพราะเราไม่มีทางรู้ว่าลูกของเราจะไปทำอะไรยังไงที่ไหนได้ ซึ่งสิ่งนี้น่าจะช่วยเรื่องปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยเรียนได้มากขึ้น

พิมพ์ชนกกล่าวว่า ถ้าเหตุการณ์เหล่านั้นเกิดขึ้นมาแล้ว สังคมก็ควรจะให้โอกาสและยอมรับกับแม่วัยเยาว์ ไม่ใช่ไปตอกย้ำและกีดกั้นไม่ให้เขาได้ใช้ชีวิตตามปกติ เพราะการตั้งครรภ์ไม่ได้เป็นสิ่งตัดสินว่าเขาเป็นคนไม่ดี เพียงแต่อาจจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเร็วไปหน่อย หรือผิดพลาดบ้างเท่านั้น

ทางด้านของสิทธิระหว่าง "หญิงแท้" กับ "หญิงเทียม" นั้นสาวงามทั้ง 5 คนมีความเห็นตรงกันว่า คนทั้งสองกลุ่มควรจะได้รับการปฏิบัติจากคนในสังคมด้วยความเท่าเทียม ซึ่งเราไม่ควรมองกันที่รูปกายภายนอก เพราะเรื่องแบบนี้เป็นสิ่งที่อยู่ภายในที่มีความเหมือนกัน หมายความว่าแม้ภายนอกเขาจะเป็นผู้ชายโดยกำเนิด เพียงแต่จิตใจของผู้หญิงข้ามเพศไม่ต่างไปจากผู้หญิงแท้เลย

"ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องเริ่มจากการปรับทัศนคติของคนในประเทศไทยว่า ต้องให้เกียรติและเคารพซึ่งกันและกันก่อน ถ้าหากว่าทุกคนให้เกียรติกันตั้งแต่เริ่มแล้ว มันจะสามารถมีสิ่งที่ดี ๆ ออกมาได้ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของกฎหมาย การพูดจาต่อกัน" วิลาสินี นางสาวไทยคนล่าสุดอธิบายเสริม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook