9 เดือนสุดท้ายกับภารกิจ “ช่วยศพพูด” พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์

9 เดือนสุดท้ายกับภารกิจ “ช่วยศพพูด” พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์

9 เดือนสุดท้ายกับภารกิจ “ช่วยศพพูด”  พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ถ้าหากคุณมีเวลาเหลือเพียง 9 เดือนสุดท้ายของการทำงานคุณจะทำอะไรกับชีวิต ปล่อยชีวิตไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็หมดไปวันๆ หรือจะพยายามทุ่มเทกำลังและความรู้ทั้งหมดที่มีเพื่อฝากไว้กับประเทศชาติ แน่นอนว่าสำหรับหมอพรทิพย์ ประการหลังคือสิ่งที่เธอตั้งใจ และกำลังพยายามทำมันอย่างเต็มที่ แม้วันนี้เวลาของเธอบนชีวิตราชการกำลังถูกนับถอยหลังลงเรื่อยๆ ก็ตาม

จากคดีดังแห่งปี 2541 นักศึกษาแพทย์ฆ่าหั่นศพแฟนสาว เหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ในชีวิตคน 2 คน หนึ่งในนั้นคือ “แพทย์หญิง คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันทน์” ผู้ที่เข้ามาไขคดีจากเศษซากชิ้นเนื้อจนกลายเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญมัดตัวผู้ก่อเหตุ

นับตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ เป็นเวลา 16 ปีเต็มที่คนไทยรู้จักชื่อของคุณหมอ พร้อมกับประสิทธิภาพของ “นิติวิทยาศาสตร์” ที่ทำให้ “ศพพูดได้

เกือบ 2 ทศวรรษที่ชื่อของคุณหมอพรทิพย์เข้าไปเกี่ยวข้องกับคดีใหญ่ระดับประเทศหลายต่อหลายครั้ง คดีใดก็ตามที่สังคมกังขา ยากเหลือเกินที่จะไม่มีหญิงแกร่งคนนี้เข้าไปร่วมวงสืบสวนด้วย รวมแม้กระทั่งเรื่องอื้อฉาวในวงการบันเทิงประเภท “ลูกใครหว่า?” ที่คุณหมอพรทิพย์ต้องมาเป็นหลักประกันให้สังคมคลายใจว่า “ชัวร์!” ตั้งแต่กรณีของ “มนต์สิทธิ์ คำสร้อย” อดีตนักร้องลูกทุ่งชื่อดัง และ “แด๊ก บิ๊กแอส”

ดังนั้น จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าชื่อของคุณหมอมีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิดของคนไทยพอสมควร บางคนรัก บางคนชัง เป็นสัจธรรมของโลก 16 ปีบนเส้นทางแห่งชื่อเสียงนี้จึงมีทั้งกลีบกุหลาบและขวากหนามระคนกันไป เป็น “16 ปีแห่งความหลัง ทั้งรักทั้งชังทั้งหวานและขมขื่น” อย่างแท้จริง

แต่มันก็ทำให้คุณหมอพรทิพย์ในวัย 60 ปีเต็ม มีภูมิต้านทานความขัดแย้ง และพร้อมที่จะพุ่งเข้าชนทุกปัญหา และในวันที่อายุราชการเหลืออยู่ไม่ถึง 9 เดือนนี้ ภารกิจสุดท้ายของคนที่ “สู้เพื่อศพ” มาตลอด คืออะไร?


ย้อนอดีต 16 ปีแห่งความหลัง บนเส้นทางแห่งนิติวิทยาศาสตร์

2 ปีต่อมา หลังจากแจ้งเกิดด้วยคดีนักศึกษาแพทย์ฆ่าหั่นศพแฟนสาว คุณหมอพรทิพย์ได้รับการแต่งตั้งให้เข้ามาดูแลงานนิติวิทยาศาสตร์อย่างเต็มตัวในปี 2543

ในเวลานั้น ความคาดหวังของคุณหมอพรทิพย์คือการสร้างระบบการสืบสวนที่เป็นกลาง โปร่งใส และตรวจสอบได้ เนื่องจากระบบที่เป็นอยู่ทำให้ตำรวจมีอำนาจตามกฏหมายในการไปรวบรวมพยาน หลักฐานตามที่ตำรวจสั่ง ทำสำนวน แล้วก็เป็นตำรวจอีกนั่นแหละที่ส่งฟ้อง

หรือก็คือขึ้นอยู่กับตำรวจแบบเบ็ดเสร็จ ปราศจากการคานอำนาจอย่างที่ควรจะเป็น

ครั้งหนึ่งคุณหมอเคยให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อเอาไว้ว่า เมื่อลงไปตรวจที่เกิดเหตุในบางครั้ง จะเห็นเลยว่าคนร้ายไม่ได้อยู่ในวิสัยที่จะต่อสู้ได้จนถึงกับต้องวิสามัญ ฆาตกรรม แต่สังคมก็พร้อมจะเห็นดีเห็นงามไปกับฝ่ายที่ประหัตถ์ประหาร เพียงเพราะว่าผู้ตายถูกกล่าวหาว่าเป็นคนร้าย

แน่นอนว่าการยืนหยัดในเรื่องนี้ ทำให้คุณหมอพรทิพย์ต้องขัดแย้งกับตำรวจหลายต่อหลายครั้ง

แต่จนแล้วจนรอด 16 ปีผ่านไป ก็ยังไม่มีความคืบหน้าในเรื่องนี้มากนัก “เสนอ ขึ้นไปสามรอบสี่รอบแล้ว แต่ว่าเราไม่เห็นท่านพูด พอมันไม่เห็นท่านพูดปุ๊บ เราก็ไม่รู้ว่าเรื่องความเป็นกลางนี่มันอยู่ในลำดับที่เท่าไร และเราก็ไม่แน่ใจว่ามันจะต้องเตือนกี่หน คือเสนอไปแล้ว แต่ยังไม่ทราบความคืบหน้า”

“9 เดือนที่เหลือก็ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะทำยังไงกับมัน” คุณหมอกล่าวทิ้งท้าย


ปัญหาไฟใต้

ใน ฐานะที่คุณหมอเป็นคนหนึ่งที่คลุกคลีกับปัญหาความรุนแรงในภาคใต้มาโดยตลอด ถึงจะไม่ได้ลงไปฝังตัวอยู่ในพื้นที่ แต่ก็ใช้เวลานานนับ 10 ปีกับข้อมูลและหลักฐานจากที่เกิดเหตุในแต่ละคดี เราจึงอดไม่ได้ที่จะต้องถามกับคุณหมอว่าในเวลาอีกไม่ถึง 10 เดือนที่เหลือนี้ มีความคิดหวังอย่างไรกับปัญหาในภาคใต้

เป็นคำถามที่ทำให้คุณหมอนักผ่าศพต้องขมวดคิ้ว สูดหายใจลึก ดูเหมือนว่ากำลังพยายามเรียบเรียงถ้อยคำนับล้านในหัวสมอง “ถ้าคำอธิษฐานเป็นจริงหมอก็อยากให้รัฐบาลเปิดโอกาสและรับฟังหมอ ซึ่งไม่เคยได้รับโอกาสที่จะอธิบายให้ฟังว่าสิ่งที่เราใช้นิติวิทยาศาสตร์ เนี่ยมันบอกอะไร เหมือนทุกคนไม่อยากเห็นความจริง แต่นิติวิทยาศาสตร์คือพวกอยู่กับความจริง”

“สถาบันนิติฯ เป็นหน่วยแรกที่พูดว่าไฟใต้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ตั้งแต่ปี 2551 ถามว่าเพราะอะไร เพราะว่าทุกๆ ครั้งในการเข้าตรวจสอบพื้นที่ แม้จะเป็นโรงเรียนที่เราพบอาวุธระเบิด เรากลับเจอไอหรือร่องรอยของยาเสพติด ทั้งเฮโรอีนและแอมเฟตามิน”

“เหมือนหมอรู้มากไป รวมทั้งเรื่องของส่วย รู้มาตั้งนานแล้ว แต่พอเรารายงานแล้วมันนิ่ง คือมันเต้นตามจังหวะของใครบางคน แต่ในฐานะที่หมอเป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ต้องตอบว่าหมอไม่ขึ้นกับใครบางคน”

“สิ่งที่ถูกต้อง สิ่งที่ดีสำหรับประเทศเป็นสิ่งที่เราต้องทำ ก็ในเมื่อปัญหาเรื่องใต้เนี่ย มันทำร้ายชีวิตผู้บริสุทธิ์ ทั้งพุทธ ทั้งมุสลิม ทำร้ายความสัมพันธ์อันดีงาม กินงบประมาณมหาศาล แล้วเราจะไม่อยากให้มันดีขึ้นเหรอ ในเมื่อมันมีหนทาง”
การทำงานกับปัญหาในภาคใต้ ไม่เพียงแต่ทำให้คุณหมอเชื่อว่าตัวเองมองเห็นปัญหาได้อย่างชัดเจนมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นการทำงานที่คุณหมอประทับใจมากที่สุดอีกด้วย

“ช่วงเวลาที่ประทับใจที่สุดในชีวิตคือภาคใต้ มันเป็นการเอางานทั้งหมดที่มีในชีวิตมาใช้ เช่น มีเหตุระเบิด คนตาย เราต้องเริ่มต้นที่ศพ เราต้องคิดทุกอย่างให้ครบให้เร็ว กำหนดประเด็น เพื่อให้ทีมเก็บข้อมูลได้หมด”

“จากการตรวจคนเจ็บซึ่งเป็นคนดี กลายเป็นตรวจคนเจ็บที่เป็นผู้ต้องสงสัยก็มี ตรวจคนธรรมดา ไม่เจ็บเลย แต่ถูกสงสัยว่าเกี่ยวข้อง จะเห็นว่าใช้ความรู้หลากหลายสาขามาก”

“แต่อะไรก็ไม่เท่ากับความประทับใจที่เราพัฒนาข้อมูลที่เรามีในมือให้นำไปใช้มากกว่า การทำงานประจำวัน เราสามารถเอามันมาวาง แล้วเราก็มาหาสิ่งที่ 2 คดี หรือ 2 สิ่งมันมีตรงกัน เราสามารถวิเคราะห์ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เป็นการคาดการณ์โดยมองแนวโน้มจากพยานหลักฐานที่เราเห็น แล้วเราวิเคราะห์ถูก”

“มี 2 เหตุการณ์ใหญ่ๆ ที่วิเคราะห์ได้แล้วเป๊ะเลย ก็คือก่อนที่จะเกิดการปล้นค่าย 19 มกราคม 54 ค่ะ พยานหลักฐานบอกว่าทีมใหญ่น่าจะโจมตี ไม่วันนี้ก็พรุ่งนี้ ที่บาเจาะ พยานหลักฐานบอกอย่างนี้ แล้วมันก็เกิด หมอแจ้งเตือนวันที่ 18 พอ 19 ก็เกิดเหตุ”

“กับอีกเหตุนึงคือเราวิเคราะห์จากกรณียิงคุณครูชลธีร์ 9 มกราคม 56 ค่ะ หลักฐานมันค่อยๆ ขยายเชื่อมไปเชื่อมมา คือเชื่อมโยงจากคดีนี้ ยิงผู้เสียชีวิต เอาเป็นว่ามันมีความซับซ้อน แต่สุดท้ายเราได้ดีเอ็นเอบุคคลจากพยานหลักฐาน 5 คน ทั้งหมดเนี่ย เป็นกลุ่มแนวร่วมที่โจมตีฐานทั้งนั้น”

“เราจึงเอามันมาวิเคราะห์ร่วมกับงานข่าว แล้วก็คิดว่ามันคงเตรียมถล่มฐานปฏิบัติการบาเจาะ นี่คือสิ่งที่เราได้จากหลักฐานที่มันเกิดตอนต้นปี แล้วมันก็ถล่มจริงๆ วันที่ 13 กุมภา 56 โดยคนที่เข้าถล่มฐานมีดีเอ็นเอตรงกับที่เราเจอ นี่เป็นความประทับใจในชีวิตการทำงาน ตั้งแต่เริ่มจนถึงปัจจุบัน ก็คือการทำงานที่ภาคใต้”

ชีวิตหลังเกษียณของคุณหมอพรทิพย์
ในวัย 60 ปีเต็ม คุณหมอยังมีท่าทางกระฉับกระเฉงคล่องแคล่ว เข้ากันดีกับไฮไลท์สีผมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว แววตาเป็นประกายเมื่อพูดถึงงานที่รับผิดชอบ

ไม่แปลกนักหากเราจะคิดว่าคุณ หมอคนนี้กรำงานหนักมาตลอดชีวิต จากวันที่เรามีนัดสัมภาษณ์กับคุณหมอ มองเห็นตารางงานที่โต๊ะเลขาแล้วก็พบว่าเสร็จจากสัมภาษณ์นี้ก็มีทั้งงานรา ษฏร์งานหลวงมารอต่อคิวยาวเหยียด

แต่ก็อีกไม่ถึง 10 เดือนเท่านั้น ที่วาระทางราชการจะหมดลง การเกษียณอายุทางราชการจะพรากงานที่รักไปจากคุณหมอได้หรือไม่

คุณ หมอเชื่อว่าเกษียณแล้วน่าจะมีความสุขมาก เพราะในชีวิตจริงไม่ชอบทำงานบริหาร หากแต่เป็นนักปฏิบัติและนักอ่านมากกว่า ขณะที่กำลังพูดถึงแผนชีวิตหลังเกษียณ คุณหมอก็ชี้มือไปรอบห้อง สังเกตได้ว่าพื้นที่เก็บของกว่า 50% ในห้องนี้มีแต่หนังสือ ทั้งตำราวิชาการ ธรรมะ และเอกสารต่างๆ

“หมอชอบอ่านหนังสือ ชอบสอน ชอบสร้างความรู้ กับทุกคน คืออยากให้ประยุกต์มันไปใช้ได้กับทุกเรื่อง อยากให้ทุกคนคิดอย่างเป็นระบบ”

“ส่วน ที่เหลืออีกอันนึงจะเป็นคนละแนว หมอมีความสุขกับความเข้าใจชีวิต คือธรรมะกับประวัติศาสตร์ อยากจะทำเรื่องที่ยากๆ น่าเบื่อ ให้มันเป็นเรื่องที่ดิ้นได้ อาจจะไม่ต้องเป็นนักวิชาการ ก็คือสื่อผ่านตัวเรา เผอิญเราเป็นคนที่คนตามใช่มั้ยคะ แทนที่เราจะเอาไปใช้ในสิ่งผิดๆ เราก็เอาไปใช้ในทางนี้ ให้เขารู้สึกสนุกด้วย”

ดูเหมือนว่าชีวิตหลังเกษียณของคุณหมอพรทิพย์ก็ยังคงมีเรื่องงานมาเป็นอันดับต้นๆ เดาได้ไม่ยากว่าคุณหมอเป็นคนชอบทำงานมากกว่านั่งเฉยๆ ถึงแม้ว่างานบางอย่าง โดยเฉพาะงานด้านการวิเคราะห์ จะเป็นงานที่ไม่สามารถหาคนมาแทนได้ง่ายๆ อีกทั้งภารกิจหรือความคาดหวังของคุณหมอก็ใช่ว่าจะเสร็จสิ้น ในหลายๆ ครั้ง เราจึงเห็นการต่ออายุราชการเป็นทางเลือกที่ดีกว่า แต่สำหรับคุณหมอพรทิพย์ เธอบอกว่า

“โดย ส่วนตัวหมอก็ไม่ได้สนใจ อยู่ที่ธรรมะจัดสรร ถ้าธรรมะจัดสรร ก็คือธรรมะคุ้มครอง ถ้าเราทุ่มเทมาตลอดแบบนี้แล้วไม่มีใครสนใจ ก็เข้าใจได้ ไม่ต้องโกรธเขา เป็นเรื่องของกรรมไป”


“คุณหมอพรทิพย์” ตัวแสบในสายตาตำรวจ

หลายๆ ครั้งที่เราเห็นวิวาทะระหว่างคุณหมอพรทิพย์กับตำรวจในสื่อต่างๆ โดยเฉพาะในเหตุการณ์ที่สังคมกำลังจับตามอง ตั้งแต่คดีคุณห้างทอง สึนามิ และอีกหลายๆ เหตุการณ์

“จริงๆ แล้วต้องตอบแบบนี้ ถ้าสิ่งไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้นเปรียบได้กับแก้วแตก เมื่อเราเก็บแก้วแตก ไอ้คนที่โยนแก้วแตกมันก็ย่อมถูกมองแน่นอน ถูกมั้ยคะ เพราะฉะนั้นจริงๆ หมอไม่ได้เป็นศัตรูกับตำรวจ แต่หมอไม่เคยยอมกับสิ่งที่เขาทำแล้วไม่ถูกต้อง อะไรก็ได้ที่มันเป็นแก้วบาด ทำร้ายสังคม หมอไม่ปล่อย”

ถ้าจะเปรียบความ ขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นคลื่นลมมรสุม เชื่อว่าการล่องเรือผ่านมหาสมุทรของคุณหมอพรทิพย์คงจะใช้เวลานานโข คำถามที่สำคัญคือ รับมือกับมรสุมที่ถาโถมเหล่านั้นอย่างไร เพราะท้ายที่สุดแล้ว เธอก็ยังเลือกที่จะยืนหยัดในหลักการของตัวเองอย่างเด็ดเดี่ยว

“ทุกครั้ง ไม่ใช่เรื่องที่สบาย แต่มันจะได้เรียนรู้ค่ะ เพราะจุดที่แรงที่สุดคือจุดที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก แต่ว่ามันเป็นจุดที่เราเกิดวัคซีนแล้ว คือคดีคุณห้างทอง มันทำให้เราได้รับสัจธรรมแล้วว่าความจริงคือความจริง”

“ขอให้เราอยู่บน หลักการ แล้วเราก็เอาธรรมะมาใช้ คือถึงแม้ว่ามันจะเป็นความจริง แต่มันอาจจะไปต่อไม่ได้ เพราะมันขึ้นอยู่กับกรรมเขา เราไม่ต้องทุรนทุรายค่ะ เราได้ทำสิ่งที่ดีที่สุด ถูกต้องที่สุด ทำแล้วเราก็ปล่อยวางเท่านั้นเอง”

“อาจ จะมาหนักหน่อย คือสึนามิ วิธีการของตำรวจนั้นต้องตอบว่าเลวร้าย ไม่มีใครเคยเจอแบบหมอหรอก แต่ต้องขอบคุณ วันนี้หมออยู่ได้ก็เพราะว่าผ่านตรงนั้นมา ถ้าเราอยู่กับมันได้นะ”

“เรา ได้บทเรียนที่มีค่ามากก็คือ เราได้ตัดเยื่อใยทิ้ง ไม่ได้ตัดจากตำรวจนะ ตัด “ตัวกู” อยากด่าก็ได้ ทิ้ง “ตัวกู” ให้ด่าไปแล้ว ทิ้งตัวเราให้ด่า ด่าไปเลย สนุกสนาน มันไม่กระทบเราหรอก เพราะเราไม่ได้เอามาด้วย”

คุณหมอเล่าว่า นี่อาจจะเป็นโชคดีของการเป็นหมอผ่าศพ เพราะ “ศพ” เป็นกุญแจดอกใหญ่ที่ไขให้เห็นสัจธรรมที่แท้จริงแห่งชีวิต โชคดีในความโชคร้ายก็คือ เธอเป็นชาวพุทธที่มีโอกาสได้เห็นที่มาที่ไปของชีวิตมากกว่าคนทั่วไป
และก็เป็นธรรมะนั่นเองที่อยู่กับคุณหมอ ทั้งในวันที่ขึ้นสู่จุดสูงสุดของอาชีพ และในวันที่ตกต่ำที่สุดจากผลของความขัดแย้ง


สุขภาพและครอบครัว

ความ เจ็บป่วยเป็นภาระทางกายที่มนุษย์ทุกคนต้องเผชิญ หลายปีก่อนคุณหมอพรทิพย์ป่วยด้วยโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ แม้ในวันนี้อาการจะดีขึ้นจนเป็นปกติ แต่ความเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ อันเกิดจากการพักผ่อนไม่เพียงพอก็ยังปรากฏอยู่บ่อยครั้ง

“สุขภาพเสื่อมไป ตามอายุ กับสิ่งที่มันไปก่อนหน้าแล้ว มะเร็ง เข่าเสื่อม เอ็นขาด เพราะเล่นกีฬา ก็ต้องระวัง เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่สามารถทำอะไรให้รักษาได้ นอกจากระวังไม่ให้มันหนักขึ้น แต่สิ่งที่มันขาดหายในชีวิตคือเป็นคนชอบเล่นกีฬา มันหาเวลาไม่เจอ ไม่ได้เล่นกีฬามานานมากแล้ว ตั้งแต่เข้าสู่ระบบบริหาร”

ภาพลักษณ์ของคุณ หมอพรทิพย์คือ Working Woman เธอทำงานหนัก ทุ่มเท ยืนหยัด ท้าชนเพื่อสิ่งที่เชื่อ คนส่วนใหญ่อาจจะนึกภาพไม่ออกว่าในมุมของ “ความเป็นแม่” เธอดูแล “น้องเท็น” ลูกสาวคนเดียวอย่างไร “เรามีหน้าที่ ให้ปัญญากับให้ธรรมะ ขอให้เขาไม่ทำสิ่งที่มันสะสมความเลวร้ายก็พอใจแล้ว แต่เท่าที่หมอสังเกตนะ น้องเท็นมีความรับผิดชอบต่อตนเองสูง”

“บางอย่าง เราเห็นแล้วไม่ถูกใจก็ต้องช่างมัน คือเขาเป็นคน Gen Y ไม่เที่ยงก็ไม่ตื่น ถ้าวันหยุดนะ โอ้โห ชีวิตมันหายไปตั้งครึ่งวัน เหลือเวลาอยู่นิดนึง อันนี้เราก็ปล่อย ต้องเข้าใจชีวิต เข้าใจโลก ว่ามันเปลี่ยน ไม่เหมือนสมัยก่อนแล้ว”
แม้จะเป็นผู้หญิงชอบทำงาน แต่คุณหมอก็ย้ำว่าครอบครัวต้องมาเป็นอันดับ 1 เพราะเป็นคนที่อยู่ใกล้ชิดเรามากที่สุด

“ตั้งแต่ ต้นปีที่ผ่านมา สามีเกษียณแล้ว เราก็ต้องเห็นว่านั่นเป็นเป้าหมายที่เราต้องแคร์ แคร์ให้มากด้วย บางทีเขาอยู่บ้านเฉยๆ แล้วเรากลับไปก็ไม่สนใจเขาเลยมันก็ไม่ถูก ต้องใจเขาใจเรา”

“แพทย์หญิง คุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันทน์” ด้วยอาชีพ เธอคือหมอนิติเวช นักนิติวิทยาศาสตร์ นักวิเคราะห์ 
  ด้วยบทบาท เธออาจจะเป็นตัวแสบของตำรวจ เป็นภรรยาและเป็นแม่ 
  ด้วยผลงาน เธออาจจะเป็นที่พึ่งของคน (และศพ) ที่ต้องการความเป็นธรรม 
  ด้วยรูปลักษณ์ เธออาจจะเป็นสาวเปรี้ยว
  และไม่ว่าคุณผู้อ่านจะมีมุมมองต่อเธออย่างไร
  
เธอคือคนที่เข้าใจ “โลกที่มีชีวิต” และร่างที่ “ไร้ชีวิต” อย่างชัดเจน

อัลบั้มภาพ 12 ภาพ

อัลบั้มภาพ 12 ภาพ ของ 9 เดือนสุดท้ายกับภารกิจ “ช่วยศพพูด” พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook