เลี้ยงลูกแบบไหนไม่ให้ "หิวเงิน"

เลี้ยงลูกแบบไหนไม่ให้ "หิวเงิน"

เลี้ยงลูกแบบไหนไม่ให้ "หิวเงิน"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เลี้ยงลูกแบบไหนไม่ให้หิวเงิน
คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

เมื่อกล่าวถึงวิธีการเลี้ยงลูก สิ่งที่พ่อแม่หลายคนที่มาพบแพทย์เพื่อปรึกษาปัญหาของลูกวัยรุ่น (โดยที่ไม่ได้พาลูกมาด้วยกัน) คือ "เลี้ยงลูกแบบนี้ถูกหรือไม่"

หลายครั้งสังเกตว่าพ่อแม่มีคำตอบไว้ในใจแล้วว่าตนเลี้ยงลูกมาอย่างถูกต้องแต่ลูกเองต่างหากที่ไม่ปฏิบัติตามคำสอน และต้องการได้ยินจากปากหมอเพื่อเป็นการยืนยันว่าวิธีการเลี้ยงดูถูกต้องจริงๆ แต่การเลี้ยงลูกเป็นเรื่องที่มีความเฉพาะในแต่ละครอบครัว ดังนั้น จะบอกว่าถูกหรือผิดในบริบทที่ต่างกันไม่ได้ เพียงแต่ถ้าลูกมีพฤติกรรมผิดปกติไปเมื่อเข้าสู่วัยรุ่นโดยไม่ใช่อาการเจ็บป่วยทางจิตใจ เราอาจจะต้องพิจารณาวิธีการเลี้ยงดูว่ามีจุดใดมีปัญหาหรือเปล่า

พี่น้องสองสาวคู่หนึ่งมาปรึกษาปัญหาชีวิตที่ทั้งสองบอกว่า "เป็นปัญหาของคนอื่นที่มีผลกระทำต่อความเครียดของตัวเอง"

พี่สาวเป็นคนรักอิสระและดูเหมือนใช้ชีวิตแบบไม่ได้มุ่งมั่นมากนัก เธอมีแฟนซึ่งเป็นคนมีความฝันเช่นกัน แต่เมื่อทั้งสองร่วมลงทุนทำธุรกิจ ผ่านไป 1 ปีก็พบว่าไม่มีรายได้เข้ามาเลยแม้แต่บาทเดียว ฝ่ายสาวเมื่อเล่าเรื่องนี้ให้แม่ฟัง แม่ก็ฟันธงมาว่าต้องเปลี่ยนแฟนโดยด่วน และบอกด้วยว่าจะแนะนำลูกชายของญาติห่างๆ ให้ซึ่งทำงานมั่นคง รายได้สูง และน่าจะทำให้ลูกสาวสุขสบายได้มากกว่า

ฝ่ายน้องสาวเป็นคนเคร่งครัดในระเบียบวินัยเหมือนคุณแม่ เธอเป็นคนมีความสามารถสูง เรียนเก่ง และทำงานจนมีเงินทองมากมายสมกับที่แม่คาดหวังมาตั้งแต่เด็ก แต่เธอมีปัญหากับเพื่อนร่วมงานทุกคนจนต้องลาออกจากงานแล้ว 2 รอบในการทำงานปีแรก แม้จะจมอยู่ในความทุกข์จากปัญหาเพื่อนร่วมงานแต่มีแม่แค่คนเดียวที่ชื่นชมว่าเธอคือลูกที่แม่ภูมิใจเพราะหน้าที่การงานดี ส่วนลูกสาวคนโตแม้จะมีความสุขดีกับชีวิตที่ไม่เห็นอนาคตแต่สิ่งเดียวที่ทำให้ทุกข์คือแม่ไม่ชอบที่เธอและแฟนไม่ทำงานเป็นหลักเป็นฐาน

แม้พี่น้องสองคนจะมีความเชื่อว่าแม่ คือตัวปัญหาของทุกเรื่องเพราะความสุขและทุกข์ของลูกขึ้นอยู่กับความเห็นของแม่ แต่การกล่าวโทษนี้ไม่ถูกต้อง เพราะการเลี้ยงดูในครอบครัวไม่ได้เป็นปัจจัยเดียวทีทำให้ลูกมีความสุขหรือความทุกข์ค่ะ จริงอยู่ว่าแต่ละครอบครัวมีค่านิยมที่กำหนดว่าคนจะดีหรือไม่ดีจากกติกาบางอย่าง และของบ้านนี้คือการมีวัตถุที่นำมาซึ่งความสุข เช่น รายได้ที่ดี มีบ้าน มีงานมั่นคง ความสุขหรือทุกข์จึงอาจจะมาจากกติกาที่ลูกๆ ตีความผิดก็ได้ เช่น ลูกคิดว่ารายได้ดี = การเป็นลูกที่ดี แต่ความจริงบรรพบุรุษตั้งกติกาว่าลูกหลานจะมีชีวิตที่ดีถ้าขยันขันแข็ง และคนขยัน = คนมีรายได้ดี ไม่ได้เกี่ยวกับการเป็นลูกที่ดีหรือไม่ดีแม้แต่น้อย

มีละครญี่ปุ่นเรื่องหนึ่งที่แม้จะเลี้ยงลูกให้ยึดติดกับความสุขทางวัตถุแต่ดูแล้วไม่น่ากังวลค่ะ "Gouchisousan" หรือชื่อไทยฉายอยู่ทางช่องเคเบิลทีวีคือ "เมโกะ สาวน้อยนักกิน" เรื่องนี้เป็นละครที่ฉายตอนเช้าทางช่อง NHK ในญี่ปุ่น มีชื่อเรียกละครประเภทนี้ว่า "Asadora" ฉายช่วงเวลา 08.00-08.15 น. สัปดาห์ละ 6 วัน เนื้อเรื่องมักเกี่ยวพันกับชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งตั้งแต่เด็กจนโตหรือเรื่องราวของผู้หญิงที่ใช้ชีวิตแบบร่วมสมัย แต่ละเรื่องจึงฉายกันเป็นปีรวมสองร้อยกว่าตอน เรื่องที่คนไทยรู้จักดีที่สุดคือ "โอชิน" ค่ะ

เรื่องของเมโกะเกิดขึ้นก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 คุณพ่อของเมโกะเป็นเชฟอาหารฝรั่งเศสที่เปิดร้านเล็กๆ ของตัวเอง ความที่อาหารตะวันตกเป็นของหายากยุคนั้น เมโกะจึงมีโอกาสได้กินเนื้อนมไข่ทำให้ตัวสูงแตกต่างจากเด็กคนอื่น เนื้อเรื่องหลายตอนเกี่ยวพันกับอาหารตามชื่อเรื่อง เราเห็นวิถีครอบครัวที่เกี่ยวพันกับการให้รางวัลหรือลงโทษโดยเกี่ยวข้องกับวัตถุ เช่น ถ้าเมโกะทำดีก็จะได้รับประทานอาหารอร่อย หรือเมื่อทำผิดก็จะต้องอดข้าวเป็นการลงโทษ เมื่อเมโกะเติบโตขึ้น ความสุขและทุกข์ของเธอก็ยังเกี่ยวพันกับอาหารซึ่งเป็นวัตถุข้อแม้ของความสุขที่ได้รับตั้งแต่เด็ก

เมื่อเธอมีความทุกข์ เธอจะหาความสุขให้ตัวเองด้วยการกิน และเมื่อใดได้กินของอร่อยก็จะรู้สึกมีความสุขขึ้นมาทันที เป็นตรรกะง่ายๆ ของการนำ "วัตถุ" มาผูกโยงกับความสุขหรือทุกข์ แต่กรณีนี้ไม่น่ากังวลเพราะของอร่อยหาง่ายค่ะ ถ้าให้วัตถุนี้เป็น "เงิน" น่าจะชวนเครียดมากกว่าเพราะมีเงิน = สุข แต่ไม่มีเงิน = ทุกข์ ที่ชวนเครียดไม่ใช่เพราะไม่มีเงิน แต่เพราะไม่รู้ว่าต้องมีเงินเท่าไรจึงจะเรียกว่า "มีเงิน" ค่ะ

มีการศึกษาน่าสนใจจากโปรเฟสเซอร์ด้านการตลาดจากมหาวิทยาลัยแห่งมิสซูรีพบว่าครอบครัวที่พ่อแม่ใช้ "วัตถุ" เป็นส่วนหนึ่งของเทคนิคการเลี้ยงลูกอาจจะส่งผลให้เด็กโตขึ้นแล้วยึดติดกับ "วัตถุ" ได้ การเลี้ยงลูกแบบยึดติดกับวัตถุพบได้ 3 ประเภท

ได้แก่ 1) ให้รางวัลลูกด้วยของขวัญเมื่อลูกทำงานสำเร็จ เช่น แข่งกีฬาชนะหรือเรียนได้เกรด A ทุกตัว 2) ให้ของขวัญเพื่อเป็นการแสดงความรู้สึกรัก และ 3) ลงโทษลูกด้วยการนำวัตถุบางอย่างออกไป เช่น ลงโทษด้วยการเก็บของเล่นหรือวิดีโอเกม เทคนิคการเลี้ยงเหล่านี้ไม่ใช่ไม่ดีหรือผิดนะคะ เพียงแต่ผู้วิจัยเขาพบว่าสัมพันธ์กับความเชื่อบางอย่างของเด็กเมื่อโตขึ้น โดยเด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูแบบนี้มีแนวโน้มจะเชื่อว่าความสำเร็จในชีวิตอธิบายได้จากปริมาณวัตถุที่เขาได้ครอบครอง และยิ่งมีวัตถุครอบครองมาก ตัวเขาจะยิ่งเป็นที่สนใจจากคนรอบข้างยิ่งขึ้น

มองไปรอบตัวในช่วงเทศกาลค่ะ สินค้าทั้งหลายพยายามโฆษณาว่าเราควร "มอบของขวัญ" เพื่อเป็นการแสดงถึงความรักและเคารพ เราอาจต้องระลึกในใจเสมอว่าเป็นความพยายามในการขายสินค้าของเขา ไม่ใช่การแสดงความรักและเคารพอย่างแท้จริง จริงอยู่ว่าการส่งผ่านความปรารถนาดีอาจต้องมีวัตถุมาเกี่ยวข้องด้วย แต่มูลค่าของวัตถุไม่ควรแปรผันตรงกับปริมาณความปรารถนาดีค่ะ

ดังนั้น การให้การ์ดอวยพรใบเล็ก การให้พวงมาลัยหอมชื่นใจ หรือแค่กลับบ้านไปกินข้าวกับพ่อแม่ ควรจะเป็นการส่งผ่านความปรารถนาดีที่ทั้งผู้ให้และผู้รับเข้าใจตรงกันว่าวัตถุเป็นคนละเรื่องกับความรู้สึก ความปรารถนาดีใช้เงินซื้อไม่ได้และมีคุณค่าสูงกว่าวัตถุมากค่ะ

ขอบคุณภาพประกอบ : http://www.istockphoto.com/

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook