เลือกโรงเรียนอนุบาล เลือกโรงเรียนที่วันๆ เอาแต่เล่นกับเด็ก

เลือกโรงเรียนอนุบาล เลือกโรงเรียนที่วันๆ เอาแต่เล่นกับเด็ก

เลือกโรงเรียนอนุบาล เลือกโรงเรียนที่วันๆ เอาแต่เล่นกับเด็ก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์ แผนกจิตเวช โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์

เลือกโรงเรียนอนุบาล เลือกโรงเรียนที่วันๆ เอาแต่เล่นกับเด็ก

Q.ผมไปดูแล้วก็ยังไม่รู้ว่าจะเลือกโรงเรียนอนุบาลให้ลูกอย่างไรดีครับ ถามคนใกล้ตัวก็ได้คำแนะนำจนมึน ที่สุดแล้วต้องดูที่อะไร เป็นหลักที่ใช้ดูไปถึงชั้นโตกว่านี้ได้ก็จะดีครับ และเด็กๆ เริ่มเรียนอนุบาลเลย ไม่ต้องไปเนิร์สเซอร์รี่ก็ได้ใช่ไหม

แลกเปลี่ยนแบบคุณพ่อกับคุณพ่อกันก่อนนะครับ เมื่อยี่สิบปีก่อน ผมเลือกโรงเรียนอนุบาลให้ลูกโดยดู 3 ข้อ ข้อแรกคือพ่อแม่ลูกเดินไปกลับโรงเรียนด้วยกันได้ ข้อสองคือโรงเรียนมีสนามหญ้ากว้างมาก ข้อสามคือคุณครูไม่สอนอะไร วันๆเอาแต่เล่นกับเด็กๆ

พ่อแม่ลูกเดินไปด้วยกันได้ทุกเช้าและเดินกลับด้วยกันได้ทุกเย็นเป็นอะไรที่สวรรค์มากๆ เชื่อว่าในต่างจังหวัดยังสามารถทำได้อยู่ ในเมืองใหญ่คงจะยากขึ้นแล้ว ประเด็นคือวัยอนุบาลยังเป็นวัยที่พ่อแม่ควรมีปฏิสัมพันธ์กับลูกมากที่สุดอยู่ เรื่องสนามหญ้ามีประเด็นเรื่องการพัฒนากล้ามเนื้อทั้งใหญ่และเล็กซึ่งเป็นรากฐานของการพัฒนาสมองในระดับพื้นฐาน กล่าวคือสมองดีกล้ามเนื้อก็ดีแต่พัฒนาการเป็นไปในทางตรงข้ามด้วย นั่นคือกล้ามเนื้อมัดเล็กมัดใหญ่ดีสมองก็ดีด้วย จำได้ว่าโรงเรียนอนุบาลที่มีชื่อเสียงในจังหวัดที่ผมอยู่มีแต่ตึก และมีเพียงลานคอนกรีตตรงกลาง ข้อสามสำคัญที่สุดหน้าที่ของเด็กอนุบาลคือเล่น ถ้าเล่นสนุกเขาจะเรียนรู้ระหว่างเล่น ถ้าเล่นไม่สนุกเขาเรียนรู้ได้น้อย ถ้าบังคับ “เรียน” เขาไม่ “เรียนรู้” อะไรเลย

ที่ว่าคุยกันแบบพ่อกับพ่อคือผลจากการเลือกโรงเรียนแบบนี้ทำให้ลูกคุณหมอประเสริฐเป็นลูกคุณหมอที่เรียนโรงเรียนระดับล่าง เล่นร่วมกับลูกชาวบ้าน นั่นแปลว่าเราก็จะไม่สนใจการเปรียบเทียบหรือแข่งขันอะไรกับใคร ผมถูกถามกึ่งต่อว่าเสมอเวลาผ่านมายี่สิบปี ผมนั่งดูลูกสองคนเวลานี้ครั้งใดผมก็มีข้อสรุปส่วนตัวว่าเขาเป็นผลลัพธ์ที่น่าพอใจของการวางรากฐานที่ดีในชั้นอนุบาล ซึ่งเป็นพระคุณของคุณครูทุกคนและโรงเรียนที่ดูแลเขาในชั้นอนุบาลนั่นเอง

คราวนี้มาว่ากันเรื่องวิชาการ

เรื่องไปเนิร์สเซอรี่กี่ขวบ หลักการง่ายๆคือเราไม่ควรให้ใครเลี้ยงลูกแทนเราก่อน 3 ขวบ ถ้าเลี่ยงไม่ได้จริงๆก็ต้องไปส่งลูกที่เนิร์สเซอรี่ช้าๆและไปรับลูกกลับเร็วๆ ก่อนสามขวบให้ถือว่าปฏิสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และลูกเป็นเรื่องจำเป็นขั้นสูงสุด เพื่อให้เขามีรากฐานของตัวตน(self)ที่ดีและแข็งแรงที่สุด

เรื่องไปอนุบาลเพื่อเรียนอะไร สมมติว่าอนุบาลคือชั้นเรียน 4—6 ขวบ นี่คือวัยที่เขาจะพัฒนารากฐานของสมองและจิตใจที่สำคัญ 2 ประการ

ประการแรกเรียกว่า “ริเริ่มสิ่งใหม่” ประการที่สองคือ “ปะทะเพื่อน”

ผมใช้คำว่า “รากฐาน” เพื่อบอกว่านี่เป็นเวลาที่ควรฝึกหรือเปิดโอกาสให้เด็กๆทำสองประการนี้มากที่สุด

หากรากฐานดีอนาคตก็ดี

หากเราอยากให้ลูกเป็นคนที่มี “ความคิดสร้างสรรค์” ในอนาคต เราก็เลือกโรงเรียนอนุบาลที่ส่งเสริมหรือเปิดโอกาสให้เขาได้ “ริเริ่มสิ่งใหม่”ทุกๆวัน ภาษาอังกฤษว่า initiation วัยอนุบาลมีหน้าที่ initiate เขาจะชอบมากๆ นั่นแปลว่าสร้างงานอะไรก็ไม่ผิด ยกตัวอย่าง งานศิลปะที่ทำอะไรก็ไม่ผิด จะวาดอะไรก็ไม่ผิด ดีทั้งนั้น จะลงสีหรือระบายสีเลอะเทอะอย่างไรก็ไม่ผิด สวยทั้งนั้น จะปั้นดินเป็นอะไรก็ไม่ผิด คิดสร้างสรรค์ทั้งนั้น เลือกครูที่มีทัศนคติแบบนี้กับงานของเด็กๆ รับรองเจ๋ง

หากเราอยากให้ลูกเป็นคนที่มี “มนุษยสัมพันธ์ดี” ในอนาคต เราก็เลือกโรงเรียนอนุบาลที่ส่งเสริมหรือเปิดโอกาสให้เขาได้ “ปะทะเพื่อน” ทุกๆวัน ภาษาอังกฤษว่า industry คือปะทะ คืนดี แล้วร่วมมือกัน ปะทะเป็นคำกริยาที่เกิดขึ้นได้เมื่อเขาและเพื่อนเล่นเป็นหมู่คณะ ไม่ว่าจะเล่นในห้องหรือเล่นในสนาม ไม่ว่าจะเล่นตามกติกาที่ครูกำหนดหรือเล่นอย่างเสรีตามใจตน เด็กสองคนไม่ช้าก็เร็วต้องปะทะกันแน่ๆ ปะทะทางบวก ปะทะทางลบ โกรธกัน ตีกัน แล้วก็ดีกัน ทักษะการปะทะเป็นทักษะสำคัญที่เขาต้องใช้ตลอดชีวิต เลือกครูที่เล่นกับเด็กๆหรือดูแลเด็กๆเล่นได้ทั้งวัน รับรองเจ๋งเช่นเดียวกันครับ

Q. ลูกอายุ 4 ขวบ ตะโกนเรียกพ่อแม่ ตวาด หรือตีพ่อแม่ต่อหน้าคนอื่น หรือขณะที่เรากำลังคุยธุระอยู่ เราควรดุและทำโทษเขาตอนนั้นเลย หรือให้คุยธุระเสร็จแล้ว ค่อยไปทำโทษทีหลังครับ

เรื่องนี้ขอให้ทราบว่าหากไม่ชอบคำตอบที่ผมให้ก็อย่าถือสา ลองถามผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆได้ครับ

แลกเปลี่ยนแบบคุณพ่อกับคุณพ่อกันก่อนนะครับ การสั่งสอนลูกเล็กเป็นเรื่องที่ผมทำทันทีทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นในที่รโหฐานหรือที่สาธารณะ ทั้งนี้โดยไม่ขึ้นกับลักษณะความผิดด้วยเช่น นั่งกินข้าวไม่เป็นที่เป็นทางในร้านอาหารคอยแต่จะมุดใต้โต๊ะปีนป่ายเก้าอี้ ผมจะลุกจากโต๊ะเดินอ้อมไปหาลูก นั่งลงเสมอหน้าและพูดด้วยเสียงเอาจริงว่าลูกต้องนั่งกินอยู่กับที่เหมือนพ่อแม่ แล้วเราจะกินเสร็จพร้อมกันไปเล่นด้วยกันต่อ เป็นต้น

ในความผิดร้ายแรง คือทำร้ายคน ทำลายข้าวของ พูดคำหยาบ ผมจะตีทันทีไม่ว่ารอบข้างจะมีใครก็ตาม แต่บังเอิญผมไม่เคยต้องทำอะไรเช่นนั้นเลย เลยรอดตัวไป

คราวนี้มาว่ากันเรื่องวิชาการ

1.ประเด็นทำโทษทันทีหรือทีหลัง
ตอบว่าทำทันที เพราะทำทันทีจึงเกิดการเรียนรู้ว่าพ่อทำโทษเรื่องอะไร อธิบายว่าสมองเด็กไม่ได้ทำงานด้วยเหตุผลแบบของเรา สมองของเขาทำงานแบบจับคู่เหตุการณ์สองอย่างเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน(Phenomanalisticcausality) ยิ่งเหตุการณ์สองอย่างนั้นประชิดกันมากเท่าไรเขายิ่งจับคู่ง่ายขึ้นเท่านั้น ตีพ่อแม่ก็ต้องถูกตีทันที จึงจะเข้าใจว่าเขาถูกทำโทษเรื่องอะไร มิใช่รออีกหลายนาทีหรือหลายชั่วโมงค่อยมาทำโทษแล้วตามด้วยคำอธิบายยืดยาวเหลวไหลไร้สาระ

2.ประเด็นทำต่อหน้าคนอื่นหรือในที่รโหฐาน ตอบว่าทำโทษทันทีแม้ว่าจะเป็นที่สาธารณะ ที่จริงนี่เป็นประเด็นหน้าตาของพ่อแม่มากกว่าหน้าตาของเด็กๆ พ่อแม่ส่วนใหญ่รักษาหน้าตัวเองโดยพร้อมจะปล่อยปละละเลยให้ลูกเสียคน หากจะเถียงว่าลูกเสียหน้าก็ต้องยอมให้เสียหน้าเพื่อจะได้รู้ว่านี่คือพฤติกรรมที่พ่อแม่จะไม่ยอมอ่อนข้อเป็นอันขาด ถึงลูกจะเสียหน้าก็จะทำโทษทันทีอยู่ดี แน่นอนว่าเราทำโทษลูกเพื่อให้เขาหลาบจำเรามิได้จะ “ทำร้าย” ลูกด้วยอารมณ์โกรธ ขอให้แยกสองอย่างนี้ออกจากกัน อย่าเอามาปะปนกันเพื่ออ้างที่จะไม่ทำอะไร(แต่เราจะไม่ทำโทษลูกวัยรุ่นของเราต่อหน้าคนอื่นนะครับ)

3.ความผิดร้ายแรงคือทำร้ายคน ทำลายข้าวของ พูดคำหยาบ นอกจากนี้เป็นความผิดไม่ร้ายแรงทั้งนั้นครับ อธิบายดังนี้ เด็กทุกคนพร้อมจะทดสอบกฎ กติกา มารยาทที่เรากำหนดให้อยู่แล้ว เขาแค่ทดสอบว่าเราเอาจริงมั้ยจะได้ทำตัวถูก

ดังนั้นเราไม่ควรจุกจิกทุกเรื่องห้ามหมดทุกอย่าง ปล่อยได้ก็ปล่อย พ่อแม่อย่าเอาแต่ใจตัวให้มากนัก มีเรื่องที่เราควรเอาจริงแต่ไม่ถึงกับต้องตีคือเรื่องกติกาของส่วนรวม เช่น การกินที่โต๊ะอาหารในร้าน การใช้รถสาธารณะหรือรถไฟฟ้า การส่งเสียงดังในที่ที่ห้ามใช้เสียง การแซงคิวซื้อของหรือจ่ายเงิน การใช้สมาร์ทโฟนในที่สาธารณะ เป็นต้น กติกากลางเหล่านี้คนทุกคนต้องเคารพ เด็กทุกคนก็เช่นกัน หากเขาละเมิดเราต้องสั่งสอนอย่างจริงจัง หากเขาไม่ทำตามเราต้องเอาเขาออกจากสถานที่นั้นแล้วคาดโทษ สุดท้ายคือกรณีความผิดร้ายแรงที่พ่อแม่ควรหยุดเขาทันที ไม่ปล่อยปละละเลยจนทำอะไรไม่ได้ในอนาคต

สรุปคือพฤติกรรมของเด็กๆมี 3 ระดับ ระดับปล่อยได้ขอให้ปล่อย ระดับที่เป็นกติกาสังคมต้องเอาจริงกับเด็ก ระดับร้ายแรงคือทำร้ายคน ทำลายข้าวของ พูดคำหยาบ ให้ทำโทษ จำเป็นต้องตีก็คือตี

4.พฤติกรรมของเด็กๆจะเป็นไปได้ดั่งใจเราหรือเปล่าขึ้นอยู่กับความสามารถในการควบคุมตนเองของเขาความสามารถในการควบคุมตนเองเป็นเรื่องต้องฝึกตั้งแต่แรกๆ และผมยืนยันว่าการกินข้าวเป็นเรื่องแรกๆ เด็กเล็กทุกคนควรได้รับการฝึกกินข้าวอยู่กับที่ให้เสร็จในเวลาที่กำหนด มิใช่เดินป้อนข้าวกันได้ครั้งละหลายสิบเมตรอย่างที่ทำๆกัน ประเด็นมิได้อยู่ที่ข้าว ประเด็นอยู่ที่ความสามารถในการบังคับตัวเองให้นั่งกินข้าวให้เสร็จ หากเรื่องขี้ผงเท่านี้พ่อแม่สอนไม่ได้ ก็อย่าคาดหวังว่าเขาจะควบคุมตนเองในเรื่องอื่นๆได้เมื่อโตขึ้น

ขอบคุณภาพประกอบ : http://www.istockphoto.com/

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook