เปิด "บ้านจักรพงษ์" คุยสตรีไทย "ม.ร.ว.นริศรา" กับเรื่องราว 2 ชีวิต

เปิด "บ้านจักรพงษ์" คุยสตรีไทย "ม.ร.ว.นริศรา" กับเรื่องราว 2 ชีวิต

เปิด "บ้านจักรพงษ์" คุยสตรีไทย "ม.ร.ว.นริศรา" กับเรื่องราว 2 ชีวิต
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คอลัมน์ Hello เซเลบ

ราชสกุล "จักรพงษ์" เป็นอีกราชสกุลหนึ่งที่หากใครชอบศึกษาประวัติศาสตร์จะให้ความสนใจยิ่ง โดยเฉพาะเรื่องราวชีวิตของ "เจ้าชายไทย" ที่ทรงเสกสมรสกับ "สตรีชาวต่างชาติ"

นับตั้งแต่ ต้นราชสกุล จอมพล สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ กับ หม่อมแคทยา ชาวรัสเซีย พระราชโอรสองค์ที่ 40 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และเป็นองค์ที่ 4 ในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ

รวมทั้งเรื่องราวชีวิตของ "เจ้าชายลูกครึ่ง" พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ พระโอรสในพระองค์ ที่ทรงเสกสมรสกับ หม่อมเอลิซาเบธ ชาวอังกฤษ

"พระองค์จุล" และ "หม่อมเอลิซาเบธ" ทรงมีพระธิดาคนเดียว ม.ร.ว.นริศรา จักรพงษ์ หรือ คุณหญิงสา ที่วันนี้ หลายคนรู้จักเธอในฐานะ "แม่ฮิวโก้" หรือ เล็ก-จุลจักร จักรพงษ์ ศิลปินดาราชื่อดัง

เรื่องราวชีวิตของ "ม.ร.ว.นริศรา" ที่ออกเสียงว่า "นะ-ริด-สา" ตามคำเรียกขานของ "พระบิดา" และ "หม่อมมารดา" นั้น เธอกำเนิดในราชสกุลสูงศักดิ์ หากด้วยเชื้อสายที่มีทั้ง "ไทย-อังกฤษ" ซึ่งในสมัยนั้น "ลูกครึ่ง" ยังไม่เป็นที่ยอมรับในเมืองไทยนัก ทำให้เธอต้อง "ต่อสู้ชีวิต" ด้วยตนเองตลอดมา

จวบจนกระทั่ง ในวัย 58 กะรัต ม.ร.ว.นริศรา เปิด "บ้านจักรพงษ์" ต้อนรับมติชน ชวนนั่งพับเพียบ จิบน้ำมะนาว สนทนาเรื่องราวชีวิตที่เธอบอกว่า "ความรู้สึกหนึ่งที่มีมาตลอด คือ เหมือนตัวเองมี 2 ชีวิต"

เริ่มตั้งแต่ในวัยเด็ก แม้จะใช้ชีวิตอยู่ในบ้านหลังใหญ่บนเนินเขาในคอร์นวอลล์ เขตชนบทของอังกฤษ แต่ก็จะติดตามพระบิดากลับมากรุงเทพฯบ่อยครั้ง

"ตอนเด็กๆ ไม่ค่อยสนิทกับท่านพ่อเท่าไหร่ และจริงๆ แล้วท่านเป็นคนที่น่ากลัวนิดหน่อย เพราะทรงมีลูกตอนที่พระชนม์มากแล้ว ยังไม่พร้อมที่จะเล่นกับลูกเท่าไหร่ แต่พอจะมาสนิทกัน ท่านก็สิ้นพระชนม์ด้วยโรคมะเร็งเสียก่อน"

แม้จะกำพร้าพระบิดาตั้งแต่อายุ 7 ขวบ แต่หม่อมมารดาก็ยังพาคุณหญิงนริศราเดินทางกลับมาประเทศไทย เพื่อ "เรียนภาษาไทย"

"ด้วยความตั้งใจของท่านพ่อที่อยากให้ลูกพูดภาษาไทยได้จึงได้เรียนในโรงเรียนจิตรลดาซึ่งก็ถือว่าโชคดีในแง่หนึ่ง แต่อีกแง่หนึ่งก็เป็นเรื่องที่ลำบาก เพราะไม่ได้เรียนตลอด

"ปีหนึ่งจะอยู่อังกฤษ 8 เดือน อยู่ประเทศไทย 4 เดือน ทำให้เรียนได้แค่เทอมเดียว ในเทอมสุดท้ายที่ต้องสอบ จึงเรียนไม่ค่อยทันเพื่อน เพราะต้องเรียนทั้งหมดของหนึ่งปี ภายในหนึ่งเทอม ขณะที่ก็ต้องเรียนของที่โรงเรียนในอังกฤษด้วย ทำให้เรียนค่อนข้างหนัก"

กระทั่งอายุประมาณ 14 ปี หม่อมมารดาก็ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคมะเร็ง แต่เพราะไม่สนิทกับญาติทางเมืองไทย แม่จึงฝากให้น้าสาวดูแล ม.ร.ว.นริศราเข้าศึกษาในโรงเรียนเซนต์พอล โรงเรียนสตรีอันดับ 1 ของอังกฤษ จนกระทั่งอายุ 18 ปี เห็นว่าตนเองบรรลุนิติภาวะแล้ว จึงได้ออกจากบ้านน้าสาวมาใช้ชีวิตลำพัง เธอต้องทำทุกอย่างเพื่อดูแลตัวเอง ทำงานเสิร์ฟอาหารส่งตัวเองเรียน หากกระนั้น ก็ยังสามารถคว้าใบปริญญาตรีเกียรตินิยมอันดับ 1 สาขาประวัติศาสตร์ศิลป์ จาก The Courtauld Institute of Art และปริญญาโทด้านเอเชีย อาคเนย์ จาก The School of Oriental and African Studies (SOAS) เป็นวิทยาลัยแห่งหนึ่งในมหาวิทยาลัยลอนดอน

"ช่วงนั้น ไม่ได้มาเมืองไทยเลย" คุณหญิงนริศรายอมรับ แล้วเล่าถึงจุดเปลี่ยนที่ทำให้เธอกลับมาประเทศไทยในที่สุด

"ตอนนั้นอายุ 28 ในงานเลี้ยงที่คนอื่นสนุกสนาน แต่เรากำลังล้างชาม อยู่ดีๆ ก็มีเสียงท่านพ่อเข้ามาในความคิดว่า นี่เธอ ทำอะไรอยู่ ทำไมต้องมาล้างชาม มันประหลาดมากจริงๆ ไม่น่าเชื่อเลย แล้วก็ทำให้เราได้คิดว่า ฉันจากประเทศไทยไปนานมาก ไม่ได้แล้ว บ้านก็มีอยู่เมืองไทย อยู่ที่กรุงเทพฯ มันไม่ถูกต้อง"

หลังจากระหกระเหินจาก "บ้านจักรพงษ์" ไปนาน ม.ร.ว.นริศราก็กลับมาพำนักที่ประเทศไทยอีกครั้ง เปลี่ยนบ้านจักรพงษ์ที่ไร้ชีวิตชีวา ให้กลับมาสดชื่นแจ่มใสอีกครา

ที่ประเทศไทย ม.ร.ว.นริศราสู้ชีวิต และทำงานหลากหลายด้าน ทั้งอาจารย์สอนภาษาโรงเรียนจิตรลดา เป็นล่ามและผู้แปลเอกสารให้กองบัญชาการทหารสูงสุด เป็นผู้ก่อตั้งและเคยเป็นประธาน มูลนิธิโลกสีเขียว ปัจจุบันเป็นเจ้าของ สำนักพิมพ์ริเวอร์บุ๊คส์ และ จักรพงษ์ วิลล่า

"มูลนิธิโลกสีเขียว ก่อตั้งขึ้นเพราะเป็นห่วงสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วของประเทศไทยที่มาพร้อมกับความเจริญของบ้านเมืองถามว่าตอนนี้เราจะช่วยสิ่งแวดล้อมกันได้อย่างไรขี่จักรยานก็ดีนะ หรือเดิน ถ้าจะทำอะไรง่ายๆ อยากจะบอกว่า อย่ากลัวเหงื่อออก (หัวเราะ) เหงื่อออกก็ช่าง เพราะเป็นสิ่งที่ดี มันช่วยขับไล่สิ่งไม่ดีออกจากร่างกาย"

"ส่วนสำนักพิมพ์ริเวอร์บุ๊คส์ ทำหนังสือเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ของไทยและประเทศเพื่อนบ้าน เราพยายามทำให้สมดุลระหว่างหนังสือขายดีกับหนังสือที่อาจจะขายยาก แต่สมควรถูกบันทึกไว้"

"จักรพงษ์ วิลล่า เริ่มขึ้นมาจากเศรษฐกิจที่แย่มากเมื่อ 18 ปีมาแล้ว เงินบาทตก จากเคยมีดอกเบี้ยก็หมดไปเลยทันที และช่วงนั้นต้องซ่อมแซมใหญ่เพราะบ้านก็ร้อยกว่าปี ก็เลยคิดว่าต้องทำอะไรให้อยู่ให้ได้ จึงทำโรงแรมบูทีค โฮเทลขึ้นมา ซึ่งสมัยนั้นยังไม่มีคนทำ เราจึงเป็นผู้บุกเบิก ซึ่งก็ได้รับความนิยมมาจนถึงทุกวันนี้"

ล่าสุดกับการเป็นแม่งานจัด "นิทรรศการภาพถ่ายโบราณ สยาม ผ่านมุมกล้องจอห์น ทอมสัน" ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป์ ถนนเจ้าฟ้า จัดแสดงตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2558

และในวันนี้ เธอเป็น "แม่" ของลูกชาย 2 คน เล็ก-จุลจักร จักรพงษ์ และ กู้-ภูวสวัสดิ์ จักรพงษ์ และเป็น "ย่า" ของหลานๆ 2 คน ของบุตรชายคนโต น้องฮาร์เปอร์ และ น้องฮันเตอร์ ใช้ชีวิตไปๆ มาๆ ระหว่างไทยกับอังกฤษ กับสามี กอสวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ ทอมสัน

ชีวิตของเธอเปี่ยมสุข...

"ตอนนี้เป็นย่า ทำหน้าที่พูดภาษาอังกฤษกับหลาน หลานคนโตคุยเก่งมาก เหมือนพ่อเขา ช่างสังเกต ชอบธรรมชาติ ชอบว่ายน้ำ เขาเป็นเด็กที่สนุกมาก อยู่ด้วยแล้วเพลิน มีความสุข อีกอย่างที่ชอบมากคือ เล็กเป็นพ่อที่ดีเหลือเกิน ใจเย็นและมีเหตุผล และบางทีฟังเขาคุยกับลูก เหมือนเราคุยกับเขาสมัยเด็กๆ น่าประทับใจ"

แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ เธอต้องต่อสู้กับ "ทัศนคติ" ที่คนทั่วไปมักมองเธอจากภายนอก

"เมื่อก่อน ตอนที่ยังไม่ฮิตฝรั่ง อย่างที่โรงเรียนจิตรลดา คนที่หน้าตาแบบเราไม่มี ทุกคนเป็นคนไทยหมด แม้เราจะรู้สึกว่าเป็นคนไทย แต่ก็มีทั้งคนที่ยอมรับและไม่ค่อยยอมรับ หรือที่ตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) เรายืนต่อแถวคนไทย ก็จะมีเจ้าหน้าที่มาคอยบอกให้ไปยืนแถวคนต่างชาติ หรือทุกครั้งที่ไปอุทยานแห่งชาติ ก็ต้องหยิบบัตรประชาชนขึ้นมายืนยัน เพื่อจะได้จ่าย 30 บาทราคาคนไทย แทน 200 บาทราคานักท่องเที่ยว

"จนบัดนี้ บ่อยครั้งที่จะพูดอะไร จะมีคนถามว่า ทำไมพูดไทยชัดจังเลย ถ้าเป็นเมื่อก่อนจะอารมณ์เสีย เพราะเราถือว่าที่นี่เป็นบ้าน และเราอยากได้รับการยอมรับ แต่เราไม่ได้รับตรงนี้ เป็นเรื่องที่ทำใจยากนะพูดจริงๆ มันคล้ายๆ ว่า มีคนมาบอกตลอดเวลาว่า ไม่ใช่พวกเรา ทั้งที่จริงๆ เรามีบางอย่างเป็นเอเชีย เช่น "ตา" ตาของเราไม่ลึกเลย ซึ่งฝรั่งแท้ๆ ตาส่วนใหญ่จะลึก และใบหน้าก็กว้างเหมือนคนเอเชีย

กระนั้น สถานการณ์ก็ค่อยๆ ดีขึ้นตามกาลเวลา

"ตอนนี้ทุกอย่างดีขึ้น และเราก็เฉยมากขึ้น ยิ่งพอลูกชายคนโตมีชื่อเสียง คนก็รู้จักจักรพงษ์บ้าง ทำให้คนรู้จักในฐานะแม่ฮิวโก้ พอเป็นแม่ฮิวโก้เราก็ไม่ต้องทำอะไรแล้ว สบาย มันง่ายดี คือ คนยอมรับ อ๋อ..แม่ฮิวโก้" พูดจบก็หัวเราะออกมาอย่างอารมณ์ดี

มาถึงตรงนี้ ม.ร.ว.นริศรา บอกว่า โชคดีที่ได้ใช้ชีวิต 2 แบบ 2 วัฒนธรรม แม้บางครั้งจะลำบากใจบ้าง แต่บางทีก็ไม่เชื่อว่า "โอ้โห นี่คือ ชีวิตเราเหรอ"

"ชีวิตที่ไม่ถือว่าเป็นเจ้า เพราะหม่อมราชวงศ์ไม่ใช่เจ้า แม้คนทั่วไปจะคิด ซึ่งมันอาจจะเป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ แต่ในตัวเรา เรารู้สึกว่า เราเป็นเด็กอายุ 18 ที่มาจากชนบท เป็นคนธรรมดามาก เราชอบให้ทุกคนควรจะเท่าเทียมกัน ชอบประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน อิสระในการพูด อิสระในความคิด ส่วนสิ่งที่คิดว่าเหมือนท่านพ่อคือ การพูดอะไรตรงไปตรงมา ความรักในหนังสือ รักสิ่งพิมพ์ รักประเทศไทย"

และ "รักบ้านจักรพงษ์"

"ที่นี่ต้องเรียก บ้าน ไม่ใช่ วัง เพราะไม่มีเจ้าอยู่ แต่ถ้าคนอยากเรียกก็ปล่อยเขา แต่ขอให้เรียกบ้าน และท่านพ่อเองก็ขอให้เรียกบ้าน เพราะวังคือวังปารุสก์ ที่นี่คือบ้านจักรพงษ์ เรารักบ้านนี้ เพราะอยู่ที่นี่นานกว่าทุกคนที่อยู่บ้านนี้ จึงถือว่าที่นี่เป็นบ้านเรา ถ้าใครถามว่า คิดถึงบ้าน ก็ต้องเป็นที่นี่ แม้จะไปโตที่อังกฤษ แต่บ้านที่อังกฤษไม่มีความผูกพัน จะรักที่นี่บ้านจักรพงษ์" ม.ร.ว.นริศราทิ้งท้าย

ตลอดระยะเวลา 1 ชั่วโมงเศษกับการสนทนาเรื่องราวชีวิต "ผู้หญิงไทย" คนนี้ยังคงนั่งพับเพียบเรียบร้อย แม้จะพบความเปลี่ยนแปลงในชีวิตบ่อยครั้ง แต่ประสบการณ์สร้างให้เธอแข็งแกร่งและมีชีวิตชีวา...

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook