สดุดีทั้งหัวใจ ม.ร.ว. รุจีสมร ศรัทธาซื้อไม่ได้ด้วยเงิน

สดุดีทั้งหัวใจ ม.ร.ว. รุจีสมร ศรัทธาซื้อไม่ได้ด้วยเงิน

สดุดีทั้งหัวใจ ม.ร.ว. รุจีสมร ศรัทธาซื้อไม่ได้ด้วยเงิน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ม.ร.ว. รุจีสมร สุขสวัสดิ์ ครูผู้มีแต่ให้ 

ณ วันนี้ ผู้อ่านหลายๆ คนคงได้รู้จัก “วรรณวิทย์” ชื่อของโรงเรียนไม้เล็กๆ ที่แวดล้อมไปด้วยหมู่ตึกสูงราคาแพงในสุขุมวิท ซอย 8 จากบทความที่ Sanook! Women ได้นำเสนอไปเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ( อ่าน :“วรรณวิทย์” โรงเรียนไม้เล็กๆ ที่ถูกโอบล้อมด้วยตึกสูงของสุขุมวิท ) แต่สิ่งที่งดงามไม่น้อยไปกว่าเรื่องราวที่ได้อ่านกันไปแล้ว คือความทรงจำร่วมที่ผู้คนในโรงเรียนเล็กๆ แห่งนี้มีต่อครูใหญ่วัย 94 ปี และหม่อมผิว ผู้ก่อตั้งโรงเรียน

ในมุมของผู้เขียน ประสบการณ์นี้เป็นอีกหนึ่งความประทับใจ เมื่อมีโอกาสได้ฟังอดีตที่มีชีวิตชีวาของโรงเรียน ผ่านคำบอกเล่าของครูใหญ่และครูคนอื่นๆ จึงอดไม่ได้ที่จะนำเรื่องราวเหล่านั้นมาแบ่งปันกับผู้อ่านอีกครั้ง และหวังว่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเหล่านี้จะช่วยเติมเต็มความอบอุ่นในหัวใจของผู้อ่านไปพร้อมๆ กัน

“หม่อมผิว สุขสวัสดิ์ ณ อยุธยา”


• หม่อมผิว ผู้ก่อตั้งโรงเรียนวรรณวิทย์ เสกสมรสกับร้อยเอกหม่อมเจ้าทินทัต สุขสวัสดิ์ แต่ในขณะที่ครูใหญ่รุจีสมรมีอายุได้เพียง 2 เดือน หม่อมเจ้าทินทัตก็สิ้นชีพิตักษัย สิริชันษาเพียง 31 ปีเท่านั้น หม่อมผิวจึงเลี้ยงลูกๆ มาโดยลำพัง มีรายได้จากการเป็นนักเขียนภายใต้นามปากกา “วรรณสิริ” ผลงานสร้างชื่อได้แก่ “นางทาส” และ “วนิดา”

• หม่อมผิวสร้างตัวละคร “พันตรีประจักษ์” พระเอกในเรื่อง “วนิดา” ให้รับราชการเป็นทหารม้า ก็เพื่อเป็นการระลึกถึงหม่อมเจ้าทินทัต ที่เคยรั้งตำแหน่งผู้บังคับการกรมทหารม้ากรุงเทพรักษาพระองค์

• ธิดาทั้งสามคนของหม่อมเจ้าทินทัตกับหม่อมผิว ได้แก่ ท่านผู้หญิงทินประภา, ม.ร.ว. กานดาศรี และ ม.ร.ว. รุจีสมร โดยหม่อมผิวเป็นคนตั้งชื่อให้ธิดาทั้ง 3 ด้วยตัวเอง

• หม่อมผิวเป็นนักประพันธ์มีชื่อเสียง โรงเรียนวรรณวิทย์ในอดีตจึงเป็นที่ชุมนุมนักเขียนหลายๆ ท่าน อาทิ ชิต กันภัย เจ้าของและบรรณาธิการนิตยสาร “กุลสตรี”, มานิต ศรีสาคร เจ้าของนามปากกา “สีน้ำ” บรรณาธิการบริหารนิตยสารเดลิเมล์ และ ก. สุรางคนางค์ หรือ กัณหา เคียงศิริ ผู้ประพันธ์เรื่องบ้านทรายทอง

• ครูใหญ่รุจีสมร มีชื่อเล่นว่า “อู้” หม่อมผิวจะเรียกว่า “คุณอู้”

• หลังจากครูใหญ่รุจีสมรเข้ามารับหน้าที่แทนหม่อมผิว ทุกๆ เช้าเวลา 8 โมงตรง หม่อมผิวจะฟังเพลงชาติอยู่ในบ้าน วันไหนที่ได้ยินสำเนียงแปร่งๆ ฟังดูไม่ไพเราะ หม่อมผิวจะโทรศัพท์เข้าไปหาครูใหญ่ เพื่อขอให้ร้องเพลงชาติอีกครั้งหนึ่ง “คุณอู้ วันนี้ร้องเพลงชาติกันไม่เพราะเลย ขออีกรอบนะ ร้องเพลงชาติต้องร้องให้ดี”

• ครั้งหนึ่งหม่อมผิวเคยกล่าวกับครูในโรงเรียนว่า “มีคุณอู้คนเดียวเหมือนมีลูก 10 คน เพราะทำงานแทนแม่ได้ทุกอย่าง”

• “เธอจงทำหน้าที่ของตัวเอง” คือคำสอนของหม่อมผิวที่ครูใหญ่รุจีสมรและครูคนอื่นๆ ในโรงเรียนยึดถือ นำมาใช้ทั้งในชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว “ถ้าไม่รู้จักหน้าที่ก็ไปไม่ถึงไหน มัวแต่หลงไปกับอะไรที่ไม่ควรทำ หน้าที่ของตัวเองก็ไม่สมบูรณ์”


“หม่อมราชวงศ์รุจีสมร สุขสวัสดิ์”

หัวเรือใหญ่วัย 94 ปี ที่ใช้แรงศรัทธาสานต่อโรงเรียน "วรรณวิทย์" ถึงแม้โรงเรียนต้องประสบปัญหาขาดทุนมาตลอด แต่ก็ไม่เคยคิดตกลงใจยอมรับการเสนอซื้อจากนักลงทุนที่หมายตาทำเลทองแห่งนี้แม้แต่ครั้งเดียว แม้ว่าที่ดินเล็กๆ ผืนนี้จะมูลค่านับพันล้านบาทก็ตาม 

หม่อมราชวงศ์รุจีสมร สุขสวัสดิ์ ใช้ชีวิตอย่างพอเพียงในบ้านหลังเล็กๆ รั้วเดียวกันกับโรงเรียน ไม่แปลกที่ครูใหญ่จะพูดอยู่เสมอว่า “วรรณวิทย์เป็นที่ของแม่ โรงเรียนของแม่ และบ้านของแม่”

บ้านหลังนี้สร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เป็นบ้านไทยยกพื้นเตี้ยๆ สร้างจากไม้ทั้งหลัง มีหน้าต่างรอบบ้าน ช่วยให้รับลมเย็นสบาย

บ้านหลังนี้ไม่มีการตกแต่งฟุ้งเฟ้อ โรงเรียนเป็นอย่างไร บ้านของครูใหญ่ก็เป็นอย่างนั้น คือมีเฉพาะของที่จำเป็น อยู่กันอย่างพอเพียง

ความบันเทิงที่ราคาแพงที่สุดในบ้านหลังนี้ คือโทรทัศน์เครื่องเก่า ครูใหญ่บอกว่าใช้มาตั้งแต่แรกมีโทรทัศน์สีในสยามประเทศ แม้ในวันนี้จะรับสัญญาณได้เพียงช่องเดียว ผู้เป็นเจ้าของก็ยังคงไว้วางใจให้มันทำหน้าที่ดังเดิม

เบอร์โทรศัพท์บ้านครูใหญ่ เป็นเบอร์เดียวกับโรงเรียนวรรณวิทย์ ไม่มีการแบ่งแยกระหว่างบ้านกับโรงเรียน ทั้งชีวิตของครูใหญ่อยู่ในผืนดินของแม่แห่งนี้

ครูเก่าแก่หลายๆ คนเล่ากันว่า ครูใหญ่รักแม่มากเหลือเกิน สิ่งที่พิสูจน์คำบอกเล่านี้ได้ดีที่สุดก็คือ ครูใหญ่ยังคงเก็บเตียงพยาบาลหลังเก่าที่รับใช้บั้นปลายของชีวิตของหม่อมผิวเอาไว้ในบ้าน แต่นั่นก็ยังไม่เท่ากับน้ำตาคลอๆ เต็มสองนัยน์ตาเมื่อเล่าเรื่องเก่าๆ ของแม่ เนื่องจากหม่อมผิวหาเลี้ยงชีพจากการเขียนหนังสือ นำเงินที่ได้มาเลี้ยงดูลูกสาวตั้งแต่ยังเล็ก ทั้งยังเก็บเงินซื้อที่ดินเพื่อสร้างโรงเรียน เป็นต้นแบบของหญิงนักสู้ที่ยืนหยัดเพื่ออุดมการณ์อย่างแท้จริง

สนามเด็กเล่นขนาดย่อมริมรั้วหน้าบ้านครูใหญ่ คือ “ดิสนีย์แลนด์” ของเด็กชั้นประถมโรงเรียนวรรณวิทย์ มันคือความสุขที่ได้มาจากอุปกรณ์หน้าตาธรรมดาไม่กี่ชิ้น จะมีกี่คนที่หาความสุขได้ด้วยต้นทุนต่ำเหมือนเด็กๆ เหล่านี้ เช่นเดียวกันกับครูใหญ่ ที่หาความสุขได้จากการเฝ้ามองเด็กๆ เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคต

ครูใหญ่รุจีสมรเรียนจบชั้นมัธยมจากโรงเรียนราชินี สอบเข้าศึกษาต่อที่จุฬาฯ แต่เรียนได้แค่ปีเดียวก็ต้องลาออก เพราะไม่มีเงินเรียนต่อ หลังจากนั้นจึงมาเป็นครูที่โรงเรียนของแม่ พร้อมๆ กับศึกษาต่อที่โรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูงควบคู่ไปด้วย (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร) วิชาเอกภาษาไทย วิชาโทสังคม จนจบการศึกษา

“ครูใหญ่ท่านเป็นคนดีจนไม่รู้จะสรรหาคำอะไรมาเปรียบ เป็นผู้ให้ เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาววรรณวิทย์ทุกคน” นี่คือสิ่งที่คุณครูหลายๆ คนพูดถึงครูใหญ่

“ครูนิด” วัย 67 ปี เล่าว่า เด็กหลายๆ คนจ่ายค่าเทอมแบบผ่อนส่ง โดยจะเก็บเงินค่าเทอมไว้ที่ครูประจำชั้น ครั้งละ 100 บาท เมื่อได้ครบตามจำนวนก็เอาไปให้ฝ่ายการเงิน

“เดี๋ยวนี้ยังดีนะ ผ่อนทีละร้อย เมื่อก่อนยี่สิบบาท บางคนจะจบแล้วยังผ่อนไม่ครบ ไปถามครูใหญ่ท่านว่าจะเอายังไง ครูใหญ่บอกยกๆ ให้ไปเถอะ บางทียังเรียกเด็กมาเอาเงินคืนอีก เราก็ซึมซับความเมตตาจากครูใหญ่ท่านมาด้วย”

สำหรับนักเรียนที่ไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม ผู้ปกครองมีฐานะยากจน ครูใหญ่ก็จะให้เรียนฟรี เป็นแบบนี้มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน สิ่งนี้เองที่ทำให้ศิษย์เก่าโรงเรียนวรรณวิทย์หลายๆ คนไม่เคยลืมครูใหญ่ผู้มีเมตตา และหลายๆ คนก็เลือกที่จะใช้ชีวิตตามแนวทางของครูใหญ่เพื่อตอบแทนบุญคุณผู้ที่เคยให้โอกาส

ดังเช่น “ครูวราพร พงษ์รูป” อดีตศิษย์เก่าวัย 57 ปี ที่ตอบแทนบุญคุณของครูใหญ่ด้วยการมาเป็นครูที่โรงเรียนแห่งนี้

“พ่อครูเป็นยาม ไม่มีเงินเรียน แต่ครูใหญ่ท่านก็เมตตาให้เรียนฟรีจนจบ ม.3 จบแล้วก็เป็นครูที่นี่ เรียนต่อภาคค่ำไปด้วย จนจบปริญญาโทบริหารการศึกษา ตั้งใจเลือกเรียนสาขานี้เพราะจะได้ช่วยครูใหญ่ทำงาน” นั่นคือความในใจของครูวราพร อดีตศิษย์เก่าผู้รับหน้าที่ฝ่ายบริหารของโรงเรียนวรรณวิทย์ในปัจจุบัน

“เราได้รับโอกาสมาแล้ว ก็ต้องส่งต่อโอกาสนั้นให้คนอื่นๆ ครูใหญ่เป็นแบบอย่างที่ดี ส่วนมากครูที่นี่ก็จะเดินตามรอยครูใหญ่”

จากคำบอกเล่าของครูคนอื่นๆ จะเห็นว่าครูใหญ่เป็นมากกว่าผู้สอนหนังสือ เพราะเป็นผู้ให้โอกาส ให้ชีวิตใหม่กับคนอีกหลายๆ คน ถึงจะไม่แน่ใจนักว่าจะมีคนแบบครูใหญ่อีกกี่คนในโลกใบนี้ แต่สิ่งที่มั่นใจได้ก็คือ เมล็ดพันธุ์แห่งความดีของครูใหญ่จะเติบโตและหยั่งรากลึกในหัวใจของคนอีกหลายคนอย่างแน่นอน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook