กัญญานาถ สุวรรณชาตรี นักจิตวิทยา รพ.รามัน จ.ยะลา รักษาแผลใจ ผู้รอดชีวิตไฟใต้

กัญญานาถ สุวรรณชาตรี นักจิตวิทยา รพ.รามัน จ.ยะลา รักษาแผลใจ ผู้รอดชีวิตไฟใต้

กัญญานาถ สุวรรณชาตรี นักจิตวิทยา รพ.รามัน จ.ยะลา รักษาแผลใจ ผู้รอดชีวิตไฟใต้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โดย กฤตยา เชื่อมวราศาสตร์

เหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ยังคงเกิดขึ้นอยู่ไม่ขาดสาย เป็นข่าวบ้าง ไม่เป็นข่าวบ้าง นอกจากทิ้งรอยเลือดและคราบน้ำตาไว้แล้ว สำหรับผู้รอดชีวิตและครอบครัวซึ่งสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไป ยังคงมี "บาดแผลในใจ" ซึ่งต้องการได้รับการเยียวยา

เราต่างภาวนาให้สถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ จ.ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และบางส่วนของ จ.สงขลา กลับสู่ความสงบ-สันติ อีกครั้ง

เพราะนอกจากความสูญเสียที่เกิดขึ้นจะสร้างความเสียหายให้กับประเทศหลายด้าน การเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่และประชาชนผู้บริสุทธิ์แล้ว บางส่วนที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์ยังต้องการการเยียวยา ทั้งทางร่างกายและจิตใจ

บาดแผลทางกายรักษาไม่นานก็หาย แต่บาดแผลทางใจต้องใช้เวลา

ในงานเสวนาวิชาการเรื่อง "เสียงจากหัวใจของคนชายแดนใต้" ที่จัดโดยศูนย์สุขภาวะทางจิต คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้นำเสนองานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ความไม่สงบ หนึ่งในนั้นคือวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท เรื่อง "การเติบโตภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนขวัญของผู้รอดชีวิตจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้" ของ "กัญญานาถ สุวรรณชาตรี"

"จริงๆ ไม่ได้ตั้งใจทำเรื่องการเติบโต เพียงสนใจประสบการณ์ของผู้รอดชีวิต หลังทบทวนวรรณกรรมแล้วพบว่าในประเทศไทยมีงานวิจัยด้านนี้น้อยมาก"

การเติบโตภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนขวัญ (Posttraumatic Growth) คือ การเปลี่ยนแปลงทางบวกทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ของคนที่สามารถข้ามผ่านเหตุการณ์ร้ายๆ ภาวะวิกฤตหรือเหตุการณ์ที่แย่ที่สุดในชีวิตได้ ทำให้เขามีจิตใจมั่นคงและเข้มแข็งมากขึ้น มีสัมพันธภาพที่ดีมากขึ้น มองโลกทางบวกมากขึ้น

การค้นพบในงานวิจัยครั้งนี้ กัญญานาถบอกว่ามีประโยชน์ต่อวิชาชีพของเธอมาก

หลังรับพระราชทานปริญญาบัตรได้ 2 เดือน เธอเข้าทำงานเป็นนักจิตวิทยา โรงพยาบาลรามัน จ.ยะลา เมื่อ 1 ตุลาคม 2555 รับหน้าที่เยียวยาผู้รอดชีวิตและครอบครัวของผู้เสียชีวิต ในพื้นที่ที่มักถูกเรียกว่า "พื้นที่สีแดง"

กว่าร้อยละ 90 ของประชากรใน อ.รามัน นับถือศาสนาอิสลาม คนไข้ที่ได้รับการเยียวยาจากเธอมักเรียกว่า "บอมอแอน" หรือหมอแอน ซึ่งเธอเผยว่า "เรารู้ตัวว่าเราไม่ใช่หมอ เขินเหมือนกันเวลาเขาเรียก แต่สิ่งที่ทำขอเรียกตัวเองว่าเป็น ′หมอรักษาจิตใจ′ รู้สึกภูมิใจในอาชีพนี้"

กัญญานาถ สุวรรณชาตรี หรือแอน เกิดที่เมืองยะลา เมื่อ 1 พฤษภาคม 2530 เป็นลูกสาวคนเล็กของคุณพ่อ-มนัส สุวรรณชาตรี ปัจจุบันลาออกจากข้าราชการและเป็นอาจารย์พิเศษ ส่วนคุณแม่-สมพร จิตพงษ์ ข้าราชการบำนาญ ส่วนพี่ชายคนเดียวนั้นเสียชีวิตหลายปีแล้ว

หลังจากพ่อแม่แยกทางกัน ปัจจุบันเธออาศัยอยู่กับแม่และยาย บอมอแอน เริ่มศึกษาระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนอนุบาลยะลา จากนั้นศึกษาระดับมัธยมที่โรงเรียนคณะราษฎรบำรุง จ.ยะลา ในช่วงมัธยมปลายเลือกเรียนศิลป์ภาษาจีน

"เลือกเรียนด้านภาษา เพราะทราบดีว่ามีความถนัดและสนใจทางด้านภาษามากกว่าการคิดคำนวณ และไม่ชอบเรื่องของตัวเลข และภาษาจีนมีความน่าสนใจ เป็นอีกหนึ่งภาษาที่มีประโยชน์ในอนาคตข้างหน้า" กัญญานาถให้เหตุผล และว่า ปัจจุบันยังสามารถสื่อสารภาษาจีนได้

หลังจากนั้นจึงเอ็นทรานซ์เข้าคณะอุตสาหกรรมการโรงแรมและการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาเขตวังไกลกังวล จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อต่อยอดทักษะการสื่อสารภาษาต่างประเทศ

"ชอบและอยากเก่งภาษาอังกฤษ จึงสมัครสอบตรง ก่อนถึงเวลายื่นผลเอ็นทรานซ์ และเมื่อสอบได้จึงเลือกเรียนการโรงแรมโดยไม่คิดมีที่อื่นสำรองไว้ อีกปัจจัยหนึ่งคือไม่อยากไปเรียนและใช้ชีวิตที่กรุงเทพฯ รู้สึกว่ามันวุ่นวาย หลังจากผ่านการฝึกงานแล้วคิดว่าอนาคตอยากทำงานใกล้บ้านที่สุด เพราะที่บ้านนั้นแม่กับยายอยู่กัน 2 คน" กัญญานาถบอก

เมื่อเกิดความคิดและตัดสินใจว่าจะ "กลับบ้าน" ทว่าการเลือกเรียนการโรงแรม หากทำงานให้ตรงสายต้องเลือกโรงแรมระดับ 4-5 ดาว ซึ่งมักอยู่ในพื้นที่ท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต กระบี่ และไกลบ้าน-ยะลา มาก เป็นเหตุผลหนึ่งให้กัญญานาถเลือกเรียนต่อในระดับปริญญาโทที่คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทันทีหลังจบปริญญาตรี ตรงกับปี พ.ศ.2551 เหตุการณ์ในพื้นที่รุนแรง

หลังรับพระราชทานปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยา เพียง 2 เดือน สาวร่างเล็กก็ได้ทำงานเป็นนักจิตวิทยาที่โรงพยาบาลรามัน จ.ยะลา เมื่อ 1 ตุลาคม 2555

ได้ช่วยเหลือคนในพื้นที่และอยู่ใกล้ครอบครัวตามที่ตั้งใจไว้

เติบโตท่ามกลางชุมชนมุสลิม

เป็นเด็กแก่นๆ ซนๆ เพราะมีพี่ชาย (ปัจจุบันพี่ชายเสียชีวิตแล้ว) และอยู่กับแม่ที่เป็นผู้หญิงแกร่งและเก่งที่ดูแลเลี้ยงเรามาโดยลำพัง (พ่อกับแม่หย่าร้างกันตั้งแต่เด็กๆ) บุคลิกจะเหมือนผู้ชาย ด้วยความที่บ้านอยู่ในตำบลเล็กๆ ชื่อ ต.ลำพะยา ห่างจากตัวเมือง 15 กม. จึงเป็นเด็กชนบทคนหนึ่งที่โตมากับธรรมชาติ ช่วงวัยรุ่นก็เกเรบ้างตามประสา แต่มักคิดถึงเป้าหมายในอนาคต อยากมีชีวิตที่สวยงาม

ใน ต.ลำพยา อ.เมืองยะลา ที่อาศัยอยู่นั้นเป็นชุมชนไทยพุทธ 5 หมู่บ้าน ชุมชนมุสลิม 2 หมู่บ้าน ทุกคนรู้จักกันดีและไม่น่ากลัว เป็นเพื่อนบ้านที่ดีต่อกันตั้งแต่รุ่นปู่ย่า พูดคุย ทักทาย ไปไหนมาไหนด้วยกันได้ มาช่วงหลังๆ ที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้น ทำให้สังคมเปลี่ยนไป การใช้ชีวิตประจำวันก็เปลี่ยนไป ออกจากบ้านไปพูดคุยยามวิกาลหรือไปไหนมาไหนต้องระวังมากขึ้น ความคุ้นเคยที่มีอาจหายไปบ้าง แต่ยังพูดคุยกันได้ตามปกติ

ความต่างทางศาสนาไม่ใช่สิ่งสำคัญในการอยู่ร่วมกัน

เราอยู่กันเหมือนพี่น้อง ดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุขโดยไม่มองเรื่องศาสนา ประเพณี เมื่อเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ ทุกคนมีความระมัดระวังในการใช้ชีวิตมากขึ้น การไว้วางใจคนที่ไม่รู้จักเริ่มยากขึ้น ไม่ใช่เพราะความต่างทางศาสนา แต่มาจากสถานการณ์ที่รุนแรงทุกวันๆ เรื้อรังมานาน กลายเป็นความคุ้นชินที่เราต้องดำเนินชีวิตประจำวันอย่างรอบคอบ ความไว้วางใจจึงเกิดยากขึ้น เพราะเราไม่รู้ว่าใครเป็นใคร

ทำงานในพื้นที่ อ.รามัน ประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมแต่เรายังสามารถทำงานในวิชาชีพได้อย่างปกติ อาจมีอุปสรรคเพียงด้านภาษาเพราะผู้สูงวัยส่วนใหญ่พูดภาษายาวี การอยู่ร่วมกันระหว่างไทยพุทธและมุสลิมจึงไม่ใช่เป็นประเด็นปัญหาที่สำคัญ

จริงๆ คนในพื้นที่ไม่ได้ใช้ชีวิตลำบากมากนัก หากวิตกกังวลเกินไป อาจทำให้ใช้ชีวิตยากลำบากมากขึ้น

แววนักจิตวิทยา

ด้วยความที่เป็นคนช่างพูด หากได้สนิทสนมกับใครจะพูดเก่งมาก โดยเฉพาะในกลุ่มเพื่อน สังเกตุว่าเพื่อนชอบมาปรึกษาเรื่องต่างๆ ซึ่งเราก็ชอบฟัง ข้อนี้เป็นคุณสมบัติที่ดีของนักจิตวิทยา และให้คำแนะนำทุกครั้งด้วยนิสัยที่ค่อนข้างเกรงใจ บุคลิกช่างพูด ช่างคุย สนุกสนานเฮฮา จึงเป็นข้อดีให้มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่นๆ เป็นข้อดีของการเริ่มต้นเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษา (Counselor)

จุดเปลี่ยนจากนักการโรงแรมมาเป็นนักจิตวิทยา

ประเด็นสำคัญคืออยากกลับไปทำงานที่บ้านเพื่ออยู่กับครอบครัว อย่างน้อยก็ยะลา ปัตตานี หาดใหญ่ ส่วนนราธิวาสน่ากลัว เพราะช่วงนั้นค่อนข้างอันตราย

เหตุผลนี้ทำให้เราต้องเรียนต่อเพื่อกลับไปทำงานในพื้นที่ ช่วยเหลืออะไรที่นั่นได้ จึงเริ่มมองหาสาขาที่อยากเรียน หาข้อมูลว่าแต่ละมหาวิทยาลัยเปิดหลักสูตรปริญญาโทอะไรบ้าง ดูไว้ 3-4 ที่ ตั้งแต่จุฬาฯ ม.ธรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ และ มศว ตั้งใจเรียนในมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพทางด้านการศึกษา หลังจากที่หาข้อมูลสาขาที่ชอบและคิดว่าตัวเองพอจะเรียนได้ และพอมีช่องทางให้ได้กลับไปหางานทำใกล้บ้าน จึงสมัครคณะจิตวิทยา สาขาจิตวิทยาการปรึกษา จุฬาฯ และด้านภาษาศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์

โชคดีที่รู้ว่าตัวเองชอบและถนัดด้านใด ตอนนั้นคณะจิตวิทยา จุฬาฯ ให้โอกาสผู้ที่มีคะแนนเฉลี่ยสะสมเกิน 3.25 ผ่านเข้ารอบสัมภาษณ์โดยไม่ต้องสอบข้อเขียน ซึ่งต้องถือว่าเป็นโอกาสและความโชคดีที่ผ่านเข้ารอบสัมภาษณ์ได้เลย เพราะมีคะแนนเฉลี่ยตอน ป.ตรี 3.43 ในที่สุดก็ผ่านสัมภาษณ์ ได้ศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่จุฬา

วินาทีแรกที่ทราบเป็นเหมือนความฝัน ไม่คิดว่าจะมีโอกาสได้เรียนในมหาวิทยาลัยที่ดี มีคุณภาพและมีชื่อเสียงขนาดนี้ เราไม่ได้เป็นคนเรียนเก่ง แต่พอเอาตัวรอดได้ แม้ตอนแรกเลือกเรียนเพราะเป็นสาขาที่มีงานใกล้บ้านรองรับ แต่หลังจากเรียนแล้วรู้สึกชอบ และคิดว่าเป็นวิชาชีพที่มีความถนัด

เคสแรกที่ได้ให้คำปรึกษาในฐานะนักจิตวิทยาการปรึกษา

ให้การปรึกษาแบบกลุ่ม (Group counselling) กับนักศึกษา 1 กลุ่มใช้เวลาต่อเนื่อง 4-5 ครั้ง มีนักศึกษาผู้หญิงเปิดใจเล่าว่า เคยถูกชักจูงใจให้เป็นแกนนำ เริ่มจากให้ดูวิดีโอการกระทำความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น ภาพตำรวจ ทหาร ทำร้ายคน ปลุกระดมแบบนี้ แต่น้องคนนี้ไปดูครั้งเดียวแล้วออกมา ส่วนครอบครัวเขาอยู่ในพื้นที่ไม่ค่อยได้ น้องคนนั้นบอกว่า ถ้าบ้านไหนไม่ยอมทำตามจะถูกต่อต้านจากคนรอบข้าง กดดันให้อยู่ในพื้นที่ไม่ได้

ในฐานะนักจิตวิทยาต้องลงเยี่ยมทุกบ้าน

โรงพยาบาลรามัน ถือเป็นโรงพยาบาลชุมชน ซึ่งส่วนใหญ่มีนักจิตวิทยา 1-2 คน งานสุขภาพจิตมีหลายงาน ทุกคนรู้งานเหมือนกัน เพียงแต่ว่าแต่ละคนจะมีงานหลักๆ ของตัวเอง อย่างงานเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ซึ่งต้องลงพื้นที่โดยตรงจะเป็นของ "ฮามีเด๊าะ มาหะมุ" ที่ทำงานเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ ตั้งแต่ พ.ศ.2549

งานสุขภาพจิตมีหลายงาน ทุกคนรู้เหมือนกัน แต่เนื้องานหลักที่ต้องรับผิดชอบหลักจะต่างกัน การลงเยี่ยมบ้านเป็นนโยบายของโรงพยาบาลเราที่ต้องทำให้ครบ 100 เปอร์เซ็นต์ ยกเว้นพื้นที่ที่ลงไม่ได้เท่านั้น เพราะก่อนลงเยี่ยมบ้านจะประสานงานกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (สถานีอนามัย) ว่าลงได้วันไหน ถ้าพื้นที่เสี่ยงก็ไม่ไปช่วงนั้น

เหตุที่ลงไม่ได้ ส่วนหนึ่งมาจากชาวบ้านคิดว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับคนในครอบครัว เกิดเพราะเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นความรู้สึกแอนตี้เจ้าหน้าที่ ไม่เชื่อใจ ฉะนั้น การลงไปทั้งที่สัมพันธภาพไม่ดี ทุกอย่างก็ไม่ดี เพราะสิ่งสำคัญในการลงพื้นที่ คือสัมพันธภาพ ความไว้วางใจ

เยียวยาแนวร่วมผู้ก่อเหตุด้วย

มีค่ะ แม้รู้ว่าเขาเป็นแนวร่วมก็ต้องไป เพราะงานของเราคือการเยียวยาทุกคน ดูแลสภาพครอบครัวของผู้ประสบเหตุ ดูแลสภาพจิตใจ ถ้าเสียชีวิตเราก็ดูแลพ่อแม่ ถามว่าพ่อแม่รู้ไหมว่าลูกเป็นแนวร่วม? ส่วนใหญ่รู้ต่อเมื่อลูกเสียชีวิตแล้ว เพราะบางคนหายจากบ้านไปเป็นเดือนๆ ไม่ได้อยู่กับครอบครัว เขาก็เป็นพ่อแม่คนหนึ่งที่ต้องสูญเสียลูก

ไม่แบ่งแยกว่าเขาเป็นใคร ภาวะความสูญเสียมันสำคัญมากกว่าอย่างอื่น คุณจะรู้ไหมว่ามันเกิดอะไรบ้างในจิตใจเขา เกิดบาดแผลในใจแค่ไหน นี่คือสิ่งสำคัญเหนือสิ่งใดในวิชาชีพเรา

หากเขาไม่ได้รับการดูแล สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือสุดท้ายแล้วจะเกิดภาวะโรค มีปัญหาทางสุขภาพจิต เป็นโรคทางจิตเวช เราไม่อยากให้มาถึงมือเราในภาวะที่ต้องรับยาแล้ว หลังเกิดเหตุจึงต้องลงพื้นที่ให้เร็วที่สุดคือครั้งแรกไม่เกิน 2 สัปดาห์ ครั้งที่ 2 เป็นช่วง 2 สัปดาห์ถึง 3 เดือน หลังจากนั้นลงเยี่ยมระยะ 3 เดือนขึ้นไป

สิ่งสำคัญของการดูแลผู้ป่วยทางจิตเวช

ครอบครัวสำคัญเพราะเรา-นักจิตวิทยาไม่สามารถดูแลเขาได้ตลอด 24 ชั่วโมง เวลาเขากลับไปอยู่ที่บ้าน คนในครอบครัวต้องเข้าใจว่าเขาป่วย บางคนอาจรู้สึกเบื่อ หงุดหงิดว่าทำไม ซึ่งถ้าไม่เข้าใจโรค ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมเขาเป็นแบบนั้น บาทแผลทางกายรักษาไม่นานก็หาย แต่บาดแผลทางใจ เราไม่รู้ว่าเมื่อไหร่มันจะหาย

ฉะนั้น การเข้าใจคนเป็นสิ่งสำคัญมาก เหมือนเวลาคุยกันจะสัมผัสความรู้สึกได้มากที่สุด รู้เลยว่าเขารู้สึกอย่างไร เป็นข้อดีของนักจิตวิทยา เวลาพูดคุยกับใครทำให้เราคิดมากขึ้น เห็นตัวเองชัดขึ้น

นักจิตวิทยาให้การปรึกษา เหมือนเป็นคนพาเขาจากที่มืดไปสู่ที่สว่าง เดินไปพร้อมกันกับเขา

ความประทับใจจากการให้การปรึกษา

สัมภาษณ์เคสเคสหนึ่งแล้วชอบประโยคหนึ่งมาก จำขึ้นใจมาจนถึงทุกวันนี้ เขาบอกว่า "ถ้าผ่านเหตุการณ์นี้มาได้แล้ว ไม่ว่าต่อไปจะเจออะไรในชีวิตก็ง่ายแล้ว สบายแล้ว ชีวิตไม่มีอะไรแย่ไปกว่านี้แล้ว" เขาเป็นครูที่ปัตตานีที่ถูกลอบยิงระหว่างขี่มอเตอร์ไซค์ แต่พยายามขับไปที่ชุมชน แล้วจอดรถลงไปหลบข้างทาง เขาไม่เคยคิดเลยว่าคนเป็นครูจะโดนลอบยิง เป็นความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจว่าฉันตั้งใจที่ดีที่จะให้ความรู้ ไม่คิดว่าจะถูกปองร้าย

อีกเคสหนึ่งเป็นคนต่างพื้นที่ที่ต้องเข้าไปทำงานในพื้นที่ อยู่ในหมู่บ้านจนรู้จักคุ้นเคย กระทั่งถูกลอบยิงจากคนที่รู้จักกัน ทำให้เขาคิดว่าทั้งที่มีความตั้งใจดีที่จะสอนลูกหลานในหมู่บ้าน แต่กลับถูกทำร้าย หลังจากถูกลอบยิงก็ขอย้ายออกมา แม้จะรู้ว่าใครยิงแต่ทำอะไรไม่ได้

ในอนาคตจะเดินในเส้นทางนักจิตวิทยาอยู่ไหม

อยู่ในสายวิชาชีพนี้แน่นอน เพราะสิ่งที่เราเลือกเรียนจนเมื่อกลับมาทำงานในพื้นที่ รู้ว่ามีประโยชน์มาก โดยเฉพาะนักจิตวิทยาในโรงพยาบาลซึ่งทำงานกับผู้ป่วย

บาดแผลทางกายเรามองเห็นได้ชัดเจน มีวิธีการรักษาเป็นขั้นตอนชัดเจน แต่เรื่องของจิตใจไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า การดูแลทางด้านจิตใจจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก หากผู้ป่วยมีสภาวะทางด้านสุขภาพจิต เราจะใช้อะไรรักษา

ชีวิตการทำงานเป็นนักจิตวิทยาในโรงพยาบาลชุมชน 2 ปี 3 เดือน ทำให้เรารู้คุณค่าของงานและตัวเราเองอย่างมาก มีหลายเหตุการณ์ หลายเคสที่ได้ใช้สิ่งที่เรียนมาช่วยคนไข้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิต ให้ได้รับการรักษาจนดีขึ้นมาก ไม่เป็นโรคทางจิตเวช สามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุข ถือเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในวิชาชีพแล้ว คนไข้จึงเป็นแรงผลักดันและแรงกระตุ้นให้เดินในวิชาชีพนี้ต่อ

แม้ว่าภาวะงานที่ต้องเครียดบ้าง หรือการดำเนินชีวิตประจำวันที่หวาดกลัวบ้างเมื่อเกิดเหตุการณ์ แต่ผลตอบแทนที่ได้รับจากการช่วยเหลือชีวิตของคนคนหนึ่งที่มีปัญหา คุ้มค่ามาก

สิ่งที่ได้จากการช่วยเหลือคือความอิ่มเอมใจ เป็นแรงผลักดันให้ทำงานด้านนี้

หากไม่เป็นนักจิตวิทยาแล้ว

คงเป็นอาจารย์ทางด้านจิตวิทยาตามที่เรียนมา ซึ่งเป็นเรื่องของอนาคต เพราะสิ่งที่ตั้งใจเกี่ยวกับการทำงานคือ 2 อาชีพนี้

เพราะสามารถทำให้เรากลับมาทำงานที่บ้านเกิดได้อย่างภูมิใจ

ที่มา : มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2558

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook