แคลเซียมในหลอดเลือดหัวใจ

แคลเซียมในหลอดเลือดหัวใจ

แคลเซียมในหลอดเลือดหัวใจ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แคลเซียมในหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Calcium Score)
แคลเซียม หรือหินปูนมาจากไหน



แคลเซียม หรือหินปูนที่หัวใจนี้ อาจเกาะอยู่ที่ผนังหลอดเลือด ที่ลิ้นหัวใจ หรือที่เยื่อหุ้มหัวใจ ที่ควรระวังคือหินปูนที่เกาะที่ผนังหลอดเลือดที่นำเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ ซึ่งเกิดจากการเสื่อมสภาพของหลอดเลือดแดง และจะเกิดขึ้นก่อนเกิดอาการของโรคหัวใจนานหลายปี จากการศึกษาพบว่าปริมาณแคลเซียมนี้สามารถทำนายโอกาสเกิดโรคหัวใจขาดเลือดได้ นอกเหนือจากปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เช่นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง หรือการสูบบุหรี่ ภาวะแคลเซี่ยมเกาะที่หลอดเลือดนี้ จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิด กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจากหลอดเลือดอุดตันเฉียบพลัน

ใครคือผู้ที่ควรตรวจแคลเซี่ยมในหลอดเลือดหัวใจ
สมาคมโรคหัวใจแห่งประเทศสหรัฐอเมริกาได้แนะนำว่าผู้ที่สมควรได้รับการตรวจแคลเซียมในหลอดเลือดหัวใจ คือ
- ผู้ป่วยทั่วไปที่อายุมากกว่า 45 ปีขึ้นไป
- ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงระดับปานกลางของการเกิดโรคหัวใจ
- ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยโรคไตวาย

จากคำแนะนำของสมาคมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญการรักษาเบาหวานในสหรัฐอเมริกา ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยที่มีอายุมาก และผู้ป่วยโรคไตวายที่ไม่สามารถตรวจหัวใจด้วยการเดินสายพานตามวิธีมาตรฐานได้นั้น การตรวจแคลเซียมในหลอดเลือด ถือว่าเป็นมาตรฐานการตรวจหัวใจที่ดี

ตรวจแล้วได้ประโยชน์อะไร
เนื่องจากผลการตรวจแคลเซียมจะช่วยให้เราทำนายโอกาสเกิดและการเสียชีวิตจากโรคหัวใจ และยังช่วยเป็นข้อมูลประกอบการเลือกมาตรการป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบในผู้ป่วยแต่ละคนได้อย่างเหมาะสม คะแนนแคลเซี่ยมที่หัวใจสูงหมายความว่ามีความเสี่ยงมาก ซึ่งต้องพิจารณาให้ยาทันที

ทำไมต้องค้นหาคนที่มีความเสี่ยง
เพราะการป้องกันโรคนี้ สามารถทำได้ง่ายๆ และทำได้ทุกคน ไม่ว่าจะเสี่ยงมากหรือน้อย เช่น การงดบุหรี่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ลดอาหารไขมัน พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียด งดสูบบุหรี่ โดยเฉพาะถ้าเป็นความดันเลือดสูงและเบาหวานก็จะได้ปรับพฤติกรรมและดูแลตัวเองมากขึ้น โดยควบคุมความดันโลหิตให้ไม่เกิน 140/90 มม.ปรอท และไขมัน LDL ต่ำกว่า 130 mg%

การตรวจวัดปริมาณแคลเซียมในหลอดเลือดหัวใจ ใช้เวลาตรวจรวดเร็ว ด้วยเครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ ความเร็วสูง 128 slice และไม่ต้องฉีดสีสวนหัวใจ ภาพที่ได้จากการตรวจวิธีนี้จะมีความคมชัดเนื่องจากเครื่องมีความเร็วในการจับภาพสูงมาก สามารถจับภาพขณะที่หัวใจเต้นได้ดี และจะบอกถึงปริมาณหินปูนที่สะสมอยู่ในผนังหลอดเลือดหัวใจได้ แม้ในปริมาณที่น้อย จึงเป็นการตรวจที่หาภาวะความเสี่ยงของการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจเริ่มต้นในคนปกติได้เป็นอย่างดี
เครื่องเอ็กซ์เรย์ นี้ จะวัดปริมาณหินปูนเป็นตัวเลข เด็กแรกเกิด ที่มีหลอดเลือดปกติ ค่าจะเป็นศูนย์ เมื่ออายุมากขึ้น ก็อาจจะพบหินปูนได้บ้าง แต่ ไม่ควรเกิน 200 – 400 ถ้าเกิน 400 จะยิ่งมีความเสี่ยงสูงมากๆ

นายแพทย์ประพนธ์ ดิษฐ์รุ่งโรจน์
อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook