ดูแลสุขภาพสตรี เริ่มที่ระบบประจำเดือน

ดูแลสุขภาพสตรี เริ่มที่ระบบประจำเดือน

ดูแลสุขภาพสตรี เริ่มที่ระบบประจำเดือน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ดูแลสุขภาพสตรี เริ่มที่ระบบประจำเดือน

ในทางการแพทย์ไทยรวมทั้งการแพทย์ตะวันออกเชื่อว่าการมีประจำเดือน คือการขับเลือดเสียที่คั่งค้างออกจากร่างกาย ซึ่งเลือดจะต้องมีการไหลเวียนที่ดี ไม่มีการคั่งค้าง เพราะถ้ามีการคั่งค้างหรือผิดปกติ จะมีผลต่อสุขภาพของผู้หญิง ทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ตามมา

หลักการดูแลสุขภาพสตรี ต้องให้ความสำคัญกับความสมดุลของธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ ในร่างกาย การมีประจำเดือนและการคลอดลูกของผู้หญิงจำเป็นต้องใช้การทำงานของธาตุไฟ ดังนั้นยาสตรีส่วนใหญ่มักเป็นตำรับยาที่เข้าสมุนไพรรสร้อน รสสุขุม ส่วนน้ำเย็น ของเย็น หรือสมุนไพรรสเย็นจึงเป็นของแสลงของผู้หญิงในขณะมีประจำเดือน รวมไปถึงระยะก่อนและหลังคลอด

แต่ถ้ามีธาตุไฟในร่างกายมากเกินก็จะไปมีผลต่อธาตุลมก่อนเป็นอันดับแรก ต่อเนื่องไปสู่ธาตุดิน ธาตุน้ำ ทำให้เกิดความผิดปกติ จนอาจทำให้เกิดภาวะมีประจำเดือนมากเกินไป การรู้จักรสและคุณสมบัติของยาสมุนไพร จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการดูแลสุขภาพสตรี ซึ่งคนในสมัยก่อนมีความรู้กันเป็นอย่างดีและให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก

วัฒนธรรมของคนในสมัยก่อน จะมีการอบ "โจลมะลบ" เมื่อมีประจำเดือนครั้งแรก โดยการใช้สมุนไพรทาตัวให้กับลูกสาวที่มีประจำเดือนครั้งแรก เชื่อว่าจะทำให้ลูกสาวไม่เครียด ไม่หวาดกลัวการมีประจำเดือน เพราะถ้ามีความกลัว ความเครียด จะทำให้มีการปวดประจำเดือนในชีวิตสาวภายภาคหน้า ตำรับยาสมุนไพรทาตัว คือ ให้นำไพล ขมิ้น เปราะหอม ใบเล็บครุฑ และผิวมะกรูด ตำผสมกันทาตัว

การที่ประจำเดือนมามาก เชื่อว่าเกิดจากร่างกายมีธาตุไฟมากเกินไป มีผลต่อธาตุลมให้กำเริบขึ้น ทำลายธาตุน้ำและธาตุดิน จึงเกิดประจำเดือนมามากกว่าปกติ และมีความร้อนกว่าปกติ หน้าซีด อ่อนเพลีย ตาพร่า มึนงง หิวน้ำมากกว่าปกติ ร้อนวูบวาบ อารมณ์แปรปรวน นอนไม่หลับ สิ่งที่ควรงด คือ การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีความร้อนสูง กินอาหารที่ร้อนจัด การมีเพศสัมพันธ์ การเดินทางที่ยาวนาน การทำงานหนักหักโหม ความเครียด การกินอาการที่มีรสจัด สิ่งที่ควรปฏิบัติ คือ ให้อยู่ในที่ที่ปลอดโปร่ง อากาศถ่ายเทได้ดี รับประทานอาหารรสเย็น หวาน ฝาด นอกจากนี้ การมีประจำเดือนมากเกินไป ในระยะเวลาที่นานเกินไป ควรไปพบแพทย์เพราะอาจเกิดการเสียเลือด ซีด จนเป็นอันตราย

ตำรับยาสำหรับคนที่ประจำเดือนมามาก

-นำใบทับทิม 7 ใบ ตำกับข้าวสารกล้องเจ็ดเม็ด ให้เข้ากันดี กินวันละ 2 ครั้ง เช้า เย็น ก่อนอาหาร เป็นเวลา 1 เดือน
เป็นได้ทั้งยารักษาและป้องกัน

-นำก้านสะเดาสด 30 ก้าน พับทบแล้วใช้ตอกมัด 3 เปลาะ ต้มน้ำประมาณ 3 แก้ว เคี่ยวให้เหลือ 3 ถ้วยชา กินครั้งละ 1 ถ้วยชา วันละ 3 ครั้ง โดยกิน 1 ถ้วยให้แก้มัด 1 เปลาะ

-นำไมยราบ 1 กำมือ พันด้วยด้ายสีดำ 3 เปลาะ (แทน พุทธัง ธรรมมัง สังฆัง) ต้มดื่ม ประมาณ 2 - 3 วัน ยาจะค่อยๆ ปรับสมดุลภายในให้ดีขึ้น

ส่วนประจำเดือนมาน้อย ประจำเดือนขาด หรือประจำเดือนไม่ปกติ มีสาเหตุมาจากธาตุไฟ ธาตุลมที่น้อยและผิดปกติ ในช่วงมีประจำเดือน โดยจะมีอาการตัวบวม มีอาการเย็นที่แขนขา หนาวใน ปวดเมื่อย เซื่องซึม ปวดหัว ท้องอืด หัวใจอาจจะเต้นช้า เล็บซีด ความดันต่ำ อ่อนเพลีย มึนงง สิ่งที่ควรงด คือ อาหารที่เย็น หวาน ฝาด การดื่มน้ำเย็น การอยู่ในห้องแอร์ที่นานเกินไป การอาบน้ำเย็นโดยเฉพาะหลังการมีเพศสัมพันธ์ สิ่งที่ควรปฏิบัติ คือ รับประทานอาหารที่มีคุณสมบัติเผ็ดร้อน ออกกำลังกาย รับประทานอาหารให้ครบห้าหมู่อย่างเพียงพอ และรับประทานยาสมุนไพรในตำรับต่อไปนี้

-นำรากเจตมูลเพลิงแดง 1 - 2 กรัม ต้มกับน้ำ 2 ถ้วย (200-250 มิลลิลิตร) รับประทานครั้งละ 1/4 ถ้วย จะช่วยขับประจำเดือน

-ยอจิ้มเกลือ ตำส้มตำ หรือยอกวนกับพริกไทยตามตำรับกุลกา

-นำยอดไผ่ป่าหรือไผ่สีสุก ต้มกับน้ำ 3 เอา 1 กินครั้งละครึ่งแก้ว ก่อนอาหารวันละ 2-3 ครั้ง

-นำแก่นขี้เหล็ก แก่นฝาง อย่างละ 1 กำมือ ต้มกับน้ำพอท่วมยา ประมาณ 10 นาที กินครั้งละ 1 แก้ว วันละ 3 ครั้ง

-ยาตำรับสำหรับสตรีซึ่งส่วนใหญ่มีรสร้อน เช่น ประสะไพล ยาไฟประลัยกัลป์ ยาไฟห้ากอง ยาเลือดงาม

สำหรับผู้ที่สนใจการดูแลสุขภาพสตรี พบกับกิจกรรม "ผู้หญิงจะมีดี เริ่มที่วัยรุ่น" ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 08.30 - 16.00 น. ตลอดเดือนมีนาคม 2558 ที่ศูนย์การเรียนรู้การดูแลสุขภาพภาคประชาชนด้านการแพทย์แผนไทย ตึกพิพิธภัณฑ์เจ้าพระยาอภัยภูเบศร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม และลงทะเบียนร่วมกิจกรรมได้ที่ โทร 037-211-088 ต่อ 3333 หรือ 087-582-0597

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook