รู้จักตัวตนของ ว่านน้ำ บล็อกเกอร์ ชื่อดัง

รู้จักตัวตนของ ว่านน้ำ บล็อกเกอร์ ชื่อดัง

รู้จักตัวตนของ ว่านน้ำ บล็อกเกอร์ ชื่อดัง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในยุคที่สื่อออนไลน์กำลังเป็นที่สนใจของทุกคน บล็อกเกอร์เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่หลายคนในโลกออนไลน์ใฝ่ฝัน แต่กว่าจะได้รับการยอมรับจากผู้อ่านได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย วันนี้เรามีบทสัมภาษณ์คุณว่านน้ำ บล็อกเกอร์และ Food Critic ชื่อดัง เธอจะมาบอกเล่าถึงความเป็นมา สิ่งที่เธอกำลังเป็น วิธีแยกแยะบล็อกเกอร์ รวมถึงการตามรอยบล็อกเกอร์อย่างไรไม่ให้เฟล

อยากให้คุณว่านน้ำเล่าจุดเริ่มของการมาเป็นบล็อกเกอร์และ Food Critic
เป็นคนช่างกิน ชอบกิน ชอบลอง ต้องย้อนความไปตั้งแต่ตอนยังเป็นเด็ก คุณพ่อท่านเป็นคนชอบกิน ความทรงจำสมัยเด็กคือตอนค่ำๆ คุณพ่อมักจะมาเคาะห้อง แอบย่องออกจากบ้านกันสองคนพ่อลูกไปกินข้าวต้มปลาเจ้าอร่อยแถวหัวลำโพงเสมอ หรือมีร้านอาหารอร่อยที่ไหนก็จะดั้นด้นกันไปกิน ไปลอง คุณแม่เองก็เป็นคนเปิดกว้างด้านอาหาร อาหารต่างชาติ อาหารแปลก ๆ นี่จะชอบมาก

พอโตขึ้นมา มีโอกาสได้ไปไหน ก็จะลองอะไรใหม่ ๆ เสมอ สมัยประถมเคยไปบ้านพี่เลี้ยงที่อิสาน ซนและซ่ามาก ไปวิ่งไล่ฝูงไก่เค้าจนไก่กลัว ไม่ยอมออกไข่ ได้ลองอะไรที่หลากหลายมาก กินไข่ข้าว กินหนูนา เขาตีงูเห่ามาก็กินกับเขาด้วย เรียกว่าลองกินมาแล้วทุกรูปแบบ กบนี่เรียกว่าสามัญมาก กินประจำ

ตอนไปเรียนต่างประเทศก็ลองทุกอย่าง ได้สัมผัสประสบการณ์อาหารที่หลากหลาย ยิ่งทำให้เราชอบและใส่ใจเรื่องอาหารมากขึ้นไปอีก ไปร้านอาหารฝรั่งเศส สั่งกระต่ายมากิน เค้ายังมองเลยว่ายัยเด็กเอเชียหัวดำนี่จะกินเป็นเหรอ เราก็กินอย่างอร่อยเลย เขาก็งงกันไป

พอกลับมาเรียนมหาวิทยาลัยที่เมืองไทย ช่วงนั้นเริ่มเล่นพันทิป มาเจอกลุ่มย่อยอาหารการกิน (ปัจจุบันคือห้องก้นครัว) ก็เจอก๊วนพี่ๆ ที่ชอบกินเหมือนกัน ทีนี้คือบันเทิงโภชนาเลย เค้าไปไหนก็กินกับเค้าด้วย พี่เค้าบอก "เพื่อนกินหายาก" เพราะพออายุประมาณรุ่นพี่ๆ ตอนนั้น (30++) ก็จะเริ่มไม่ค่อยมีเพื่อนกินที่เป็นรุ่นเดียวกันละ โดนหมอห้ามกินนู่นกินนี่กันหมด เจอเราเลยเข้าขา กินไหนกินนั่น สนุกสนานกันไป

สมัยนั้นเป็นยุคแรกๆ ของการรีวิวอาหารเลย แต่ก่อนไม่มีหรอกนะ ไปกินข้าวตามร้านแล้วจะท่อมๆ หิ้วกล้องไปถ่ายรูป กระทู้ที่ถือว่าเป็นต้นกำเนิดของการรีวิวอาหารในโลกอินเตอร์เน็ตไทย น่าจะมาจากกระทู้คั่วไก่ในตำนาน พอคนนึงเริ่ม คนอื่นก็เริ่มตาม ๆ กันมา

จริงๆ แล้วว่านน้ำเอง ไม่ได้เริ่มมาจากกระทู้รีวิวอาหาร ว่านเริ่มจากตอบคำถามเรื่องการทำอาหารก่อน อาศัยว่าชอบกิน ชอบทำ ชอบค้นคว้า พอมีความรู้อยู่บ้าง ก็ค้นและตอบคำถามเรื่องการทำอาหารรวมถึงร้านอาหารมาเรื่อย เพราะเรากินบ่อย กินเยอะ ชอบลอง จนเก็บเงินซื้อกล้องเป็นของตัวเองได้ ก็เริ่มรีวิวอาหารป๊อกแป๊กตามประสา แล้วก็ศึกษาหาความรู้เรื่องอาหารมาตลอด จนมาถึงวันนี้นี่แหละ

เป็น Food Critic จำเป็นต้องเรียนด้านอาหารมาไหมคะ
การเรียนเป็นหนทางหนึ่ง แต่ไม่ใช่หนทางเดียวของทุกสิ่งอย่าง หลายคนยังเป็นนักร้องที่ดีได้โดยไม่ต้องเรียนร้องเพลงมาเลย

ต้องลิ้นเทพรึเปล่า
ว่านว่าลิ้นเทพไม่สำคัญเท่าความรู้ความเข้าใจที่มีต่ออาหาร (ยิ้ม)

แล้วไปเป็นกรรมการเชฟกระทะเหล็กได้ยังไง
ได้พูดคุยกับพี่หนุ่ม กิตติกร เพ็ญโรจน์ ทางรายการเห็นว่าเรามีความรู้เรื่องอาหาร ชำนาญเรื่องญี่ปุ่น เลยเชิญมาเป็นกรรมการเชฟกระทะเหล็กอาหารญี่ปุ่น นี่ก็เป็นมาสองปีกว่าจะสามปีแล้ว เฉลี่ยความถี่ในการไปตัดสินก็ 2-3 เดือนครั้ง

อาหารในรายการเชฟกระทะเหล็กอร่อยจริงไหม
มีทั้งที่อร่อย และที่พลาด ถ้าอย่างย่อๆ ก็ต้องบอกว่าเชฟกระทะเหล็กพลาดน้อยกว่า เพราะเจนสนามมากกว่า อีกประเด็นก็คงเป็นเรื่องการคำนึงถึงวัตถุดิบลับ ซึ่งเชฟกระทะเหล็กมักจะทำได้ดีกว่าเช่นกัน โดยส่วนตัว เวลาตัดสิน จะกดคะแนนเชฟกระทะเหล็กมากกว่านิดหน่อยเพราะเหตุนี้

คิดยังไงกับที่เค้าว่าบล็อกเกอร์รีวิวอาหารเดี๋ยวนี้หลอกลวงซะเยอะ ตามไปกินก็ไม่อร่อย
ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่าเสน่ห์ของบล็อกเกอร์คืออะไร เสน่ห์ของบล็อกเกอร์ไม่ว่าจะสายไหนก็คือคำแนะนำที่กันเอง สามารถเชื่อถือได้ บอกถึงทั้งข้อดีและข้อเสียของแต่ละอย่างได้ เหมือนเราไปถามความเห็นจากเพื่อน.. เพื่อนที่ชำนาญในด้านนั้น ๆ ซึ่งตรงจุดนี้จะต่างจาก presenter หรือดารา หรือสื่ออื่น ๆ .. เคยสังเกตไหม เวลาตามไปกินที่รายการทีวีหรือนิตยสารแนะนำ ถ้ามันไม่ดี เราก็มักจะบ่นกันแค่ว่า ร้านที่ออกทีวี/ลงนิตยสารก็เงี้ยะแหละ แต่ถ้าเป็นร้านที่บล็อกเกอร์แนะนำ ความคาดหวังมันมักจะมากกว่านั้น ว่าร้านที่แนะนำต้องเจ๋งจริง

ทีนี้ สมัยก่อนเนี่ย คนที่จะเป็นบล็อกเกอร์ได้ ล้วนเริ่มมาจาก "ใจรัก" กันทั้งนั้น พอเริ่มมาจากใจ เริ่มจากความรู้สึกชอบ ก็จะ "มีใจ" หาความรู้เพิ่มเติมในสิ่งที่ตัวเองรัก แต่สมัยนี้หลายอย่างเปลี่ยนไปเยอะ คนมาเป็นบล็อกเกอร์ เพราะ "อยากได้ อยากมี อยากเป็น" ก็เยอะ คนอ่านหรือผู้เสพสื่อเอง ก็ต้องรู้เท่าทันและใช้วิจารณญาณเยอะขึ้น อาจต้องแยกเป็น 3 ฝ่าย คือ 1.บล็อกเกอร์ (หมายรวมถึงContent Creator : ผู้สร้างเนื้อหาบนสื่อดิจิทัลรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นในลักษณะบล็อก กระทู้ Instagram หรือ Clip ต่างๆ ในที่นี้ขอเรียกรวมๆ เป็นบล็อกเกอร์ เพราะเป็นคำที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยสุด) 2.ผู้อ่าน และ 3.ร้านอาหาร โรงแรม รวมถึงดิจิทัลเอเยนซี่

อย่างแรกเลยคือบล็อกเกอร์ การจะตามไปกิน ไปใช้ ไปเที่ยวไปพักตามที่บล็อกเกอร์รายไหนๆ แนะนำ และไม่ให้เฟล เราต้องดูก่อนว่าคนๆ นั้นเป็นบล็อกเกอร์ประเภทไหน

บางคนเป็นบล็อกเกอร์โบรชัวร์หรือบล็อกเกอร์แค็ตตาล็อก คือมีไว้อัพเดทเรื่องราวข่าวสาร แนะนำร้านอาหารหรือสินค้าอย่างเดียว จะไปเชื่อถืออะไรบางทีก็ยาก

ถ้าหนักกว่านั้นจะเป็นบล็อกเกอร์ทีวีไดเร็ค พวกนี้จะหยิบจะจับจะแนะนำอะไรก็ดี ดี๊ ดี พระเจ้าจอร์จ มันยอดมากไปหมด อวยไส้แตกทุกสิ่งอัน ถ้าหลงเชื่อคิดจะตามไปกิน ก็ทำใจไว้ได้เลย

บางคนเป็นบล็อกเกอร์โปสการ์ด รูปสวยเว่อร์วังอลังการดาวล้านดวงประหนึ่งภาพโปสการ์ด แต่พอเห็นของจริงแล้วแบบ.. เดี๋ยวนะ ในภาพที่ลงนั่นคือภาพเพื่อการโฆษณาเท่านั้นใช่ไหม

บางคนเป็นบล็อกเกอร์จับฉ่าย มีทุกสิ่งให้เลือกสรร จะดีไม่ดีนี่อีกเรื่อง

บางคนเป็นบล็อกเกอร์เฉพาะทาง ข้อมูลแน่น จัดเต็ม เชื่อถือได้ เหมือนหนังสือเฉพาะทาง คนที่ทั้งภาพสวย ความรู้ดี ก็มีเหมือนกัน พวกนี้คือว่าเป็น Rare Item เป็นสิ่งดีงามของวงการ ควรรักษาไว้ ซึ่งแต่ละคนก็แต่ละแนว ว่านไม่ตัดสินว่าใครผิดถูกนะ แนวทางก็คือสไตล์ สไตล์ไม่มีผิดถูกหรอก

ผู้อ่านเองก็อย่างที่บอก ในยุคที่สื่อมีเกลื่อนเมือง Forward Mail หรือ Hoax เราอ่านแล้วยังไม่ควรหลงเชื่อเลย ก็ควรจะดูว่าบล็อกเกอร์ที่ตัวเองอ่านนั้นเป็นแบบไหน เขากำลัง ”โฆษณา” หรือ ”รีวิว” ร้านอาหาร/โรงแรม/สินค้า/บริการนั้นๆ กันแน่ เออ ถ้าเป็นพวกบล็อกเกอร์โปสการ์ด ก็ไว้เสพภาพสวยๆ อย่างเดียว ไม่ต้องไปคิดอะไรมาก คิดซะว่าดูหน้าตาอาหารร้านรวงไป แต่ถ้าคิดจะตามไปกินแล้วมันไม่อร่อยก็คงช่วยไม่ได้ ก็เขาทำได้แค่ถ่ายภาพสวย ไม่ได้มีความรู้เรื่องอาหารนี่นา

สมมติยกตัวอย่างถ้าเราจะซื้อบ้าน เราจะซื้อจากแค่ภาพสวยๆ หรือจะหาข้อมูลก่อนซื้อล่ะ เอ้า เทียบกับเรื่องบ้านอาจจะฟังดูยิ่งใหญ่เกินไป เอาเป็นเครื่องเสียงก็ได้ ถ้าเราไม่มีความรู้เรื่องเครื่องเสียงเลย แต่อยากได้เครื่องเสียงดีๆ เราจะซื้อเครื่องเสียงรุ่นท็อปจากแค่จิ้มๆ ในโบร์ชัวร์ หรือจะไปอ่านนิตยสารเครื่องเสียงเพื่อหาข้อมูลเปรียบเทียบก่อน หรือถ้าเราจะไปเที่ยวที่ซึ่งเราไม่เคยไป เราจะเขียนไปขอคำแนะนำจากบริษัทที่พิมพ์โปสการ์ดไหม หรือเราจะหาหนังสือนำเที่ยวปึ้กๆ อ่าน.. เหมือนกันเลย หลักการเดียวกัน.. ในยุคที่เรามีทางเลือก ก็ควรเลือกสิ่งที่เหมาะและดีที่สุดให้ตัวเอง

ในส่วนของร้านอาหาร โรงแรม ดิจิทัลเอเยนซี่ ก็ควรจะเลือกบล็อกเกอร์ให้เหมาะสม ไม่ใช่หลงไลค์ คลั่งไลค์ เห็นแก่ไลค์เยอะอย่างเดียว ถ้าไม่ตรงกับกลุ่มลูกค้าของร้าน ไลค์เยอะไปก็เท่านั้น Hermès ยังไม่ลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์หัวสีเลย จะว่าไปการเลือกใช้บล็อกเกอร์แบบไหน ก็จะสะท้อนมุมมองของร้านอาหาร โรงแรม หรือดิจิทัลเอเยนซี่เองด้วย

ในส่วนของร้านอาหารและโรงแรมเองนั้น อยากให้คำนึงถึง "ผู้บริโภค" ที่แท้จริงเป็นหลัก บล็อกเกอร์เป็นแค่ "สื่อ" ที่จะนำเสนออาหารและการบริการของเราให้ผู้บริโภคได้รับรู้ ไม่ใช่ว่าพอเห็นเป็นบล็อกเกอร์ก็ให้อาหารจานใหญ่พิเศษ ปรุงอย่างสุดฝีมือ บริการอย่างดี ห้องพักอย่างเลิศ เค้าจะได้เขียนถึงดี ๆ แต่พอเวลา "ลูกค้า" ตัวจริงมา โอ้โฮ อย่างกับคนละร้าน คนละโรงแรม แบบนี้ก็ไม่ไหว ขอเลย..

มันเสียทั้งตัวบล็อกเกอร์เอง เสียทั้งร้านอาหาร/โรงแรมเองด้วย อยากให้ทางร้าน/โรงแรม นำเสนอตัวเองอย่างที่เป็นมากกว่า อะไรที่ดี ก็อยากให้รักษาคุณภาพมาตรฐานไว้ด้วย ไม่ใช่เปิดร้านใหม่ๆ ดีจัง พอนานไปแล้วดรอปลง ยังกะคนละร้าน เจอมาเยอะมาก ตัวเองแนะนำเอง ไปกินอีกที เฟลเองก็บ่อยไป นี่ก็เป็นหนึ่งในความเสี่ยงในฐานะผู้รีวิว อันนี้นอกเหนือจากการควบคุมของเรา เป็นเรื่องน่าเสียใจ บอกเลยว่าทุกวันนี้การแข่งขันสูง ถ้าอยากอยู่รอดในธุรกิจร้านอาหาร การบริการ ต้องพยายามรักษามาตรฐานของเราไว้ให้ได้

คิดว่าตัวเองเป็นบล็อกเกอร์ประเภทไหน
ว่านบอกว่าว่านอยากเป็นบล็อกเกอร์แบบไหนดีกว่า เพราะทุกวันนี้ก็ยังไปไม่ถึงจุดนั้น ยังมีหลายอย่างที่ต้องเรียนรู้อีกมาก ว่านอยากเป็นบล็อกเกอร์ที่มีความรู้เรื่องอาหาร วัฒนธรรมและสังคมมากกว่านี้ โดยเฉพาะอาหารพื้นถิ่นของแต่ละท้องที่ แต่ละประเทศ.. การเดินทางสำหรับว่านคือการเดินทางเพื่อเพิ่มพูนความรู้เรื่องอาหาร ยังมีหลายที่ หลายประเทศที่อยากไป อยากไปลอง ไปชิมว่าอาหารต้นตำรับเค้าเป็นยังไง (ยิ้มกว้าง)

งานที่ทำอยู่สนุกยังไง
ไม่มีที่สิ้นสุด (ยิ้ม) อาหารเป็นโลกที่มหัศจรรย์มาก มีอะไรใหม่ ๆ ให้เรียนรู้อยู่เรื่อย ยิ่งรู้แล้วก็ยิ่งหลงใหล อยากรู้มากขึ้นไปอีก อีกอย่างที่สนุกคือเวลาได้เห็นไอเดียของเชฟ ของคนทำอาหาร เห็นการจับคู่ ผสมผสาน นำเสนอสิ่งที่เขาคิดออกมาในจาน ออกมาเป็นสิ่งที่เรากิน

แล้วที่ไม่สนุกล่ะ
จะเรียกว่าไม่สนุกก็คงไม่เชิง เรียกว่าที่ยากละกัน อย่างแรกก็เป็นการรักษามาตรฐานของร้าน/ผู้ประกอบการ ตอนเราไปกิน/ใช้บริการ เราอาจจะได้รับประสบการณ์ที่ดีหรือไม่ดีก็ตามแต่ แต่หลังจากนั้นจะเป็นยังไง เป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้เลยอย่างที่บอกไปแล้ว อีกเรื่องก็ด้วยความที่อาหารนั้นไม่มีที่สิ้นสุด เราเลยต้องพยายามรักษามาตรฐานของเรา แล้วก็ต้องทำให้ดีขึ้นตลอดเวลา ต้องแข่งกับตัวเอง

เหมือนหลัง ๆ จะเน้นรีวิวแต่ของแพง
(หัวเราะ) สำหรับว่านมันไม่ได้อยู่ที่ราคาเลย จะถูก จะแพง จะอะไรก็ได้ แต่ต้อง "ดี" เคยผ่านตาข้อเขียนชิ้นนึง ชอบมาก "อย่าสับสนระหว่าง คำว่า Quality กับ Expensive" ของดีไม่จำเป็นต้องแพงด้วยซ้ำ แค่มะเขือเทศสด ๆ สักลูก ก็ทำให้ว่านมีความสุขได้แล้ว

อันที่จริงถ้าดูใน IG ว่าน (http://instagram.com/wan_namcom) ก็จะเห็นนะว่าชีวิตว่านก็ธรรมดา ยังกินส้มตำ ก๋วยเตี๋ยวข้างทาง มาม่าอะไรไปเรื่อย น่าจะเป็นว่าหลัง ๆ ว่านเขียนบล็อกรีวิว Fine Dine ซะเยอะมากกว่า อย่างนึงเพราะความถนัดเรามาทางนี้ เหมือนนักร้อง นักร้องร้องเพลงได้ แต่นักร้องแต่ละคนก็มักจะมีแนวเพลงที่ตัวเองถนัดร้องที่สุด หรือจะเปรียบอีกที อาหารก็ไม่ต่างกับการแต่งกายหรอก แต่ละคนก็ชอบแต่งตัวไม่เหมือนกัน บางคนชอบแต่งตัวง่าย ๆ เสื้อยืดกางเกงยีนส์รองเท้าแตะ จบละ.. บางคนชอบการแต่งตัวที่ซับซ้อนหรือมีลูกเล่นมากกว่านั้น ไม่มีใครผิด

เวลารีวิวอาหารข้างทาง กับ Fine Dine เหมือนกันไหม
มีทั้งที่เหมือน แล้วก็ต่าง.. ที่เหมือนคือไม่ว่าจะอาหารแบบไหน แนวไหน ราคาเท่าไหร่ ว่านจะซื่อสัตย์ทั้งต่อตัวเองและคนอ่าน ดีก็ว่าดี ไม่ดีก็ว่าไม่ดี แต่ที่ต่างก็คือรายละเอียดปลีกย่อย ยกตัวอย่างง่าย ๆ เนื้อย่าง.. ถ้าเป็นร้านเนื้อย่างข้างทาง อย่างแรกที่จะดูเลยคือเนื้อสดไหม ย่างมาโอเครึเปล่า โอเคในที่นี้คือไม่ใช่ดำเกรียมมาเลย อย่างนี้ก็ไม่ไหว แต่จะไม่ลงลึกไปขนาดว่าความสุกมาขนาด Medium Rare ไหม เอาแค่เนื้อสดดี หมักดี ย่างดี แจ่วดี แค่นี้แฮปปี้ละ

แต่ถ้าเป็นสเต๊กในห้องอาหาร Fine Dine แค่ดูว่าเนื้อสดไหมนี่ไม่พอละ รายละเอียดปลีกย่อยจะเยอะกว่ากันมาก หั่นขวางลายเส้นเนื้อไหม Cut (ชนิดเนื้อ) ถูกต้องหรือเปล่า เกรดเนื้อนั้นใช่อย่างที่ลงในเมนูไหม ถ้าสั่ง Rare หรือ Medium Rare ไป ได้ระดับความสุกเนื้ออย่างที่สั่งหรือเปล่า ก่อนเสิร์ฟได้พักเนื้อไหม ซอสที่เสิร์ฟมาเสริมรสชาติเนื้อไหมหรือข่มกัน เวลาเสิร์ฟ เสิร์ฟถูกต้องไหม ทั้งหลายทั้งมวลนี้ประมวลออกมาในรีวิวว่า ”ดี” หรือ ”ต้องปรับปรุง”

เยอะนะ
ไม่เย้อ.. (เสียงสูง) ถ้าเป็นFood Critic ที่ต่างประเทศ เยอะกว่านี้อีก เค้าดูกระทั่งว่าตอนมาเสิร์ฟ จานร้อนไหม เสิร์ฟถูกมือหรือเปล่า นิ้วโป้งไม่แหย่ไปในจานนะ ระยะเวลาห่างระหว่างคอร์สนานไปไหม อะไรอีกเยอะมาก นั่นน่ะ เยอะของจริง (หัวเราะ)

ร้านที่ชอบ เป็นร้านแบบไหน
ร้านที่ชัดเจนในตัวเอง รู้จริงในสิ่งที่ทำ ถ้าเป็นร้านแบบนี้ ต่อให้ราคาสูง ถ้าสมราคา ก็ยอมจ่าย.. สำหรับว่าน ของแพง คือของที่ไม่สมราคา จ่ายแล้วได้น้อยกว่าที่จ่าย น้อยก็ไม่ได้หมายความถึงแค่ปริมาณ แต่หมายถึงคุณภาพด้วย อย่าง Paris Mikki เป็นร้านขนมเล็ก ๆ ที่มีความตั้งใจมาก ซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางความวุ่นวายของย่านอโศก ถ้าถามว่านว่าทำไมต้องมากินเค้กชิ้นละร้อยกว่าสองร้อย มันวิเศษวิโสกว่าเค้กตลาดนัด 5บาท 10บาทยังไง.. มันไม่ได้วิเศษกว่าหรอกค่ะ กินแล้วก็เหาะไม่ได้ แต่ถ้าดูกันตั้งแต่วัตถุดิบ ยิ่งถ้าเป็นคนทำขนม ก็จะยิ่งเข้าใจ

อย่างแค่เนยเนี่ย เนยแท้เดี๋ยวนี้ราคาสูงมากนะ เคยสังเกตตามซูเปอร์มาร์เก็ตไหม ทำไมมีตั้งแต่เนยก้อนไม่กี่สิบ จนถึงเนยก้อนละร้อยกว่า มันวิเศษต่างกันยังไง? ลองสังเกตสิ เนยถูกๆ มันคือ"ผลิตภัณฑ์เนย" อธิบายง่าย ๆ ว่าเป็นส่วนผสมระหว่างเนยกับน้ำมันพืช เราอยากตักน้ำมันพืชเข้าปากไหม ไหนจะกันบูดอีก เค้กครีมบ้าอะไรวางไว้นอกตู้เย็นทั้งวันไม่เสีย ไม่ละลาย.. "You are what you eat" กินแบบไหนก็ได้แบบนั้นแหละ

เพราะเหตุนี้ เวลาเจอร้านไหนดี ๆ มีความตั้งใจ ก็จะอยากช่วยสนับสนุน อย่างของ Paris Mikki นี่ เมนูแนะนำคือ Lady Pinski, Millefeuille แล้วก็ Saint Honoré ตัวท้ายสุดเสียดายที่วันนี้ไม่มี เลยเลือกเป็น St. Lucia มาแทน หากชื่นชอบ French Pastries ควรมาลองที่นี่สักครั้ง เวลาเจอร้านแบบนี้แล้วอยากจะกราบว่าช่วยกรุณารักษามาตรฐานและคุณภาพด้วย จะปลื้มใจมาก

ถ้าเกิดไปรีวิวร้านไหนแล้วไม่อร่อยเลย แย่สุด ๆ จะทำอย่างไร
ต้องแจ้งทางร้าน ว่านเชื่อว่าทางร้านเอง ก็อยากรู้ Feedback จากผู้บริโภคด้วย เราเป็นตัวแทนของผู้บริโภค ยิ่งถ้าเป็นผู้บริโภคที่เชื่อถือได้ด้วย ตรงไหนดี ไม่ดี ควรปรับปรุง ก็แจ้งเขาไป คนเราทำร้านก็อยากให้มันดีใช่ไหม ใครจะอยากทำร้านชุ่ย ๆ รอวันเจ๊ง มันเป็นการช่วยกันทั้งสองฝ่าย เขาจะได้ปรับปรุงด้วย

ซึ่งสื่อบางรายไม่คิดอย่างนี้นะ มีสื่ออยู่สื่อนึง ไม่ขอเอ่ยนามละกัน เค้าบอกว่าถึงไม่อร่อย เค้าก็จะเขียนว่าอร่อย ไม่งั้นเดี๋ยวทางโรงแรมจะไม่เชิญเค้าอีก ซึ่งว่านฟังแล้วตกใจมาก แบบ เฮ้ย กับผู้อ่านคุณ คุณยังไม่จริงใจเลย อย่างนี้ก็เท่ากับว่าคุณมาเป็นสื่อ ก็เพราะแค่อยากกินฟรีเหรอ แบบนี้มันไม่ใช่ มันไม่ถูก

อยากฝากอะไรถึงคนที่อยากจะมาเป็นบล็อกเกอร์
อย่ามาเป็นบล็อกเกอร์เพราะ "อยากได้ อยากมี อยากเป็น" อย่าหวังว่าจะมาเป็นบล็อกเกอร์เพราะจะได้กินฟรี เที่ยวฟรี ใช้ฟรี มันไม่ยั่งยืน วันนึงคุณก็จะมีค่าเป็นแค่บล็อกเกอร์ขี้อวยคนนึง ที่ใคร ๆ ก็มองว่า อ๋อ คนนี้น่ะเหรอ กินฟรี เที่ยวฟรี ใช้ฟรีก็เขียนชมแล้ว

ถ้าอยากเป็นบล็อกเกอร์ที่ดี อยู่ในวงการได้นาน ควรหมั่นหาความรู้ เปิดตา เปิดใจ พัฒนางานตัวเองอยู่เสมอ ที่สำคัญที่สุดคือซื่อสัตย์ต่อตนเอง ซื่อสัตย์ต่อคนอ่าน

อยากฝากอะไรถึงผู้อ่าน
อาหารก็เหมือนรสนิยม รสนิยมไม่มีถูกผิด ควรเลือกอ่านบล็อกเกอร์ที่ตรงจริตตัวเอง.. การแต่งตัวคือวิถีชีวิตของคน การกินก็เช่นกัน #YvesSaintLaurent ไม่ได้กล่าวไว้


ติดตามเธอกันได้ที่ https://www.facebook.com/wannamdotcom
http://instagram.com/wan_namcom
http://www.wan-nam.com/ 

เอื้อเฟื้อสถานที่ Paris Mikki สุขุมวิท 19
ภาพโดย artfully79

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook