ตามติด "สาวประเภทสอง" เจาะลึกเบื้องหลัง "เกณฑ์ทหาร"

ตามติด "สาวประเภทสอง" เจาะลึกเบื้องหลัง "เกณฑ์ทหาร"

ตามติด "สาวประเภทสอง" เจาะลึกเบื้องหลัง "เกณฑ์ทหาร"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ตามติด "สาวประเภทสอง" เจาะลึกเบื้องหลัง "เกณฑ์ทหาร"

ทีมสังเกตการณ์และกลุ่มกะเทย

ระหว่างวันที่ 1-12 เมษายนของทุกปีเป็นฤดูกาลตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารประจำการ หรือ "เกณฑ์ทหาร" ซึ่งชายสัญชาติไทยอายุ 21 ปีบริบูรณ์ หรืออายุ 22-28 ปีที่ยังไม่เคยเข้ารับการตรวจเลือก หรือผลการตรวจเลือกไม่เสร็จสิ้น ต้องไปรายงานตัวตามวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนด แต่ละปี "สปอตไลต์" จะไปจับดารานักร้องหนุ่มที่มีชื่อไปรายงานตัว ควบคู่กันไปจะได้เห็นภาพเหล่า "สาวประเภทสอง" ไปรายงานตัว ปรากฏเป็นภาพส่งต่อในโลกออนไลน์

แต่จะรู้หรือไม่ว่า ลึกลงไปกว่าที่เห็นนั้นพวกเธอต้องผ่านขั้นตอนอะไรบ้าง ได้รับการปฏิบัติถูกต้องอย่างไร ถูกละเมิดหรือไม่ และอยากเสนออะไร

เครือข่ายเพื่อนกะเทยไทย มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ (For-SOGI) และมูลนิธิธีรนาถ กาญจนอักษร จึงจัดทีมสังเกตการณ์ลงพื้นที่หน่วยตรวจเลือกทหารกองเกินประจำปี 2558 ในพื้นที่ทั้ง กทม.และต่างจังหวัด โดยครั้งนี้ไปที่หน่วยวัดเจ้าอาม บางขุนนนท์ กทม. ที่นี่มีสาวประเภทสองไปรายงานตัวกว่า 10 คน ท่ามกลางอากาศร้อนระอุ ชายฉกรรจ์นั่งถอดเสื้อกันแน่นขนัดลานศาลาการเปรียญ

จันทร์จิรา บุญประเสริฐ ผู้ประสานงานมูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศเล่าว่า ตามกระบวนการตรวจเลือกทหารในส่วนสาวประเภทสองนั้น เมื่อมาถึงเจ้าหน้าที่จะตรวจรายชื่อ จากนั้นพาไปนั่งที่เก้าอี้จัดให้เฉพาะเพื่อรอตรวจเอกสาร โดยสาวประเภทสองต้องพกใบรับรองจากจิตแพทย์มาด้วย ซึ่งเปิดให้ตรวจระหว่างวันที่ 20 พฤศจิกายน-20 กุมภาพันธ์ของทุกปี หรือหากไม่มี ต้องเข้ารับการตรวจในห้องลับโดยแพทย์ผู้หญิง ซึ่งอาจมีการถอดเสื้อ การจับ หรือหากมีสภาพกายเป็นหญิงชัดเจนอาจไม่ตรวจอะไรเลยก็มี จากนั้นส่งให้กรรมการตรวจพิจารณาจัดให้อยู่ประเภท 2 คือร่างกายไม่สมบูรณ์ดีแต่ไม่ถึงกับทุพพลภาพ และออกใบ ส.ด.43 ที่ระบุเป็นบุคคลจำพวก "ภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด"

ห้องลับ

"การต้องพกใบรับรองแพทย์มาด้วยเป็นปัญหาอุปสรรคที่เราต้องทำงานมากขึ้นเพราะสาวประเภทสองส่วนใหญ่ไม่รู้เนื่องจากไม่มีใครแจ้ง ขณะที่การตรวจเพื่อขอใบรับรองแพทย์ถูกจำกัดต้องตรวจในโรงพยาบาลสังกัดกองทัพบกที่มี 20 แห่งทั่วประเทศ ทำให้ผู้ตรวจบางคนต้องเสียค่าเดินทางไกล และยังต้องเสียค่าใช้จ่ายตรวจเองในราคาตั้งแต่ 200-750 บาท" จันทร์จิราอธิบาย

"นอกจากนี้ แต่ละปียังมีกะเทยหลุดรอดการตรวจ ต้องเข้าไปจับใบดำใบแดง อย่างปีที่แล้วมี 1 คนจับได้ใบแดงต้องไปเกณฑ์ทหาร เพราะยังไม่แปลงเพศ ไม่มีเนินอก ผมไม่ยาว เพราะไม่รู้ว่ามีกระบวนการตรวจพิสูจน์ได้ ซึ่งเรารู้และพาเขาไปยื่นคำร้องเพื่อตรวจพิสูจน์จนออกมาได้ แต่ก็คิดว่าในภาพใหญ่ทั่วประเทศน่าจะมีกะเทยอีกหลายคนหลุดรอดเข้าไป ซึ่งนี่คือความไม่รู้ เพราะขาดการประชาสัมพันธ์"

"สะท้อนว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบไม่ได้ให้ความสำคัญตรงนี้ ทั้งที่ข้อมูลกะเทยทั่วประเทศมาตรวจเลือกทหารปี 2555 พบมีถึง 6,000 กว่าคน สำคัญที่สุด สาวประเภทสองไม่ได้ต้องการถูกปฏิบัติอย่างเป็นคนพิเศษ เพียงแต่ต้องการได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสม การปฏิบัติที่เห็นว่าพวกเธอเป็นผู้หญิง" จันทร์จิรากล่าว

ด้าน เจษฎา แต้สมบัติ ผู้ประสานงานเครือข่ายเพื่อนกะเทยไทย กล่าวว่า กรณีใจเป็นกะเทยแต่กายยังเป็นชาย หลุดเข้าไปจับใบดำใบแดงหรือจับได้ใบแดงไปแล้วนั้น แนะนำให้ยื่นคำร้องต่อประธานคณะกรรมการตรวจฯก่อนจับสลากได้เลย หรือร้องที่สัสดีเขตภายใน 30 วัน เพื่อจะเข้าสู่กระบวนการตรวจรับรองจากจิตแพทย์

"มีกะเทยจำนวนไม่น้อยที่ไม่รู้เรื่องเหล่านี้เลย เพราะในหมายเรียกไม่แจ้ง ข่าวประชาสัมพันธ์ก็ไม่ได้ระบุถึง ฉะนั้น การประชาสัมพันธ์นอกจากจะเชิญชวนชายไทยมาเป็นทหาร ก็อยากให้แจ้งเรื่องควรรู้นี้ด้วย หรือแก้ปัญหาที่ต้นทางด้วยการให้สัสดีอำเภอแจ้งตอนที่เขาต้องไปแสดงตนเพื่อลงบัญชีทหารกองเกินเมื่ออายุ 18 ปีบริบูรณ์ ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการตรวจเพื่อขอใบรับรองแพทย์ เราอยากให้อยู่ในประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อตรวจฟรี ซึ่งข้อเรียกร้องข้อเสนอทั้งหมดนี้ เราสรุปให้กองการสัสดี กรมการรักษาดินแดน กระทรวงกลาโหม พิจารณาต่อไป" เจษฎากล่าว

ส่วนข้อแนะนำอื่นๆ ในการไปตรวจเลือกทหารของกะเทยนั้น เจษฎากล่าวว่า แนะนำให้ใส่เสื้อมีกระดุมและกางเกงหรือกระโปรงที่มิดชิด เพื่อสามารถปลดกระดุมบางเม็ดในการตรวจว่ามีหน้าอก รวมถึงการไม่หลงเชื่อคำชักจูงใดๆ ตั้งแต่ชวนไปเป็นทหารจะไม่ให้ฝึก ชวนไปมีเพศสัมพันธ์ ช่วยเสิร์ฟน้ำ บีบนวดเจ้าหน้าที่ในหน่วย โดยเครือข่ายเราเปิดให้คำปรึกษา แนะนำข้อมูล และรับเรื่องร้องเรียนผ่านเว็บไซต์ www.thaitga.com และโทรศัพท์ 08-6597-4636

ด้านสาวประเภทสองที่ไปตรวจเลือกทหาร กฤษณะ แสงทอง หรือเจแปน อายุ 21 ปี กำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เล่าว่า ติดตามข่าวอยู่แล้วจึงทราบระเบียบปฏิบัติดี มาถึงก็รู้สึกดี เขาปฏิบัติกับเราดี คิดว่ากฎเกณฑ์ทุกอย่างดีแล้ว

ขณะที่ กฤศญารัช รุจิรมย์ หรือเฟิร์น อายุ 21 ปี กำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา กล่าวว่า ทราบเบื้องต้นจากเพื่อนสาวประเภทสองด้วยกันว่า อย่างกลุ่มเราไม่ต้องจับใบดำใบแดง ส่วนภาพรวมการปฏิบัติของทหารต่อสาวประเภทสองรู้สึกพอใจแล้ว

ปิดท้าย เมธาวัฒน์ กระจ่างพุ่ม หรือไอติม อายุ 26 ปี กำลังศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า เพิ่งทราบจากเครือข่ายที่ลงพื้นที่ว่าสามารถไปตรวจร่างกายเพื่อนำใบรับรองแพทย์มายืนยันได้ หรือหากแปลงเพศมาแล้วอย่างดิฉันก็สามารถมาตรวจที่หน่วยได้เลย มีเก้าอี้นั่งแยกเฉพาะ ก็ขอบคุณทหารที่เข้าใจเรา ให้สิทธิเราจริงจัง

แม้วันนี้การเกณฑ์ทหารจะมีความก้าวหน้าในเรื่องนี้แล้ว หากก็ยังมี "ช่องโหว่" ที่ควรได้รับการปรับปรุงแก้ไข พัฒนาการด้านความเสมอภาคและเท่าเทียมระหว่างเพศของประเทศไทยก็จะก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง เพราะเมื่อทำแล้วก็น่าจะทำให้ดีที่สุด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook