ปาน ธนพร นักร้องเสียงสวย ผู้ไม่ต้องการกลับมาเกิดอีก

ปาน ธนพร นักร้องเสียงสวย ผู้ไม่ต้องการกลับมาเกิดอีก

ปาน ธนพร นักร้องเสียงสวย ผู้ไม่ต้องการกลับมาเกิดอีก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Secret of Life
ปาน ธนพร แวกประยูร นักร้องเสียงสวย ผู้ไม่ต้องการกลับมาเกิดอีก

ปาน ธนพร แวกประยูร เป็นหนึ่งในนักร้องคุณภาพที่ร้องเพลงเสียดสีกิเลสทางโลกได้ถึงอารมณ์ที่สุดแห่งยุค วันนี้เธอสวมอีกบทบาทหนึ่งด้วยการเป็นโค้ชรายการ เดอะวอยซ์ คิดส์ (The Voices Kids) และล่าสุดได้รับเลือกให้เป็นผู้ขับร้องเพลง “นารีรัตนา” บทเพลงเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558

เส้นทางกว่าจะมาเป็นนักร้องดังอย่างทุกวันนี้ มีความเป็นมาอย่างไรคะ
ตอนเด็กๆ โตมาแบบเด็กบ้านนอก เป็นเด็กฝั่งธนฯ ที่โตมากับธรรมชาติและครอบครัววิถีไทยแท้ๆ เป็นลูกคนเล็กที่ค่อนข้างอาภัพไม่ค่อยมีใครตามใจ โดนตีเยอะพอสมควร แล้วก็โดนจับประกวดร้องเพลงตลอด ตอนนั้นไม่ชอบประกวดไม่ชอบอยู่บนเวที เมื่อได้เข้าเรียนที่นาฏศิลป์ จึงดีใจมากที่ไม่ต้องประกวดอีกแล้วเพราะโรงเรียนห้ามนักเรียนประกวดทุกอย่าง ตอนเด็กฝันอยากเป็นครูเพราะที่บ้านมีครูเป็นตัวอย่างเยอะ ส่วนเส้นทางการเป็นนักร้องจริงๆ เริ่มตั้งแต่เรียนอยู่ชั้น ม.5 ตอนนั้นได้เข้าห้องอัดร้องเพลงหาเงิน สมัยก่อนเป็นมือปืนรับจ้างให้ทุกค่าย เรียกว่าโลดแล่นอยู่เบื้องหลังประมาณ 7-8 ปี เมื่อร้องเป็นไกด์ให้ศิลปินหลายคน วันหนึ่งผู้ใหญ่ได้ยินและสนใจเสียงของเราจึงเรียกไปคุย กระทั่งได้กลายเป็นนักร้องสังกัดอาร์เอส

เมื่อมาเป็นคนเบื้องหน้า ลักษณะการทํางานก็เปลี่ยนไปหมด นอกจากต้องทํางานตรงเวลา เคารพซึ่งกันและกันเข้าใจในหน้าที่และบทบาทของตนเองแล้ว สิ่งที่ต้องมีเพิ่มขึ้นคือเรื่องภาพลักษณ์การทํางานกับคนจํานวนมาก เราจะทําตัวสบายๆ เป็นกันเองเหมือนตอนทํางานกับโปรดิวเซอร์แค่ 2-3คนไม่ได้ ที่สําคัญต้องใช้ความอดทนอย่างมาก ต้องปรับตัวเยอะเหมือนกัน ถามว่าจริงๆ อยากเป็นนักร้องไหม คําตอบคืออยากเป็น แต่ไม่ได้อยากเป็น นักร้องโด่งดังอะไรมากมาย ไม่เคยคิดมาก่อนว่าวันหนึ่งจะดัง แค่ได้ทํางานเบื้องหลังก็มีความสุขแล้ว การได้มาเป็นนักร้องและมาถึงตรงนี้ได้จึงเกินกว่าที่คิดไว้มาก

ออกอัลบั้มแรกก็ดังเลยคุณปานเคยหลงระเริงไปกับชื่อเสียงเงินทองที่เข้ามาอย่างรวดเร็วไหมคะ
มีค่ะ มีแน่นอน โมเมนต์อย่างนี้เกิดได้กับทุกคน แต่อยู่ที่ว่าใครจะรู้ตัวกลับตัวได้เร็วแค่ไหน จะเท่าทันไหม ความมีชื่อเสียงหลอกเราไปพักหนึ่งเลยแหละว่ามันสนุกนะ โอ้โห! ไปไหนมาไหนมีแต่คนห้อมล้อมคอยเอาอกเอาใจ แต่ว่าเป็นบุญของเราอย่างหนึ่งที่มองเห็นค่อนข้างเร็ว จึงไม่ใช้ชีวิตไปกับแสงสีปลอมๆ คนเอาใจปลอมๆ เราจะเริ่มเห็นว่าเขาเอาใจเพราะวันนี้เราเป็นนักร้องดัง ถ้าวันหนึ่งเราไม่ใช่นักร้องดังแล้ว เขาจะทําไปทําไม สิ่งที่ดึงเรากลับมาคือ “ความจริง” ซึ่งเป็นสิ่งเดียวเลยที่เยียวยารักษาคนให้ “ตื่น” ขึ้นมาได้

แนวเพลงที่คุณปานร้องส่วนใหญ่มีเนื้อหาเชือดเฉือนอารมณ์การร้องเพลงแบบนี้มีแรงบันดาลใจและเทคนิคในการร้องอย่างไรบ้างคะ
แรกๆ ก็งงเหมือนกันค่ะ เพราะว่าเนื้อหาเพลงพูดถึงชีวิตใครไม่รู้เราก็ไม่ได้มีประสบการณ์รันทดหดหู่ขนาดนั้น แต่เชื่อว่าสังคมมีเรื่องแบบนี้จริงและสิ่งที่นักร้องทุกคนต้องเจอคือพอเห็นเพลงแล้วมีบางเพลงที่ชอบและบางเพลงที่ไม่ชอบแล้วจะทําอย่างไรกับสิ่งที่ไม่ชอบล่ะ ก็ต้องเล็งไปที่คําว่า “หน้าที่” วันนี้เรามีหน้าที่อะไร มีหน้าที่เป็นนักเล่าเรื่องก็ต้องเล็งไปตรงจุดนั้น ต้องไม่เอาตัวตนของเราเข้าไปจับเขาไม่ใช่เรา เราไม่ใช่เขา เราแค่มีหน้าที่เล่าเรื่องเพลงนั้นออกมาให้เสมือนจริงมากที่สุด

เวลาร้องเพลงค่อนข้างใช้จินตนาการสูงค่ะ ในยุคหนึ่งจะดูหนังทุกเรื่องต้องใช้ชีวิตอยู่กับการเสพอารมณ์ทั้งหลายแหล่ทั้งอ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังเพลง เที่ยวกลางคืน ต้องออกไปดู ต้องเข้าไปอยู่ ต้องเข้าถึง ไม่อย่างนั้นเราจะไม่เข้าใจ เพราะปานเป็นคนค่อนข้างคิดอะไรสวนทางกับทุกเพลงที่ถ่ายทอดออกไป จะไม่ค่อยมีมุมแบบนั้นสักเท่าไหร่ ฉะนั้นต้องเล็งที่คําว่าหน้าที่ แล้วทําการบ้านด้วยการเอาตัวเองออกไปหาประสบการณ์ทางอารมณ์หลายๆ ด้าน

นอกจากการร้องเพลงทางโลกแล้ว คุณปานยังมีโอกาสได้ร้องเพลงทางธรรมด้วยซึ่งตรงข้ามกันเลย อยากทราบว่าเทคนิคในการร้องเพลงทางธรรมคืออะไร แตกต่างจากการร้องเพลงทางโลกอย่างไรคะ
เพลงทางธรรมต้องมาจากข้างในของเราเอง ถามว่าถ้าได้รับทํางานเพลงทางธรรมเมื่อประมาณสิบปีที่แล้วก็คงทําไม่ได้นะเพราะยังไม่เข้าใจ ข้างในยังขุ่นมัวค่อนข้างมาก ถึงวันนี้ก็ไม่ได้ใสขึ้นมากมายอะไร เพียงแต่ว่าเริ่มเข้าใจ เริ่มเห็นว่า อ๋อ อันนี้ดํา อันนี้ขาว มันเป็นอย่างนี้เอง จริงๆ แล้วเป็นคนสนใจธรรมะตั้งแต่เด็ก เพราะที่บ้านก็พาเข้าวัดทําบุญ แต่ไม่ได้เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าแก่นแท้ของธรรมะคืออะไร เราทําเพื่ออะไร พระพุทธเจ้าสอนอะไร เมื่อได้ทํางานมากๆ เหนื่อยมากๆ จากการได้เรียนรู้มาสิบกว่าปีก็เริ่มมีคําถามว่า “เราทําไปทําไม เราทําเพื่ออะไร” เรามีเงิน มีสมบัตินอกกายทุกอย่างที่มนุษย์ต้องการ “แล้วมันยังไงต่อล่ะ”

ช่วงที่คุณแม่ (คุณดวงพร แวกประยูร) ป่วยเป็นเส้นเลือดตีบ ครอบครัวเราพยายามหาหนทางรักษา หมอที่ไหนว่าดีว่าเก่งไปหาหมด หาเงินได้เท่าไหร่ก็นํามารักษาคุณแม่ แต่สุดท้ายก็ทําอะไรไม่ได้ ทุกวันนี้ได้แต่ยื้อสังขารกันเท่านั้นเอง จึงคิดว่าเป็นเรื่องของกรรมซึ่งแบกรับแทนกันไม่ได้ อย่างมากที่สุดเราก็แค่มีกรรมร่วม นั่นทําให้เริ่มรู้แล้วว่าสมบัตินอกกายทุกอย่างไม่ใช่สุขแท้ เวลาที่สุขแท้คือตอนที่อยู่คนเดียวเงียบๆ อยู่กับสิ่งที่เรียกว่า เงียบสงบ รู้สึกว่ามันสบายใจ ได้ล้างใจ ปานชอบโมเมนต์แบบนี้ จึงหันมาสนใจทางธรรมมากขึ้น จังหวะชีวิตมันดีตรงที่ว่าเราได้เรียนรู้ธรรมะไปประมาณหนึ่ง แล้วทําให้พอเข้าใจว่า อ๋อ เวลาโลกมันเหวี่ยงจากดําไปขาวเป็นแบบนี้เลยนะ เพราะเราลุยทางโลกมาไม่รู้เท่าไหร่ ร้องเพลงมาทุกประเภท วันหนึ่งมาร้องเพลงทางธรรมที่แทบจะไม่ต้องใช้อะไรเลย แต่ยากกว่าเพลงทางโลกมาก เพราะต้องมาจากใจที่ศรัทธาก่อน

แล้วธรรมะนํามาใช้กับการร้องเพลงได้หรือไม่คะ
สําหรับปาน ธรรมะนํามาใช้กับการร้องเพลงได้นะคะ การร้องเพลงไม่ควร ต้องมีการเอาชนะ เวลาฟังเราจะรู้ ถ้าเด็กหรือใครก็ตามที่ร้องแบบฟาดฟัน ต้องการเอาชนะ เสียงจะหนัก ไม่ไพเราะ ไม่มีความเมตตา เวลาที่คุณร้องเพลง คุณต้องให้ไปเลย ให้ไปทั้งหมด คุณไม่ต้องหวังว่าจะได้อะไรกลับคืนมา นี่คือหน้าที่ของนักร้อง ไม่ต้องสนใจว่าคนฟังจะชอบหรือไม่ จะโหวตหรือไม่ ต้องไม่คิดอย่างนั้น ถ้าคิดแบบนั้น เสียงของคุณจะหม่นทันที เพราะเป็นเสียงแห่งกิเลส แต่ถ้าคุณมีความสุขกับการร้องเพลง ฉันได้ทําหน้าที่ตรงนั้นดีแล้ว เสียงจะออกมาสว่างมาก ดนตรีคือสุนทรียศาสตร์ เพราะฉะนั้นถ้าถูกครอบงําด้วยการเอาชนะก็จะไม่ใช่ดนตรีที่เป็นสุนทรียศาสตร์

ในขณะเดียวกันการร้องเพลงทําให้ตั้งคําถามว่าเราเป็นเจ้าของเสียงนี้จริงไหม ถ้าเป็นของเราจริงๆ ต้องบังคับมันได้ แต่ทําไมวันนี้ร้องดี พอวันพรุ่งนี้อาจไม่ดีเท่าวันนี้ วันไหนป่วยก็ร้องไม่ได้ เสียงนี้จะอยู่กับเราจนแก่จริงไหม หากวันหนึ่งแก่ลงจะร้องได้เท่านี้หรือไม่ มันไม่มีความแน่นอนเพราะมันเป็นแค่กล้ามเนื้อชนิดหนึ่งที่เสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา ถ้ามันเป็นของเราจริงๆ ต้องบังคับมันได้สิ ต้องดูแลมันได้ตลอดเวลาสิ ทําไมเราบังคับมันไม่ได้ล่ะ นั่นเป็นไปตามที่พุทธศาสนาสอนไว้ว่า ไม่มีอะไรเป็นของเราจริงๆ

การมีเสียงดี เป็นบุญที่ทํามาแต่ชาติก่อนหรือเปล่าคะ
เป็นไปได้ค่ะ เราคงต้องเคยทําอะไรเกี่ยวกับเสียงมา ทําให้ชาตินี้เรามีสมบัติข้างในที่เรียกว่า “เสียง” ซึ่งหลายคนไม่มี ความโชคดีอีกขั้นหนึ่งคือ เขาให้เราทําหน้าที่ ให้มาทําประโยชน์ และโชคดีที่มีโอกาสมากมายในชีวิตในการใช้เสียงให้เกิดประโยชน์ทั้งการร้องเพลงทางโลกและเพลงทางธรรม เพลงทางโลกเราดีใจที่ได้ร้องนะ จากวันนั้นที่รู้สึกเครียดว่าเพลงทางโลกทําไมมันดาร์กจัง แต่ถ้าเราไม่รู้จักสีดํา เราก็จะไม่รู้จักสีขาว มันต้องเรียนรู้ทั้งหมด ซึ่งกว่าจะเข้าใจก็ต้องแก่ ต้องโลดโผนมาประมาณหนึ่งแล้ว จะบอกกับน้องๆ ที่เข้ามาขอคําแนะนําบ่อยๆ ว่าอย่าทําอะไรข้ามขั้นตอน ทุกอย่างมันมีวิถีของมัน มีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ชีวิตมีขึ้นมีลง

หลักธรรมของพระพุทธเจ้าที่คุณปานยึดอยู่ในใจคืออะไรคะ และได้นํามาใช้ในชีวิตประจําวันอย่างไรบ้าง
หลักธรรมของพระพุทธเจ้าสําหรับปานคือ “ปัจจุบันขณะ” แค่นั้นจริงๆ ถ้าเราอยู่กับลมหายใจของเราได้ คุณจะเอาเวลาที่ไหน ไปทําบาปทํากรรม กระทั่งความคิดยังคิดชั่วไม่ได้เลย บาปทางมโนกรรมเป็นสิ่งที่คนทําเยอะที่สุด พลาดพลั้งเยอะที่สุด ถ้าหากปัจจุบันขณะของท่านอยู่ที่ดั้งจมูกคือดูอย่างเดียว ไม่ต้องคิดอย่างอื่น เอาพุทโธเป็นสรณะ ท่านไม่มีโอกาสทําบาปเลย “มันไม่หนีไปไหน ถ้าใจอยู่กับพุทโธเสียอย่าง” ปานว่าเรื่องนี้สําคัญ ฟังดูเหมือนง่ายนะ แต่ทํายาก ทว่าไม่ได้ยากเกินความสามารถของมนุษย์ ไม่อย่างนั้นคงไม่มีพระอรหันต์ให้เราเห็น

หลักธรรมข้อนี้ใช้ได้ตลอดเวลา ใช้ได้ทุกลมหายใจ อยู่ที่ว่าเราจะมีความเพียรแค่ไหน สิ่งหนึ่งที่คิดว่ายากมากๆ เลยคือ “การรู้เท่าทันจิต” ทําให้ค้นพบและเข้าใจว่าจริงๆ แล้วธรรมะอยู่ในเรา ไม่ใช่อยู่ข้างนอก จิตดวงนี้อย่าได้ไปบังคับมันเชียว มันลําบาก หากตอนนี้ยังทําอะไรไม่ได้ก็ตามดูมันไป ดูว่าวันๆ มันคิดอะไร ไปไหนบ้าง เหมือนแมวไล่จับหนูไปเรื่อยๆ จับทันบ้างไม่ทันบ้าง แต่ก็ดีกว่าปล่อยให้จิตวิ่งไปเรื่อยๆ สิ่งที่อ่านมาเยอะๆ เป็นแค่ธรรมะจากการอ่าน รู้แค่ทฤษฎีแต่ว่าสุดท้ายแล้ว “ธรรมะต้องลงมือทํา” บางทีไม่ต้องรู้อะไรเลยก็ได้ แต่ต้องรู้ตัวเองก่อน ตอนนี้หายใจเข้าหรือ หายใจออกดูให้ทันก่อน แค่นี้ก็ยากแล้วสําหรับคนธรรมดาอย่างเรา

คุณปานสนใจเรื่อง“นิพพาน”มากน้อยแค่ไหนคะ
สนใจมากค่ะ แต่รู้ว่าไกล เราไม่ได้กลัวตายนะคะ กลัวเกิด เพราะการเกิดมันเป็นทุกข์มากกว่าจริงๆ เราเริ่มรู้แล้วว่า ทําอย่างไรถึงจะหยุดเกิด พระพุทธเจ้าบอกนิพพานมีจริง “นิพพานคืออะไร” ต้องสนใจว่าทําอย่างไรให้ไม่เกิด ไม่อยากเกิด แล้วหากพระนิพพานมีจริงก็ปรารถนามาก เพราะรู้แล้วว่าวัฏสงสารน่ากลัวไม่รู้ว่าเรา ประมาทมากี่กัปกี่กัลป์แล้ว ถ้าเชื่อว่าชาติหน้ามีจริง เราต้องไม่ประมาท เพราะไม่รู้ว่าเราจะเกิดที่ไหน กรรมจะเหวี่ยงเราไปตรงไหนจะเกิดกับพ่อแม่นี้ไหม เวลาอ่านพระไตรปิฎกรู้สึกว่าน่ากลัวชาตินี้คนนี้เขาเป็นพ่อเราแต่ชาติที่แล้วเขาอาจเคยเป็นสามีเราก็ได้นะ เรื่องนรก สวรรค์มีจริงหรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่อย่างน้อยมันเป็นกุศโลบายทางใจที่ทําให้เรารู้สึกเกรงกลัวต่อบาป ไม่อยากทําบาป ไม่อยากทํากรรม

มาพูดถึงบทบาทโค้ชของคุณปานในรายการเดอะวอยซ์คิดส์(TheVoicesKids)กันบ้าง
การเป็นโค้ชรายการเดอะวอยซ์คิดส์เป็นบทบาทของครูเป็นบทบาทของนักร้องที่เป็นเทรนเนอร์ในเกมที่มีเวลาจํากัดซึ่งเราจะได้สร้างได้ปั้นเด็กๆ ได้ใช้ชีวิตอยู่กับเด็กๆ ที่เราคัดเลือกมา ถือเป็นการใช้เสียงอีกทางหนึ่งเป็นการใช้ความรู้และประสบการณ์ทั้งหมดในชีวิตมาสอนพวกเขาเท่าที่เวลาจะมี รูปแบบของรายการเป็นการแข่งขันร้องเพลงก็จริงคําว่า “Battle” แปลว่าสู้แต่ในความเป็นจริงมันไม่จําเป็นนะ เพราะนี่คือโชว์สิ่งหนึ่งที่เราพยายามพร่ําสอนเขาเสมอคือ ตราบใดที่คิดว่าการร้องเพลงคือการแข่งขันมันแพ้ตั้งแต่คิดแล้ว แพ้ใจตัวเองเสียแล้วถ้าอยากชนะคือแพ้แล้วเราพยายามบอกเด็กๆว่าทําให้ดีที่สุด

สุดท้ายแล้วปัจจุบันขณะสําคัญมากนะ คิดล่วงหน้าไปก็ร้องไม่ดีหรือร้องไปแล้วกลับไปคิดถึงอดีตก็ไม่ดีเราพยายามบอกเด็กว่าให้อยู่กับปัจจุบัน การร้องเพลงจริงๆ คือการคุยกันทางดนตรี ในหนึ่งโชว์ที่ทําด้วยกันสามคนสุดท้ายไม่ใช่การแข่งขันแต่อยู่ที่ว่าใครต่างหากที่ร้องเพลงเป็น ใครต่างหากที่เข้าใจว่าเมื่อเพื่อนคนนี้ส่งมาแบบนี้ ฉันควรจะรับแค่ไหนสิ่งนี้ต่างหากที่เรียกว่าเป็นนักร้องที่ดี “นักร้องที่ดีจะไม่ฆ่าใครบนเวที”ประเด็นสําคัญของการมาเดอะวอยซ์คิดส์ ไม่ใช่ว่าคุณต้องไปถึงจุดที่เรียกว่าได้เงินล้านแต่ประเด็นคือ คุณฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ มาได้อย่างไร เพราะเกมพวกนี้เป็นโมเดลจําลองของโลกมนุษย์วันหนึ่งเมื่อคุณโตขึ้น คุณอาจต้องเจอสิ่งที่มันเลวร้ายกว่านี้นะเจอแพ้เจอชนะจริงๆ ที่ไม่ใช่เกม วันนี้มีโอกาสได้เรียนรู้ว่าทํางานกับคนอื่นได้ไหมอยู่ร่วมกับคนอื่นได้ไหมโดยที่ไม่มีพ่อแม่ให้เกียรติครูที่มาสอนเรามากแค่ไหนอยู่ด้วยกันแล้วต้องช่วยเหลือกันอย่างไรปานจะบอกเสมอว่าการทํางานร่วมกับคนอื่นสําคัญที่สุด นี่แหละคือธรรมะที่เราต้องให้เขามากพอๆ กับที่เราต้องสอนเขาร้องเพลง

ล่าสุดคุณปานได้รับเลือกให้ร้องเพลง “นารีรัตนา” บทเพลงเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 ด้วย
“นารีรัตนา” เป็นบทเพลงเฉลิมพระ-เกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสฉลองพระชน-มายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 เป็นโครงการของปทุมมามหาสิกขาลัยวัดปทุมวนารามราชวรวิหารและได้รับการสนับสนุนจากสํานักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ปานเป็นหนึ่งในทีมงานศิลปินจิตอาสาของโครงการปทุมมามหาสิกขาลัยหรือที่เรียกว่า “กลุ่มจิตอาสาบัวลอย” อยู่แล้ว จึงได้มีโอกาสทํางานเกี่ยวกับบทเพลง “นารีรัตนา” ซึ่งเป็นการร่วมมือระหว่างนักแต่งเพลงชั้นนําและเหล่าศิลปินจิตอาสาในโครงการหลายท่านช่วยกันสร้างงานชิ้นนี้ขึ้นมาและเราได้รับโอกาสให้ขับร้องบทเพลงนี้ นับเป็นอีกบทบาทหนึ่งของการเป็นนักร้อง เราเรียกงานพวกนี้ว่างานทางธรรมถ้าอย่างนั้น

เป้าหมายของชีวิตนับจากนี้ไปของคุณปานคืออะไรคะ
ถ้าชีวิตนี้ผ่านพ้นเรื่องคู่ไปได้ก็จะทํางานรับใช้ศาสนานี่คือเป้าหมายสุดท้ายเพราะค้นพบแล้วว่าเป็นสิ่งที่ทําให้มีความสุขเป็นอาหารใจถ้าไม่มีคู่ก็ไม่มีอะไรต้องห่วงพี่น้องก็สบายหมดแล้ว พ่อแม่ท่านแก่แล้ว วันหนึ่งก็ต้องจากไปไม่เขาก่อนก็เราก่อนอาจบวชอาจไปอยู่วัด มองไว้แล้วว่าชีวิต บั้นปลายเราอาจไปปฏิบัติจริงจังอยู่กับตัวเอง อยู่กับครูบาอาจารย์ ชนิดเก็บตัวไปเลย อาจ ออกจากวงการบันเทิงไปเลย นั่นคือเป้าหมาย ไม่ใช่ว่าเราบ้าคลั่งศาสนา เราทําภายใต้ความสามารถที่เราทําได้หรือจนกว่าเส้นเสียงจะใช้งานไม่ได้ หลังจากนี้คงพอแล้วสําหรับงานทางโลกงานที่รับอาจไม่หวือหวาไม่โลดโผนเหมือนเมื่อก่อนแล้วอะไรที่ออกจากปากเราวันนี้ต้องผ่านการไตร่ตรองมากขึ้นก่อนที่เราจะร้องไม่ได้จึงอยากเลือกงานที่รู้สึกพอใจ ทําแล้วมีความสุข

เคล็ดลับความสําเร็จของคุณปานคืออะไร
สําหรับปานคือ “ความจริงใจในการทํางาน” แต่ความจริงใจของเราอาจไปทําร้ายคนบ้างก็มีนะคะเพราะมันจริงเกินไปตรงเกินไป บางทีเราจริงมาก จริงทั้งหมดก็ไม่ได้ ก็ต้องเรียนรู้เพราะคนอื่นไม่ได้คิดเหมือนเรา ใจเขาไม่ได้หนาเหมือนเรา ก็ต้องเรียนรู้กันไป ปานยึดหลักว่าความจริงใจอาจไม่ถูกใจคนมากนัก แต่เมื่อวันเวลาผ่านไปคนเราเติบโตขึ้น เขาจะนึกขอบใจเราเองแหละ เรื่องบางเรื่องต้องไม่กลัวคนเกลียด มันมีอยู่แล้วที่ว่าคนรักเป็นร้อย คนเกลียดเป็นล้าน แต่ต้องไตร่ตรองดูว่าสิ่งที่เราทําเกิดประโยชน์กับเขาอย่างไร เขาอาจเกลียดเรา แต่ถ้าเกลียดแล้วได้พัฒนาตัวเอง ปาน ว่าคุ้ม เราเป็นคนทํางานแบบนี้ ถ้าบอกไป อาจไม่ถูกใจบางกลุ่ม แต่ก็ไม่กลัวรู้สึก ว่าการถูกเกลียดเป็นเรื่องธรรมดาของคน
ของสัตว์โลกถ้าเราเปรียบเทียบว่าเราเป็นสัตว์โลกเหมือนกันเป็นสิ่งมีชีวิตเหมือนกันไม่มีแก่นสารอะไรให้ยึดสักอย่าง พอคิดได้แบบนี้ก็ทําให้ใจคลายความยึดติดและทํางานกับคนอื่นได้ง่ายขึ้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook